ในประเทศ/ปลดไม่ปลดล็อกการเมือง การเมืองสไตล์ คสช. หรือกลัวเสียงโครมคราม?

ในประเทศ

ปลดไม่ปลดล็อกการเมือง
การเมืองสไตล์ คสช.
หรือกลัวเสียงโครมคราม?

หลังจาก พ.ร.บ.พรรคการเมืองมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งใกล้จะครบหนึ่งเดือนแล้ว
ประเด็นการปลดล็อกทางการเมืองเป็นสิ่งที่คอการเมืองจับตา หลังพระราชพิธีสำคัญว่ารัฐบาลจะขยับอย่างไร เพราะยิ่งช้ายิ่งทำให้พรรคการเมืองเสียโอกาสมากขึ้นเรื่อยๆ ร้ายสุดคืออาจไม่สามารถทำอะไรได้เลย โดยเฉพาะกับพรรคการเมืองที่มีสมาชิกจำนวนมากที่จะต้องสื่อสารกับสมาชิกพรรค และขั้นตอนการรับรองจาก กกต.
สร้างเสียงฮือฮาให้กับคอการเมืองไม่น้อย เพราะช่วงเช้าวันที่ 30 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันออกทุกข์ เมื่อผู้สื่อข่าวยื่นไมค์ถาม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ถึงข่าวที่สื่อบางฉบับเคยระบุไว้ว่าวันที่ 1 พฤศจิกายน จะปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้ โดยบิ๊กป้อมตอบสั้นๆ คสช. ยังไม่ได้ประชุมกันเรื่องนี้
ในวันเดียวกัน บิ๊กตู่ก็ออกตัวพูดที่อ่างทองระหว่างไปแก้น้ำท่วม แต่ก็ไม่ค่อยชัดว่ายังไม่ไฟเขียวการเมือง เพราะเป็นช่วงช่วยเหลือประชาชน ไม่ใช่ช่วงที่เปิดโอกาสให้นักการเมืองทำกิจกรรมได้

ขณะที่ฝ่ายเชียร์รัฐบาลอย่าง นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สนช. คนดัง ซึ่งออกโรงแนะว่ารัฐบาลควรจะปลดล็อกการเมืองในช่วงต้นปี 2561 ไปเลย ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้เท่ากับว่าวันปลดล็อกการเมืองจะเลื่อนไปอีก 2-3 เดือน หรืออาจจะมากกว่านั้นนิดหน่อย โดยในนายวัลลภสื่อสารถึงนักการเมืองว่าอย่ากังวล สนช. ไม่คิดคว่ำกฎหมายลูกแน่นอน
ความกังวลดังกล่าว ด้านหนึ่งก็สะท้อนในวันเดียวกันจากการที่รองประธาน สนช. ต้องรุดพูดคุยกับประธาน กรธ. เพื่อหารือกรอบการส่งกฎหมายลูกให้ชัดเจน โดย กรธ. ยืนยันจะส่งกฎหมายลูกฉบับสุดท้ายในวันที่ 28 พฤศจิกายน
วันต่อมาผู้สื่อข่าวยังพยายามถามความชัดเจนจากปากของนายกรัฐมนตรีในประเด็นปลดล็อกทางการเมืองขณะให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (31 ตุลาคม)
โดยนายกฯ พยายามปฏิเสธตอบคำถาม โดยบอกว่าเป็นเรื่องของ คสช. พิจารณา

หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ผู้สื่อข่าวสอบถามสมาชิกในห้องประชุมอย่าง พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ เลขาฯ สมช.คนใหม่ ที่บอกว่านายกฯ ยังไม่ถกปลดล็อกการเมือง โดยให้เหตุผลว่าจะขอช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมก่อน
คำตอบคือ “หัวหน้า คสช. ไม่ได้มีการหารือเรื่องดังกล่าว เพราะตอนนี้คิดช่วยชาวบ้านที่ประสบอุทกภัยอย่างเดียว”
ถัดจากนั้น พล.อ.ประวิตร กลับให้สัมภาษณ์โดยให้เหตุผลคนละอย่างกับเลขาฯ สมช. โดยบอกว่าที่ยังไม่ปลดล็อกการเมืองเพราะขณะนี้ยังมีการโจมตีและบิดเบือนกันอยู่ ยังไม่ไปในทิศทางเดียวกัน หากมีความสงบเรียบร้อยตนก็จะพิจารณา พร้อมแสดงความมั่นใจว่านักการเมืองจะทำทุกอย่างทันตามกรอบเวลา เมื่อถามถึงกรอบเวลาที่ชัดเจนในการปลดล็อก รองนายกฯ ก็บอกว่าไม่สามารถบอกได้ว่าจะเปิดเมื่อไหร่ รวมถึงยังไม่อนุญาตให้เคลื่อนไหวการเมืองเกิน 5 คนด้วย
ตอกย้ำเหตุผลดังกล่าวของ คสช. จากผู้มีอำนาจสูงสุดใน คสช. คือ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ออกมาระบุหลังการประชุมชัดเจนว่า ยังไม่ปลดล็อกการเมืองเพราะต้องการให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยก่อน โดยหากนักการเมืองยิ่งจี้ ตัวเองยิ่งคิดไม่ออก ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์พูดเรื่องส่วนประกอบต่างๆ ไม่ใช่การประกาศปลดล็อกแล้วทำกิจกรรมได้เลย แต่ต้องรอให้ทุกอย่างพร้อม โดยเฉพาะ กกต. มิฉะนั้นจะวุ่นวายไปหมด พร้อมระบุด้วยว่าเวลานี้บ้านเมืองก็สงบดีอยู่
“ขอให้เชื่อมั่น ผมเองก็รู้และคำนึงถึงเรื่องนี้อยู่ แต่ถ้าสมมติว่าทุกอย่างมันโครมครามกันทั้งหมด และท่านก็เห็นอยู่แล้วว่าวันนี้ยังไม่เรียบร้อย ยังมีการพูดจาให้ร้ายกันเยอะแยะไปหมด ท่านต้องหยุดซิ หยุดเรื่องเหล่านี้ เพื่อให้ทุกคนสบายใจ ให้ประชาชนมีความสุข ผมไม่อยากให้ประชาชนรังเกียจการเมืองหรือนักการเมือง”
พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ชวนให้คิดถึงการเมืองในอนาคตของคนใน คสช. เอง โดยเมื่อนายกฯ ถูกถามกรณี นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.เพื่อไทย เรียกร้องให้ชี้แจงอนาคตของตัวเอง พล.อ.ประยุทธ์ถึงกับสวนกลับอย่างฉุนเฉียวว่า นายวรชัยเป็นใคร ผมเป็นใคร มันไม่ใช่ ไม่จำเป็นต้องตอบคำถามเขา อนาคตเป็นเรื่องของผม ทั้งนี้นายกฯ ทิ้งคำสำคัญไว้ในช่วงท้ายซึ่งเป็นสไตล์ของรัฐบาลนี้ โดยระบุว่าแล้วจะเปิดเผยออกมาทีเดียวจบ ทันเวลาอยู่แล้ว
“…มากดดันรัฐบาลอยู่แบบนี้ มันไม่เป็นธรรม การหาเสียงอะไรก็ไปเตรียมการของตัวเองไว้ จะหาเสียงอย่างไร ส่วนเรื่องสมัครสมาชิกพรรค ผมหาทางให้จนได้ จะปลดล็อกกันอย่างไรก็อย่าถามผมบ่อยนักแล้วกัน มันทำให้คิดไม่ออก มันก็เลยช้า ถ้าถามมากก็คิดไม่ค่อยออก” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ครั้งนี้ย้อนกลับไปช่วงก่อนพระราชพิธีสำคัญ พล.อ.ประยุทธ์ได้แถลงในวันที่ 10 ตุลาคม เกี่ยวกับการประกาศเลือกตั้งว่าจะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนปีหน้า ซึ่งหลังการประกาศก็ทำให้ตลาดหุ้นพุ่งขึ้นคึกคักตอบรับอนาคตความมั่นคงการเมือง โดยในวันนั้นนายกฯ ขอให้พรรคการเมืองอยู่ในความสงบ เพราะจะมีผลพิจารณาปลดล็อกการดำเนินกิจกรรมการเมือง ซึ่งความคาดหวังจากคอการเมืองว่าจะมีการปลดล็อกการเมืองช่วงเดือนพฤศจิกายน
เพราะคนในรัฐบาล คือ พล.อ.ประวิตรระบุว่าเรื่องการปลดล็อกต้องให้ผ่านพ้นช่วงเดือนตุลาคมก่อน พล.อ.ประวิตรทิ้งปริศนาการเมืองว่าด้วยการเลือกตั้ง โดยบอกว่าหากมีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความกฎหมายลูกโดยผ่านกระบวนการมีความล่าช้าก็จะต้องทำให้การเลือกตั้งเลื่อนจากเดือนพฤศจิกายน ปี 2561 ออกไปอีก ทั้งบอกว่าที่นายกฯ หมายถึงสิ่งก่อนหน้านี้ไม่มีอุปสรรคอะไรเลย
“ก็เราทำไปตามโรดแม็ป นายกฯ ท่านว่า กรณีที่ไม่มีอุปสรรคอะไรเลย ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน แต่หากมีอุปสรรคอะไรเกิดขึ้น ก็ต้องยืดไปตามห้วงระยะเวลา ซึ่งเราไม่ได้ไปทำให้มันยืด” พล.อ.ประวิตรกล่าว

