“อาเซียน” ที่เปลี่ยนแปลงไป | อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

“Region now at the most uncertain Juncture. He warns the socio-economic situation remains fragile & Devided & strong leadership is vital to tackle the challenges”

https://twitter.com/MayWongCNA/status/1590897427292516352
11 November, 2022

 

ขณะนี้ภูมิภาคอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ไม่แน่นอนที่สุด เขาเตือนว่าสถานการณ์สังคม-เศรษฐกิจยังคงเปราะบางและแบ่งแยก และผู้นำที่เข้มแข็งสำคัญมากในการจัดการแก้ปัญหาที่ท้าทายเหล่านี้

นักข่าวสิงคโปร์ CNA รายงาน คำกล่าวเปิดประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 41 ที่กรุงพนมเปญ ของประธานอาเซียน สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา อันสะท้อนความจริงของโลก ภูมิภาค และอาเซียนได้ตรง

ดูผิวเผินคำกล่าวเปิดอุดมไปด้วยภาษาการทูตสวยหรู แต่ตรงกันข้าม คำกล่าวเปิดแสดงความเป็นจริงที่ถ่องแท้ต่อสถานการณ์ในสายตาของผู้นำอาเซียน

อาเซียนที่กรุงพนมเปญ

การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 40-41 เดือนพฤศจิกายนนี้ อันมีประเทศคู่เจรจาของอาเซียนสำคัญหลายประเทศเข้าร่วมประชุมด้วย เช่น จีน สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ฯ เป็นที่จับตาของประชาคมโลก หาใช่เพราะผู้นำคนสำคัญของชาติมหาอำนาจและผู้นำ 10 ชาติอาเซียนเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ แต่ด้วยประเด็นวาระการประชุมอันเป็นประเด็นระดับโลกด้วยคือ วิกฤตการณ์เมียนมา สงครามรัสเซีย-ยูเครน ความร่วมมือทางเศรษฐกิจหลังยุคโรคระบาดโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)

สำหรับผม ที่ประชุมอาเซียน ณ กรุงพนมเปญ เป็นเวทีการประชุมสำคัญของโลกที่มีผู้นำโลกเข้าร่วม แสดงความคิดเห็นและหาทางออกให้โลก หลังจากผู้นำโลกไม่มีโอกาสสำคัญนี้ ด้วยโรคระบาดโควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน นี่เป็นหนึ่งในเวทีการประชุมระดับโลก ตามมาด้วยการประชุม G 20 ที่บาหลี อินโดนีเซีย และการประชุม APEC ที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย

แล้วอาเซียนก็ได้ยกระดับความสำคัญของภูมิภาคและของโลกอีกครั้งหนึ่งที่กรุงพนมเปญ

ก้าวใหม่ของอาเซียน

ทั้งอินโดนีเซียและกัมพูชา ผู้นำของทั้งสองประเทศแสดงบทบาทผู้นำในการเข้าร่วมแก้ปัญหาระดับโลกคือ สงครามรัสเซีย-ยูเครน

ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด เดินทางไปพบกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย เดินทางไปพบกับประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน เดินทางไปพบกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน พร้อมด้วยข้อเสนอที่ประธานาธิบดีวิโดโดหาทางออกและทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยสงครามรัสเซีย-ยูเครน ด้วยการทูตของผู้นำอินโดนีเซีย ช่วยยกระดับความสำคัญของอาเซียน

ที่โดดเด่นมากคือ กัมพูชาในฐานะประธานอาเซียน การทูตอาเซียนของนายกรัฐมนตรีสมเด็จฮุน เซน น่าสนใจมาก เขาเป็นประธานอาเซียนมา 3 ครั้ง ปีนี้สมเด็จฮุน เซน ประสบความสำเร็จเป็นเจ้าภาพการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 55 และการประชุมระดับสูงหลายการประชุม เช่น ASEAN Plus Three Minister of Foreign Affairs การประชุม East Asia Summit ครั้งที่ 12 และ ASEAN Regional Forum ครั้งที่ 29 2022

