จดหมาย

จดหมาย

 

• จาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถึงเอเปค

24 องค์กรพัฒนาเอกชน ดังรายนามต่อไปนี้

ALTSEAN-Burma, Amnesty International, ARTICLE 19, ASEAN Parliamentarians for Human Rights (APHR), Asia Democracy Network (ADN)

Asian Cultural Forum on Development Foundation (ACFOD), Asian Network for Free Elections (ANFREL), CIVICUS : World Alliance for Citizen Participation Community Resource Centre, Cross Cultural Foundation (CrCF), ENLAWTHAI, Foundation Human Rights and Development Foundation (HRDF)

Human Rights Lawyers Association (HRLA), Human Rights Watch, iLaw, International Commission of Jurists (ICJ) International Federation for Human Rights (FIDH)

Lawyers’ Rights Watch Canada, Manushya Foundation, People’s Empowerment Foundation (PEF), Protection International Thai Lawyers for Human Rights (TLHR), The Asian Forum for Human Rights and Development (FORUM-ASIA), Union for Civil Liberty (UCL)

ร่วมกันส่งจดหมายเปิดผนึกถึงสถานทูตประเทศต่างๆ ประจำประเทศไทย

เพื่อให้ท่านเอกอัครราชทูตเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการกดดัน คุกคาม และการดำเนินคดีบุคคลเพียงเพราะพวกเขาออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิในการเข้าถึงข้อมูล สิทธิในการชุมนุมโดยสงบ สิทธิในการเคลื่อนไหว และสิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยการบังคับใช้กฎหมายและกฎระเบียบทางปกครองโดยมิชอบ

อีกทั้งยังเรียกร้องให้ถอนฟ้อง หรือมีคำสั่งไม่ฟ้อง และไม่ตั้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมกับบุคคลต่างๆ รวมถึงบุคคลที่ใช้สิทธิมนุษยชนโดยสงบแต่กำลังถูกดำเนินคดีภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยทันที

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ประเทศไทยได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 และได้มีการขยายประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินรวมทั้งสิ้น 19 ครั้ง

ในระยะเวลาดังกล่าวมีการประกาศใช้ข้อกำหนดและมาตรการต่างๆ โดยอาศัยอำนาจภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่มีความคลุมเครือและกว้างเกินไป

ส่งผลเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการเคลื่อนไหว ในการแสดงออก ในการชุมนุม และในการมีส่วนร่วมของประชาชน

ต่อมา เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2565 นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกประกาศ ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565

แต่จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่า ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563-เดือนกันยายน 2565 มีผู้ถูกฟ้องร้อง และ/หรือดำเนินคดีภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อันเนื่องมาจากการชุมนุมสาธารณะไม่น้อยกว่า 1,468 คน ใน 661 คดี (คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ในจำนวนนี้เป็นเยาวชน (อายุไม่เกิน 18 ปี) จำนวน 241 คน ใน 157 คดี

ดังนั้น ทั้ง 24 องค์กรพัฒนาเอกชน จึงมีข้อเสนอแนะต่อทางสถานทูตต่างๆ ประจำประเทศไทย ดังนี้ ขอให้รัฐบาลของท่านเรียกร้องรัฐบาลไทยให้หยุดกดดัน คุกคาม และยุติการดำเนินคดีกับบุคคลที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ข้อมูล และชุมนุมโดยสงบโดยทันที

ควรถอนฟ้อง หยุดการสืบสวนสอบสวน มีคำสั่งไม่ฟ้อง ยุติการดำเนินคดี ถอนอุทธรณ์ ไม่อุทธรณ์คำพิพากษายกฟ้อง ผู้ถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งไม่ผิดกฎหมายอีกแล้วในปัจจุบัน

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

ประเทศไทย

 

แม้จะไม่ได้เกี่ยวกับเอเปคโดยตรง

แต่ขณะที่ไทยในฐานะเจ้าภาพเอเปค

อยู่ในสายตาชาวโลก

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

เลยถือโอกาส “ตีเหล็กเมื่อร้อน”

นำเสนอประเด็นการยุติดำเนินคดีคนไทยที่ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

โดยเรียกร้องให้นานาประเทศร่วมกดดัน

ด้วยหวังว่ารัฐบาลไทยจะฟัง??

