กิติมา อมรทัต ไรน่าน อรุณรังษี สองปัญญาชนมุสลิมร่วมสมัย (17) | จรัญ มะลูลีม

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม | จรัญ มะลูลีม

 

กิติมา อมรทัต

ไรน่าน อรุณรังษี

สองปัญญาชนมุสลิมร่วมสมัย (17)

 

กิติมา อมรทัต กับงานเขียนและงานแปลว่าด้วยโลกมุสลิม (ต่อ)

คัมภีร์ไบเบิล คัมภีร์กุรอานและวิทยาศาสตร์

คัมภีร์อันประเสริฐที่ได้รับการตรวจสอบโดยความรู้สมัยใหม่ กิติมา อมรทัต แปลจาก The Bible the Qur’an and Science ของมอริส บูกายย์ นักเขียนซึ่งเป็นศัลยแพทย์ชาวฝรั่งเศส จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์อิสลามิคอะคาเดมี ซึ่งผมเองเป็นคนเขียนคำนำให้สำนักพิมพ์ มีข้อความว่า

คัมภีร์ไบเบิล คัมภีร์กุรอานและวิทยาศาสตร์ เป็นงานชิ้นเอกของมอริส บูกายย์ ศัลยแพทย์ชาวฝรั่งเศส ที่ค้นคว้าหาข้อมูลอย่างยาวนานทั้งจากคัมภีร์ไบเบิล คัมภีร์กุรอานและแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ บูกายย์ทุ่มชีวิตให้การเรียนรู้เรื่องอิสลามด้วยการศึกษาภาษาอาหรับและคัมภีร์กุรอานอย่างใจจดใจจ่อ ก่อนที่จะมาสู่จุดสรุปว่า คนเราจะสามารถเข้าใจคัมภีร์กุรอานได้ก็ต่อเมื่อใช้ความรู้เชิงวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เท่านั้น

งานของบูกายย์จึงเป็นงานที่ผู้อ่านจะได้สาระสำคัญจากการวิเคราะห์ของเขาอันเกิดจากประสบการณ์แห่งการค้นคว้าของเขาในเรื่องคัมภีร์ของยิว คริสเตียนและกุรอาน

บูกายย์วางแนววิเคราะห์ของเขาที่มีต่อพระคริสตธรรมคัมภีร์ (Gospels) คัมภีร์เก่า (Old Testament) และกุรอาน (Qur’an) ไว้ในระดับเดียวกัน และนำเสนอความคิดของเขาต่อคัมภีร์เหล่านี้ไว้อย่างน่าสนใจและชวนให้ติดตาม

บูกายย์กล่าวถึงอคติของชาวตะวันตกที่มีต่อกุรอานอันเนื่องมาจากการขาดความเข้าใจ หรือการเชื่อแบบตามๆ กันมาเป็นเวลาช้านาน แม้ปัจจุบันสิ่งที่กล่าวมาจะค่อยๆ จางหายไปแล้วก็ตาม

บูกายย์เริ่มงานเขียนของเขาด้วยการตั้งคำถามว่าคัมภีร์ต่างๆ ที่กล่าวถึงมาแล้วข้างต้นมีความแท้จริงอย่างไร?

จากคำถามนี้เองทำให้เขามุ่งตรงไปที่การตรวจตราสภาพการณ์ต่างๆ ที่มีอยู่ในการถือกำเนิดของคัมภีร์นั้นๆ ตลอดจนวิธีที่คัมภีร์นั้นถ่ายทอดมาถึงผู้คนในสมัยปัจจุบัน

จากวิธีการศึกษาข้างต้นทำให้บูกายย์จำแนกแยกแยะเนื้อหาในโองการของคัมภีร์ต่างๆ ได้โดยละเอียด และอธิบายให้ผู้อ่านเข้าใจได้อย่างแจ่มแจ้ง โดยเฉพาะความเกี่ยวเนื่องระหว่างพระคัมภีร์กับวิทยาศาสตร์

สำหรับบูกายย์การเผชิญหน้าระหว่างข้อความในพระคัมภีร์ต่างๆ กับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มักจะให้อาหารทางความคิดแก่มนุษย์อยู่เสมอ

จากการศึกษาถึงความเกี่ยวข้องทางวิทยาศาสตร์กับคัมภีร์กุรอาน บูกายย์ได้มาสู่ข้อสรุปว่าไม่มีโองการใดในคัมภีร์กุรอานเลยที่ขัดแย้งกับวิทยาศาสตร์ ซึ่งในเรื่องนี้เขาได้แสดงให้เห็นด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่นำเสนอในหนังสือเล่มนี้แล้ว

