กางมติสภา ม.รามคำแหง เปิดรายละเอียด 3 ข้อกล่าวหา ทำ ‘สืบพงษ์ ปราบใหญ่’ ตกเก้าอี้รอบ 2

กลายเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ในแวดวงมหาวิทยาลัยอีกรอบ ภายหลังสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง (มร.) มีมติ “ถอดถอน” ผศ.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ พ้นอธิการบดี มร.เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

ส่งผลให้ ผศ.สืบพงษ์หลุดจากเก้าอี้อธิการบดี มร.เป็นรอบที่ 2 หลังจากสภา มร.เคยลงมติถอดถอนรอบแรกไปเมื่อปี 2564

เหตุการณ์นี้เกิดภายหลังศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น ให้ทุเลาการบังคับคำสั่งทางปกครอง ตามมติ และคำสั่งของสภา มร.ที่ให้ถอดถอน ผศ.สืบพงษ์ออกจากตำแหน่งอธิการบดี ไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา หรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2565

ส่วนคดีที่ ผศ.สืบพงษ์ยื่นฟ้อง 16 กรรมการสภา มร.ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง คดีหมายเลขดำที่ อท 7/2565 ศาลมีคำสั่งนัดตรวจสอบ และรวบรวมพยานหลักฐานโดยเจ้าพนักงานคดีในช่วงต้นปี 2566

ทั้งนี้ สภา มร.ชี้แจงเกี่ยวกับการถอดถอนว่า เนื่องจากอธิการบดีเป็นตำแหน่งผู้บริหารสูงสุด ผู้ดำรงตำแหน่งต้องยึดถือคุณลักษณะของผู้บริหารที่พึงประสงค์ตามข้อบังคับ มร.ว่าด้วยคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของผู้บริหาร พ.ศ.2562 อย่างเคร่งครัด และหลักธรรมาภิบาลของ มร. แต่ ผศ.สืบพงษ์กลับฝ่าฝืนกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการ มติ ครม. และระเบียบ มร. โดยเฉพาะข้อบังคับ มร.ว่าด้วยคุณสมบัติฯ ดังนี้

1. ใช้วุฒิการศึกษาปริญญาเอกที่ไม่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) สมัครเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย โดย ก.พ.แจ้งว่า “ไม่พบข้อมูลระดับปริญญาเอก” ของ ผศ.สืบพงษ์ แสดงว่าขาดคุณสมบัติเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย และจะไม่มีผลงานการสอน หรือมีประสบการณ์ด้านบริหาร ที่จะมีคุณสมบัติสมัครเข้ารับการสรรหาเป็นอธิการบดี มร.ตามมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.มร. พ.ศ.2541

2. ผศ.สืบพงษ์รับโอนทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานร่ำรวยผิดปกติ ซึ่งถือเป็นความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ โดยรับโอนที่ดิน 2 แปลง เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2554 หลังได้รับการบรรจุเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยแล้ว และภายหลังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนผู้โอน กรณีมีเหตุควรเชื่อว่าร่ำรวยผิดปกติแล้ว และศาลฎีกาพิพากษายึดที่ดินทั้ง 2 แปลง ตกเป็นของแผ่นดิน แต่ ผศ.สืบพงษ์ไม่ได้ส่งมอบโฉนดที่ดินทั้ง 2 แปลง และไม่เคยรายงานให้มหาวิทยาลัยทราบเรื่อง เนื่องจากเกี่ยวข้องกับคุณสมบัติ และคุณสมบัติต้องห้ามผู้บริหาร ฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ละเมิด พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 มาตรา 39 วรรคท้าย และมาตรา 40 รวมทั้งอาจเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดตามกฎหมายอื่นๆ

และ 3. ผศ.สืบพงษ์ ทูลเกล้าฯ ถวายฎีการ้องขอความเป็นธรรมด้วยข้อความอันเป็นเท็จ จงใจบิดเบือนข้อมูล ใส่ร้ายป้ายสีกรรมการสภา มร. เพื่อสกัดกั้นไม่ให้สภา มร.ตรวจสอบ หรือสอบสวนเรื่องต่างๆ ที่ถูกร้องเรียน

พฤติการณ์ทั้งหมด ประกอบกับข้อเท็จจริง และพยานหลักฐาน ย่อมเพียงพอที่สภา มร.จะไม่ไว้วางใจให้ ผศ.สืบพงษ์ดำรงตำแหน่งอธิการบดีอีกต่อไป และสมควรมีมติให้ถอดถอนให้พ้นจากตำแหน่ง

โดยสภา มร.ยังมีมติแต่งตั้ง ผศ.ดร.บุญชาล ทองประยูร กรรมการสภา มร. รักษาการอธิการบดี มร.!!

 

ภายหลังสภา มร.มีมติถอดถอน ผศ.สืบพงษ์ได้ทำหนังสือแจกแจงรายละเอียด ว่าพร้อมชี้แจงสภา มร.ทุกประเด็น แต่ไม่ได้รับโอกาสให้แก้ข้อกล่าวหา พร้อมตั้งคำถามถึงความเหมาะสม และความเป็นกลางในการลงมติ เนื่องจากกรรมการสภา มร. 16 คน ที่มีส่วนในการลงมติ ถูกยื่นฟ้องคดีต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ อยู่

นอกจากนี้ ศาลปกครองสูงสุดมีคำวินิจฉัยในคดีถอดถอนรอบแรก ว่ากรรมการสภา มร.ไม่มีอำนาจถอดถอน และมีคำสั่งคุ้มครองให้กลับมาปฏิบัติหน้าที่อธิการบดี มร.

