ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 18 - 24 พฤศจิกายน 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | คลุกวงใน |
เผยแพร่ |
ปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา อีลอน มัสก์ (Elon Musk) อภิมหาเศรษฐีหมายเลข 1 ของโลก วัย 51 ปี ซื้อกิจการของทวิตเตอร์ (Twitter) ในราคา 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.6 ล้านล้านบาท
จากการประเมินดัชนีความรวยของอภิมหาเศรษฐีของบลูมเบิร์ก (Bloomberg Billionaire Index) ความร่ำรวยของอีลอน มัสก์ ลดลง 9,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 3 แสนล้านบาท หลังจากซื้อทวิตเตอร์ นับว่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับทรัพย์สินที่เขามี
ตอนนี้บลูมเบิร์กประเมินว่า อีลอน มัสก์ มีทรัพย์สินประมาณ 204,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 7.6 ล้านล้านบาท
ยังคงครองตำแหน่งอภิมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลก
เมื่อ 5 ปีก่อน อีลอน มัสก์ ในวัย 46 ปี เป็นอภิมหาเศรษฐีอันดับที่ 80 ของโลก มีทรัพย์สิน 13,900 ล้านดอลลาร์ หรือ 371,000 ล้านบาท เคยให้สัมภาษณ์ว่าเขามีถุงนอนเตรียมไว้ที่ห้องประชุม ก่อนที่รถยนต์ Tesla จะออกสู่ตลาด เขาจะต้องตรวจสอบให้เรียบร้อยก่อน โต๊ะทำงานของเขาคือด่านสุดท้ายของสายการผลิต ข้างโต๊ะจึงมีถุงนอนเตรียมไว้ ซึ่งเขาใช้นอนอยู่บ่อยๆ
อีลอน มัสก์ บอกว่า สำหรับเขาที่ทำงานสัปดาห์ละเกือบ 100 ชั่วโมง การหาเวลาออกกำลังกายเป็นเรื่องยาก แต่เขาก็หาเวลาออกกำลังให้ได้สัปดาห์ละหนึ่งถึงสองครั้ง โดยวิ่งบนสายพานเพื่อเรียกเหงื่อและยกน้ำหนัก
อีลอนเปรียบการออกกำลังกายกับคำวิจารณ์ไว้น่าสนใจว่า คำวิจารณ์นั้นเหมือนกับการออกกำลังกาย ตอนแรกมันทำให้รู้สึกแย่ แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็ช่วยทำให้เราเป็นคนที่แข็งแกร่งขึ้น และส่งผลทางดีในระยะยาว
ส่วนคำชมนั้นทำให้เราพอใจกับสิ่งที่มีอยู่ แต่คำวิจารณ์จะกระตุ้นให้เราพัฒนาตัวเองขึ้นเรื่อยๆ
อีลอนบอกว่า ตัวเขาเป็นคนชอบรับประทาน โดยเฉพาะอาหารฝรั่งเศสและอาหารเยอรมัน ไม่ชอบเล่นกีฬา ไม่ค่อยออกกำลังกาย ยอมที่จะกินตามใจปากแม้จะทำให้อายุสั้น
แต่ถ้าหากมีเวลา กีฬาที่เขาชอบเล่นคือ คาราเต้ บราซิลเลียนยิวยิตสุ (Brazilian jiu-jitsu) หรือศิลปะป้องกันตัวแบบบราซิล เทควันโด และยูโด
ส่วนเรื่องนอน อีลอนพยายามนอนให้ได้วันละ 6 ชั่วโมง หรือ 6 ชั่วโมงครึ่ง เพราะหากนอนไม่พอจะหงุดหงิด และทำงานไม่มีประสิทธิภาพ
ก่อนนอน 3 ชั่วโมง อีลอนบอกว่าจะไม่รับประทานอาหาร เพราะช่วยให้หลับสนิท
กิจวัตรไม่ดีที่อีลอนบอกว่าตัวเองทำทันทีที่ตื่นนอนคือ เช็กโทรศัพท์และตอบอีเมลประมาณครึ่งชั่วโมง ซึ่งอีลอนบอกว่า เขาพยายามเปลี่ยนกิจวัตรที่ไม่ดีนี้ โดยพยายามที่จะลุกจากเตียงเพื่อออกกำลังทันทีอย่างน้อย 20 นาที หลังจากออกกำลังเสร็จก็ค่อยมาเช็กโทรศัพท์
คนรวยหมายเลข 1 ของโลกไม่ค่อยชอบออกกำลังกาย
คำถามต่อมาคือ คนรวยทั่วไปชอบเล่นกีฬาอะไร?
