โลกร้อน กับการพยากรณ์ ‘หายนะ’ แห่งอนาคต | ป๋วย อุ่นใจ

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

“บอกอำลา 1.5 องศาเซลเซียส (Say Goodbye to 1.5 C)”

พาดหัวตัวเป้งบนหน้าปกสีเหลืองสดใสของนิตยสาร The Economist ฉบับวันที่ 5-11 พฤศจิกายน 2022 นั้นน่าจะบ่งชี้ชัดเจนว่าการจัดการปัญหาโลกร้อนของประเทศต่างๆ นั้นกำลังดำเนินไปในทิศทางไหน

ชัดเจนว่ามาตรการหลายๆ อย่างไม่ได้เป็นไปตามที่คาดคิด

แผนเดิมที่วางไว้ว่าจะจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม้ให้พุ่งทะยานเกิน 1.5 องศาเซลเชียสในปี 2050 เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม ก็ดูเหมือนจะคว้าน้ำเหลว แม้จะยังเหลืออีก 28 ปีกว่าจะถึง 2050 แต่ในเวลานี้ อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกก็พุ่งสูงอย่างรวดเร็วและไม่มีทีท่าว่าจะหยุดไปแตะระดับแล้วที่ 1.3 องศาเซลเชียส

ในขณะที่อุณหภูมิเฉลี่ยในหลายประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตร้อน (รวมทั้งประเทศไทยด้วย) ก็ขึ้นไปปริ่มๆ แตะขอบกันอยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียสไปแล้วด้วย

และนั่นทำให้หลายประเทศในเขตร้อนต้องประสบกับภาวะวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างหนัก

ที่สาหัสที่สุดที่หนึ่งเห็นจะเป็นในแถบตะวันออกกลาง ที่นอกจากจะต้องเผชิญกับพายุทราย (sandstorm) ที่เกิดขึ้นถี่และหนักขึ้นเรื่อยๆ แล้ว ยังต้องผจญกับอุณหภูมิที่ทั้งอบอ้าวและร้อนระอุจนถึงระดับที่ไม่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ หากไม่มีเครื่องปรับอากาศ

นี่คือเรื่องซีเรียสที่หลายภาคส่วนต้องเริ่มให้ความสำคัญ เพราะถ้ามันขยายวงไปเรื่อยๆ ผลกระทบอาจรุนแรงจนเราคาดไม่ถึงก็เป็นได้

ภาพปกนิตยสาร The Economist (ฉบับวันที่ 5-11 พฤศจิกายน 2022) (เครดิตภาพ : The Economist)

ถ้าดูโดยละเอียด ชัดเจนว่าประเด็นเรื่องแผนลดโลกร้อนที่ดำเนินการพลาดเป้ากันไปแทบทุกที่นั้น จะโยนความผิดไปไว้ที่การระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 แค่อย่างเดียวก็คงไม่ได้

เพราะถ้าว่ากันตามจริง ปัญหาที่สำคัญที่สุดที่ทำให้แผนการชะลอโลกร้อนที่วางกันไว้ล้มเหลวไม่เป็นท่า ไม่ได้เกิดจากโรคร้าย แต่เป็น “พฤติกรรมของมนุษย์” และ “ความเอาจริงเอาจังของแต่ละประเทศ” ในการสนับสนุนนโยบายเพื่อบรรเทาภาวะวิกฤตให้ดำเนินไปตามแผน

เพราะถ้าเอาตัวเลขที่แท้จริงของอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในแต่ละประเทศ มากางเทียบกับนโยบายที่ร่างเอาไว้ในแผนความร่วมมือเรื่องการรักษาสภาพภูมิอากาศตอนประชุมครั้งก่อนๆ ต้องบอกว่ากลับตาลปัตร เรียกว่าล้มเหลวไม่เป็นท่ากันถ้วนหน้าหมดทั้งภาคี

และนั่นทำให้การประชุมสุดยอดภาคี ครั้งที่ 27 หรือ Conference of the Parties 27 (COP27) กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ที่อียิปต์เป็นที่จับตามองของสื่อและสังคมทั่วโลกว่า “เราจะตัดสินใจเดินหน้ากันต่อไปอย่างไรดี”

สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนก็คือ “net zero” หรือการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิออกสู่ชั้นบรรยากาศให้เหลือ 0 นั้น ไม่เพียงพออีกต่อไปในการชะลอภาวะโลกร้อนและภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง

ทั้งนี้เพราะภาวะโลกร้อนที่กำลังส่งผลอย่างแสนสาหัสกับโลก และสารพัดสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้นั้นส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นวัฏจักร เช่น การละลายของน้ำแข็งขั้วโลก (permafrost) นอกจากจะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นแล้ว ยังปลดปล่อยจุลินทรีย์พวกอาร์เคียที่ผลิตก๊าซมีเทน ที่เรียกว่า เมทาโนเจน (methanogen) ออกมาสู่สิ่งแวดล้อม เติบโตสร้างก๊าซมีเทนส่งขึ้นไปเพิ่มความหนาให้เรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ

