60 ปีวิกฤตนิวเคลียร์ (1) เราเรียนรู้อะไร? | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ | สุรชาติ บำรุงสุข

 

60 ปีวิกฤตนิวเคลียร์ (1)

เราเรียนรู้อะไร?

 

“ชาติที่มีอาวุธนิวเคลียร์มักมีแรงจูงใจที่จะใช้อาวุธที่มีอำนาจการทำลายล้างสูง มากกว่าจะทำสงครามยืดเยื้อด้วยการรบแบบดั้งเดิม หรือไม่ก็ต้องยอมรับความพ่ายแพ้”

John M. Collins (Military Strategy, 2002)

 

ปี 2022 เป็นวาระครบรอบ 60 ปีของ “วิกฤตการณ์จรวดที่คิวบา” (The Cuban Missile Crisis)

ซึ่งวิกฤตการณ์ในครั้งนั้นถือเป็นสถานการณ์ความตึงเครียดของโลกที่เข้าใกล้ “สงครามนิวเคลียร์” มากที่สุดนับตั้งแต่การทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิมาและนางาซากิในเดือนสิงหาคม 1945 อันเป็นจุดสุดท้ายที่นำไปสู่การสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเอเชีย

และระเบิดนิวเคลียร์เป็นปัจจัยสำคัญในการปิดฉากสงครามโลกลงอย่างสมบูรณ์

แต่ก็เป็นการปิดฉากด้วยความ “น่าสะพรึงกลัว” ของอำนาจทำลาย

เมื่ออาวุธนิวเคลียร์ถือกำเนิดขึ้นและนำไปสู่การใช้ในทางทหารนั้น นักทฤษฎีและนักยุทธศาสตร์หลายคนเชื่อว่า อาวุธที่มี “อำนาจการทำลายล้างสูง” (weapon of mass destruction) เช่นนี้ จะเป็นปัจจัยที่ช่วยยับยั้งสงครามระหว่างรัฐมหาอำนาจ

เพราะอาวุธดังกล่าวมีอำนาจการทำลายเกินกว่าขอบเขตการทำลายของอาวุธในระดับปกติ และสงครามนิวเคลียร์จะไม่ให้ผลตอบแทนทางการเมืองเช่นที่สงครามตามแบบเคยให้แก่รัฐผู้ชนะดังที่ปรากฏในประวัติศาสตร์สงคราม

ฉะนั้น หากรัฐคู่สงครามใช้อาวุธนิวเคลียร์เป็นเครื่องมือในการทำสงครามแล้ว ผลที่ตามมาอาจจะมีแต่ “รัฐที่ถูกทำลายด้วยอาวุธนิวเคลียร์” ด้วยกันทั้งสองฝ่าย

หรืออาจกล่าวทั้งในทางทฤษฎีและปฏิบัติได้ว่า “ไม่มีรัฐผู้ชนะในสงครามนิวเคลียร์”

ความหวังที่จะเป็นรัฐผู้ชนะในสงครามนิวเคลียร์ย่อมจะเป็น “ความไร้เหตุผล” ในทางยุทธศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง

แม้จะมีเงื่อนไขเช่นนี้ แต่ก็มิได้หมายความว่า “วิกฤตนิวเคลียร์” จะไม่เกิดขึ้นในเวทีโลก

เพราะผลของการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่ที่มีสถานะเป็น “รัฐมหาอำนาจนิวเคลียร์” นั้น ย่อมทำให้ปัจจัยของอาวุธนิวเคลียร์เป็นตัวแปรสำคัญของการเมืองโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สงครามเย็นกับคิวบา

สงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ได้จบลงด้วยการสิ้นสุดของการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่แต่อย่างใด หากแต่สิ่งที่ตามมาหลังจากการยุติสงครามคือ สถานการณ์การเมืองโลกชุดใหม่ที่ถูกเรียกว่าเป็น “สงครามเย็น” โดยมีระเบิดนิวเคลียร์ซึ่งเป็นอาวุธที่มีอำนาจในการทำลายล้างสูงเป็นองค์ประกอบสำคัญของการแข่งขันนี้

คู่แข่งขันใหม่หลังสงครามโลกคือ สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต และภัยคุกคามเดิมจากรัฐนาซีได้ถูกทำลายลงแล้ว