เหนืออื่นใด สมเด็จฮุน เซน เคลื่อนไหวและเสนอให้อาเซียนทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยสงครามรัสเซีย-ยูเครน สมเด็จฮุน เซน ได้พูดคุยทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี เขาเชิญรัฐมนตรีต่างประเทศยูเครน Dmytro Kuleba เข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนที่กรุงพนมเปญ และยูเครนได้ลงนาม ASEAN ‘s Treaty of Amity and Cooperation-TAC อีกด้วย เขาได้เชิญประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ประชุมสุดยอดอาเซียนทางวิดีโอคอล แต่ไม่ได้รับฉันทานุมัติจากบางประเทศสมาชิก

การทูตอาเซียนเรื่อง สงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยประธานาธิบดีวิโดโดและนายกรัฐมนตรีสมเด็จฮุน เซน ได้ผลักดันอาเซียนสู่สถานะใหม่ ที่ได้รับการยอมรับความสำคัญของอาเซียนอย่างสูง

 

วิกฤตการณ์โลกและเมียนมา
โจทย์เก่าและท่าทีเก่า

ส่วนผู้นำไทย เหมือนไม่มีวิกฤตการณ์ใดๆ เกิดขึ้นในอาเซียนเลย ท่องจำไปเรื่อย

ผมติดตามท่าที วิสัยทัศน์ และแนวทางต่อการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ ผมได้ข้อมูลข่าวจากวิทยุแห่งประเทศไทย และข่าวกรมประชาสัมพันธ์ ประเด็นที่จับต้องได้มี 3 คำ

สร้างความเข้มแข็ง พัฒนาอย่างยั่งยืน วิถีทางอาเซียน

ฟังทีไรดูดี น่ารัก สวยหรู อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับถ้อยแถลงและการเคลื่อนไหวของประธานาธิบดีวิโดโดและสมเด็จฮุน เซน ท่าทีไทยเหมือนไม่มีวิกฤตการณ์ใดๆ เกิดขึ้นในโลกและอาเซียนเลย ผู้นำไทยท่องคาถา แล้วท่านผู้นำไทยก็ตามสคริปต์

1. สนับสนุนความผูกพันอย่างสร้างสรรค์ (ของสหรัฐอเมริกาและอาเซียน) และผู้เล่นรายสำคัญอื่นๆ ในภูมิภาค เขาชี้ว่าเป็นเรื่องสำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อมของความไว้วางใจร่วมกัน ทำการฟื้นฟูหลังโควิด-19 ต่อทุกๆ ประเทศคือ พิจารณาด้านมนุษยธรรม บรรเทาความแตกแยกของความวุ่นวายทั่วโลก

2. เขากล่าวว่า มีความต้องการเร่งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และเพิ่มความแข็งแกร่งห่วงโซ่อุปทาน ช่วงท้าย เขาได้เชิญนักธุรกิจอเมริกันลงทุนและพัฒนาภาคเทคโนโลยีระดับสูง เช่น รถยนต์ไฟฟ้า

3. เพื่อให้แน่ใจในความสำเร็จของ 2 เป้าหมายแรก ได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเพิ่มขึ้น ผ่านช่วงเปลี่ยนแปลงสู่พลังงานสะอาด และสังคมคาร์บอนต่ำ เขาได้สนับสนุนทุกประเทศทำงานด้วยกัน และใช้แนวทางการพัฒนาใหม่ ที่ไทยสนับสนุน เช่น โมเดล BCG : Bio-Circular-Green Economy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว

เขาที่ว่านี้หมายถึง ผู้นำไทย เป้าหมายการพัฒนาที่ผมนำมาอ้างนี้เป็นข้อสนทนาของผู้นำไทยในการประชุมสุดยอดไทย-สหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา1

(Photo by CHALINEE THIRASUPA / POOL / AFP)

ผมไม่ได้พูดว่า สาระ ของการเจรจาของผู้นำไทยกับผู้นำชาติไหนซ้ำกันไม่ได้ แต่ประเด็นคือ

1. ผู้นำไทยไม่รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเมืองโลกที่เปลี่ยนแปลงไปมากและเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา จึงอ้างอิงแนวทางการพัฒนาที่ซ้ำๆ ซากๆ ผิดบริบท

2. ผมไม่เคยค้านโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ที่ข้าราชการและภาคธุรกิจเอกชนไทยกำลังผลักดันเพื่อนำแนวคิดเหล่านั้นมาใช้ แต่ผู้นำไทยไม่ตระหนักว่า โครงสร้างพื้นฐาน งบประมาณ โดยเฉพาะการเมืองนโยบายของพรรคร่วมรัฐบาลที่กำกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แทบไม่สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจใหม่ บางทีขัดแย้งโมเดลใหม่เสียด้วยซ้ำ

แล้ววิกฤตการณ์เมียนมาของผู้นำไทยล่ะ?

