เปลืองภาษีจริงๆ | คำ ผกา

เป็นที่วิจารณ์กันอื้ออึง จน สสส.ต้องลบโพสต์ เมื่อเพจเฟซบุ๊ก สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) : ThaiHealth โพสต์ภาพสื่อประชาสัมพันธ์เรื่อง “ข้อดีที่ต้องจ้างงานคนพิการ” โดยมีรายละเอียดว่า

ข้อดีที่ต้องจ้างงานคนพิการ 1.ไม่ลาบ่อย 2.ช้าแต่ได้งาน 3.เงินสมกับงาน 4.ไม่ต้องการสิทธิพิเศษ 5.อัตราการลาออกต่ำ

ทั้งนี้ ยังไม่ต้องพูดถึงสิทธิคนพิการ หรือการมีนโยบายส่งเสริม สนับสนุนให้มีการจ้างงานคนพิการ เนื้อหาเช่นนี้ของ สสส. ก็ชวนให้ตั้งข้อสงสัยว่า จริงหรือที่ผู้พิการไม่ลางานบ่อย? ทำงานช้า? รับค่าจ้างสมกับงาน? ไม่ต้องมีสิทธิพิเศษ และอัตราการลาออกต่ำ?

สิ่งแรกที่เราต้องถามคือ สสส.อ้างอิงข้อมูลสถิติจากที่ไหน เก็บข้อมูลเมื่อไหร่ และมีใครได้สำรวจ ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังแล้วหรือยัง?

แต่ถ้า สสส.เขียนโดยไม่มีข้อมูลอ้างอิง ทั้งห้าข้อที่สะท้อนทัศนคติของ สสส. ว่ามองเห็นผู้พิการเป็น “ผู้ไม่มีอำนาจต่อรอง” เมื่อมีใครสักคน “อุตส่าห์” รับเราที่เป็นผู้พิการเข้าทำงานเราต้องเจียมตัว ไม่ลางานบ่อยๆ เพราะลำพังพิการก็แย่อยู่แล้ว ดังนั้น ต้องทำตัวดีๆ

ตามมาด้วยการที่ สสส.ทึกทักเอาเองว่า ผู้พิการนั้น “ทำงานช้า” โดยที่ สสส.ยังไม่ต้องรู้เลยว่า คนคนนั้นพิการทางไหน? แล้วพวกเขาได้เข้าไปทำงานอะไร คนหูหนวก กับคนขาขาดหนึ่งข้าง ถ้าทั้งสองคนทำงานเป็นแคชเชียร์เก็บเงินในซูเปอร์มาร์เก็ต ทั้งคู่จะทำงานช้าหรือไม่?

และถึงที่สุด คนที่ไม่พิการอะไรเลย แต่ทำงานโคตรช้าก็มีให้เห็นอยู่เป็นเรื่องธรรมดาสามัญมาก

ทว่า การเขียนเช่นนี้สะท้อน “จิตพิสัย” ของ สสส. ว่า พิการ = สมรรถนะต่ำ

ตามมาด้วย “รับค่าจ้างสมกับงาน” อันเชื่อมโยงมาจากข้อก่อนหน้านี้ที่บอกว่า “ทำงานช้า” มันมีนัยว่า จ้างๆ ไปเถอะ ทำงานได้น้อยก็ไม่ต้องจ้างแพง! ซึ่งเท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้คนพิการได้มาตรฐานค่าแรงต่ำกว่าคนทั่วไป?

จากนั้นก็เป็นเรื่อง ไม่มีสิทธิพิเศษ จนมาถึงเรื่องอัตราการลาออกต่ำ อันส่อนัยว่า ผู้พิการไม่มีทางเลือกในชีวิตมากนัก ต่อให้อยู่สภาวะจ้างงานที่แย่ขนาดไหนก็จำต้องทน เพราะไม่ค่อยมีคนจ้าง

ฉันถามว่าทัศนะเช่นนี้เป็นการ empower ผู้พิการตรงไหน?

