เอเปค…เส้นทางสายไหม และทุนจีนสีเทา (1) | หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

ที่มาของเอเปค

Asia-Pacific Economic Cooperation หรือ APEC จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2532 ด้วยความริเริ่มของออสเตรเลีย เนื่องจากเล็งเห็นว่าภูมิภาคนี้ประกอบด้วยประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก เป็นตลาดใหญ่และมีศักยภาพในการขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกัน สหรัฐ และออสเตรเลีย ต้องพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก ต้องใช้การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการเปิดเสรีการค้า และถ่วงดุลสหภาพยุโรป

เริ่มแรก (ปี พ.ศ. 2532) เอเปคมีสมาชิก 12 ประเทศ คือ สหรัฐ แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอาเซียนเดิม (คือ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์ และไทย)

ต่อมาในช่วงปี พ.ศ.2534-2537 เอเปคมีสมาชิกเพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 6 ประเทศ คือ จีน ไต้หวัน ฮ่องกง ปาปัวนิวกินี เม็กซิโก และชิลี

ล่าสุดในปี พ.ศ.2541 เอเปคมีสมาชิกเพิ่มขึ้นอีก 3 ประเทศ คือ เปรู เวียดนาม และรัสเซีย รวมทั้งสิ้น 21 ประเทศ มีประชากรรวมกว่า 2,900 ล้านคน มีผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) รวมกันกว่า 53 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เกินครึ่งของ GDP โลก และมีมูลค่าการค้ารวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของการค้าโลก

วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งเอเปค

พัฒนาและส่งเสริมระบบการค้าในระดับพหุภาคี

สนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคและของโลกเพื่อลดอุปสรรคและอำนวยความสะดวกทางการค้า (สินค้าและบริการ) และการลงทุนระหว่างสมาชิกโดยให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ของแกตต์/องค์การการค้าโลก

เอเปคไม่ใช่เวทีเจรจาการค้าแต่เป็นเวทีสำหรับปรึกษาหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่ประเทศสมาชิกสนใจ

เอเปคคำนึงถึงความแตกต่างของระบบเศรษฐกิจ สังคม และระดับการพัฒนาของประเทศสมาชิกการรวมกลุ่มของเอเปคจนถึงปัจจุบันไม่ได้มีข้อผูกพันทางกฎหมาย

(การประชุมเอเปคเป็นงานระดับโลก การแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง ผ่านการชุมนุม เรียกร้องของฝ่ายประชาชน เพื่อเสนอปัญหาสู่ระดับสากลเป็นเริ่องปกติ รัฐบาลอย่าไปขยายให้มีเรื่อง)

เอเปควันนี้ต่างก็แย่งผลประโยชน์

33 ปีผ่านไป ความร่วมมือกันทางเศรษฐกิจก็ดำเนินต่อไปได้พอควร แต่แน่นอนว่าก็มีความขัดแย้งมีการแย่งชิงผลประโยชน์ระหว่างประเทศต่างๆ โดยเฉพาะมหาอำนาจ

การประชุมเอเปคในช่วงหลังๆ จึงเป็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นตามวาระ

และก็เป็นเวทีที่แต่ละประเทศพยายามมีข้อเสนอเพื่อให้ได้ผลประโยชน์กับประเทศตนเองหรือร่วมกับประเทศอื่นขึ้นอยู่กับกำลังความสามารถ และขนาดของแต่ละประเทศ

ไทยซึ่งเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ก็หวังว่าจะได้ประโยชน์จากการฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด การประชุมของไทย ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะภาคการเดินทางและท่องเที่ยว เป็นการฟื้นฟูการเดินทางและทำธุรกิจ และยังเป็นโอกาสให้ไทยโชว์ความพร้อมว่าสามารถปรับตัวและอยู่ร่วมกับสถานการณ์โควิดได้

33 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์ในประเทศและต่างประเทศก็เปลี่ยนไปผู้ลงทุนจำนวนมากได้ทยอยถอนการลงทุนออกจากประเทศไทยเพื่อไปลงทุนในประเทศอื่น เช่น เวียดนาม กัมพูชา

สถานการณ์ทางการเมืองใน 16 ปีหลังจากการรัฐประหาร 2549 จนถึงรัฐประหาร 2557 และล่วงเลยมาจนถึงปัจจุบัน ไม่มีแรงจูงใจให้ประเทศประชาธิปไตยอยากมาลงทุนในประเทศไทย เพราะความมั่นใจต่อระบบยุติธรรม ปัญหาการคอร์รัปชั่น

แต่กลุ่มที่ทำทุจริตผิดกฎหมายสีเทากลับอยากมาลงทุนและพักอาศัยอยู่ในประเทศไทย

(Photo by Handout / Thai Government / AFP)

จีนได้ประโยชน์สูงสุด

นับแต่เอเปคถูกก่อตั้งขึ้นมา ประเทศที่ได้ประโยชน์มากที่สุดจนถึงปัจจุบันนี้และในอนาคตคือประเทศจีน

การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจีนซึ่งมีพลเมืองประมาณ 1,400 ล้าน เมื่อมีผู้ลงทุนและมีผู้ให้เทคโนโลยีเติมเข้าไปในช่วง 20 ปีหลังนี้ จึงสร้างกำลังผลิตขนาดใหญ่ ทำให้ต้องการทั้งวัตถุดิบพลังงานและตลาดในการระบายสินค้า โดยภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ การเติบโตของอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ทางชายฝั่งตะวันออก

