ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 18 - 24 พฤศจิกายน 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | วิรัตน์ แสงทองคำ |
ผู้เขียน | วิรัตน์ แสงทองคำ |
เผยแพร่ |
อีกดีลหนึ่งที่น่าสนใจ เชื่อมโยงภาวะพึ่งพิง อ้างอิงรัฐ กับกระบวนการหลอมรวมบางมิติ บางส่วนภาคบริการพื้นฐาน สบช่องเป็นโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ
เรื่องราวเกี่ยวกับ GULF เป็นปรากฏการณ์หนึ่ง สะท้อนความเป็นไปของสังคม เศรษฐกิจและการเมืองไทย
เส้นทางก่อนจะมาเป็น GULF ยาวนานพอสมควร จากยุคสมัยหนึ่งซึ่งพลังขับเคลื่อน ถือว่าจุดเริ่มต้นในยุครุ่งเรืองทางเศรษฐกิจไทย ในทศวรรษ 2530 เช่นเดียวกับอีกหลายกรณี คลื่นลูกเล็กๆ ไม่ครึกโครม เมื่อเทียบเคียงกับกระแสธุรกิจสื่อสารที่เติบโต และทรงอิทธิพล ด้วยความเชื่อมโยงจากระบบสัมปทานสู่ตลาดหุ้น อ้างอิงช่วงเวลาการเกิดขึ้นของ INTUCH ปัจจุบัน (ต้นตำนานอันลือลั่นของทักษิณ ชินวัตร กับอาณาจักรธุรกิจ) ขณะเดียวกัน สัมปทานอันโดดเด่นในเวลานั้น -ดาวเทียมไทยคม เกิดขึ้นในปี 2534 ตามมาด้วยบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือ THCOM เข้าตลาดหุ้นในปี 2537
ไม่น่าเชื่อว่า คลื่นลูกเล็กที่ว่า จะขยายอิทธิพลสู่คลื่นลูกใหญ่ในอีก 3 ทศวรรษถัดมา
บริบทในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ เมื่อมีพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ.2535 (ขณะนั้น อานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี) ไม่เพียงเป็นที่มา และจุดตั้งต้น บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อย่างกลุ่ม ปตท. หากรวมถึงการปฏิรูปกิจการผลิตไฟฟ้า ในสถานการณ์ซึ่งหน่วยงานรัฐวิสาหกิจสำคัญ-การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไม่อาจแบกรับภารกิจได้ตามลำพัง
ปีเดียวกัน (2535) กฟผ.ได้จัดทำระเบียบ ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ Small Power Producer (SPP) ตามแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าที่ใช้พลังงานนอกรูปแบบ ต่อมาปี 2537 กำหนดหลักเกณฑ์ให้เอกชนเข้ามาแข่งขันลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้า ในรูปแบบที่เรียกว่า Independent Power Producer (IPP)
กฟผ.ปรับตัวสู่ยุคใหม่ จัดตั้งบริษัทลูก เพื่อระดมทุนจากตลาดหุ้น เข้าสู่การแข่งขันกับโรงไฟฟ้าเอกชน ตั้งแต่ช่วงต้นๆ-บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO (ก่อตั้งปี 2535 เข้าตลาดหุ้นปี 2538) และอีกช่วงที่ความเป็นไปอีกขั้น-บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RACH (ก่อตั้งและเข้าตลาดหุ้นปี 2543)
จังหวะนั้นเอง มีกลุ่มธุรกิจดั้งเดิมของไทยหลายราย ผันตัวจากธุรกิจเก่าๆ หรือข้างเคียง เข้าร่วมวงสู่ธุรกิจใหม่
