‘นิรโทษกรรม’ ฉบับ นพ.ระวี นัยยะการเมืองไปต่อ-จอดป้าย

วาระเรื่องนิรโทษกรรม ถูกหยิบขึ้นมาให้ประชาชน สังคม และฝ่ายการเมืองได้ถกเถียงกันอีกครั้ง

เมื่อ “หมอระวี” นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ เตรียมเสนอ ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม พ.ศ…. เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร อีกครั้ง

สำหรับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับ นพ.ระวี มีทั้งสิ้น 7 มาตรา โดยมีสาระสำคัญ คือ เสนอให้นิรโทษกรรมคดีความที่เป็นผลสืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2565

ครอบคลุมตั้งแต่การใช้วาจา การโฆษณาต่อต้านรัฐบาล การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐในการชุมนุม การประท้วงที่กระทบต่อสิทธิของบุคคลอื่นที่เป็นเหตุสืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง จะไม่ถือเป็นความผิดทางอาญาและแพ่ง ให้พ้นจากการกระทำผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง

อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับ นพ.ระวี จะไม่ครอบคลุมถึงความผิด 3 กรณี ได้แก่

1.การทุจริตคอร์รัปชั่น

2.ความผิดทางอาญาที่รุนแรง เช่น การยิงเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร หรือบุคคลอื่น

และ 3.ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่อยู่ในข่ายได้รับนิรโทษกรรม

หากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ถ้าคดีใดยังไม่ถูกฟ้องต่อศาลหรืออยู่ระหว่างสอบสวน ถือว่าให้ระงับการสอบสวน หรือยุติการส่งฟ้องต่อศาล หากถูกฟ้องต่อศาลแล้วให้ถอนฟ้อง

หรือถ้าคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดี

และกรณีที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษบุคคลใดไปแล้ว ให้ถือว่าบุคคลนั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด

สําหรับที่มาที่ไปในการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ครั้งนี้ นพ.ระวีอธิบายว่า เมื่อมาดูสถานการณ์ความขัดแย้งทางความคิดในช่วงยุคปัจจุบัน โดยเมื่อนับจากช่วงตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 เมื่อ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เข้าทำรัฐประหารรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร

ต่อมาก็เกิดเสื้อแดง-แนวร่วม นปช.เพื่อต่อต้าน คมช. หลังจากนั้นก็เกิดความขัดแย้งขึ้นแทบทุกรัฐบาล สมัยรัฐบาลพลังประชาชน ยุคสมัคร สุนทรเวช สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ก็มีม็อบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เสื้อเหลือง ออกมาต่อต้าน มีคนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก ต่อมาภายหลังอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ก็มีกลุ่ม นปช.เสื้อแดง ออกมาต่อต้าน บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมากเช่นกัน

(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

ต่อมาหลังการเลือกตั้งปี 2554 ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีความพยายามจะออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จนกลายเป็นชนวนทำให้เกิดม็อบ กปปส. เกิดการต่อสู้ทางการเมือง คนบาดเจ็บและเสียชีวิตอีกครั้ง จนเกิดรัฐประหารโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นยุค คสช. และต่อมา พล.อ.ประยุทธ์เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ก็มี ม็อบคนรุ่นใหม่ ม็อบสามนิ้ว เกิดข้อขัดแย้ง

ทั้งหมดจะเห็นได้ว่า ก่อนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เกิดข้อขัดแย้งกระจายทั่วประเทศแบบซึมลึก เป็นข้อขัดแย้งระหว่างฝ่ายเหลืองกับแดง ฝ่ายทักษิณกับฝ่ายไม่เอาทักษิณ หลายครอบครัว สามีภรรยา หรือพ่อกับลูก คิดต่างกัน ก็ทะเลาะกัน หรือเพื่อนๆ ในกลุ่มเดียวกัน เคยอยู่ด้วยกันดีๆ ก็เกิดความแตกแยก

แสดงให้เห็นว่า สังคมไทย มันขัดแย้ง ซึมลึกกันไปทั้งประเทศ พอมายุคนี้ เป็นความขัดแย้งของคนรุ่นใหม่ มีม็อบสามนิ้ว ที่ออกมาปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ความขัดแย้งที่ร้าวลึกดังกล่าวในสังคมไทย ส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง และหลายบริบท เรียกได้ว่า เสียหายหมด ประเทศไหน หากคนในประเทศด้วยกันเอง ทะเลาะกันแบบนี้ เจริญยาก จึงเป็นความจำเป็นที่เราต้องยุติข้อขัดแย้งทางการเมือง

นี่คือเหตุผลที่เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ควรต้องมีการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

