‘หลัง’ เอเปค ชะลอม ‘แตก’?

เป็นที่ทราบกันดีว่า สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แล้ว คาดหวังอย่างสูงว่าการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย จะประสบความสำเร็จ

และจะเป็น “ตัวช่วย” ในการพยุงสถานะทางการเมืองของรัฐบาลให้ดำเนินต่อไปอย่างสดใส ราบรื่น

เป็นผลดีที่นำไปสู่การเป็นผู้กำหนดเกม เพื่อที่จะ “ไปต่อ”

แต่กระนั้น ดูเหมือนว่า นอกเหนือจากอาหารอร่อย ดนตรีไพเราะ และการต้อนรับอันอบอุ่น ซึ่งเป็นไม้ตายของประเทศไทยแล้ว

สาระของการประชุมดูจะถูกตั้งคำถามถึงความเป็น “เนื้อหนัง” อยู่มาก

โดยเฉพาะเมื่อถูกนำไปเปรียบเทียบกับการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ที่กัมพูชา และการประชุม จี 20 ที่บาหลี อินโดนีเซียแล้ว

โลกดูจะให้สนใจมากกว่าการประชุม “เอเปค” ที่กรุงเทพฯ ชัดเจน

นี่ย่อมทำให้ พล.อ.ประยุทธ์จะเคลมความสำเร็จ ในฐานะผู้นำที่มีบทบาทบนเวทีโลกได้ไม่เต็มปากนัก

พร้อมๆ กับความคาดหวังว่าเวทีเอเปคจะทำให้สถานะทางการเมือง “ภายใน” ของตนเองโดดเด่น

ก็อาจไม่เป็นจริงมากนัก

 

(Photo by Rungroj YONGRIT / POOL / AFP)

กระนั้น แม้ผลงานจะไม่โดดเด่น

แต่กระนั้น ทุกความเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประยุทธ์ “หลังเอเปค” จะต้องถูกจับตามองทุกฝีก้าว

ด้วยเชื่อกันว่า พล.อ.ประยุทธ์จะมี “ความชัดเจน” ทางการเมืองในหลายๆ เรื่อง

ที่ค้างคาอยู่เรื่องหนึ่ง นั่นคือ การปรับคณะรัฐมนตรี

ซึ่งนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้ออกมาส่งสัญญาณ “ทวง” อีกครั้งว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้เสนอชื่อนายนริศ ขำนุรักษ์ ส.ส.พัทลุง พรรค ปชป.ไปแล้ว แปลว่าประสงค์ให้ปรับในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ส่วนพรรคอื่นๆ จะปรับหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับพรรคนั้นๆ ไม่จำเป็นต้องผูกพันกับพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ที่จะดำเนินการเรื่องนี้คือนายกรัฐมนตรี

“ผมเสนอชื่อไปแล้ว และให้เกียรติไม่สอบถาม คิดว่านายกฯ ทราบอยู่แล้ว เข้าใจดีอยู่แล้ว ให้เวลาท่านนิดหนึ่งว่าจะเสนอเมื่อไหร่อย่างไร ผมคิดว่าหลังเอเปคก็ถือความเหมาะความควรแก่เวลา” นายจุรินทร์ระบุ

ชัดเจนว่าประชาธิปัตย์ต้องการปรับ

แต่กระนั้น พล.อ.ประยุทธ์ต้องการอย่างนั้นหรือไม่ ยังเป็นคำถามอยู่

ด้วย พล.อ.ประยุทธ์เองก็ย่อมเกรงว่าจะมีเหตุแทรกซ้อนเข้ามา

โดยเฉพาะกับพรรคพลังประชารัฐ ที่มีกระแสเรียกร้องจาก ส.ส.ในปีกที่สนับสนุน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ต้องการให้ พล.อ.ประวิตรหรือคนของพรรคจริงๆ เข้าไปดูแลกระทรวงมหาดไทย เพื่อดูแลการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้น

แน่นอนย่อมกระทบไปถึง “ป.ป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ไม่ต้องการเช่นนั้น

ด้วย พล.อ.อนุพงษ์ ยืนหยัดเคียงข้าง พล.อ.ประยุทธ์ มาโดยตลอด

และมีแนวโน้มพร้อมจะแยกตัวไปกับ พล.อ.ประยุทธ์ หากจะไปสร้าง “ฐาน” การเมืองของตนเอง โดยเฉพาะพรรครวมไทยสร้างชาติ

ดังนั้น ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะยอมทำตามความกดดันของ ส.ส.พลังประชารัฐ ในปีกของ พล.อ.ประวิตร จึงมีน้อย

ตรงกันข้าม กลับมีการมองว่า หากมีการปรับคณะรัฐมนตรีจริง

พล.อ.ประยุทธ์ อาจจะพลิกเกม ดึงเอาแกนนำที่ไปขับเคลื่อนตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ มาร่วมเป็นรัฐมนตรีเพื่อปูทางสู่การเลือกตั้งมากกว่า