อิสลามิคอะคาเดมีต้องการให้ความคิดเห็นของบูกายย์ถูกถ่ายทอดออกมาอย่างครบถ้วนกระบวนความ จึงมอบหมายให้ ดร.กิติมา อมรทัต เป็นผู้ถ่ายทอดเป็นภาษาไทย เป็นการแปลที่พยายามอย่างที่สุดที่จะจับเอาเนื้อหาที่บูกายย์ต้องการถ่ายทอดมาถ่ายทอดให้ผู้อ่านทุกประโยคด้วยความตั้งใจ ซึ่งแน่ละเป็นงานที่ต้องใช้เวลาและต้องใช้คัมภีร์ไบเบิลช่วยในการแปลร่วม

ก่อนจบการศึกษาค้นคว้าเรื่องคัมภีร์ไบเบิล คัมภีร์กุรอานและวิทยาศาสตร์ บูกายย์กล่าวไว้ในที่สุดว่า “กุรอานสอดคล้องกับข้อมูลวิทยาศาสตร์สมัยใหม่อย่างเต็มที่”

นอกจากนี้เราจะพบข้อความในคัมภีร์กุรอานที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ด้วย

ความรู้สมัยใหม่จึงทำให้เราเข้าใจโองการหลายโองการในกุรอาน ซึ่งไม่สามารถตีความมาจนกระทั่งบัดนี้ได้

ข้อความในกุรอานสอดคล้องกับข้อมูลสมัยใหม่อย่างสมบูรณ์ทีเดียว เช่น ในเรื่องการสร้างจักรวาลและน้ำท่วมโลกเป็นตัวอย่าง

เมื่อคิดถึงระดับความรู้ของคนในสมัยของศาสดามุฮัมมัด (ขอความสันติจงมีแด่ท่าน) ก็ไม่เข้าใจเลยว่าข้อความที่มีอยู่ในกุรอานซึ่งเสี่ยงกับเรื่องทางวิทยาศาสตร์นั้นจะเป็นผลงานของมนุษย์ได้

ยิ่งกว่านั้นเป็นการถูกต้องอย่างยิ่งที่จะไม่เพียงแต่ถือว่าพระคัมภีร์กุรอานคือการลงวะหยุ (หรือการวิวรณ์) ของพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น แต่ยังสมควรจะยกให้อยู่ในตำแหน่งพิเศษอีกด้วย ในเรื่องความแท้จริงและการที่มีข้อความเชิงวิทยาศาสตร์อยู่ในกุรอาน ซึ่งเมื่อศึกษาดูในปัจจุบันนี้ก็เห็นว่าเป็นการท้าทายต่อคำอธิบายของมนุษย์อีกด้วย

 

อารยธรรมตะวันตกอิสลามและมุสลิม

ในหนังสือเล่มนี้กิติมา อมรทัต แปลร่วมกับอิมรอน มะลูลีม (ศ.ดร.อิมรอน มะลูลีม อดีตสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งของกรุงเทพมหานคร และอาจารย์ประจำสาขาปรัชญาและศาสนา คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) เป็นผลงานของนักคิดทางศาสนาคนสำคัญของอินเดีย อบุล หะซัน อะลี นัดวี (Abul Hasan Ali Nadwi) ฉบับที่แปลเป็นภาษาอังกฤษโดยมุฮัมมัด อะสีฟ กิดวัย (Muhammad Asif Kidwai)

กิติมา อมรทัต กล่าวไว้ในคำอุทิศของหนังสือเล่มนี้ว่า ส่วนดีงามอันใดที่มีอยู่ในการถ่ายทอดหนังสือนี้มาเป็นภาษาไทยและคุณูประโยชน์ที่จะได้รับ ข้าพเจ้าวิงวอนต่อเอกองค์อัลลอฮ์ทรงมอบให้แก่บิดามารดาผู้มีพระคุณของข้าพเจ้า

อิมรอน มะลูลีม และกิติมา อมรทัต แปลในนามของ Thai Islamic Movement มหาวิทยาลัยมุสลิมอลิการ์ (Aligarh Muslim University) อินเดีย ทั้งนี้ กิติมา อมรทัต ไรน่าน อรุณรังษี และอิมรอน มะลูลีม ต่างจบการศึกษาจากสถาบันแห่งนี้ทั้งสิ้น

จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ ส.วงศ์เสงี่ยม (เป็นสำนักพิมพ์ที่ผลิตตำราศาสนาอิสลามและประวัติศาสตร์อิสลามที่เก่าแก่ที่สุดของสังคมมุสลิม) ความยาว 453 หน้า

 

ในระยะกลางแห่งศตวรรษที่สิบเก้า โลกอิสลามต้องเผชิญหน้ากับปัญหาอันหนักอึ้งและน่าสนใจ ในเรื่องเกี่ยวกับความอยู่รอดของอิสลามในฐานะที่เป็นหน่วยอิสระ และมีความนับถือตนเองหน่วยหนึ่งในโลก และมีความเป็นตัวของตัวเองเป็นพิเศษอยู่

