เมื่อ ‘สี จิ้นผิง’ เขย่าระเบียบโลก ด้วยข้อเสนอ’ความริเริ่มความมั่นคงโลก’ | สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

เมื่อสี จิ้นผิง ได้ต่ออายุในตำแหน่งสูงสุดของประเทศจีน หนึ่งในเป้าหมายสำคัญในเวทีระหว่างประเทศคือการ “จัดระเบียบโลก” ใหม่ที่สหรัฐไม่ใช่ผู้กำหนดกติกาแต่เพียงผู้เดียวอีกต่อไป

สีและผู้นำรัสเซียปูตินเรียกระเบียบใหม่นี้ว่า “โลกสองขั้ว” (Bipolar World)

ขณะที่สหรัฐและโลกตะวันตกเรียกระเบียบปัจจุบัน (หรือตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา) ว่าเป็น “โลกบนพื้นฐานของกติกา” (Rules-based)

คำถามจากปักกิ่งและมอสโกคือ : กติกาของใครล่ะ?

ฝั่งตะวันตกเรียกตัวเองว่าเป็น “โลกเสรีนิยม” หรือ Liberal แต่ในยามนี้ฝั่งจีน-รัสเซียจะเรียกขานค่ายของตนว่าเป็นอะไรก็ไม่ชัดเจนนัก

คงไม่ใช่ “สังคมนิยม” หรือ Socialist

เพราะจีนก็ลดความเข้มข้นของ “สังคมนิยม” แบบมาร์กซ์-เลนินเป็น “สังคมนิยมที่มีอัตลักษณ์แบบจีน” แล้ว

ส่วนรัสเซียภายใต้การนำของปูตินก็เลิกเรียกตัวเองว่าเป็น “คอมมิวนิสต์” มานานพอสมควรแล้วเช่นกัน

(Photo by Noel Celis / AFP)

หนึ่งในกติกา “ระเบียบโลก” (World Order) น่าจะเป็นเรื่องความมั่นคง

ซึ่งที่ผ่านมากติกาด้านความมั่นคงถูกเขียนและกำหนดโดยโลกตะวันตก

วันนี้จีนต้องการจะมีส่วนร่างกติกาด้านความมั่นคงด้วย

เป็นที่มาของข้อเสนอ Global Security Initiative (GSI) หรือ “ความริเริ่มด้านความมั่นคงของโลก” ที่สี จิ้นผิง กำลังผลักดันอยู่

เป็นแนวทางที่น่าสนใจเพราะเป็นข้อเสนอที่ตามหลัง “ความริเริ่ม” ก่อนหน้านี้ของจีนที่เรียกว่า Belt and Road Initiative (BRI)

คนที่ติดตามเรื่องราวของจีนอย่างใกล้ชิดอ่านทุกข้อความในสุนทรพจน์เกือบ 2 ชั่วโมงของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ต่อผู้แทนกว่า 2,000 คน ในการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปีนี้จะจับความได้ว่าเขากำลังต้องการจะนำเสนออะไรให้ประชาคมโลก

หนึ่งในนั้นคือแนวคิดว่าด้วย Global Security Initiative (GSI) ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณถึงทิศทางที่จีนจะเดินหน้าเพื่อเล่นบทที่คึกคักในการร่างแผนความมั่นคงของโลกจากมุมมองของจีน

ที่จะมาเขย่าระเบียบโลกเก่าที่กำกับโดยโลกตะวันตกมายาวนาน

(AP Photo/Ng Han Guan)

ตอนหนึ่งของคำปราศรัยของสีวันนั้นบอกว่า

“ปราชญ์ชาวจีนโบราณสังเกตว่าสิ่งมีชีวิตทั้งหมดสามารถเติบโตเคียงข้างกันโดยไม่ทำร้ายกันและกัน และถนนสายต่างๆ อาจวิ่งคู่ขนานกันโดยไม่รบกวนกันและกัน”

“เมื่อทุกประเทศแสวงหาสาเหตุของความดีร่วมกัน อยู่ร่วมกันและร่วมมือเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันเท่านั้นจึงจะมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืนและรับประกันความปลอดภัย”

ตีความได้ว่านั่นคือการที่สี จิ้นผิง เปิดตัวของ “ความริเริ่ม GSI” เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว

สี จิ้นผิง วางจีนไว้บนแผนที่โลกด้วย “ความริเริ่ม” ระดับสากลหลายอย่าง เช่น

โครงการ Belt and Road Initiative (BRI) สำหรับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการเชื่อมต่อของเส้นทางขนส่งที่เรียกว่า “เส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21

ตามมาด้วย Global Development Initiative (GDI)