สงครามยุติลงด้วยการที่สหรัฐแสดงให้เห็นถึงพลังอำนาจทางทหารในระดับสูงสุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนด้วยการโจมตีเป้าหมายสองแห่งของญี่ปุ่นด้วยระเบิดปรมาณูในปี 1945 โซเวียตจึงเร่งพัฒนาอาวุธดังกล่าว จนประสบความสำเร็จในปี 1949

ซึ่งนักวิชาการบางส่วนตีความว่า การทิ้งระเบิดปรมาณูต่อญี่ปุ่น ไม่ใช่เพื่อการยุติสงคราม แต่เพื่อแสดงให้รัฐโซเวียตเห็นถึงศักยภาพทางทหารของสหรัฐ

ฉะนั้น เมื่อสหรัฐประสบความสำเร็จในการผลิตระเบิดไฮโดรเจนได้ในปี 1952 โซเวียตก็ทุ่มการพัฒนาทางทหาร และประสบความสำเร็จในการมีระเบิดนี้ในปี 1953 ผลจากสภาวะเช่นนี้นำไปสู่ “การแข่งขันสะสมอาวุธนิวเคลียร์” (Nuclear Arms Race) ซึ่งได้กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของยุคสงครามเย็น

ดังนั้น การดำเนินนโยบายความมั่นคงของสองรัฐมหาอำนาจใหญ่จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดการประจัญหน้าด้วยอาวุธนิวเคลียร์ได้เสมอ

แต่ก็มีความหวังว่า สุดท้ายแล้ว อาวุธนิวเคลียร์จะไม่ถูกนำมาใช้จริง เนื่องจากสงครามนิวเคลียร์ระหว่างรัฐมหาอำนาจใหญ่จะนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า “สงครามนิวเคลียร์ล้างโลก” เพราะอำนาจการทำลายล้างขนาดใหญ่ย่อมจะมากกว่าสิ่งที่โลกเคยเห็นจากการทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ

หากเปรียบเทียบกับอำนาจการทำลายล้างของหัวรบนิวเคลียร์ในปัจจุบันแล้ว ย่อมทำให้เวทีสากลมีความกังวลต่อประเด็นของสงครามนิวเคลียร์ในยูเครนอย่างมาก เนื่องจากประธานาธิบดีปูตินออกมากล่าวถึงอาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซีย ซึ่งหากผู้นำรัสเซียตัดสินใจใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อตอบโต้ต่อการรุกกลับของกองทัพยูเครน แม้จะเป็นระดับของการใช้ “อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธี” (Tactical Nuclear Weapons) แต่ด้วยอำนาจการทำลายของหัวรบในปัจจุบัน ความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจจะอยู่ในระดับที่คาดไม่ถึง และส่งผลให้เกิดการ “ยกระดับสงคราม” ในตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความกังวลต่อปัญหาสงครามนิวเคลียร์ในยุคสงครามเย็น แต่สถานการณ์ที่คาดไม่ถึงอาจเกิดขึ้นจนได้เสมอ อันเป็นผลจากสภาวะความตึงเครียดของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐมหาอำนาจนิวเคลียร์

ในที่สุด สิ่งที่คาดไม่ถึงก็เกิดขึ้นในเช้าวันที่ 14 ตุลาคม 1962 เมื่อเครื่องบินลาดตระเวนถ่ายภาพทางอากาศแบบยู-2 ของสหรัฐบินถ่ายภาพทางอากาศตามปกติในพื้นที่แถบทะเลแคริบเบียน แต่ภาพถ่ายที่ได้จากพื้นที่ด้านตะวันตกของคิวบาสร้างความตระหนกตกใจกับประชาคมความมั่นคงอเมริกันอย่างมาก

เพราะภาพดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการก่อสร้างฐานยิงขีปนาวุธพิสัยกลางของสหภาพโซเวียต ซึ่งคิวบาในทางภูมิรัฐศาสตร์อยู่ไม่ไกลจากรัฐฟลอริดาเท่าใดนัก

การติดตั้งขีปนาวุธนิวเคลียร์ของโซเวียตในพื้นที่เช่นนี้จึงเป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อความมั่นคงของสหรัฐ และคาดเดาได้ไม่ยากว่าผู้นำทั้งทางการเมืองและการทหารของสหรัฐจะรับไม่ได้กับการติดตั้งอาวุธดังกล่าว (จุดที่ใกล้ที่สุดระหว่างคิวบากับสหรัฐมีระยะไม่ถึง 100 ไมล์)