รายงานการศึกษาหลายชิ้นบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า คนรวยมักจะมีรสนิยมการเล่นกีฬาที่ค่อนข้างออกในแนวมาโซคิสต์ (Masochist) คือชื่นชอบกีฬาประเภทที่ได้ทรมานร่างกายตัวเองและทำให้เกิดความเจ็บปวด
เช่น กีฬาที่ต้องอาศัยความอึดทางร่างกายและจิตใจ อย่างไตรกีฬา ปั่นจักรยาน และวิ่งวิบาก
การแข่งขันเหล่านี้ล้วนแต่มีค่าใช้จ่ายสูง หลายคนจึงไม่แปลกใจที่เห็นคนมีเงินเล่นกีฬาประเภทนี้กันเสียส่วนใหญ่
แต่นักจิตวิทยาหลายคนบอกว่า เบื้องลึกเบื้องหลังมีอะไรมากกว่านั้น และมีเหตุผลอธิบายเป็นข้อๆ ว่าอะไรบ้างคือปัจจัยดึงดูดให้คนรวยชื่นชอบการเล่นกีฬาที่โหดแบบถึงพริกถึงขิง
1.แรงจูงใจที่จะประสบความสำเร็จ
ดร.ไมเคิล แซคส์ (Dr.Michael Sachs) อาจารย์และนักจิตวิทยาการกีฬาของ Temple University บอกกับ New York Times ว่า คนที่ประสบความสำเร็จในกีฬาที่ต้องอาศัยความอึด กับคนที่มีรายได้สูงจากการทำงาน มีอะไรหลายๆ อย่างเหมือนกัน
สิ่งที่เหมือนกันอย่างชัดเจนคือ เป็นคนที่มีแรงกระตุ้นในตัวเองสูง และมีจิตใจที่เข้มแข็ง เพราะคนที่จะเล่นกีฬาอย่างปีนเขา ไตรกีฬา ล้วนต้องมีความมั่นคงแน่วแน่ที่จะพาตัวเองไปให้ถึงเป้าหมายให้ได้
เช่นเดียวกัน คนที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานและได้เงินตอบแทนสูง ล้วนเป็นคนที่มั่นคงชัดเจนในเป้าหมายของตัวเอง
2.ความสุขคือการได้รู้ถึงศักยภาพของตัวเอง
ในบทความการศึกษาเรื่อง Happiness Of The Very Wealthy (ความสุขของคนที่รวยมากๆ) ตีพิมพ์ในวารสาร Social Indicators Research บอกว่า คนรวยนั้นมีนิยามของความสุขแตกต่างจากคนอื่นๆ
จากการสัมภาษณ์และตอบแบบสอบถาม พบว่า คนส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญเรื่องความรักมากเป็นอันดับหนึ่งในชีวิต และการเป็นที่ยอมรับและได้รับความเคารพจะทำให้พวกเขารู้สึกมีความสุข
แต่คนที่รวยสุดๆ มักจะมองว่าการได้รับรู้ถึงศักยภาพที่มีอยู่ในตัวเองนั้นเป็นสิ่งที่จะทำให้พวกเขามีความสุขในชีวิตมากที่สุด ซึ่งทางหนึ่งที่จะสามารถวัดศักยภาพในตัวเองได้ก็คือ การท้าทายความสามารถทางร่างกายและจิตใจด้วยกีฬาสุดโหด และทำให้ได้ตามที่ตั้งเป้าหมาย
3.เป้าหมายชัดเจนและมีผลงานที่จับต้องได้
คนรวยนั้นส่วนใหญ่มีนิสัยชอบไขว่คว้าหาความสำเร็จเพื่อให้รู้สึกพึงพอใจว่าตัวเองสามารถทำได้
แต่คนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับความรู้และข้อมูล ยากที่จะประเมินความสำเร็จให้ตัวเอง เพราะงานด้านข้อมูลนั้นขาดตัวชี้วัดความสำเร็จที่เป็นมาตรฐาน และไม่มีผลงานที่สามารถจับต้องได้เหมือนคนทำงานสายการผลิต
การเล่นกีฬาที่อาศัยความอึด เราสามารถตั้งเป้าหมาย ทำให้บรรลุผลและได้เหรียญรางวัลเป็นเครื่องมือวัดความสำเร็จ
4.ใช้ความเจ็บปวดช่วยให้ลืมเรื่องภาระหน้าที่ในชีวิต
นักวิจัยจาก Cardiff University สัมภาษณ์พนักงานออฟฟิศ 26 คนที่เข้าร่วมการแข่งไตรกีฬา พบว่า สาเหตุที่พนักงานออฟฟิศชอบเล่นกีฬาโหดๆ ที่ทำให้ร่างกายเจ็บปวด มีเหตุผลอยู่สองประการ
ประการแรก กีฬาโหดๆ อย่างไตรกีฬา ช่วยพาพวกเขาหลีกหนีออกจากชีวิตที่จำเจของการนั่งทำงานในออฟฟิศทั้งวันและแทบจะไม่ได้ขยับร่างกายเลย
ประการที่สอง นักวิจัยพบว่า ความเจ็บปวดช่วยให้เราลืมเรื่องภาระหน้าที่ของการเป็นตัวเองไปชั่วคราว แทนที่จะดื่มแอลกอฮอล์เพื่อหนีความเครียด ความกังวล
เราก็ใช้ความเจ็บปวดจากการเล่นกีฬามาทำให้ผ่อนคลายความคิดจากเรื่องเหล่านั้นแทน นอกจากจะได้ประโยชน์จากการออกกำลังกายแล้ว ยังทำให้เกิดความภาคภูมิใจในตัวเองถ้าหากทำได้ตามเป้าหมาย
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022