ซึ่งเป็นการช่วยเหลือประเทศเกิดใหม่เผชิญความยากจนและความท้าทายอื่นๆ

GSI เป็น “ความริเริ่ม” ใหม่ล่าสุดที่สี จิ้นผิง เพิ่งประกาศที่ Boao Forum for Asia ในเดือนเมษายนที่ผ่านมานี้

โดยสื่อว่า GSI คือกรอบของหลักการสำหรับกิจการระดับโลกและการทูตที่สามารถทำให้โลกเป็นสถานที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น

สื่อทางการจีนอธิบายว่า GSI จะเป็น “สินค้าสาธารณะระดับโลกอีกรายการหนึ่งที่จีนนำเสนอ”

เพื่อสนับสนุน “การแสวงหาสูตรใหม่และภูมิปัญญาของจีนในการแก้ปัญหาความท้าทายด้านความมั่นคงที่มนุษยชาติกำลังเผชิญอยู่”

ในบริบทของ GSI ผู้นำและนักการทูตของจีนพูดถึงประเด็นด้าน “ความมั่นคง” ในความหมายที่กว้างกว่านิยามปกติ

เพราะคำว่า “ความมั่นคง” ไม่ใช่แค่เรื่องการป้องกันประเทศ แต่ยังรวมถึงอาหาร สภาพภูมิอากาศ ห่วงโซ่อุปทาน อินเตอร์เน็ต การค้าและพลังงานอีกด้วย

ได้ยินคำอธิบายเช่นนี้ครั้งแรกอาจจะคิดว่ามีความคลุมเครือสูง แต่หากสาวลึกถึงเจตนาที่แท้จริงของสี จิ้นผิง แล้ว ข้อเสนอนี้คือการเสนอ “ระเบียบโลกใหม่” ที่มองข้ามไม่ได้เลย

บางคนเรียกแนวคิดนี้ว่าอาจจะเป็นความพยายามของจีนที่จะเสนอทางเลือกใหม่ในรูปแบบของ “สถาปัตยกรรมความมั่นคงระดับภูมิภาค”

อาจจะเป็นสิ่งที่สี จิ้นผิง ต้องการนำเสนอเป็นทางเลือกที่ปรับเปลี่ยนจากระบบหลังสงครามของพันธมิตรและหุ้นส่วนของสหรัฐอเมริกา

มองอีกด้านหนึ่งแนวคิด GSI ก็คือภาพสะท้อนว่าสี จิ้นผิง มองโลกวันนี้และวันหน้าอย่างไร

(Photo by WANG Zhao / AFP)

มองจากแง่สหรัฐผ่านแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ก็จะเห็นจีนเป็น “ความท้าทายระยะยาวที่ร้ายแรงที่สุดต่อระเบียบระหว่างประเทศ”

ในทางกลับกัน จีนก็มีสิทธิ์แย้งว่าสหรัฐและพันธมิตรเป็นฝ่ายที่กำลังบั่นทอน “ความมั่นคงของโลก” ด้วยนโยบายกีดกันจีน

จึงไม่ต้องแปลกใจหากสี จิ้นผิง จะเดินหน้าใช้ความริเริ่ม GSI ผลักดันแนวคิดนี้ไปทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก, ทวีปแอฟริกา และอเมริกาใต้เพื่อชักชวนให้เห็นว่าสูตรสำเร็จของตะวันตกมิใช่คำตอบเดียวของโลกในวันข้างหน้า

รัฐมนตรีต่างประเทศหวัง อี้ ของจีนเป็นผู้ลงรายละเอียดของแนวคิดนี้อย่างน่าสนใจ

โดยอรรถาธิบายว่าปักกิ่งได้นำเสนอ “ข้อผูกพัน 6 ประการ” ต่อเวทีระหว่างประเทศซึ่งรวมถึง :

การยึดมั่นในการรักษาความมั่นคงที่ครอบคลุมและยั่งยืน เคารพอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของทุกประเทศ ปฏิบัติตามหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติ

คำนึงถึงความมั่นคงที่ถูกต้องตามกฎหมายของทุกประเทศอย่างจริงจัง

ระงับข้อพิพาทโดยสันติผ่านการเสวนา

และการรักษาความมั่นคงทั้งในบริบทดั้งเดิมและที่ไม่ใช่แบบดั้งเดิม

ทั้งหมดนี้ หวัง อี้ เรียกว่าเป็นก้าวย่างเพื่อ “ปรับปรุงและก้าวข้ามทฤษฎีความมั่นคงทางภูมิรัฐศาสตร์ของตะวันตก”