เป็นไปตามตามโมเดลและกระบวนการ ว่าด้วยโอกาสและความมั่งคั่งใหม่ๆ ในสังคมไทย มักมาจากการพลิกกติการัฐ ผนวกกับผู้ทรงอิทธิพล ผู้มีสายสัมพันธ์ในสังคมธุรกิจ กรณีข้างต้นดูคล้ายๆ กัน กรณีครึกโครมกว่า ในยุคต้นๆ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ ยุค “โชติช่วงชัชวาล” ในช่วงเวลาคาบเกี่ยวกัน
แต่กรณีโรงไฟฟ้าเอกชน เป็นไปค่อนข้างเงียบ
ว่าไปแล้ว GULF และผู้ก่อตั้ง-ผู้นำ-สารัชถ์ รัตนาวะดี เพิ่งปรากฏตัวขึ้นเพียงทศวรรษเดียว ในระยะแรกๆ อาจเรียกว่าเป็น “คนนอก” อีกคนหนึ่ง คนนอกที่มีโอกาสในจังหวะที่หาไม่ได้ง่าย ดูจะใช้เวลามากกว่าคนอื่นๆ
“เป็นภาพสมดุลบางอย่าง ทั้งว่าด้วยสายสัมพันธ์อันยืดหยุ่นกับความผันแปรของสังคมผู้มีอำนาจไทย ภาวะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องพัฒนามาถึงจังหวะเชื่อมต่อหลายมิติหลายแกน ไปจนถึงมีบทเรียนที่มีค่าจากผู้มาก่อน” อย่างที่ผมเคยว่าไว้
เชื่อว่ามุมมองของเขา ว่าด้วยสายสัมพันธ์กับรัฐ มีความซับซ้อนและยืดหยุ่นมากกว่าระบบสัมปทาน หรือพันธสัญญากับรัฐอย่างที่เป็นมา
สารัชถ์ รัตนาวะดี มีประสบการณ์ในธุรกิจโรงไฟฟ้า ในฐานะมืออาชีพ เกือบๆ 2 ทศวรรษ ก่อนจะมาก่อตั้งกิจการตนเองอย่างจริงจังในปี 2550 กิจการซึ่งอ้างอิงกับเครือข่ายธุรกิจระดับโลก โดยเฉพาะธุรกิจญี่ปุ่น พัฒนาการไปตามจังหวะก้าว จากกิจการร่วมทุนถือหุ้นข้างน้อย สู่กิจการซึ่งถือหุ้นข้างมาก เป็นบันไดสร้างรากฐานธุรกิจ ก้าวสู่เวทีเทียบเคียงกับผู้มีอิทธิพลและผู้มาก่อน
จุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF เข้าตลาดหุ้น (6 ธันวาคม 2560) เชื่อมโยงบริบทสำคัญสังคมไทยที่เชื่อว่าเอื้ออำนวย GULF สร้างสถิติใหม่ ด้วยมีมูลค่าหุ้น IPO (หุ้นสามัญเพิ่มทุนทั้งจำนวนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก) ที่สูงสุดที่สุดในรอบ 11 ปี (เวลานั้น) มีมูลค่าเกือบ 2.4 หมื่นล้านบาท
ความเป็นไปในตลาดหุ้นใช้เวลาบ้าง จากค่อยๆ ตั้งหลัก ผ่านไปราวหนึ่งปี (ปลายปี 2561) ราคาหุ้น GULF ได้พุ่งแรงขึ้นสวนกระแส เมื่อเปรียบเทียบทั้งดัชนีหุ้นโดยรวม และดัชนีรายอุตสาหกรรม ว่ากันว่าสะท้อนบางมิติที่ว่าด้วยสายสัมพันธ์มั่นคง ในฐานะธุรกิจพึ่งพิงความสัมพันธ์กับรัฐ และการเมือง ด้วย GULF มีคู่ค้าสำคัญ คือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะผู้รับซื้อไฟฟ้าเพียงรายเดียว ในสัดส่วนรายได้เฉพาะที่มาจาก กฟผ.มากถึง 90% (2564) และคาดว่ามีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอีกเป็น 95% (2570)
จากนั้น สารัชถ์ รัตนาวะดี ได้เข้าทำเนียบผู้มั่งคั่งอันดับต้นๆ ของสังคมไทย จังหวะก้าวจากนั้น จึงกระชับกระชั้นขึ้น ตามดีกรีที่เป็นจุดสนใจใหม่ที่หนึ่งของสังคมธุรกิจไทย