หลังจากถูกด่าสาดเสียเทเสียจากทุกทิศทุกทาง สสส.ก็ออกมาขอโทษ และจากข่าวที่ได้อ่านมา อธิบายว่า เป็นความผิดพลาด ข้อดีสี่-ห้าข้อนี้จริงๆ แล้วจะใช้ในหัวข้อ “ข้อดีของการจ้างงานผู้สูงอายุ” – เอ่อ – เป็นคำอธิบายที่ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นมาเลย เพราะก็ต้องไปเจอกับคำถามว่า สสส.มองผู้สูงอายุเป็นสิ่งมีชีวิต Tier 3 Tire 4 ไม่ได้ต่างอะไรจากทัศนะต่อคนพิการในตอนแรกเลย

สำหรับฉัน เวลาที่เราพูดถึง “คนพิการ” เราต้องเข้าใจว่ามันหมายถึง “ข้อจำกัดทางด้านร่างกายหรือสมอง” และข้อจำกัดนี้ไม่ได้ทำให้พวกเขามีความเป็น “คน” น้อยลง ความเป็นคนในที่นี้หมายความว่า พวกเขาย่อมเป็นทั้งคนขยัน คนขี้เกียจ คนใจดี คนขี้โมโห มีรัก โลภ โกรธ หลง มีทุกอย่างที่มนุษย์ทั้งหลายมี

ทว่า การรับรู้ของคนไทยมักจะมองว่าคนพิการคือ “คนน่าสงสาร” พอมองว่าน่าสงสารปุ๊บ เราก็จะตั้งความคาดหวังให้พวกเขาทำตัวให้สมกับที่จะได้รับความ “สงสาร” เช่น ต้องเจียมตัว ต้องทำตัวดีๆ คนจะได้อยากช่วย

พอคนพิการไม่ทำตัวดีๆ ไม่เจียมตัวอย่างที่เราคาดหวังจะให้ทำ (สืบเนืองมาจากที่เราคิดว่า พิการ เท่ากับน่าสงสาร รอรับความช่วยเหลือจากคนไม่พิการ) เราก็จะโกรธ ก่นด่าเขาว่า “พิการแล้วยังไม่เจียม”

ในแง่นี้ลึกๆ มาจากการที่คนไทยเชื่อในเรื่องบุญบาปแต่ชาติปางก่อนด้วย มักเชื่ออยู่ลึกๆ ว่า คนพิการ พิการเพราะบาปกรรมจากชาติที่แล้ว จึงทำให้คิดไปได้อีกว่า ยิ่งมีบาปกรรมจากชาติที่แล้ว ชาตินี้จึงต้องยิ่งทำตัวให้ดีๆ เข้าไว้

ดังนั้น การขับเคลื่อนเรื่องสิทธิคนพิการ สังคมไทยต้องปลดล็อกเรื่องนี้ก่อน นั่นคือ ไม่มีอะไรเกี่ยวกับบาปกรรมจากชาติที่แล้ว และเพียงเพราะเขามีข้อจำกัดทางร่างกาย/สมอง ไม่เท่ากับ “ความน่าสงสาร” แต่สิ่งที่เราต้องผลักดันให้มีคือ เครื่องมือที่ลดอุปสรรคอันเกิดจากข้อจำกัดนั้นๆ ที่ผู้พิการมี

ทำให้ได้อย่างนี้ปุ๊บ ก็ทรีตเขาเป็นมนุษย์ปกติที่ไม่ต้องได้รับความสงสาร เอ็นดู ทะนุถนอมกล่อมเกลี้ยงใดๆ เป็นพิเศษ ด่าได้ หยอกได้ ไปจนถึงล้อเล่นได้ โดยไม่ต้องคิดว่าเขาจะเป็นผู้เปราะบางทางใจมากกว่ามนุษย์คนอื่น

ถามว่า สังคมไทยได้ทำสิ่งเหล่านั้นแล้วหรือยัง?

คำตอบคือยัง สิ่งที่เรียกว่า universal design การออกแบบเพื่อให้ผู้ที่มีข้อจำกัดทางร่างกายสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไปไม่ต้องมีคนคอยช่วย คอยไปไหนมาไหนด้วย ยังไม่เกิดขึ้น ห้องน้ำ ทางเดิน บันได ทางลาด ตึก ฯลฯ อย่าว่าคนพิการจะเดินเหินในประเทศนี้อย่างสะดวก คนไม่พิการยังเสี่ยงจะพิการจากอุบัติเหตุได้เสมอ หรือโดนรถชนตายบนทางม้าลายได้ทุกเมื่อ