แต่กระนั้น โอกาสที่จะเกิดขึ้นคงไม่มากนัก

เพราะหากทำเช่นนั้น ย่อมทำให้เกิดความร้าวฉานกับพี่ใหญ่อย่าง พล.อ.ประวิตรอย่างมากแน่

ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ก็คงต้องระมัดระวัง ไม่ทำให้เกิดภาวะแตกหักเช่นนั้น

จึงมีแนวโน้มที่จะดึงการปรับคณะรัฐมนตรีออกไปให้นานที่สุด

หรือถ้าไม่ปรับเลยก็จะเลือกทางนั้น เพื่อไม่ให้เกิดความกระเพื่อม

3ป

ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่า ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร แม้จะมีแนวโน้ม “แยกกันเดิน”

แต่ก็ใช่ว่า “การต่อรอง” จะยุติลงอย่างเด็ดขาด

การเจรจาต่อรองมีอยู่ตลอดเวลา

ล่าสุดมีการปล่อยกระแสข่าวออกมาว่ามีการพูดคุยกันระหว่างพี่น้อง 2 ป.

โดยในฝ่าย พล.อ.ประวิตร ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ และพร้อมให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นแคดิเดตนายกฯ แต่ต้องไม่เสนอชื่อเดียว จะต้องพ่วงชื่อ พล.อ.ประวิตรเข้าไปอยู่ในแคนดิเดตนายกฯ ด้วย

แต่ดูเหมือน พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ต้องการผูกมัดตนเอง โดยต้องการสถานะ “คนกลาง” เพื่อรอเทียบเชิญให้เป็นแคนดิเดตนายกฯ มากกว่า

รวมทั้งประสงค์จะได้รับการเสนอชื่อเพียงคนเดียว

จึงไม่มีข้อยุติ พร้อมๆ กับมีกระแสที่โยนออกมาเพื่อกดดันกลับไปยังฝ่าย “พี่ป้อม” เช่นกัน ว่า พล.อ.ประยุทธ์พร้อมจะเป็นแคนดิเดตให้กับพรรครวมไทยสร้างชาติ

ขณะเดียวกันเอื้อมมือไปแตะกับพรรคภูมิใจไทย ภายใต้ข้อเสนอให้พรรคภูมิใจผนึกกับพรรครวมไทยสร้างชาติเพื่อดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อจนครบวาระ 2 ปี

จากนั้นจะเปิดทางให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ขึ้นเป็นนายกฯ แทน ตัด พล.อ.ประวิตร ออกจากสมการแห่งอำนาจไปเลย

แน่นอนว่า ไม่มีใครยืนยันถึงกระแสข่าวที่มี “การโยนหิน” ออกมาถามทางว่าจริงหรือไม่จริงอย่างไร

แต่กระนั้น กระแสข่าวเช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่า การต่อรองในฝ่ายที่อยู่ใน “ชะลอม” เดียวกันเป็นไปอย่างเข้มข้น

และไม่ได้จำกัดวงเฉพาะในส่วนนำคือในหมู่พี่น้อง 3 ป.เท่านั้น

หากแต่รวมถึง “พลพรรค” ของแต่ละฝ่ายด้วย

ที่ถูกจับตาเป็นพิเศษ นั่นคือ ความเคลื่อนไหวของพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่หลังจากการประชุมเอเปคผ่านไปแล้ว คงเพิ่มอัตราเร่งเพื่อให้ทันต่อการรองรับ พล.อ.ประยุทธ์ หากต้องการสร้างฐานการเมืองของตนเอง

ซึ่งการที่พรรครวมไทยสร้างชาติจะเติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็วได้

จำเป็นจะต้องดึงคนจากพรรคการเมืองอื่น

และน่าสังเกตว่าพรรคการเมืองอื่นที่เป็นเป้าหมายในการดึงนั้น มิใช่ “ขั้วฝ่ายตรงข้าม” ที่เป็นพรรคฝ่ายค้านตอนนี้

หากแต่เป็นพรรคพวกที่อยู่ใน “ชะลอม” เดียวกัน โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคพลังประชารัฐ

กล่าวสำหรับพรรคประชาธิปัตย์นั้นตกเป็นเป้าหมาย ที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ และนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ที่ถูกโปรโมตขึ้นเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี อาศัยเครือข่าย กปปส.ทะลวงไปดึงคนของพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งในภาคใต้ ภาคกลาง และ กทม.เข้ามาร่วม

จนเกิดภาวะเลือดไหลออกอย่างต่อเนื่อง

สร้างภาวะระส่ำระสายให้เกิดกับพรรคเก่าแก่อย่างมาก

จนนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศพร้อมชนและไม่เกรงใจใครอีกแล้ว

ขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ พยายามสยบกระแสเลือดไหลออก โดยบอกว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่ต้องมีอะไรหวั่นไหว ทุกอย่างยังเดินหน้าตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ คือในกรุงเทพฯ มี ส.ส.แน่ และตัวเลขภาพรวมเป้าหมายต้องมากกว่าเดิมอยู่แล้ว รวมถึงพื้นที่ภาคใต้ก็จะมากกว่าเดิม

ถือเป็นการปลุกขวัญสมาชิกพรรค ขณะที่ถูกคนใน “ชะลอม” เดียวกันแซะอยู่ตลอดเวลา

นอกจากพรรคประชาธิปัตย์ที่ระส่ำระสายแล้ว ที่กระเพื่อมไม่แพ้กันคือพรรคพลังประชารัฐ

ด้วยแกนนำพรรค ทั้งซุ้มเล็กซุ้มใหญ่ต่างจับตาการตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ “หลังการประชุมเอเปค” ว่าจะไปทางไหน

และต่างกำลังชั่งใจว่าจะเอาอย่างไร

จะอยู่กับ พล.อ.ประวิตรต่อไป

หรือไปสร้างฝันใหม่กับ พล.อ.ประยุทธ์

ตอนนี้ ในพรรคพลังประชารัฐจึงระส่ำระสาย แยกออกเป็น 3 ขั้ว

ขั้วหนึ่ง ยังคงมั่นคงกับ พล.อ.ประวิตร อย่างกลุ่มนครราชสีมาและอีสานใต้ ของนายวิรัช รัตนเศรษฐ กลุ่มนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ กลุ่มสระแก้ว นำโดย น.ส.ตรีนุช เทียนทอง

ส่วนอีกขั้วหนึ่ง โน้มเอียงไปในฝ่ายของ พล.อ.ประยุทธ์ เช่น กลุ่มของนายสุชาติ ชมกลิ่น กลุ่มของนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ กลุ่มภาคใต้ ซึ่งมี 14 คน อาจแบ่งกันคนละครึ่ง ส่วนหนึ่งไปกับ พล.อ.ประยุทธ์ ส่วนอีกจำนวนหนึ่งอาจจะอยู่กับ พล.อ.ประวิตร

ขณะที่ขั้วที่สามอยู่ในภาวะคุมเชิง พร้อมจะเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ หรือไปอยู่พรรคอื่น

เช่น “กลุ่มปากน้ำ” ซึ่งมี ส.ส. 6 คน หรือแม้แต่ “กลุ่มเพชรบูรณ์” ของนายสันติ พร้อมพัฒน์ เลขาธิการพรรค ที่ด้านหนึ่งจะบอกว่า จะอยู่กับพรรคต่อไป แต่หาก พล.อ.ประวิตรไฟเขียวให้กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า กลับมา นายสันติก็อาจต้องตัดสินใจใหม่

รวมถึงกลุ่ม “สามมิตร” นำโดยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ นายอนุชา นาคาศัย ที่มี ส.ส.ในสังกัดประมาณ 12 คน ก็พร้อมแปรผันไปในห้วงสุดท้ายได้เช่นกัน

อย่างที่นายสมศักดิ์ออกตัวว่า “มันเป็นเรื่องที่ไม่ควรพูดในเวลานี้ รอให้ถึงเดือนมกราคม 2566 ก่อนแล้วกัน”

ไม่ต่างกับ “กลุ่มกำแพงเพชร” นำโดยวราเทพ รัตนากร กลุ่มนครสวรรค์ ของนายวีรกร คำประกอบ นายภิญโญ นิโรจน์ เช่นเดียวกับกลุ่ม กทม. 11 คน นอกจากกระแสข่าวว่าจะย้ายไปพรรครวมไทยสร้างชาติแล้ว บางส่วนอาจจะย้ายไปพรรคอื่น เช่น เพื่อไทย และพรรคภูมิใจไทย

(Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

ภาวการณ์อันระส่ำระสายที่เกิดขึ้นในฝั่งฟากรัฐบาล

คงจะทวีความดุเดือดขึ้น ด้วย พล.อ.ประยุทธ์ส่งสัญญาณมาหลายว่า “หลังเอเปคค่อยตอบ”

เอเปคซึ่งมีชะลอมเป็นสัญลักษณ์แห่งการสานสัมพันธ์สมัครสมานเป็นหนึ่งเดียว

แต่สถานการ์การเมืองในฝั่งขั้วที่ครองอำนาจ ซึ่งอยู่ใน “ชะลอม” เดียวกัน

กลับดูจะมิได้ดำเนินตามความหมายแห่งความสมัครสมานนั้น

หากแต่มากและดุเดือดจากการช่วงชิงอำนาจ โดยเฉพาะหลังจากการประชุมเอเปค

ที่อาจทำให้ “ชะลอม” ถึงขั้นแตกเอาได้ง่ายๆ