นี่เป็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่มาก เพราะก๊าซมีเทน คือหนึ่งในก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gas, GHG) ตัวท็อปที่สามารถสะท้อนความร้อนกลับมาที่ผิวโลกได้ดีกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 25 เท่า ซึ่งจะส่งผลทำให้อุณหภูมิโลกพุ่งทะยานสูงขึ้นไปอีก

และพอโลกร้อนขึ้น น้ำแข็งขั้วโลกก็จะละลายมากขึ้น เมทาโนเจนก็จะถูกปล่อยออกมาให้เป็นอิสระมากขึ้น วนเวียนเป็นวัฏจักรอันไม่พึงประสงค์ไม่หยุดหย่อน

และแม้ว่ามาตรการในการชะลอและบรรเทาที่ดูจะมีความหวัง จะทยอยถูกพัฒนาขึ้นมาบ้างแล้ว อย่างเช่น การปลุกกระแสความนิยมรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถอีวีก็เริ่มเห็นผล ราคาที่ถูกลง จนคนทั่วไปเริ่มจับต้องได้ คนก็เริ่มให้ความสนใจ เทคโนโลยีการผลิตพลังงานสะอาดต้นทุนต่ำก็เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นจากนักลงทุนในตลาดนานาชาติ และเทคโนโลยีการดูดคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศเพื่อให้การปล่อย “คาร์บอนไดออกไซด์สุทธิติดลบ (carbon negative)” ก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น

ทว่า จากแนวโน้มปัจจุบัน ทำนายกันไว้ได้เลยว่าเราคงต้องได้เห็น “ปรากฏการณ์ทะลุเกณฑ์ หรือโอเวอร์ชู้ต (overshoot) หรือก็คือเอาไม่อยู่นั่นแหละก่อนปี 2050 อย่างแน่นอน เพราะถ้ามองแค่เป้า 1.5 องศาเซลเซียสที่เคยตั้งไว้ หลายประเทศก็ปริ่มๆ ในขณะที่บางประเทศก็หลุดทะลุเป้าไปเรียบร้อย

แผนที่แสดงความผันผวนของอุณหภูมิโลกเดือนมีนาคม 2022 เทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม (เครดิตภาพ : NASA)

ดูเหมือนว่า ในเวลานี้ ไม่ว่าจะมีมาตรการอะไรออกมา การที่จะจำกัดอุณหภูมิผิวโลกให้อยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียสก่อนปี 2050 นั้นคงยากที่จะเป็นไปได้ คำถามเดียวที่ต้องถามก็คือจะทะลุเกณฑ์ หรือโอเวอร์ชู้ต 1.5 องศาขึ้นไปสูงแค่ไหน และมนุษย์เราจะหาหนทางที่จะลดอุณหภูมิที่ล้นเกณฑ์ไปให้กลับลงมาได้ไวเพียงใด

แต่แค่ในปัจจุบัน ขนาดยังขึ้นไม่ถึง 1.5 ปัญหาโลกร้อน อากาศแปรปรวน ภัยพิบัติต่างๆ ทั้งน้ำท่วม ฝนผิดฤดู หรือแม้แต้เรื่องเชื้ออุบัติใหม่ก็พบได้ถี่ขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และที่สำคัญทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย

ชัดเจนว่าคงเป็นไปไม่ได้ที่จะเลี่ยงการสูญเสีย วิกฤตแห่งความหลากหลายทางชีวภาพนั้นเกิดขึ้นแล้ว สิ่งมีชีวิตมากมายที่เป็นตัวแปรสำคัญในระบบนิเวศต่างๆ ก็ค่อยๆ ทยอยสูญพันธุ์ไปอย่างน่ากังวล หลายชนิดกำลังประสบปัญหาอย่างหนัก

ยกตัวอย่างเช่น ในกลุ่มสัตว์เลื้อยคลานที่การกำหนดเพศของลูกๆ ของพวกมันจะขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของรัง (temperature-dependent sex determination) อย่างเช่นใน “เต่าทะเล” ที่ถ้าอุณหภูมิรังนั้นเย็นกว่า 27 องศาเซลเซียสที่ไข่ทั้งหมดจะฟักออกมาเป็นตัวผู้ แต่ถ้าเมื่อไรที่อุณหภูมิรังเกิน 31 องศาเซลเซียส ลูกๆ ที่ฟักออกมาจากไข่ก็จะออกมาเป็นตัวเมียทั้งหมดเช่นกัน

นั่นคือ ถ้าอุณหภูมิของโลกสูงขึ้นเรื่อยๆ สัตว์พวกนี้มีโอกาสสูญพันธุ์ ที่วางไข่ก็หายาก น้ำแข็งขั้วโลกละลาย น้ำทะเลหนุนสูงตลอด แถมฟักออกมาส่วนใหญ่ยังกลายเป็นตัวเมียหมดอีก โอกาสที่จะหาตัวผู้มาผสมพันธุ์ก็จะลดลง และโอกาสในการดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์พวกมันก็จะลดน้อยถอยลงไปด้วย