นับประสาอะไรจะจินตนาการว่า คนพิการจะออกมาเดิน จะใช้บริการขนส่งมวลชน จะเดินห้าง จะออกกำลังกายในสวนสาธารณะ จะเล่นกีฬา หรือเรียนหนังสือในระบบโรงเรียนปกติได้ในระดับหนึ่ง เรายังนึกไม่ออกเลย

เมื่อเราไม่เคยมี facility (ขอโทษที่หาภาษาไทยไม่ได้จริงๆ) ที่จะช่วยลดอุปสรรคอันเกิดข้อจำกัดด้านร่างกายของเขาให้ได้มีชีวิตอย่างปกติมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ คนไทยจึง “เห็น” คนพิการในชีวิตจริงน้อยมาก

ถามว่าในชีวิตของเรา เราได้เจอคนเป็นใบ้ ได้ใช้ชีวิตร่วมกับเขาจริงๆ กี่คน เราเคยได้อยู่ร่วมกับคนหูหนวกจริงๆ กี่คน?

และท้ายที่สุด สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยคือ บ้านไหนมีลูกพิการ บ้านนั้นก็เก็บลูกไว้ที่บ้าน ดูแลกันแบบเจียมเนื้อเจียมตัว ส่งไปเรียนโรงเรียนเด็กพิการ มีเพื่อนเป็นคนพิการเหมือนกัน

ไม่เพียงเท่านั้น เราไม่เคยคิดเลยว่า เด็กและคนพิการก็ย่อมมีกิเลส ตัณหา มีความอยากแต่งตัวตามแฟชั่น รักสวยรักงาม เหมือนคนปกติธรรมดา

การที่คนพิการจะแต่งตัวเฟี้ยวฟ้าวสุดๆ ดูจะเป็นเรื่องที่เราไม่คุ้นเคย

เมื่อไม่มีสิ่งเหล่านี้ มันเป็นเรื่องธรรมดาที่คนพิการไม่มีโอกาสเข้าสู่ทั้งสังคมที่ทรีตพวกเขาเป็นคนปกติ ไม่มีโอกาสได้เข้าสู่ระบบการศึกษาให้พวกเขาได้ค้นหาความชอบ ความถนัด เพราะเราก็จะมักจะมีภาพจำว่าคนตาบอดร้องเพลง แล้วก็นึกไม่ออกล่ะว่าคนพิการในด้านอื่นๆ ทำอะไรได้อีก ทั้งๆ ที่สมัยนี้งานคอมพิวเตอร์ งานไอที งานบริหาร งานออกแบบ งานกราฟิกดีไซน์ งานสถาปัตย์ วิศวะ ออกแบบภายใน

งานใดๆ คนพิการก็น่าจะทำได้หมด เพราะมีนวัตกรรม เทคโนโลยีไปจนเข้าสู่โลกความจริงเสมือนที่ช่วยลดข้อจำกัดทางด้านร่างกายของผู้พิการทุกแขนงให้ประกอบอาชีพได้หลากหลายกว่าในสมัยก่อน

แต่ “รัฐไทย” หรือองค์กรแบบ สสส. ที่สอนคนอื่นเก๊ง เก่ง ยังมองว่า การช่วยคนพิการคืองานสังคมสงเคราะห์ จึงพยายามไปบอกนายจ้างว่า จ้างๆ ไว้เถอะ ค่าแรงถูกๆ แลกกับทำงานช้าหน่อย แต่ไม่มีอำนาจต่อรองอะไรมาก

อันขัดแย้งกับหลักศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ อันเป็นหัวใจของงาน empower ผู้พิการ

อันที่จริง ตั้งแต่มี สสส.มา ฉันก็ไม่เห็นว่าจะเป็นองค์กรอะไรที่มีประโยชน์ต่อชาติและประชาชนเลย นอกจากใช้ภาษีบาปมาสร้างตราบาปต่อให้ผู้คน ให้เหล้าเท่ากับแช่งเอย อะไรเลย จน เครียด กินเหล้าเอย

เก่งแต่งานประเภท คุณพ่อคุณแม่รู้ดีช่างสั่งชั่งสอน แล้วสอนโดยที่ตัวเองก็ไม่มีความรู้หรือทัศนคติที่ถูกต้องตามหลักสากลมาสอนด้วย

เปลืองภาษีจริงๆ