เมื่อ “คนญี่ปุ่น” เริ่มไม่รู้สึกว่าเป็น “ชนชั้นกลาง” อีกแล้ว… | สุภา ปัทมานันท์

ญี่ปุ่น สามารถพลิกฟื้นประเทศที่เสียหายอย่างหนักหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ ภายในเวลา 20–30 ปี ก็กลับมาผงาดเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ

ช่วงทศวรรษปี 1960 – 1980 เป็นช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว(高度経済成長期) ประชาชนส่วนใหญ่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีกิน มีใช้ มีงานที่มั่นคง มีรายได้เพิ่มขึ้นทุกปี มองเห็นแต่ความก้าวหน้า ชีวิตไม่ลำบากไม่ขัดสนอย่างตอนหลังสงครามอีกต่อไป

จาก “การสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของประชาชน”(国民に関する生活世論調査) ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นจัดทำการสำรวจครั้งแรกปี 1958 มีคำถามว่า “ท่านคิดว่าตัวเองถูกจัดอยู่ในชนชั้นใด”

มีคำตอบให้เลือกคือ ชนชั้น “ล่าง/กลาง-ล่าง/กลาง-กลาง/กลาง-สูง และ สูง” ในครั้งนั้น มีผู้ตอบชนชั้น “ล่าง” 17% ชนชั้น “กลาง” รวมทั้งหมดเกิน 70% และ ชนชั้น “สูง” 0.2%

การสำรวจดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 1970 เป็นต้นมา มีผู้ตอบว่าเป็น ชนชั้น “กลาง” เพิ่มขึ้นถึง 90% และในปี 1979 รัฐบาลระบุใน “สมุดปกขาวว่าด้วยการดำเนินชีวิตของประชาชน”(国民生活白書)ว่า ประชาชนญี่ปุ่นมี “ความรู้สึกว่าเป็นชนชั้นกลาง” โดยสมบูรณ์ ส่วนคนที่ตอบว่า ชนชั้น “ล่าง” นั้น จากผลสำรวจตั้งแต่ช่วงทศวรรษปี 1960 ถึงปี 2008 ทุกปีมีจำนวนต่ำกว่า 10% ตลอด

ช่วงทศวรรษปี 1970 เป็นต้นมา จึงเกิดคำศัพท์ญี่ปุ่นว่า “一億総中流” มีความหมายว่า “ประชากร 1 ร้อยล้านทั้งหมดเป็นชนชั้นกลาง” หรือ แปลภาษาอังกฤษว่า “all Japanese are middle – class mentality” เป็น “ความรู้สึก” ของคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ ที่จัดตัวเองเป็น “ชนชั้นกลาง” ในช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นมีความเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมั่นคง

แน่นอนว่า ประเทศอื่นที่มีประชากรส่วนใหญ่คิดว่าตัวเองเป็นชนชั้นกลาง มีอีกหลายประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน เป็นต้น แต่ที่บัญญัติศัพท์ระบุจำนวนประชากรหนึ่งร้อยล้านคน(ในขณะนั้น) มีเพียงญี่ปุ่นเท่านั้น

ในความจริง ไม่ได้มีคำจำกัดความที่ชัดเจนว่าการดำเนินชีวิตในระดับใดจึงจัดว่าเป็น “ชนชั้นกลาง” แต่ปัจจัยที่ใช้เป็นเกณฑ์กันอย่างกว้างขวางมี อาทิ

– การมีเครื่องใช้ไฟฟ้าประจำบ้าน 3 อย่าง ที่ใช้กันแพร่หลาย หาซื้อได้ในราคาถูกลงเรื่อย ๆ คือ โทรทัศน์ เครื่องซักผ้า และตู้เย็น ในขณะนั้นสินค้าเหล่านี้เรียกกันว่า สมบัติล้ำค่า 3 อย่างที่พระเจ้าประทานแก่พระจักรพรรดิ(三種の神器)ซึ่งในตำนาน คือ กระจก ดาบ และหินประดับ

– ทุกครัวเรือนมี “รายได้” เพิ่มขึ้น ๆ จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

– มีระบบการจ้างงานตลอดชีพ(終身雇用)ประกันการว่างงาน(失業保険)ประกันสุขภาพ(医療保険)ประกันชีวิต(生命保険)เป็นต้น และพนักงานส่วนใหญ่เป็นพนักงานประจำ(正社員)ทุกคนมีความมั่นคงในชีวิต ความเสี่ยงที่กิจการจะล้มละลายมีน้อยมาก

– คนจบการศึกษาระดับที่สูงขึ้นมีเพิ่มมากขึ้น

– การรับรู้ข่าวสารผ่านการออกอากาศทางโทรทัศน์ที่ทุกครัวเรือนมี ทำให้ทุกคนได้รับข่าวสารและข้อมูลที่ตรงกันอย่างรวดเร็ว ทั่วถึง

คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่เกือบทั้งประเทศจึงคิดว่าตัวเองเป็น “ชนชั้นกลาง” มาโดยตลอด ไม่ค่อยมีใครรู้สึกถึงความแตกต่างทางฐานะ มาตรฐานการครองชีพของตัวเองอยู่ในระดับใดของสังคมก็ไม่รู้ชัดเจน เมื่อลองเปรียบเทียบกับคนที่มีระดับการศึกษา หรือ อาชีพอื่นที่ต่างกับตัวเอง ก็บอกไม่ได้ว่าตัวเองมีมาตรฐานการใช้ชีวิตสูงกว่า หรือว่าต่ำกว่าคนเหล่านั้น รู้สึกว่ามีฐานะพอ ๆกับเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ คนรวย ก็ไม่รู้ว่ารวยกว่าคนอื่นสักเท่าใด หรือ คนที่คิดว่าจนก็ไม่รู้ว่าจนกว่าคนอื่นเท่าใด

เมื่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวต่อเนื่อง เติบโตถึงขีดสุด เข้าสู่ช่วงฟองสบู่แตก(バブル崩壊)ในช่วงทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ยาวนานกว่า10 ปี เป็นช่วงเวลาแห่ง “โลกาภิวัฒน์” อย่างแท้จริง ประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา มีระบบเศรษฐกิจแบบลัทธิเสรีนิยมใหม่(新自由主義) ประเทศต่าง ๆพากันแข่งขันด้านต้นทุนการผลิต ย้ายการลงทุนไปยังประเทศกำลังพัฒนา

ญี่ปุ่นต้องปรับเปลี่ยน การเลื่อนขั้นขึ้นเงินเดือนจากระบบอาวุโสในที่ทำงาน เป็น ระบบพิจารณาตามความสามารถและผลงาน บริษัทส่วนใหญ่เปลี่ยน “การจ้างงานแบบตลอดชีพ” เป็น “การจ้างพนักงานไม่ประจำ” หรือ “พนักงาน out-source” มากขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น ญี่ปุ่นมีปัญหาใหญ่ คือ ประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คนที่เกษียณจากงานแล้ว และต้องพึ่งเงินบำนาญจากรัฐเพิ่มมากขึ้น เป็นภาระหนักของรัฐบาลทีเดียว ญี่ปุ่นกลายเป็นสังคมคนสูงวัย(高齢化社会)และมีเด็กเกิดน้อยลง(少子化)อย่างต่อเนื่อง

ถึงจุดนี้ มีหลายคนให้ความเห็นว่า เป็นช่วงเวลาล่มสลายของสังคม “ประชากร 1 ร้อยล้านทั้งหมดเป็นชนชั้นกลาง” เสียแล้ว แต่การสำรวจเมื่อล่วงเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 คนญี่ปุ่นก็ยังคงรู้สึกว่าเป็น “ชนชั้นกลาง” อยู่ เพียงแต่ชนชั้นสูง คนที่มีรายได้สูงมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ชนชั้นล่าง คนมีรายได้น้อยก็เพิ่มจำนวนขึ้นเช่นกัน

ศาสตราจารย์ เคนจิ ฮาชิโมโต(橋本健二)นักสังคมวิทยา ผู้ศึกษาเกี่ยวกับช่องว่างระหว่างชนชั้นในสังคมญี่ปุ่น ผู้เขียนหนังสือ “ความล่มสลายของชนชั้นกลาง”(中流崩壊) ชี้ให้เห็นว่า ยิ่งเวลาผ่านไป ช่องว่างระหว่างความรวยกับความจนขยายกว้างมากขึ้น กลายเป็นความจริงที่ชัดเจนและปิดบังกันไม่ได้ คนรวยรู้สึกถึงความมั่งมี เหลือเฟือ ของตัวเอง ส่วนคนจนก็รู้สึกถึงความขัดสน ต้องตะเกียกตะกายให้กินอิ่ม และเริ่มวิตกกังวลถึงชีวิตในอนาคต ถึงตอนนี้ เริ่มมองภาพ “ชนชั้นกลาง” ไม่ชัดเจนเสียแล้ว และตัวเองไม่ใช่ “ชนชั้นกลาง” อีกต่อไปแล้ว

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและไม่ขยายตัว (stagnation) ต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน ยิ่งเมื่อมีการแพร่ระบาดของโควิด -19 ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา คนญี่ปุ่นต่างก็ได้รับผลกระทบอย่างมากเช่นเดียวกับผู้คนทั่วโลก ตามมาด้วยสงครามรัสเซีย – ยูเครน ในเดือนกุมภาพันธ์ ปีนี้ และผลกระทบทางเศรษฐกิจจากมาตรการต่าง ๆ ที่ญี่ปุ่นคว่ำบาตรรัสเซีย ค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้น คนทั้งหลายเริ่มรู้สึกว่าตัวเองเป็นเพียง “คนเคยเป็นชนชั้นกลาง” เท่านั้น

แต่จะทำอย่างไรให้ช่องว่างความรวยกับความจนแคบลงที่สุด หรือ ทำให้ความยากจนหมดไป มหาอำนาจอย่างญี่ปุ่นใช่ว่าจะมีแต่ประชากรที่ร่ำรวย สุขสบาย อย่างที่คนในประเทศอื่น ๆ เข้าใจกันมาโดยตลอด ประชากรที่ชักหน้าไม่ถึงหลังในภาวะปัจจุบันก็มีไม่น้อย

“ชนชั้นกลาง” ในความหมายของสังคมญี่ปุ่นเป็นอดีตไปเสียแล้ว…