วุ่นจนนาทีสุดท้าย เกมลุ้นถ่ายสด ‘บอลโลก’ ถึงเวลาสังคายนาทั้งระบบ | ศัลยา ประชาชาติ

“…รับรองว่าเราได้ดูแน่ แต่อาจจะช้าไปสักวันหนึ่ง เพราะทางโน้นจะขายลิขสิทธิ์ 30 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเราก็ยังพอไหว แต่ขณะนี้ นายหน้า สปอนเซอร์กำลังเจรจากันอยู่ และอยู่ระหว่างการต่อรอง ซึ่งทางโน้นยังไม่ยอมลดราคาเลย ได้ดูน่ะได้ดูแน่ แต่อาจจะไม่ครบทุกคู่”

…เป็นคำกล่าวของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หลังจากที่ได้มีการพูดถึงการหาทางออกเรื่องค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ที่ประเทศการ์ตา ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 พฤศจิกายน-18 ธันวาคมนี้ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการเจรจา

คำกล่าวดังกล่าว ส่วนหนึ่งอาจสะท้อนได้ว่า เหมือนจะมีความคืบหน้าบ้าง แต่ยังไม่มีรายละเอียดหรือความชัดเจนว่าอะไรอย่างไร

จะเรียกว่า…ยังไม่สะเด็ดน้ำเสียเลยทีเดียว ก็คงไม่ผิดนัก

จากก่อนหน้าที่ “บิ๊กป้อม” ตอบคำถามนักข่าวที่ถามถึงความชัดเจนเรื่องการถ่ายสดสอดฟุตบอลโลกเมื่อช่วงเช้าก่อนเข้าประชุมคณะรัฐมนตรี โดย พล.อ.ประวิตรตอบสั้นๆ ว่า

“…ยัง ต้องให้การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ไปคุย” และเมื่อถามว่ายังขาดเงินที่จะไปซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 อีกเยอะหรือไม่

เมื่อนักข่าวถามย้ำต่อว่า คนไทยจะได้ดูหรือไม่

คำตอบที่ได้จาก พล.อ.ประวิตร ก็คือ “ไม่รู้”

ที่ผ่านมา แม้จะมีเสียงคัดค้านจากบรรดานักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน จากนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ และวารสารศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ตลอดจนนักวิชาการด้านสื่อ รวมถึงสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ไม่ต้องการให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นำเงินไปซัพพอร์ตการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก เนื่องจากเป็นการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ของกองทุน

แต่ผลประชุมของบอร์ด กสทช. เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ก็ไฟเขียวให้ใช้เงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) 600 ล้านบาท

โดยช่วงสายวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่สำนักงาน กสทช. ซอยพหลโยธิน 8 ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายจำนวน 600 ล้านบาทในการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 (รอบสุดท้าย) ระหว่าง กสทช. และ กกท. โดยมีนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ และรักษาการ กสทช. พร้อมด้วย ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ร่วมลงนามและแถลงข่าว

เป็นการการันตีว่าการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกมีเงินประเดิมแรกจาก กสทช.แน่นอน 600 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีกราว 1,000 ล้านบาท ให้การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ไปหาเพิ่ม

“ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล” รองเลขาธิการ และรักษาการ กสทช. ระบุว่า “บอร์ด กสทช.มีมติอนุมัติวงเงิน 600 ล้านบาทสำหรับการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ครั้งนี้ก็เพื่อส่งเสริมให้ประชาชน และผู้ด้อยโอกาส ได้รับชมมหกรรมกีฬาเวิลด์คลาส อย่างฟุตบอลโลก อย่างเท่าเทียม และเชื่อว่าจะเกิดประโยชน์กับทุกภาคส่วน ทำให้คนหันมาสนใจกีฬา และเกิดแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ทักษะกีฬาฟุตบอลของเยาวนและประชาชน”

นี่คือความกล้าของ กสทช. ที่ยอมเป็น “หนังหน้าไฟ” ให้ฝ่ายการเมือง เช่นเดียวกับที่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ก็เดินงานนี้สุดกำลัง

ช่วงเวลาเดียวกันนั้นมีกระแสข่าวว่าอยู่ระหว่างการเจรจาทาบทามบริษัทใหญ่ 4-5 รายให้มาช่วยลงขันซื้อลิขสิทธิ์ ตอบรับแล้ว 4 บริษัท รายละ 200 ล้านบาท และยังรอคำตอบอีก 1 ราย พร้อมกับปรากฏชื่อของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จํากัด (มหาชน), บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เข้ามาอยู่ในสารบบว่า พร้อมจะให้การสนับสนุนเงินก้อนโตเพื่อให้คนไทยได้ชมการถ่ายทอดสด รวมทั้งยังรอคำตอบอีกจำนวนหนึ่ง

ขณะที่ “ดร.ก้องศักด ยอดมณี” ผู้ว่าการ กกท. ย้ำว่า หากไม่ได้งบประมาณก้อนนี้ การถ่ายทอดสดจะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน และถือเป็นการเริ่มต้นนับ 1 ในการดำเนินการซื้อลิขสิทธิ์อย่างเป็นทางการ ซึ่งก่อนหน้านี้ กกท.ได้ทำหนังสือส่งถึงสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) และบริษัท อินฟรอนท์ สปอร์ตส แอนด์ มีเดีย จำกัด ตัวแทนการขายลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกของฟีฟ่า เพื่อให้ช่วยพิจารณาลดราคา ซึ่ง 1,600 ล้านบาท มองว่าเป็นราคาที่สูงเกินไป มากเกินไป สำหรับเราและพี่น้องประชาชนชาวไทย