และถ้าย้อนกลับมามองที่ภาคการเกษตร บรรดาพืชพรรณธัญญาหารที่ไม่เคยชินกับอุณหภูมิที่ร้อนอบอ้าว ก็จะเริ่มอ่อนแอและให้ผลผลิตที่ลดลงอย่างเด่นชัดในภาวะโลกร้อน ซึ่งอาจส่งผลต่อเนื่องไปทำให้เกิดวิกฤตการด้านอาหารได้อีกเช่นกัน

ซึ่งน่าตกใจมากเพราะองค์การสหประชาชาติ (United Nations) ได้กำหนดให้วันที่ 15 พฤศจิกายน 2022 เป็น Day of Eight Billion หรือก็คือวันที่จำนวนประชากรมนุษย์แตะหลัก 8 พันล้านคน อาหารที่ผลิตได้ลดลง แต่จำนวนปากท้องที่ต้องเลี้ยงดูกลับเพิ่มพูนทวี ฉากทัศน์แห่งวิกฤตอาหารนั้นชัดเจน

ทว่า แม้จะมีการคาดเดาฉากทัศน์กันเอาไว้บ้างแล้วว่าวิกฤตอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง ถ้าอุณหภูมิโดยเฉลี่ยโลกสูงขึ้นมากกว่า 1.5 ถึง 2 องศาเซลเซียส แต่การวิเคราะห์และวิจัยอย่างละเอียดถึงผลกระทบที่ร้ายแรงจริงๆ จากภาวะโลกร้อนนั้นกลับยังไม่เคยมีใครศึกษาเอาไว้อย่างจริงจัง

“การวิเคราะห์ฉากทัศน์จากแย่ถึงแย่ที่สุด (bad to worst scenario) สำคัญมากในการวิเคราะห์ความเสี่ยง” ทิมโมธี เลนตัน (Timothy Lenton) นักวิจัยจากสถาบันวิจัยระบบโลก มหาวิทยาลัยเอกซิเตอร์ (Global Systems Institute, the University of Exeter) กล่าว

“นี่อาจจะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการประเมินความเสี่ยงและออกแบบวิธีหลีกเลี่ยงสถานการณ์ไม่คาดฝันและไม่พึงปรารถนา”

“ถึงเวลาแล้วที่สังคมนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกจะตระหนักถึงปัญหาและความท้าทายในการทำความเข้าใจภาวะภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลงอย่างถ่องแท้ รวมถึงวิเคราะห์ฉากทัศน์ที่แย่ถึงแย่ที่สุด” ทิมโมธีจับมือนักวิจัยกลุ่มใหญ่เปิดวิสัยทัศน์ เขียนกระทุ้งงานวิจัยในเปเปอร์ “Climate Endgame : Exploring catastrophic climate change scenarios” ที่เพิ่งตีพิมพ์ออกมาในวารสาร PNAS หรือ Proceedings of National Academy of Sciences USA ซึ่งในมุมมองของทิมโมธี การวิเคราะห์ฉากทัศน์แบบแย่ถึงแย่ที่สุดในเรื่องของโลกร้อนและภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงนั้น จะต้องมองปัญหาให้ได้อย่างครอบคลุม และต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่าสภาพภูมิอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลงไปจะมีโอกาสมากน้อยแค่ไหนที่จะทำให้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งยิ่งใหญ่ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

เราจะเจอกับวิกฤตการสูญสิ้นเผ่าพันธุ์แบบในยุคเพอร์เมียน (Permian extinction) หรือไม่

สังคมมนุษย์เองจะโดนผลกระทบมากน้อยเพียงไร ทั้งในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และวิถีชีวิต แล้วจะมีกลไกอะไรที่อาจจะทำให้เกิดหายนะรุนแรงขนาดสามารถพรากชีวิตมนุษย์นับล้านไปได้อีกหรือเปล่า

 

อาจจะฟังดูเหมือนการมองโลกในแง่ร้าย

แต่ข้อมูลที่เป็นคำตอบของคำถามเหล่านี้คือองค์ประกอบสำคัญที่จะนำมาใช้สร้างแบบประเมินพิบัติภัยแบบบูรณาการ (Integrated Catastrophe Assessment) ที่อาจจะนำมาช่วยผลักดันนโยบายป้องกัน คิดแนวทางการตอบสนองรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือแม้แต่กระตุ้นและวางกรอบงานวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ที่อาจนำพาให้เราสามารถหลีกพ้นพิบัติภัยเหล่านั้นไปได้

อย่างไรก็ตาม นักวิจัย (หรือแม้แต่เอไอ) จะวิเคราะห์ ประมวลผลและทำนายอนาคตได้แม่นยำเพียงไร ก็ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่มีว่าจะ “ถูกต้อง” ครบถ้วน และถูกจัดเก็บไว้อย่างเป็นระบบแค่ไหน…

เพราะบางที การซุกบางอย่างไว้ใต้พรม เอาใบบัวมาปิด แล้วโรยผักชีปะหน้า อาจจะไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืนในโลกของความเป็นจริง!!!