คุยกับ ‘ผู้กำกับฯ สารคดีหญิง’ เมื่อ ‘ญี่ปุ่นเอียงขวา’ และสั่งรื้อ ‘ตำราประวัติศาสตร์’

คนมองหนัง

“ฮิซาโยะ ไซกะ” คือสื่อมวลชนวัย 57 ปี ซึ่งเริ่มต้นทำงานในสำนักเลขานุการของผู้บริหารสถานีโทรทัศน์และวิทยุเจ้าสำคัญที่โอซาก้า ก่อนที่เธอจะย้ายไปปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้สื่อข่าวในสายการศึกษาและกระบวนการยุติธรรม

ในปี 2015 ไซกะหันมากำกับภาพยนตร์สารคดี โดยเธอผลิตผลงานออกมาราว 3 เรื่องต่อปี จนถึงปัจจุบัน ผู้กำกับฯ หญิงรายนี้ จึงทำหนังสารคดีรวมทั้งสิ้น 18 เรื่องแล้ว

ผลงานล่าสุดของ “ฮิซาโยะ ไซกะ” ที่เพิ่งเข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ คือหนังสารคดีซึ่งมีชื่อว่า “Education and Nationalism” (ระบบการศึกษาและแนวคิดชาตินิยม)

ที่ปูซาน ผู้กำกับฯ หญิงชาวญี่ปุ่นได้มีโอกาสสนทนากับ “พานอส คอตซาธานาซิส” แฟนหนังชาวกรีกผู้หลงใหลในภาพยนตร์เอเชีย

และนี่คือเนื้อหาบางส่วนของบทสนทนาดังกล่าว

ฮิซาโยะ ไซกะ

: ทำไมคุณจึงมุ่งเน้นความสนใจมาที่ประเด็นการศึกษาของประเทศญี่ปุ่น? อยากให้คุณช่วยบรรยายคร่าวๆ ถึงระบบการศึกษาญี่ปุ่นในปัจจุบันหน่อยได้ไหม?

ฉันเคยทำงานข่าวภาคสนามในประเด็นเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการศึกษาอยู่นานหลายปี ถ้าจะให้อธิบายถึงที่มาของหนังสารคดีเรื่องนี้อย่างเรียบง่ายที่สุด ก็คงต้องบอกว่าหนังเรื่องนี้เกิดจากความรู้สึกที่สัมผัสได้ถึงวิกฤตการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น

ก่อน ค.ศ.1945 (พ.ศ.2488) แก่นแกนหลักในระบบการศึกษาของประเทศญี่ปุ่น คือ แนวคิดเรื่อง “การให้คำปฏิญาณว่าจะจงรักภักดีต่อองค์จักรพรรดิ และความรักในชาติของตนเอง”

ภายหลังญี่ปุ่นแพ้สงคราม กฎหมายการศึกษาขั้นพื้นฐานได้พยายามขีดเส้นแบ่ง เพื่อแยก “ผู้ถือครองอำนาจรัฐ” กับ “การศึกษาของสาธารณชน” ออกจากกัน คือทำให้สิ่งหลังมีความเป็นอิสระจากสิ่งแรก

อย่างไรก็ตาม ต่อมามีการแก้ไขกฎหมายการศึกษาในปี 2006 (พ.ศ.2549) โดยเพิ่มเนื้อความที่มีลักษณะชาตินิยมลงไปว่า “(เพื่อ) สนับสนุนคุณค่าที่เคารพต่อประเพณี วัฒนธรรม ตลอดจนความรักในประเทศและภูมิภาคต่างๆ ที่ทะนุบำรุงเลี้ยงดูพวกเราขึ้นมา”

นับแต่นั้น กำแพงที่แบ่งแยก “การศึกษา” ออกจาก “ผู้ถือครองอำนาจรัฐ” ก็ถึงคราวพังทลายลง ภายใต้การบริหารประเทศในยุคที่มี “ชินโสะ อาเบะ” เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่องยาวนานหลายปี

ปัจจุบันนี้ พวกเราต่างได้เป็นประจักษ์พยานของสภาวะ “ผิดปกติ” เพราะเรื่องราวต่างๆ ในประวัติศาสตร์ที่ปรากฏอยู่ตามตำราเรียน กำลังถูกรื้อแล้วเขียนขึ้นใหม่

: ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด จังหวัดต่างๆ ในญี่ปุ่นมีอำนาจที่จะเลือกตำราเรียน เพื่อใช้สำหรับการเรียนการสอนในเขตพื้นที่ของตนเอง นั่นเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ที่นักเรียนซึ่งอาศัยอยู่ในภูมิภาคที่ต่างกัน จะเข้าถึงบทเรียนจากตำราที่ไม่เหมือนกัน?