“ตอนนี้การคุยกับเอกชนเราต้องหาจำนวนเงินมาให้ได้มากที่สุด เพราะเงินที่ กสทช.อนุมัติให้มามันน้อยกว่าที่คาดเอาไว้มาก ส่วนไทม์ไลน์คร่าวๆ ด้วยว่า ต้องรอบริษัทตัวแทนเคาะราคามา แล้วก็ไปพูดคุยกับเอกชน หาเงินให้ได้ครบตามจำนวน และทำข้อตกลงสัญญาต่างๆ ส่งให้อัยการสูงสุดตีความ จึงนำไปเซ็นสัญญาได้ และคนไทยก็จะได้ดูฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายกัน ซึ่งยังมีกระบวนการอีกมากกว่าจะถึงตรงนั้น และต้องทำงานอย่างหนักเพราะเหลือเวลาไม่มาก เนื่องจากเดดไลน์ของฟีฟ่าที่กำหนดไว้ในการซื้อลิขสิทธิ์คือก่อนเริ่มทัวร์นาเมนต์” ดร.ก้องศักดกล่าว

อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดในเรื่องของเงื่อนเวลาที่กระชั้นชิด และเหลือเวลาไม่มากนัก เป็นตัวแปรอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้การบากหน้าไปเจรจาขอเงินจากบริษัทใหญ่เงินเย็นเพื่อนำมาสนับสนุนการถ่ายทอดสดจึงเป็นเรื่องไม่ง่ายๆ

แม้ทางการหรือรัฐบาลจะจูงใจด้วยสิทธิประโยชน์ต่างๆ รวมถึงการลดหย่อนภาษี มาเป็นข้อแลกเปลี่ยน แต่การที่ใครสักคนจะควักกระเป๋าจ่าย 200-300 ล้านบาท ในช่วงเวลาสั้นๆ เพียงเดือนเดียว ในแง่ของธุรกิจแล้วหลายๆ คนต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า “ได้ไม่คุ้มเสีย”

ยิ่งด้วยสถานการณ์และปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้าในเวลานี้ เงินทองเป็นของหายาก การจะเจียดงบประมาณมาลงขันช่วยต้องคิดหลายตลบ

ที่สำคัญคือ ฟุตบอลโลกเป็นกีฬาที่ได้ชื่อว่ามีความเข้มงวดเรื่องลิขสิทธิ์มาก การจะทำอะไรในเชิงธุรกิจการค้า การตลาด จึงต้องระมัดระวัง และไม่กระทบกับสิทธิประโยชน์ของสปอนเซอร์ฟุตบอลโลก

นี่คือ สิ่งที่ธุรกิจคิด ธุรกิจมอง

ใกล้นาทีสุดท้ายเข้ามาทุกขณะ อาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายนนี้ เวลา 23.00 น. (ตามเวลาการ์ตา) เสียงนกหวีดการแข่งขันคู่เปิดสนาม ระหว่างการ์ตา เจ้าภาพ กับเอกวาดอร์ ก็จะเริ่มขึ้นแล้ว และยิงยาวไปจนถึง 18 ธันวาคม นัดชิงชนะเลิศ

แต่แฟนฟุตบอลชาวไทยยังต้องลุ้นกันต่อไปว่าจะได้ดูการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกครั้งนี้หรือไม่ หรือจะได้ดูครบทุกแมตช์หรือไม่

ถึงนาทีนี้แล้ว แฟนบอลอาจจะต้องทำใจเผื่อความผิดหวังไว้บ้าง

ว่าถึงที่สุดแล้วผลสรุปอาจเป็นได้ชมฟุตบอลโลก แต่ไม่ครบทั้ง 64 แมตช์ หรือได้ดูฟุตบอลโลกโดยไม่รวมการแข่งขันรอบแรก หรือกรณีเลวร้ายที่สุดการเจรจาล่ม ก็อาจอดดูตลอดรายการ

เป็นสถานการณ์ที่วุ่นวายและน่าขัดใจ ไม่ว่าจะมี “ฝ่ายการเมือง” สวมบทอัศวินขี่ม้าขาวมาช่วยในนาทีสุดท้ายได้หรือไม่ แต่สิ่งที่ปรากฏมาโดยตลอดนั่นคือ การไม่เตรียมความพร้อม เลือกแต่จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และไม่เคยถอดบทเรียนที่เกิดขึ้นจากช่วงที่ผ่านมา

ท้ายที่สุดแล้ว อีกด้านหนึ่งอาจถึงเวลาแล้วที่ กสทช.จะต้องหันมาสังคายนากฎมัสต์แฮฟ กฎมัสต์แครี่ ให้สอดคล้องกับโลกแห่งความเป็นจริงเสียที

เพราะเป็นสิ่งที่ควรทำตั้งนาน แต่ทำไมไม่ทำ!

หากไม่ปลดล็อกในจุดดังกล่าว การถ่ายทอดสดมหกรรมกีฬารายการใหญ่ ก็ไม่พ้นที่จะวนกลับมาสู่ความวุ่นวายแบบเดิมอีกอย่างแน่นอน