GULF กับแผนการใหญ่เข้าถือหุ้นบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) INTUCH ดำเนินแผนการกว้านซื้อหุ้นมาเป็นระยะๆ จนถึงหมุดหมายมีนัยยะ (มกราคม 2564) สามารถเข้าถือหุ้น INTUCH ได้ในสัดส่วนถึง 15% แล้ว จึงมาถึงบทสรุป เมื่อแผนการและกระบวนการ tender offer (สิงหาคม 2564) GULF สามารถซื้อหุ้นเพิ่มกลายเป็นถือหุ้นใหญ่ ถึง 42.25%
ดีลข้างต้น “เป็นโอกาสแสวงหาความรู้ ความร่วมมือและบทเรียนจากพันธมิตรธุรกิจรายใหม่ ขณะขยายจินตนาการ ‘ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค’ ให้กว้างขึ้น ไปสู่สิ่งใหม่ที่เรียกว่า Digital Infrastructure อีกด้านหนึ่ง…แผนกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจขั้นสำคัญ จากฐานรายได้ตามโครงการ ตามพันธสัญญา กับคู่ค้าน้อยรายมากๆ สู่รายได้ที่มาจากระบบฐานลูกค้ารายย่อยจำนวนมาก” ผมเคยประเมินไว้ในช่วงนั้น
ดูเป็นไปตามนั้น ด้วยก้าวที่เร็วพอสมควร เมื่อเข้าสู่กระบวนการถือหุ้นใหญ่ THCOM และ (เชื่อว่า) จะมีอำนาจบริหารกิจการด้วย ตามกระแสข่าวที่น่าสนใจไม่กี่วันมานี้ (อ้างอิงคำชี้แจงของ GULF ต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ในหัวข้อ “การเข้าซื้อหุ้นสามัญในบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) จากบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และการทำคำเสนอซื้อหุ้นสามัญส่วนที่เหลือของบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) และ/หรือโดยการซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ/หรือวิธีอื่นใด” เมื่อ 7 พฤศจิกายน 2565)
THCOM (ในฐานะกิจการในเครือข่าย INTUCH) ยุคใหม่ มีแบบแผนธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จากผู้ให้บริการสื่อสารผ่านดาวเทียม ภายใต้ระบบสัมปทานกับรัฐ (ปัจจุบันอยู่ภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ DES) จนสัญญาสัมปทาน 30 ปีเพิ่งสิ้นสุดลงไปเมื่อปีที่แล้ว (10 กันยายน 2564)
ปัจจุบันสิทธิในการบริหารจัดการดาวเทียมภายใต้สัญญาสัมปทาน อยู่กับบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT (รัฐวิสาหกิจของ DES เกิดขึ้นจากการควบรวม กสท.โทรคมนาคมกับทีโอที)
อย่างไรก็ดี เมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน THCOM (ผ่านบริษัทย่อย) ได้เข้าทำข้อตกลงเพื่อซื้อแถบคลื่นความถี่ (bandwidth) บางส่วนของดาวเทียมไทยคม 4 และดาวเทียมไทยคม 6 เพื่อบริการรายย่อย ภาพธุรกิจซึ่งอรรถาธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้น ก็ว่า “บริษัทประกอบธุรกิจในกลุ่มธุรกิจหลัก 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.ธุรกิจดาวเทียมและบริการที่เกี่ยวเนื่อง 2.ธุรกิจอินเตอร์เน็ตและสื่อ 3.ธุรกิจโทรศัพท์ในต่างประเทศ” (อ้างจาก ข้อสนเทศตลาดหลักทรัพย์ฯ)
เป็นอันว่า GULF กำลังก้าวข้ามพรมแดนธุรกิจเดิมอย่างแท้จริงแล้ว •
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022