ซึ่งจีนต้องพบกับประเทศคู่แข่งคือญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ที่จีนไม่สามารถหาได้ทั้งวัตถุดิบ พลังงานและตลาดจาก 2 ประเทศนี้

แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องนับสิบปีติดต่อกันทำให้กำลังการผลิตของจีนมีขนาดใหญ่มากจีนจำเป็นจะต้องหาทั้งวัตถุดิบพลังงานและตลาดจากประเทศ ทั่วโลก ที่มีประชากรจำนวนมาก นั่นหมายถึงการจะต้องออกแสวงหาไปเกือบทุกภูมิภาคทั่วทั้งโลก ทำให้ต้องมีการเชื่อมต่อการคมนาคมทั้งทางบกและเส้นทางน้ำซึ่งตลอด 30 ปีที่ผ่านมาเส้นทางน้ำยังเป็นเส้นทางขนส่งที่สำคัญที่จะขนส่งทั้งวัตถุดิบพลังงานและสินค้าได้จำนวนมาก

เมื่อพลังการผลิตของจีนได้ขยายขึ้นมาถึงจุด ที่ผลิตสินค้าได้เกือบทุกชนิด การขยายตลาดการค้ากระทบกับประเทศอื่น จึงเริ่มมีการกีดกัน

จีนจึงจำเป็นต้องใช้นโยบายเส้นทางสายไหมยุคใหม่

(Photo by Diego Azubel / POOL / AFP)

ฟื้นเส้นทางสายไหม

ยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมของจีนซึ่งเป็นยุทธศาสตร์เชิงรุก One Belt One Road ที่รัฐบาลจีนในยุคของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ริเริ่มขึ้นเพื่อขยายบทบาทอิทธิพลของจีนในเวทีโลก ถ่วงดุลอำนาจสหรัฐอเมริกา ลดความขัดแย้งระหว่างประเทศด้วยการขยาย Soft Power ของจีน ผ่านการสร้าง “ความเชื่อมโยง” (Connectivity) และ “ความร่วมมือ” (Cooperation) รอบด้าน กับนานาประเทศ

ใกล้ที่สุดและไปง่ายที่สุดทั้งทางบกทางเรือก็คือภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทางบกนั้นต้องบุกเบิกผ่านลาวและพม่าจากนั้นก็ผ่านไทยซึ่งเป็นประเทศที่อยู่ตรงกลางภูมิภาคสามารถลงใต้ผ่านมาเลเซียไปถึงสิงคโปร์ได้

ส่วนทางเรือก็ไปได้ทั้งฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย แต่เส้นทางที่สำคัญก็คือจะต้องผ่านช่องแคบมะละกาเพื่อเข้าสู่มหาสมุทรอินเดียเพราะเมื่อข้ามมหาสมุทรอินเดียไปก็สามารถจะไปถึงแหล่งทรัพยากรและแหล่งพลังงานทั้งยังเป็นตลาดระบายสินค้าซึ่งมีอยู่ในแอฟริกา ภูมิภาคเอเชียกลาง ภูมิภาคเอเชียใต้ ภูมิภาคตะวันออกกลาง และผ่านคลองสุเอซเข้าสู่ยุโรป ซึ่งเป็นตลาดค้าขายขนาดใหญ่

แต่การผ่านช่องแคบมะละกา ระหว่างสิงคโปร์กับอินโดนีเซีย ซึ่งทุกวันนี้เป็นเส้นทางขนส่งที่มีเรือผ่านเยอะมาก และที่สำคัญอังกฤษกับอเมริกามีอิทธิพลที่คุมช่องแคบนี้อยู่ ถ้าผ่านช่องแคบนี้ช้าก็หมายความว่าจะต้องเสียเวลาในการที่จะไปแอฟริกาหรือไปตะวันออกกลาง หรือการลำเลียงน้ำมันจากตะวันออกกลางกลับประเทศจีน

. (Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

จะขุดคลองไทย?

ดังนั้น จึงมีผู้คิดที่จะเปิดช่องทางเดินเรือผ่านประเทศไทย ช่วงหลังจึงมีการเคลื่อนไหวให้ขุดคลองไทยซึ่งจะมีระยะประมาณ 100 กว่ากิโลเมตรโดยหวังให้เรือพาณิชย์ทั้งหลายไม่ต้องผ่านสิงคโปร์ แต่ให้เลี้ยวผ่านเวียดนาม กัมพูชา แล้วข้ามอ่าวไทย มาผ่านคลองไทย ซึ่งระยะทางสั้นกว่า โดยจะผ่านด้านอ่าวไทยจากสงขลา และไปออกทะเลอันดามันด้านจังหวัดตรัง สู่มหาสมุทรอินเดีย

เวลานี้อนาคตการขุดคลองไทยยังไม่แน่นอนเพราะมีทั้งผู้สนับสนุนและผู้ต่อต้าน

จีนและอเมริกากำลังทำสงครามการค้ากัน สงครามของปูตินกับยูเครนยังไม่จบ รถไฟความเร็วสูงยังไม่มา คลองไทยยังไม่ขุด แต่ทุนสีเทามาแล้ว จะมีผลอย่างไรขอไปวิเคราะห์ตอนต่อไป