คณะกรรมการการศึกษาของแต่ละหน่วยการปกครองท้องถิ่นในทุกๆ จังหวัด จะประชุมหารือกันเพื่อพิจารณาเปรียบเทียบว่าตำราเรียนเล่มไหน ควรจะถูกใช้สอนในโรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นในเขตพื้นที่ของพวกตน

เมื่อตำราเรียนเล่มต่างๆ ได้รับการคัดเลือกโดยคณะกรรมการแล้ว มันก็จะถูกส่งมอบไปให้ครูตามโรงเรียน เพื่อศึกษา-ประเมินคุณภาพของตำราเรียนแต่ละเล่มสำหรับทุกรายวิชาอีกครั้งหนึ่ง

ถึงแม้ตำราเรียนที่ใช้สอนในเขตการปกครองต่างๆ อาจมีความแตกต่างหลากหลาย แต่สิ่งที่ฉันรู้สึกวิตกกังวล คือ ในบางรายวิชา เช่น สังคมศึกษา ก็มีแนวโน้มที่เขตพื้นที่การศึกษาส่วนมากมักเลือกใช้ตำราจากสำนักพิมพ์เจ้าใหญ่ๆ เท่านั้น

ในทางตรงกันข้าม โรงเรียนแต่ละแห่งจะมีอำนาจในการคัดเลือกตำราเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายด้วยตัวเอง ดังนั้น จึงมีโอกาสน้อยมาก ที่กระบวนการนี้จะถูกแทรกแซงโดยฝ่ายการเมือง

: ทำไมประเด็นกองทัพญี่ปุ่นนำผู้หญิงในประเทศที่ถูกรุกรานสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มาเป็น “หญิงบำเรอ” จึงกลายเป็นเรื่องอ่อนไหวมากๆ ของรัฐบาลญี่ปุ่น? ทำไมรัฐบาลญี่ปุ่นถึงไม่ทำแค่การเอ่ยคำขอโทษ? พวกเขาหวาดกลัวที่จะต้องชดใช้ความเสียหายให้แก่เหยื่อในเหตุการณ์ครั้งนั้น หรือเพราะเหตุผลอื่น?

ใน “คำแถลงโคโนะ” (คำแถลงเมื่อ ค.ศ.1993 โดย “โยเฮอิ โคโนะ” หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในขณะนั้น ซึ่งได้ออกมายอมรับว่ากองทัพญี่ปุ่นเคยบังคับให้สตรีชาวจีนและเกาหลีทำหน้าที่เป็น “หญิงบำเรอ” ปรนนิบัติทหารของตนเอง ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2) รัฐบาลญี่ปุ่นเคยแสดง “คำขออภัยและการสำนึกผิด” ต่อประเด็นดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ต่อมาคำแถลงนี้กลับถูกโต้แย้งโดยนักการเมืองและนักวิจารณ์ขั้วอนุรักษนิยม ซึ่งระบุว่า “คำแถลงโคโนะ” มีเนื้อหาที่ “ขัดแย้งกับความจริง” และนิยามว่ามันเป็น “มุมมองทางประวัติศาสตร์แบบมาโซคิสต์” ที่ดูถูกเหยียดหยามประชาชนชาวญี่ปุ่น

แล้วก็มีหลายฝ่ายออกมาเรียกร้องให้ถอดเนื้อหาที่กล่าวถึงกรณี “หญิงบำเรอช่วงสงครามโลก” ออกจากตำราเรียนวิชาประวัติศาสตร์ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น นั่นหมายความว่ามีการทำเรื่องนี้ให้กลายเป็นปัญหาทางการเมือง

มีคนที่ต้องการลดทอนความสำคัญของประวัติศาสตร์ว่าด้วยเรื่องที่กองทัพญี่ปุ่นออกไปก่อความเจ็บปวดให้คนอื่น รวมถึงเรื่องที่ทหารญี่ปุ่นมีพฤติกรรมน่าอัปยศอดสูในการกระทำชำเราต่อสตรีเพศ คนเหล่านี้ปฏิเสธข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ และสร้างข้อโต้แย้งด้วยจิตใจอันคับแคบผ่านการตั้งคำถามว่า ผู้หญิงเหล่านั้นถูก “บีบบังคับ” ให้มาบำเรอทหารญี่ปุ่นจริงหรือไม่

