ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 18 - 24 พฤศจิกายน 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | สุจิตต์ วงษ์เทศ |
เผยแพร่ |
ชุมชนหลายพันปีมาแล้วมีชนชั้นนำและมีเครือญาติโคตรตระกูลจำนวนหนึ่ง ซึ่งกลุ่มชนชั้นนำเหล่านี้มีอภิสิทธิ์เมื่อตายไปได้ฝังศพอยู่พื้นที่ลานกลางบ้าน ซึ่งเป็นศูนย์กลางพิธีกรรมของชุมชนหมู่บ้านหลายพันปีมาแล้ว
แหล่งโบราณคดีที่นักโบราณคดีในไทยขุดพบโครงกระดูกมนุษย์และของมีค่าหลากหลายอายุหลายพันปีมาแล้ว ทำด้วยดินเผา, หิน, โลหะสำริดและเหล็ก ฯลฯ ได้แก่ บ้านเก่า (กาญจนบุรี), บ้านเชียง (อุดรธานี) คือ ลานกลางบ้าน เป็นที่ฝังศพของอภิสิทธิ์ชนคือตระกูลชนชั้นนำของเผ่าพันธุ์ ได้แก่ หัวหน้าเผ่าพันธุ์, ลูกหลาน, เครือญาติ ฯลฯ
ฝังศพลานกลางบ้าน
งานศพดึกดำบรรพ์ตั้งแต่เริ่มพิธีสู่ขวัญ แล้วตามด้วยพิธีฝังศพครั้งที่ 2 น่าจะมีบนพื้นที่เดียวกันซึ่งสมมุติเรียกตามคำสมัยหลังว่า “ลานกลางบ้าน” ที่แต่ก่อนมีทุกหมู่บ้าน
สมัยดั้งเดิมหลายพันปีมาแล้ว หลุมฝังศพพร้อมเฮือนแฮ้วมีแหล่งรวมอยู่ลานกลางบ้านซึ่งเป็นย่านกลางรวมความเฮี้ยนทั้งปวงของชุมชน
ลานกลางบ้าน หมายถึงที่โล่งกว้างโดยไม่ต้องโล่งแจ้งเหมือนทุ่งราบก็ได้ จะเป็นที่โล่งมีต้นไม้เป็นหย่อมๆ ก็ได้ (คล้ายป่าชุมชนปัจจุบัน) ถือเป็นลานเฮี้ยนและขลังอยู่ท่ามกลางชุมชนหมู่บ้านตามธรรมชาติ โดยไม่แยกต่างหากจากชุมชน แต่เป็นพื้นที่เดียวกัน หรือเป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้าน (ทางอีสานกับทางเหนือเรียกข่วง)
ถูกใช้เป็นศูนย์กลางพิธีกรรมตลอดปีของชุมชน ที่สำคัญคือพิธีเลี้ยงผีฟ้าผีแถน จึงเป็นที่สิงสู่และไปมาของปวงผีที่เชิญมาในพิธี เพราะมีหลุมฝังศพของบรรพชนที่เคยเป็นหัวหน้าเผ่าพันธุ์หลายชั่วคนพร้อมโคตรตระกูล
ส่วนรอบๆ ลานกลางบ้านเป็นหมู่เรือนของหัวหน้าเผ่าพันธุ์และโคตรตระกูลเครือญาติ ถัดออกไปจึงเป็นเรือนของชาวบ้านบริวารบ่าวไพร่
ทั้งนี้ ด้วยการเปรียบเทียบพิธีศพของผู้ไท (เวียดนาม) ทำในป่าแฮ้ว หรือป่าเฮ่ว (พื้นที่สาธารณะของชุมชนใช้ฝังศพ ความหมายเดียวกับป่าช้า) ให้หลุมฝังศพอยู่ใต้เฮือนแฮ้ว (หมายถึงเรือนเสาสูงขนาดย่อส่วนเรือนจริง ใช้ปลูกคร่อมหลุมฝังศพ) ด้วยเชื่อว่าผีขวัญได้ใช้งานเฮือนแฮ้ว เหมือนเรือนจริงเมื่อมีชีวิต
[คำว่า “ป่า” ความหมายดั้งเดิมคือ ย่าน, บริเวณ (มีใช้สืบมาถึงสมัยรัฐอยุธยา เรียกตลาดย่านต่างๆ ว่า ป่า) ดังนั้น ป่าแฮ้ว, ป่าเฮ่ว สมัยดั้งเดิมหมายถึงย่านฝังศพซึ่งอยู่ในชุมชนเป็นที่รู้กัน อาจเป็นลานกลางบ้านก็ได้]
พิธีศพตั้งแต่ฝังครั้งแรกต่อเนื่องพิธีศพครั้งที่ 2 รวมอยู่บนพื้นที่เดียวกัน มีนักวิชาการโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยศิลปากรบอกว่าพบหลักฐานเป็นแหล่งสำคัญขนาดใหญ่อยู่บ้านเมืองบัว (อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด)