ปัญหาที่เกิดขึ้นจากอารยธรรมอันหนึ่งซึ่งสดใหม่ มีพลัง ใฝ่ฝันทะเยอทะยานและเต็มล้นไปด้วยศักยภาพแห่งการแพร่ขยายและก้าวหน้าออกไป เราหมายถึงอารยธรรมตะวันตกซึ่งสมควรจะได้รับการจัดอันดับอยู่ในบรรดาอารยธรรมอันทรงพลังที่สุดที่รู้จักกันมาในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ อันที่จริงอารยธรรมนี้เป็นผลพลอยได้ตามธรรมชาติของพลังและแรงดันต่างๆ ซึ่งได้ดำเนินมาเป็นเวลายาวนาน รอโอกาสอันเหมาะสมที่จะเผยตัวเองออกมาในรูปแบบเช่นนี้

โลกอิสลามถูกขู่เข็ญด้วยพัฒนาการใหม่นี้เป็นพิเศษ เนื่องจากว่าหลังจากที่ศาสนาโบราณอื่นๆ ได้กระถดถอยหนีไปจากขอบเขตของชีวิตจริงๆ หมดสิ้นแล้ว ก็เหลือแต่ศาสนาอิสลามเท่านั้นที่จะต้องทำหน้าที่เป็นเอกอยู่ในบทบาททางศีลธรรมจรรยาและด้านจิตใจ เป็นผู้พิทักษ์และผู้คุ้มครองดูแลสังคมมนุษย์ ดินแดนทั้งที่อุดมสมบูรณ์ให้ผลและประเทศต่างๆ ที่กว้างขวางใหญ่โตต่างก็อยู่ในวงจรของมัน

เพราะฉะนั้นจึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่การท้าทายของอารยธรรมตะวันตก ซึ่งหนักไปในด้านวัตถุนิยมและเทคโนโลยีจะต้องมุ่งตรงมาสู่โลกมุสลิม

 

อารยธรรมตะวันตกนั้นเป็นส่วนผสมอันน่าประหลาดใจของรูปแบบและความคิดทางด้านสติปัญญา จิตวิญญาณ สังคมและเศรษฐกิจต่างๆ กัน มันมีรอยประทับแห่งประสบการณ์นานาชนิดที่ประเทศในโลกตะวันตกได้ผ่านมาในขั้นต่างๆ ของขบวนการวิวัฒนาการอันยาวนานของมัน

ที่สำคัญมันคือผลอันเหมาะกับเหตุแห่งความก้าวหน้าของความรู้ของมนุษย์ โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ กายภาพและเทคโนโลยี และได้เจริญเติบโตขึ้นเป็นส่วนผสมอันยุ่งยากซับซ้อนขององค์ประกอบและส่วนประกอบนานาชนิดซึ่งเราไม่อาจจะกล่าวถึงอย่างคร่าวๆ ได้

ส่วนประกอบซึ่งทำให้เกิดอารยธรรมตะวันตกขึ้นนั้นมีข้อดีเช่นเดียวกับข้อเสีย จริงเช่นเดียวกับเท็จ และมีคุณประโยชน์เช่นเดียวกับมีโทษ ทั้งนี้ รวมทั้งข้อเท็จจริงอันแน่นหนาของความรู้และความจริงที่ประจักษ์อยู่ในตัวเอง รวมทั้งการเดาอันปราศจากข้อพิสูจน์และสมมุติฐานอันไม่มีพื้นฐานด้วย ในสิ่งต่างๆ เหล่านี้เราจะพบทั้งข้อสรุปอันเฉลียวฉลาด ซึ่งเป็นผลจากการศึกษาค้นคว้าและสังเกตมาอย่างลึกซึ้ง และยังมีสิ่งที่อาจจะเรียกได้แต่เพียงว่าเป็นสิ่งไม่เป็นโล้เป็นพายไม่เป็นสาระ หละหลวมและอ่อนหัดอีกด้วย ส่วนประกอบบางอย่างเหล่านี้ อย่างเช่นวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการทดลองแล้วนั้น ข้ามพ้นสิ่งกีดขวางในเรื่องเชื้อชาติ ภูมิศาสตร์และการเมือง และมีรูปแบบลักษณะเป็นสากล

ในขณะที่ส่วนประกอบอย่างอื่นๆ มีรูปแบบลักษณะเป็นแบบตะวันตก ประทับตราแห่งประสบการณ์ทางสังคมและประวัติศาสตร์ของตะวันตกเท่านั้น และยังมีคุณลักษณะต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้งกับความจริงทางศาสนาและข้อยึดมั่นในด้านจิตใจเท่าๆ กับสิ่งที่ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับศาสนาหรือข้อศีลธรรมของศาสนาด้วย