นอกจากนี้ ทางฝั่งญี่ปุ่นยังอ้างว่าตนเองได้กล่าวคำขอโทษและชดใช้ค่าเสียหายไปแล้ว ทว่าทางฝั่งเกาหลีกลับยังคงหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมากล่าวถึงครั้งแล้วครั้งเล่า

ปัจจุบัน “คำแถลงโคโนะ” จึงตกเป็นเป้าหมายในการถูกโจมตีอย่างหนัก บรรดาผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองพากันผลักดันให้มีการแก้ไข หรือกระทั่งเพิกถอน เนื้อหาของแถลงการณ์ รมว.ต่างประเทศคนนี้ก็มีทัศนคติคับแคบกว่าคนก่อนๆ ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นเช่นกัน

: คุณคิดว่าเป็นเพราะเหตุใด รัฐบาลอาเบะจึงผลักดันให้มีการแก้ไขจุดยืนในเรื่องเหล่านี้อย่างแน่วแน่จริงจัง? คุณคิดไหมว่าเขาพยายามแก้รัฐธรรมนูญเพื่อจะนำญี่ปุ่นกลับเข้าสู่สงครามอีกหน? คุณคิดว่าภายหลังการเสียชีวิตของเขา แผนการทั้งหมดจะยุติลงหรือไม่?

มันเป็นข้อเท็จจริงที่ว่ากลุ่มคนที่ต้องการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น นั้นมีความกระตือรือร้อนที่จะเขียนตำราเรียนวิชาประวัติศาสตร์ขึ้นใหม่ไปพร้อมๆ กัน ยิ่งกว่านั้น พวกเขายังกล่าวโทษตำราเรียนในปัจจุบัน ว่าถูกเขียนขึ้นจากมุมมองทางประวัติศาสตร์แบบ “ฝ่ายซ้าย”

นอกจากแรงจูงใจต่างๆ ภายนอก (ที่จะนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญและเปลี่ยนเนื้อหาตำราเรียน) แล้ว พวกเขายังมีความปรารถนาลึกๆ ที่จะปรับเปลี่ยนกองกำลังป้องกันตนเองให้กลับไปเป็นกองทัพเต็มรูปแบบ และมีความเข้มแข็งเหมือนกองทัพญี่ปุ่นในอดีตที่เคยพิชิตจีนและรัสเซียมาแล้ว

การแก้ไขรัฐธรรมนูญคือหนึ่งในนโยบายของพรรคเสรีประชาธิปไตย เนื่องจากตอนนี้มีกลุ่มผู้นิยมสันติภาพหลงเหลืออยู่ในพรรคการเมืองดังกล่าวน้อยเต็มที ฉันจึงเชื่อว่าแผนการแทรกแซงระบบการศึกษาของรัฐบาลจะดำเนินต่อไปเรื่อยๆ อย่างยากจะหยุดยั้ง

: ในหนังสารคดีเรื่องนี้ คุณสามารถติดต่อขอสัมภาษณ์บุคคลในฝ่ายที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญและเนื้อหาตำราเรียนได้หลายคนมากๆ กระบวนการขอสัมภาษณ์มีความยุ่งยากไหม? และทำไมคุณถึงติดต่อพวกเขาได้สำเร็จ?

ชื่อของหนังคือ “Education and Nationalism” (ระบบการศึกษาและแนวคิดชาตินิยม) อาจช่วยให้การติดต่อประสานงานดำเนินไปได้ง่ายขึ้น เพราะแม้ว่า “คำหลังของชื่อหนัง” จะถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “nationalism” (แนวคิดชาตินิยม) แต่จริงๆ แล้ว คำที่ใช้ในภาษาญี่ปุ่นยังมีความหมาย (ในแง่ดี) ว่า “patriotism” (ความรักในบ้านเกิดเมืองนอน) ได้ด้วย

เวลาฉันติดต่อขอให้ใครเข้ามามีส่วนร่วมในภาพยนตร์ ฉันจะอธิบายเป้าหมายของตัวเองให้ละเอียดถี่ถ้วน และก็เน้นย้ำเป้าหมายดังกล่าวให้ชัดเจนอีกครั้ง ในการติดต่อพวกเขาอย่างเป็นทางการผ่านจดหมาย, อีเมล และการโทรศัพท์

ฉันจะยึดหลักการเรียบง่ายเรื่องความจริงใจ และจะร้องขอบุคคลเหล่านั้นก่อนการสัมภาษณ์ว่า “ฉันอยากจะรับฟังความคิดเห็นของพวกคุณ” นี่ไม่ใช่กระบวนการที่ยากเย็นอะไรเลย

: คุณหวาดกลัวไหมว่า การที่หนังสารคดีเรื่องนี้แสดงจุดยืนกล่าวโทษอาเบะ จะนำปัญหามาสู่ตัวคุณเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการเสียชีวิตของเขา?

เมื่อเกิดกระแสความคิดในโลกออนไลน์ ซึ่งตัดสินว่าใครที่วิพากษ์วิจารณ์อาเบะ คือ กลุ่ม “ต่อต้านความเป็นญี่ปุ่น” แรกๆ ฉันก็วิตกกังวลมากว่าตนเองจะต้องเจอกระแสโต้กลับอย่างรุนแรงในอินเตอร์เน็ต แต่หลังจากหนังเรื่องนี้เข้าโรงฉาย ฉันกลับได้ตระหนักว่าความหวาดกลัวของตนเองนั้นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นในโลกความจริง

ฉันเคยคาดการณ์ว่านักรณรงค์ทางการเมือง “ฝ่ายขวา” อาจจะเข้ามาข่มขู่คุกคามฉัน แต่สิ่งนั้นกลับไม่เกิดขึ้นแต่อย่างใด ฉันมองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงใดๆ ภายหลังการเสียชีวิตของอาเบะ แม้ว่าฉันจะระมัดระวังดูแลความปลอดภัยของตัวเองมากขึ้นเล็กน้อย แต่ฉันก็ไม่รู้สึกว่าตัวเองกำลังเผชิญหน้ากับอันตรายอะไร

: ตอนนี้คุณได้เริ่มต้นทำงานในโปรเจกต์ใหม่ๆ ไปแล้วหรือยัง?

ผลงานใหม่ของฉันจะมีชื่อว่า “Bashing : Behind the Source” (การทุบตี : เบื้องหลังปฏิบัติการเผยแพร่ข้อมูล) ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นหนังสารคดีฉบับโทรทัศน์ของ “Education and Nationalism”

สารคดีเรื่องนี้จะเปิดเผยเรื่องราวของสมาชิกรัฐสภาบางรายที่ถักทอความจริงและความเท็จเข้าด้วยกัน ก่อนจะแพร่กระจายมันผ่านช่องทางออนไลน์ โดยมีเป้าหมายหลักในการใส่ร้ายป้ายสีนักวิชาการจำนวนหนึ่งว่าเป็นพวก “ต่อต้านความเป็นญี่ปุ่น”

นอกจากนั้น ยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับกลุ่มแอดมินของบรรดาบล็อก ซึ่งมุ่งผลิตเนื้อหาที่สร้างความเกลียดชัง อันนำไปสู่การเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มคนเชื้อสายเกาหลีที่มีสถานะเป็นพลเมืองญี่ปุ่น

เมื่อสังคมญี่ปุ่นโดยรวมมีลักษณะเอียงไปทาง “ขวา” มากขึ้น ฉันจึงหวั่นวิตกว่าโครงสร้างทางการเมืองการปกครองที่น่ากลัวบางอย่างกำลังจะถูกก่อร่างสร้างขึ้นมา

มันเป็นโครงสร้างที่ผู้มีอำนาจจะแพร่กระจายข่าวลือและเฟกนิวส์ไปยังสาธารณชน แล้วกล่อมเกลาพวกเขาด้วยลัทธิประชานิยม โครงสร้างที่ใครบางคนจะมีความสุขกับการกีดกันแบ่งแยกพลเมืองบางกลุ่มออกไป และพวกเขาก็จะพยายามใช่เล่ห์เหลี่ยมเล่นงานประชาชนที่อยู่คนละฝ่ายกับตนเอง

ความขัดแย้งและการแบ่งแยกกันอย่างรุนแรงได้ปรากฏขึ้นในกระแสโลกยุคปัจจุบัน และสังคมญี่ปุ่นก็ไร้เสถียรภาพมากขึ้นตามลำดับ

ฉันอยากที่จะขุดลึกลงไปเรื่อยๆ เพื่อสำรวจว่าทำไมนี่จึงเป็นปัญหาสำคัญของพวกเรา และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะมีพัฒนาการคืบหน้าไปเช่นไร •

 

เนื้อหาและภาพประกอบจาก https://asianmoviepulse.com/2022/11/interview-with-hisayo-saika-were-now-witnessing-an-abnormal-state-in-which-historic-terms-are-being-rewritten-in-textbooks/

 

| คนมองหนัง