นอกจากนี้ คิวบาเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ ซึ่งสหรัฐและกลุ่มประเทศในภูมิภาคละตินอเมริกามีความกังวลต่อการขยายตัวของ “สงครามปฏิวัติ” หรือการขยายตัวของสงครามคอมมิวนิสต์ภายในประเทศ

สภาวะเช่นนี้ย่อมทำให้คิวบากลายเป็นประเด็นสำคัญของสงครามเย็นในละตินอเมริกาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และทั้งยังเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการปกครองของ “ระบอบเผด็จการทหารฝ่ายขวา” ในภูมิภาคอีกด้วย

(Photo by Getty Images)

การตอบโต้

ประธานาธิบดีเคนเนดี้ผู้นำสหรัฐ เรียกประชุมด่วนทันที โดยมีตารางเวลากำหนดไว้ 2 สัปดาห์ หรือ “14 วัน” เป็นเส้นตาย เพราะการติดตั้งขีปนาวุธจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ขีปนาวุธจึงจะสามารถนำมาใช้ในทางยุทธการได้จริง ฉะนั้น การติดตั้งขีปนาวุธดังกล่าวในมุมมองของสหรัฐแล้ว ถือเป็น “ภาวะฉุกเฉินสูงสุดในระดับชาติ” เพราะเกิดความเสี่ยงที่สหรัฐอาจถูกโจมตีอย่างไม่ทันตั้งตัวด้วยอาวุธนิวเคลียร์ของโซเวียตที่ปล่อยจากฐานยิงในคิวบา อีกทั้ง ผลจากความใกล้ทางภูมิศาสตร์ของระยะโจมตี ระบบป้องกันทางอากาศของสหรัฐจะไม่สามารถแจ้งเตือนภัยได้ทันท่วงที

สถานการณ์เช่นนี้นำไปสู่ทางเลือก 2 ประการ คือ

1) ตัดสินใจเปิดการโจมตีทางอากาศต่อที่ตั้งขีปนาวุธของโซเวียตในคิวบา อันจะเป็นการบังคับให้ผู้นำโซเวียตต้องยุติโครงการนี้ไปโดยปริยาย

แต่ปัญหาในทางเลือกนี้จะนำไปสู่คำถามใหญ่ว่า อะไรคือผลสืบเนื่องในทางทหาร และผู้นำมอสโกจะยอมรับได้หรือไม่หากการโจมตีเกิดขึ้น และจะนำไปสู่การโจมตีตอบโต้กลับด้วยอาวุธนิวเคลียร์กับเป้าหมายในสหรัฐหรือไม่

2) แสวงหาช่องทางทางการทูต ด้วยความพยายามในการติดต่อทั้งกับผู้นำโซเวียตและผู้นำคิวบา เพื่อที่หาทางถอดชนวนวิกฤต เพื่อที่หลีกเลี่ยงสถานการณ์การตอบโต้กลับของโซเวียต อันจะก่อให้เกิดความเสียหายกับสังคมอเมริกันอย่างมาก หากการโจมตีดังกล่าวเกิดขึ้นจริง

ทางเลือกจบลงในแบบที่ 3 คือ ไม่รับข้อเสนอในการโจมตีทางอากาศ เพราะอาจนำไปสู่สงครามโลก และประชามติในเวทีโลกเองก็อาจไม่สนับสนุนปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐ

แต่เลือกทางใหม่ที่จะใช้การ “ปิดล้อมทางทะเล” เป็นนโยบายหลักในการกดดันโซเวียต และผู้นำสหรัฐเชื่อว่าจะเป็นหนทางที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุดที่จะทำให้เกิดสงครามนิวเคลียร์

และในเชิงรูปแบบนั้น การปิดล้อมทางทะเลน่าจะเป็น “นโยบายที่ก้าวร้าว” น้อยที่สุด อีกทั้งน่าจะเป็นนโยบายที่ประชาคมโลกรับได้ด้วย เพราะไม่ใช่การใช้กำลังขนาดใหญ่เข้าแก้ไขปัญหา ซึ่งอาจจะขยายตัวไปสู่ภาวะของสงครามนิวเคลียร์ได้ไม่ยาก

แต่ขณะเดียวกัน กองทัพอากาศสหรัฐก็ถูกสั่งให้เตรียมรับมือกับการโจมตีอย่างฉับพลันด้วยอาวุธนิวเคลียร์ของโซเวียต เครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์แบบบี-52 ถูกสั่งบินเตรียมพร้อมรบ และมีการติดตั้งระเบิดนิวเคลียร์ด้วย

ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่เครื่องบินทิ้งระเบิดของกองบัญชาการป้องกันทางอากาศถูกสั่งให้ติดระเบิดนิวเคลียร์ทั้งหมด

ในอีกด้านหนึ่งผู้นำมอสโกเชื่อว่าสหรัฐอาจตัดสินใจเปิดการโจมตีและยกพลขึ้นที่คิวบา จึงได้มีคำสั่งให้ผู้บังคับบัญชาทหารโซเวียตเตรียมใช้อาวุธนิวเคลียร์ในการตอบโต้กับการบุกของสหรัฐ แต่การยิงขีปนาวุธนิวเคลียร์นี้ ต้องได้รับ “คำสั่งโดยตรง” จากผู้นำที่มอสโกเท่านั้น

สภาวะเช่นนี้ทำให้วิกฤตยกระดับขึ้นทันที และไปสอดรับกับทัศนะของ “สายเหยี่ยว” ทั้งที่มอสโคและวอชิงตัน ที่เชื่อในเรื่องของการใช้กำลัง

อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดทางด้านอาวุธนิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นในกรณีนี้จบลงด้วยการตัดสินของผู้นำโซเวียตที่จะยุติโครงการติดตั้งขีปนาวุธที่คิวบา ส่วนผู้นำสหรัฐก็ตัดสินใจถอนขีปนาวุธของอเมริกันออกจากตุรกีในปี 1963 ซึ่งผู้นำทั้งสองฝ่ายต่างก็กล่าวอ้างว่าตนเป็น “ผู้ชนะ” แม้ภาพในเวทีสาธารณะ จะเป็นดังชัยชนะครั้งสำคัญของประธานาธิบดีเคนเนดี้ก็ตาม

 

บทเรียน

บทเรียนสำคัญจาก “วิกฤตการณ์จรวดที่คิวบา” คือรัฐมหาอำนาจใหญ่จะต้องหลีกเลี่ยงสถานการณ์การเผชิญหน้าด้วยอาวุธนิวเคลียร์ เพราะสภาวะเช่นนั้นอาจนำไปสู่การกำเนิดของสงครามนิวเคลียร์ได้ไม่ยาก โดยเฉพาะการเผชิญหน้าของรัฐมหาอำนาจนิวเคลียร์นั้น สามารถที่จะถูกยกระดับความขัดแย้ง (ในความหมายของ escalation of war) ได้ เนื่องจากรัฐมหาอำนาจในภาวะวิกฤตอาจไม่ยอมดำเนินนโยบายแบบผ่อนปรน อันจะเปิดโอกาสให้คู่ขัดแย้งตีความว่า ตนเองเป็นฝ่ายที่อ่อนแอกว่า

หรือในความหมายทางยุทธศาสตร์คือ การกระทำเช่นนั้นอาจมีนัยถึงการลด “ความน่าเชื่อถือ” ทางด้านนิวเคลียร์ลง (nuclear credibility) ซึ่งจะยิ่งทำให้รัฐคู่พิพาทใช้อำนาจของอาวุธนิวเคลียร์กดดัน จนอาจกลายเป็นผู้แพ้โดยที่สงครามจริงยังไม่ได้เริ่มขึ้น

แม้โลกวันนี้จะผ่านสถานการณ์ที่เสี่ยงที่สุดของสถานการณ์วิกฤตนิวเคลียร์ในยุคสงครามเย็นมาถึง 60 ปีแล้ว แต่สงครามยูเครนที่เกิดในปัจจุบันกลับพาวิกฤตนิวเคลียร์หวนคืนมาอีกครั้ง อันเป็นผลจากท่าทีของผู้นำรัสเซีย จนทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลว่า การถอยร่นของกองทัพรัสเซียจากการรุกกลับของกองทัพยูเครนอาจกลายเป็นแรงกดดันให้ประธานาธิบดีปูตินตัดสินใจใช้อาวุธนิวเคลียร์ตอบโต้หรือไม่

วิกฤตการณ์จรวดที่คิวบาในปี 1962 ทิ้งบทเรียนว่าโอกาสที่จะเกิดสงครามนิวเคลียร์อาจจะอยู่แค่เอื้อม แต่ไม่มีใครคาดเดาได้ว่า หากเกิดวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ขึ้นจริงในสงครามยูเครนแล้ว เรื่องจะจบแบบยุค “เคนเนดี้-ครุชชอฟ” หรือไม่!