สําหรับความเป็นไปได้ในการขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ครั้งนี้ เบื้องลึกเบื้องหลัง คงไม่มีใครตอบคำถามนี้ได้ดีไปกว่าหมอระวี

เพราะหลังจากที่ นพ.ระวี จุดประเด็นเตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ขึ้นมาอีกครั้ง ท่าทีของฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลยังดูไม่ค่อยมีฝ่ายใดเปิดหน้าออกมาตอบรับหรือสนับสนุนแบบชัดเจน

หลายฝ่ายยังสงวนท่าทีกับการที่จะเข้ามามีส่วนได้ ส่วนเสียกับการเดินหน้าขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

อย่าง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ออกตัวว่า ต้องดูในรายละเอียดว่ามีประเด็นอะไร ครอบคลุมในเรื่องใด และเนื้อหาสาระเป็นอย่างไรก่อน และไม่เกี่ยวข้องกับการพานายทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลับประเทศไทย เพราะว่าคดีที่ฟ้องนายทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้ฟ้องด้วยคดีทางการเมือง แต่เป็นการกล่าวหาว่าทุจริต ซึ่งจะไม่ครอบคลุมในการได้รับนิรโทษกรรม

เช่นเดียวกับ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ที่ออกมาให้มุมมองในลักษณะตักเตือนว่า ต้องถามว่ายังไม่เข็ดอีกหรือ เนื่องจากเคยมีความคิดทำเรื่องนี้มาแล้ว แล้วก็เป็นเรื่อง

ในส่วนท่าทีของรัฐบาลไม่เคยได้ยินใครพูดถึงเรื่องนี้เลย และเสนอเรื่องดังกล่าวมาในช่วงปลายสมัยของรัฐบาล ส่วนตัวมองว่าน่าจะเป็นผลลบมากกว่าบวก เพราะจะถูกการเมืองนำไปตีความต่างๆ และยิ่งมาทำใกล้ช่วงนี้น่าจะเป็นลบ

สอดคล้องกับ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่ออกมาให้ข้อสังเกตว่า การเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเคยมีข้อสังเกต และมีประสบการณ์กันมาแล้ว เพราะตอนที่เกิด พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอยทำให้บ้านเมืองเสียหายในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา จนกระทั่งถึงปัจจุบัน คนยังกลัวกันอยู่ เพราะเริ่มต้นหลักการไม่มีอะไร แต่สุดท้ายไปบานเอาตอนปลาย จากต้นซอยกลายเป็นสุดซอย มีประชาชนออกมาต่อต้านเป็นล้าน มหาศาลที่สุดยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศ

“เราได้บทเรียนมาแล้ว ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ต้องย้อนกลับไปดูว่าเป็นอย่างไร ประกอบการพิจารณา แต่ไม่ได้แปลว่าครั้งนี้จะเป็นอย่างที่ผ่านมา แต่เราเคยมีบทเรียนเพราะฉะนั้นต้องตระหนัก ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง มิฉะนั้นจะกลายเป็นขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ พอเหลาลงไปกลายเป็นบ้องกัญชา อันนี้ต้องระวัง และไตร่ตรองให้รอบคอบ” นายจุรินทร์ระบุ

 

ขณะที่ความเป็นไปได้ที่จะผลักดันให้ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เกิดขึ้นได้จริงหรือไม่นั้น นพ.ระวีมองว่า ถ้ารัฐบาลเอาด้วยกับเรื่องนี้ก็ขอให้สภาพิจารณาเป็นเรื่องด่วน หากผ่านวาระแรกขั้นรับหลักการ ก็ตั้งคณะกรรมาธิการ แต่ละคนก็จะเห็นแล้วว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีไม่กี่มาตรา ช่วยกันพิจารณา ให้เสร็จภายในไม่เกิน 2-3 สัปดาห์

จากนั้นกรรมาธิการพอพิจารณาเสร็จ ส่งกลับมาให้สภาพิจารณาต่อไปในวาระสองพิจารณาเรียงรายมาตรา พอครบทุกมาตราที่คาดว่าใช้เวลาวันเดียวก็เสร็จ พอครบทุกมาตราแล้วก็โหวตวาระสามก็น่าจะผ่าน

ส่วนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับดังกล่าว จะเดินไปได้สุดทางหรือไม่ คงต้องขึ้นอยู่กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียว่าจะเดินหน้าผลักดันกันแค่ไหน

หากผู้มีอำนาจรัฐไม่เล่นด้วย โอกาสที่จะจอดป้ายซ้ำรอยเหมือนกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมทุกฉบับที่เคยเสนอกันมาก็มีความเป็นไปได้สูง