“สนามบินดอนเมือง” จุดเปลี่ยนการขยายเมืองจากท้องนา มาเป็นคอนโดฯ | มองบ้านมองเมือง

ปริญญา ตรีน้อยใส
อนุสาวรีย์ปราบกบฏในอดีต ในพื้นที่บางเขน ก่อนถูกรื้อในปี 2562 ปัจจุบันไม่มีให้เห็นแล้ว

มองบ้านมองเมืองฉบับนี้ จะพาไปมองพื้นที่ทางตอนเหนือกรุงเทพฯ ย่านบางเขน ที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง มาตลอดระยะเวลาร้อยปีที่ผ่านมา

พื้นที่บริเวณนี้เดิมเป็นที่ราบเรียบ น้ำท่าบริบูรณ์ตามฤดูกาล ผู้คนจึงทำมาหากินทางการเกษตรเป็นหลัก โดยอาศัยอยู่ริมสองฝั่งคลองลาดพร้าว ทางน้ำสายหลักที่รองรับน้ำจากทุ่งรังสิตทางเหนือ ผ่านลงมาจนถึงคลองสามเสนและคลองแสนแสบ ทางใต้

คลองลาดพร้าว นอกจากจะเป็นทางระบายน้ำในฤดูน้ำหลากแล้ว ผู้คนยังได้อาศัยในการบริโภค และการสัญจร เพื่อเข้าไปพระนคร ในยุคสมัยที่ยังไม่ใช้รถยนต์เช่นในปัจจุบัน

สภาพทุ่งบางเขนเมื่อปี พ.ศ.2500

แม้สภาพทั่วไปจะเป็นที่ลาดลุ่ม แต่มีอยู่บริเวณหนึ่งทางทิศตะวันตกของคลองเป็นที่ดอน สูงกว่าบริเวณอื่น

ในปี พ.ศ.2456 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีสิ่งแปลกใหม่สำหรับคนไทยเกิดขึ้น คือ คนสามารถบินไปมาในอากาศคล้ายนก เมื่อนายชาร์ลส์ แวน เดอบอร์น นำเครื่องบินใบพัดปีกสองชั้น อังรีฟาร์มัง 4 มาแสดงการบินเป็นครั้งแรก ที่สนามบินชั่วคราว ในพื้นที่ของราชกรีฑาสโมสร ถนนสนามม้า (ถนนอังรีดูนังต์)

การสาธิตการบิน เครื่องบินแบบอังรีฟาร์มัง ๔ โดยนายชาร์ลส์ แวน เดน บอร์น ที่ราชกรีฑาสโมสร ในปี พ.ศ. ๒๔๕๔ (ภาพจาก William Warren. Celebrating 100 Years The Royal Bangkok Sport Club. Bangkok : Eastern Printing Public Company Ltd., 2001, p. 44.)

จากเหตุการณ์ตื่นเต้นในครั้งนั้น นำมาซึ่งนโยบายพัฒนาการบิน เพื่อป้องกันประเทศ สื่อสาร และคมนาคม มีการส่งนายทหารไปฝึกบิน และสั่งซื้อเครื่องบินจากประเทศฝรั่งเศส รวมทั้งแผนการสร้างสนามบิน โรงเก็บเครื่องบิน และที่ทำการกองบินในเวลาต่อมา

เมื่อตัดสินใจเลือกพื้นที่ดอน ริมฝั่งคลองลาดพร้าวเป็นสนามบินแล้ว เพื่อความสะดวกในการเดินทางไปยังสนามบินที่อยู่ไกลจากพระนคร จึงตัดถนนกรุงเทพฯ-ดอนเมือง โดยปรับทางดินเข้าสนามเป้าตรงปลายถนนพญาไท ทางทิศเหนือ ขนานไปกับคลองลาดพร้าว ไปจนถึงสนามบิน

ลำคลองในพื้นที่ทุ่งบางเขนเป็นแหล่งหาปลาของชาวบ้านและใช้ในการสัญจร

หลังการเปลี่ยนการปกครอง พ.ศ.2475 รัฐบาลมีนโยบายจะพัฒนาเมืองลพบุรี ให้เป็นนครหลวงแห่งใหม่ จึงขยายถนนต่อจากดอนเมืองไปถึงลพบุรี พร้อมกับประกาศนามถนนสายนี้ในตอนแรกว่า ถนนประชาธิปัตย์ หรือ ประชาธิปไตย และในตอนหลังเป็น ถนนพหลโยธิน เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) หัวหน้าคณะราษฎร ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

เมื่อมีแผนพัฒนาภูมิภาค กรมทางหลวงแผ่นดินจึงต่อขยายถนนพหลโยธินจากลพบุรีผ่านจังหวัดต่างๆ ในภาคกลาง และภาคเหนือ ไปจนถึงแม่สาย เชียงราย ถนนพหลโยธิน จึงกลายเป็นทางหลวงหมายเลข 1 ที่มีความยาวเกือบพันกิโลเมตร (จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถึงด่านพรมแดนแม่สาย) รวมทั้งมีทางแยกที่สระบุรี ไปยังภูมิภาคอีสาน ไปจนถึงหนองคาย และอุบลราชธานี ในเวลาต่อมา

คงเป็นเพราะสนามบินที่สร้างบนที่ดอน ริมคลองลาดพร้าว

คงเป็นเพราะถนนจากกรุงเทพฯ ไปสนามบินดอนเมือง ที่ต่อมากลายเป็นทางหลวงแผ่นดิน สู่ภูมิภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ

เลยทำให้ผู้คนโยกย้ายมาตั้งถิ่นฐาน มาก่อสร้างอาคารพักอาศัย ร้านค้า ห้องแถว ศูนย์การค้า และคอนโดมิเนียม ริมถนนพหลโยธิน

เลยทำให้ชุมชนริมคลองลาดพร้าวค่อยๆ เสื่อมสลายหายไป บางส่วนกลายเป็นเพิงพักสลัมไป

นี่คือเรื่องราวการแปรเปลี่ยนเมือง จากพื้นที่ราบลุ่มที่เหมาะกับการเกษตร มาเป็นชุมชนเมืองที่มีปัญหาน้ำรอระบายเป็นประจำทุกปี