 

• จากไอ้ตือถึงไอ้แก๊ป

ถึง “ไอ้แก๊ป” ที่อาจจะเป็นข้าราชการทำงานด้านเศรษฐกิจในกระทรวงหนึ่ง

สิ่งที่ “ไอ้แก๊ป” ต้องทำความเข้าใจก่อน คือ NGO ไม่ได้มีหน้าที่ต่อต้านโลกาภิวัตน์ แต่เป็นตัวแทนในการต่อรองกับโลกาภิวัตน์เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน ไม่ให้กลุ่มทุนต่างชาติ หรือภาครัฐเข้ามาเอาเปรียบ

“ไอ้แก๊ป” อาจจะลืมไปว่า นอกจากการเป็นข้าราชการแล้ว หมวกอีกใบหนึ่งของตนเองก็ยังเป็น “ประชาชน” ที่เมื่อใดไม่มีหัวโขนแล้วก็อาจจะเป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากโลกาภิวัตน์ไม่ยาก

ดังนั้น ถ้าหาก “ไอ้แก๊ป” ลองตระหนักถึงความจริงข้อนี้ให้ถี่ถ้วน แล้วลงมาจากหอคอยงาช้างดูสภาพความเป็นอยู่ประชาชนเสียบ้างก็อาจจะช่วยให้เข้าใจมากขึ้นว่าคนกลุ่มนี้อ่อนไหว เปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้างอย่างการเปิดเขตการค้าเสรี และการทำสนธิสัญญากับต่างประเทศแค่ไหน

พวก Technocrat นี้เป็นเหมือนกันทั้งโลกจริงๆ เสียดายที่เป็นคนมีตำแหน่ง มีบทบาทในการกำหนดนโยบายร่วมกับรัฐบาล แต่กลับมีมุมมองคับแคบ เอาความคิดตนเองเป็นที่ตั้ง โดยไม่ศึกษาถึงมุมมองที่แตกต่างออกไปจากสิ่งที่ตนเองเชื่อ

บอกได้เลย ไม่ว่าจะ RCEP, APEC หรือ CPTPP ที่ “ไอ้แก๊ป” อ้างถึงล้วนมีจุดที่ประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อยเราเสียเปรียบทั้งสิ้น ดูสิ คนในประเทศจะอดตายเพราะพิษเงินเฟ้อกันอยู่แล้ว ชนชั้นนำใน APEC ยังพูดเรื่องการจะส่งอาหารไปขายต่างประเทศกันอยู่เลย

การที่ “ไอ้แก๊ป” อุปมาเปรียบเทียบถึงร้านอาหารและเชฟนั้นเมื่อสัปดาห์ก่อนนั้น คงจะไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะส่วนใหญ่แล้วประชาชนอย่างเราๆ ไม่มีแม้แต่โอกาสจะได้เข้าร้านอาหารไปแสดงเจตจำนงถึงอาหารที่ชอบเลยแม้แต่น้อย ได้แต่เป็นฝ่ายรอเขาโยนชิ้นเนื้อแลเศษอาหารมาให้อยู่หลังร้านเท่านั้นเอง!!

“ไอ้ตือ”

 

ไอ้หยา อาตือ (ฮา)

ลื้อจะรีบสรุปเร็วไปไหมว่า “ไอ้แก๊ป”

เป็น “ข้าราชการ” ที่แอบแฝงมาวิพากษ์เอ็นจีโอ

ใจเย็ลลล…

ไอ้แก๊ปอาจไม่ใช่อย่างที่ไอ้ตือตั้งข้อสังเกตก็ได้

และอย่างที่บอก ความเห็นต่าง ไม่ควรจะถึงขนาดเป็นอริ

น่าจะหาช่องแลกเปลี่ยนกันได้

แม้จะไม่มีข้อสรุป หรือเห็น “ร่วม” กันได้

แต่มุมมองและเหตุผลของแต่ละฝ่าย

อาจจะช่วยให้เราได้แง่คิดหรือเปิดมุมคิดให้กว้างขึ้น

อย่างเอเปค ที่เราเป็นเจ้าภาพ

เชื่อว่า ไอ้ตือ-ไอ้แก๊ป คงเห็นต่างถึงบทบาทผู้นำ-รัฐ-เอ็นจีโอ

คันไม้ค้นมือโปรดอย่ารีรอ

โปรดให้ข้อสังเกต-อยากอ่าน