เป็นเวลาอย่างน้อย 8 ปีมาแล้ว ท่าทีไทยต่อวิกฤตการณ์เมียนมาคือ เมียนมาเป็นเพื่อนบ้านของไทย พรมแดนติดกันยาว ให้โอกาสเมียนมา ไม่ต้องการให้ผู้นำเมียนมาถึงทางตัน เป็นหน้าต่างให้เมียนมาสู่โลกภายนอก พยายามเป็นเพื่อนที่ดี คำถามคือ ท่าทีไทยเช่นนี้ประสบความสำเร็จหรือไม่

ขณะที่สมเด็จฮุน เซน ในฐานะประธานอาเซียนได้วิจารณ์ความล้มเหลวของผู้นำเมียนมา ที่ไม่ปฏิบัติตามฉันทานุมัติ 5 ข้อ เขาและผู้แทนพิเศษของเขาเดินทางและเจรจากับผู้นำเมียนมาอย่างมาก เช่นเดียวกัน ประธานาธิบดีวิโดโดได้วิจารณ์ผู้นำเมียนมาและเสนอไม่ให้เจ้าหน้าที่ของเมียนมาเข้าร่วมประชุมในทุกระดับ

การเคลื่อนไหวของประธานาธิบดีวิโดโดอาจเป็นประโยชน์ต่อตัวเขาและอินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนคนต่อไป

การทำงานสันติภาพในเมียนมาของสมเด็จฮุน เซน อาจสร้างชื่อเสียงระดับโลกอีกครั้งหนึ่งให้สมเด็จฮุน เซน ที่สมเด็จฮุน เซน จะมอบนาฬิกาที่ทำโดยคนกัมพูชาให้ผู้นำที่เข้าประชุมสุดยอดอาเซียน อาจทำให้สมเด็จฮุน เซน ดูเท่ แต่ไม่ควรลืมว่าผู้นำอินโดนีเซียและกัมพูชาโดดเด่นและอาเซียนก็สำคัญขึ้น

ส่วนไทยเจ้าภาพประชุมเอเปคช่วงถัดมาเป็นเช่นไร โลกเก่าสำหรับไทยคือ อาหารอร่อย คนไทยใจดี ยิ้มแย้ม

ผมเริ่มเชื่อและผิดหวังสำหรับไทยจากคำกล่าวเปิดประชุมสุดยอดอาเซียนของสมเด็จฮุน เซน เสียแล้วเรื่องผู้นำ

ไม่เคยรู้ว่าอาเซียนหรือประเทศตัวเองเปลี่ยนแปลงไปแล้ว แกนหลัก ดูเหมือนมองไปข้างหน้า ดูดี วิสัยทัศน์แจ่ม แต่ฝันลมๆ แล้งๆ ทำไมจู่ๆ ต้องเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ทำไมต้องเป็นเศรษฐกิจชีวภาพ หมุนเวียน สีเขียว

ไม่รู้หรอกว่าคืออะไร เพราะแค่ลอกๆ คำใหญ่เรื่องเทคโนโลยีของประเทศเจริญแล้ว มาพูดต่อให้เท่

แต่ไม่เคยแสดงวิสัยทัศน์หรือการผลักดันแก้ปัญหาวิกฤตการณ์เมียนมา วิกฤตการณ์ของโลก วิกฤตการณ์อาเซียนเลย ไม่รู้ว่าอะไรค้ำคอ พูดไม่ออก บอกไม่ได้อยู่

 


1 ผมนำมาจาก “Thailand’s regional strategies revealed at the ASEAN-US Summit” Thai PBS 15 May 2022.