ในคำปราศรัยของสี จิ้นผิง ที่เวทีเสวนา Boao Forum เมื่อวันที่ 21 เมษายนนั้น เขาวิพากษ์ความหมกมุ่นของโลกตะวันตกที่ยังติดยึดอยู่กับสงครามเย็น การครอบงำ และการเมืองที่ใช้อำนาจเป็นข้อต่อรอง

ซึ่งทั้งหมดนี้ผู้นำจีนบอกว่า “เป็นอันตรายต่อสันติภาพของโลก” และ “ทำให้ความท้าทายด้านความมั่นคงรุนแรงขึ้นในศตวรรษที่ 21”

หลังจากนั้น หวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ในการแถลงข่าวเป็นประจำก็พยายามต่อยอดคำอธิบายของแนวคิดนี้ว่า

“ด้วยภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นจากลัทธิฝ่ายเดียว อำนาจครอบงำ และการเมืองที่มีอำนาจ และการขาดดุลที่เพิ่มมากขึ้นในด้านสันติภาพ ความมั่นคง ความไว้วางใจ และการปกครอง มนุษยชาติกำลังเผชิญกับปัญหาที่ยากจะแก้ไขและภัยคุกคามด้านความปลอดภัยมากขึ้นเรื่อยๆ”

หนึ่งสัปดาห์ต่อมา หวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐจีนและรัฐมนตรีต่างประเทศจีน กล่าวในบทความที่ตีพิมพ์ใน People’s Daily อธิบายโครงการริเริ่มนี้ว่า

เป็นแนวคิดเพื่อ “สนับสนุนภูมิปัญญาจีนเพื่อชดเชยการขาดดุลสันติภาพของมนุษย์ และแสวงหาวิธีแก้ปัญหาของจีนเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ”

เขาเสริมว่า “จีนจะไม่มีวันอ้างสิทธิ์ในการเป็นเจ้าโลก แสวงหาหรือขยายขอบเขตอิทธิพล และไม่เข้าร่วมในการแข่งขันด้านอาวุธ”

แน่นอนว่าย่อมจะมีคนวิพากษ์ว่าจีนพูดอย่างทำอย่างหรือไม่

ประเด็นเรื่องอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนที่ชูธงในข้อเสนอนี้นั้นต้องประเมินจากการกระทำจริงของปักกิ่ง

เช่น พฤติกรรมของจีนทั้งในทะเลจีนใต้และตามแนวชายแดนจีน-อินเดียได้ละเมิดแนวคิดเรื่องอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของเพื่อนบ้านอย่างชัดเจน

อีกข้อหนึ่งที่ผู้เห็นต่างกับจีนจะชี้ไปว่าแม้ถ้อยแถลงของสีจะพูดถึงการคำนึงถึงความมั่นคงที่ถูกต้องตามกฎหมายของทุกประเทศอย่างจริงจัง และไม่แสวงหาความมั่นคงของตนเองโดยแลกกับค่าใช้จ่ายของผู้อื่น

แต่ในทางปฏิบัติก็สามารถจับผิดจีนได้ เพราะในพฤติกรรมของปักกิ่งก็มีความขัดแย้งกับที่ระบุไว้ใน GSI อย่างเห็นได้ชัด

อีกด้านหนึ่ง สีกล่าวว่า “ไม่เห็นด้วยกับการเมืองแบบแยกกลุ่มและการเผชิญหน้าในกลุ่ม” หรือวิพากษ์วิจารณ์ “การตั้งกลุ่มก้อน” เพื่อสร้างเหตุเผชิญหน้ากัน

คงหมายถึงที่สหรัฐพยายามแผ่อิทธิพลในอินโดแปซิฟิกด้วยการตั้งกลุ่มที่รวมถึงอินเดีย ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน

แต่ขณะเดียวกัน จีนก็ตั้งกลุ่มก้อนของตนที่รวมถึงรัสเซีย ปากีสถาน และเกาหลีเหนือ เช่นเดียวกัน

มีคำถามเช่นกันว่า การที่จีนย้ำเสมอว่ากิจกรรมในเอเชียควรได้รับการจัดการโดยประเทศในเอเชียนั้นก็อาจจะเปิดทางให้จีนอยู่ในฐานะที่มีขนาดและอำนาจพอที่จะครอบงำย่านนี้อย่างง่ายดายเช่นกัน

ทำให้เห็นภาพชัดว่าจีนไม่สนใจ “ความย้อนแย้ง” ที่มีอยู่ปัจจุบัน

หากแต่ต้องการจะนำเสนอเพื่อบทบาทที่คึกคักขึ้นของจีนเองในวันข้างหน้าเท่านั้น