ของฝากนักการเมืองไม่ว่าจะเป็นแกนนำพรรคเพื่อไทย อย่าง คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่ขอให้ คสช. รีบปลดล็อก หรือ นายวัฒนา เมืองสุข ที่กระตุกแรงๆ ขอให้เลิกถ่วงเวลา หันทำดีกับประชาชนบ้าง โดยการยกเลิกคำสั่งที่จำกัดสิทธิเสรีภาพ เผื่อในอนาคตประชาชนจะมีเมตตาให้อภัย
หรือทางฝั่งพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็น นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.กทม. หรือ นางมัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรค ที่เห็นว่าถึงเวลาแล้วในการปลดล็อกพรรคการเมือง เพื่อให้ปรับตัวกับกติกาใหม่ ส่วนเรื่องปัญหาความมั่นคงนั้น คสช. ไม่น่าจะกังวลเพราะยังมีมาตรา 44 อยู่ในมือ โดยหากไม่ให้ขยับปรับตัวเลย ความซับซ้อนของกฎหมายพรรคการเมืองฉบับใหม่ ก็จะมีผลต่อการเลือกตั้งในอนาคตแน่นอน รวมถึง ศุภชัย ศรีหล้า อดีตรองเลขาธิการพรรค ที่เห็นว่าหากบิ๊กตู่จริงใจก็ต้องให้เวลาพรรคการเมืองปฏิรูป ปรับตัวเองด้วย
ชัดเจนสุดคือ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่บอกว่าถ้าไม่ปลดล็อกช่วงนี้ก็ไม่ทันแล้ว ความวุ่นวายมันก็มีอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องห่วง เชื่อว่าประชาชนรู้เองว่าใครก่อความวุ่นวาย แต่รัฐบาลก็มีอำนาจ พร้อมตั้งคำถามว่ารัฐบาลอยากยืดอำนาจตัวเองหรือไม่ โดยตนเองไม่อยากเรียกร้องแล้ว เดี๋ยวถูกกล่าวหาว่ากระสันเลือกตั้ง
เรื่องนี้น่าจะเห็นตรงกันในหลายส่วน มากกว่าแรงกดดันจากนักการเมือง จากพรรคใหญ่สองพรรค แม้พรรคขนาดกลางอย่างพรรคชาติไทยพัฒนา ก็มีเสียงจาก สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ยืนยันว่าอย่ากลัวปลดล็อกพรรคการเมือง เพราะหากยิ่งช้า โอกาสทำตามกฎหมายใหม่ยิ่งน้อยลง หรือเสียงจากนักวิชาการ ยุทธพร อิสรชัย จาก มสธ.
และอดีตกรรมการการเลือกตั้ง อย่าง สดศรี สัตยธรรม ก็เห็นตรงกันว่าควรให้เวลาพรรคการเมืองทำตามกฎหมายใหม่

เกมนี้ดูเหมือนบิ๊กตู่จะไม่สนใจเสียงเรียกร้อง และยังมั่นใจในความสามารถในการสื่อสารกับประชาชน ดูจากการลงพื้นที่ไปพูดคุยกับประชาชน เมื่อถอดความหมายจากคำพูดจะพบการพยายามโน้มน้าวให้ชาวบ้านเปลี่ยนแปลง และเห็นปัญหาจากการเลือกนักการเมืองระบบเก่า โดยการเลือกตั้งครั้งใหม่ก็ขอให้เลือกคนดี บิ๊กตู่ย้ำคำว่าธรรมาภิบาลหลายครั้งมาก รวมถึงอยากให้มองย้อนกลับไปในอดีตว่าประเทศเจอกับอะไรมาบ้างจากการเลือกแบบเดิม นั่นคือการเลือก “คนดี” ในนิยามของ พล.อ.ประยุทธ์นั่นเอง
“ข้าวราคา 15,000 บาท แต่ทำให้ปั่นป่วนไปหมด ผมไม่โทษใคร แต่นโยบายแบบนี้ต้องระมัดระวัง อันตราย ใครเข้ามาในวันหน้า ไม่สามารถทำได้ เพราะจะกลายเป็นงูกินหางจนล้มละลายกันทั้งประเทศ” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
นี่คือท่าทีล่าสุดจากผู้นำ คสช. ในการมุ่งกลับสู่ระบบการเมืองปกติ ชัดและไม่ชัด คิดดูกันเอง!