พิธีกรรมหลังความตาย
พิธีกรรมหลังความตายซับซ้อนมีแบบแผนหลายขั้นตอน ดังต่อไปนี้
(1.) สู่ขวัญหลายวันหลายคืน หมอขวัญทำพิธีเรียกขวัญคืนร่าง เพราะเชื่อว่า “คนตาย ขวัญไม่ตาย” เหตุที่คนตายเพราะขวัญหายด้วยตกใจ ถ้าเรียกขวัญคืนร่าง คนก็ฟื้น
จึงร่วมกันตีเกราะเคาะไม้, ร้องรำทำเพลงอึกทึกครึกโครมให้ขวัญได้ยิน (อีสานเรียก “งันเฮือนดี”) จะได้กลับคืนร่างถูกทาง (ต้นตองานศพมีมหรสพ และแต่งตัวหลากสีสันงานศพ)
การเรียกขวัญหรือสู่ขวัญต้องใช้เวลาหลายวันหลายคืน ในที่สุดศพเน่า แต่ขวัญไม่คืนร่าง
(2.) ฝังศพเน่า สืบเนื่องจากพิธีสู่ขวัญหลายวันหลายคืน ด้วยการเคลื่อนย้ายศพเน่าไปฝังที่ลานกลางบ้านเพื่อรอขวัญคืนร่าง
ศพเน่าที่ถูกฝังครั้งแรกนี้ไม่มีกำหนดเวลาว่านานเท่าใด? แต่โดยทั่วไปประมาณ 1 ปี จะขุดกระดูกเพื่อทำพิธีอีกครั้ง
(3.) ฝังศพครั้งที่ 2 (Secondary burial) ศพเน่าที่ถูกฝังครั้งแรกเมื่อนานไปเนื้อหนังมังสาก็เปื่อยแล้วย่อยสลายเหลือแต่กระดูก จึงขุดกระดูกล้างน้ำทำความสะอาดเพื่อบรรจุภาชนะ (ดินเผาหรือโลหะสำริด) แล้วฝังอีกครั้งหนึ่ง เรียกฝังศพครั้งที่ 2 บริเวณเดียวกับฝังศพเน่า (ครั้งแรก) ซึ่งพบหลักฐานหลายแห่ง
ฝังศพใต้ถุน “เฮือนแฮ้ว”
คําอธิบายเก่ามีว่าชุมชนดึกดำบรรพ์ฝังศพใต้ถุนเรือน มาจากการตีความเมื่อนักโบราณคดีขุดพบโครงกระดูกพร้อมหลุมเสาที่เข้าใจว่าเป็นเสาเรือน แต่หลักฐานจากพิธีศพของผู้ไท (ในเวียดนาม) เป็นพยานชวนให้เชื่อว่าใต้ถุนเรือนที่นักโบราณคดีอ้างถึงนั้นแท้จริงเป็นใต้ถุน “เฮือนแฮ้ว” มีต้นเสาปลูกคร่อมหลุมฝังศพ ไม่ใช่เรือนจริงเป็นที่อยู่อาศัยของคนทั่วไป
เครื่องมือเครื่องใช้
บริเวณที่ฝังศพพบเครื่องมือเครื่องใช้หลากหลายอาจแยกได้ 2 ประเภท ดังนี้ (1.) สิ่งของที่ใช้ฝังรวมกับศพซึ่งเป็นปกติที่รับรู้กันทั่วไป และ (2.) สิ่งของในชีวิตประจำวันของคนทั่วไปสมัยนั้นซึ่งมีลักษณะต่างจากที่พบในหลุมศพ ตรงนี้เกี่ยวข้องอย่างน้อย 2 ประเด็น ได้แก่
ประเด็นแรก ลานกลางบ้านเป็นแหล่งฝังศพบรรพชนซึ่งเคยเป็นหัวหน้าเผ่าพันธุ์และโคตรตระกูล จึงมีพิธีเลี้ยงผีสู่ขวัญกับส่งขวัญสม่ำเสมอตรงนี้ตรงนั้นตรงโน้น
ประเด็นหลัง ลานกลางบ้านเป็นแหล่งรวมศูนย์พิธีกรรมของเผ่าพันธุ์ซึ่งคนหลายชุมชนที่เป็นเผ่าพันธุ์เดียวกันเข้าร่วมจำนวนมาก มีกิจกรรมทั้งปี และมีครั้งละนานๆ หลายวัน เช่น 10 วัน, 15 วัน, 20 วัน เป็นต้น ล้วนเป็นพิธีกรรมเพื่อขอความมั่นคงและความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ในพืชพันธุ์ว่านยาข้าวปลาอาหาร (มีตัวอย่างสมัยหลังๆ ในกฎมณเฑียรบาลของรัฐอยุธยาตอนต้นๆ) •
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022