สำหรับประเด็น “รับโอนทรัพย์สินในคดีร่ำรวยผิดปกติ” เป็นการฟ้องผู้อื่น ตนองเป็นเพียงผู้ยื่นคัดค้านในคดีเท่านั้น ไม่ได้ถูกฟ้องโดยตรง

ส่วน “วุฒิปริญญาเอก” อยู่ระหว่างการตรวจสอบของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของ ก.พ. โดยยืนยันข้อมูลการตรวจสอบวุฒิการศึกษาปริญญาเอก โดยฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ มร.ได้ติดต่อไปยังมหาวิทยาลัยในสหรัฐที่จบการศึกษา เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 เพื่อให้ส่งเอกสารยืนยันการรับรองคุณภาพการศึกษาจาก “ACICS” พร้อมส่งหนังสือรับรองการจบการศึกษา การตีพิมพ์เผยแพร่เล่มดุษฎีนิพนธ์บนฐานข้อมูล ProQuest รวมทั้งประกาศนียบัตรจาก ACICS ยืนยันว่ามหาวิทยาลัยได้รับการรับรองคุณภาพการศึกษาในช่วงที่เรียนจบเมื่อปี 2554

ดังนั้น จึงเตรียมฟ้องเรียกร้องความเป็นธรรมต่อไป!!

 

อย่างไรก็ตาม หลัง ผศ.สืบพงษ์เตรียมฟ้องเรียกร้องความเป็นธรรม แหล่งข่าวระดับสูงใน มร.คนหนึ่ง กล่าวว่า ที่ ผศ.สืบพงษ์ระบุว่าสภา มร.ไม่ให้โอกาสชี้แจงนั้น ไม่จริง เพราะมีหนังสือแจ้งให้เข้าชี้แจง แต่ ผศ.สืบพงษ์ยืนยันจะชี้แจงเป็นเอกสาร

ส่วนที่ระบุว่าอำนาจการตรวจสอบวุฒิการศึกษาเป็นของ อว. ไม่ใช่ ก.พ.นั้น ระเบียบ มร.กำหนดชัดเจนกรณีเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ต้องได้รับการรับรองวุฒิจาก อว.และ ก.พ. ซึ่งวุฒิปริญญาเอกของ ผศ.สืบพงษ์ ก.พ.ตอบชัดเจนว่าไม่พบข้อมูลระดับปริญญาเอก โดยในช่วงที่ ผศ.สืบพงษ์เป็นอธิการบดี ได้ลงประกาศคุณสมบัติผู้ที่จะเป็นอาจารย์ มร.ว่าจะต้องมีวุฒิการศึกษาที่ได้รับการรับรองจาก อว.และ ก.พ.

นอกจากนี้ สภา มร.ยังมอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายดำเนินการในเรื่องที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ซึ่งมีเรื่องที่ ป.ป.ช.ส่งหนังสือมาอีก 5 เรื่อง โดย 3 เรื่องที่ ป.ป.ช.จะตรวจสอบเอง คือ 1.แต่งตั้งผู้ช่วยอธิการบดี 35 คน 2.อนุมัติให้ผู้ช่วยอธิการบดีเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารงานบุคคล และคณะกรรมการบริหารงานมหาวิทยาลัย โดยได้รับค่าตอบแทน ไม่เป็นไปตามข้อบังคับ และ 3.แจกแท็บเล็ตให้ผู้บริหาร มร.จำนวนมาก

อีก 2 เรื่องที่ มร.จะตรวจสอบเอง คือ 1.การคัดลอกผลงานทางวิชาการโดยไม่มีการอ้างอิง และ 2.ประกาศเรี่ยไรเงิน โดยไม่แจ้งทางราชการ

ขั้นตอนจากนี้ สภา มร.จะทำหนังสือแจ้ง อว.เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป!!

 

ล่าสุด ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัด อว.กล่าวว่า กรณี ผศ.สืบพงษ์ชี้แจงการใช้วุฒิปริญญาเอก ว่าอยู่ระหว่างการตรวจสอบของ อว.และไม่เกี่ยวข้องกับ ก.พ.นั้น ตามกระบวนการการเทียบวุฒิการศึกษาจากต่างประเทศ จะเริ่มต้นจาก อว.เพื่อรับรองวิทยฐานะ กรณี ผศ.สืบพงษ์ ได้ส่งเรื่องเข้ามาให้ อว.ตรวจสอบ 2 ครั้ง แต่เอกสารไม่ครบถ้วน จึงยังตอบไม่ได้ชัดเจนว่าสถาบัน และหลักสูตรของมหาวิทยาลัยดังกล่าว ได้รับการรับรองวิทยฐานะในช่วงเวลาที่เรียนอยู่หรือไม่ อว.จึงประสานกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ให้ช่วยตรวจสอบอีกช่องทางหนึ่ง

โดยทิ้งท้ายว่า ข้อมูลที่ ผศ.สืบพงษ์ส่งมา ยังไม่พอที่จะตัดสิน พูดง่ายๆ คือดูไม่ออก ยังก้ำกึ่ง ส่วนที่ ก.พ.มีหนังสือตอบกลับ มร.ว่าไม่พบข้อมูลปริญญาดังกล่าว อาจเพราะรายชื่อการรับรองมหาวิทยาลัยดังกล่าว ไม่ได้อยู่ในฐานข้อมูลที่ ก.พ.รับรอง ซึ่งฐานข้อมูลของ ก.พ.จะอิงกับ อว. ว่า อว.รับรองเทียบวุฒิหรือไม่ หากเป็นลักษณะนี้ แสดงว่า อว.ไม่เคยรับรองเทียบวุฒิมหาวิทยาลัยดังกล่าว

นั่นหมายความว่า ทั้ง อว.และ ก.พ. “ไม่มี” ข้อมูลมหาวิทยาลัยแห่งนี้มาก่อน!! •

 

| การศึกษา