เหรียญกลม-รุ่นแรก หลวงปู่สุภา กันตสีโล วัดสีลสุภาราม จ.ภูเก็ต

“พระมงคลวิสุทธิ์” หรือที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยรู้จักกันดีในนามของ “หลวงปู่สุภา กันตสีโล” พระเถระที่มีอายุยืนกว่า 119 ปี อดีตเจ้าอาวาสวัดสีลสุภาราม ต.ฉลอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต

ทั้งยังเป็นพระเกจิดังชื่อดังที่มีวัตรปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จัก

วัตถุมงคลที่สร้างทุกรุ่นเป็นที่นิยมและแสวงหามาจนถึงปัจจุบัน ค่านิยมก็ยิ่งสูงขึ้นตามกาลเวลา อาทิ เหรียญพระปรกใบมะขาม ผ้ายันต์นางกวัก แมงมุมมหาลาภ เป็นต้น โดยเฉพาะ “เหรียญกลมรุ่นแรก”

สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2504 เหรียญรุ่นนี้ วัดเกาะสิเหร่ จ.ภูเก็ต เป็นผู้ดำเนินการจัดสร้าง ซึ่งวัดเกาะสิเหร่เป็นหนึ่งใน 39 วัดที่หลวงปู่สุภาสร้างขึ้น เพื่อหารายได้ในการพัฒนาวัด สร้าง 2 เนื้อ คือ เนื้อทองแดงกะไหล่ทอง (แจกกรรมการ) จัดสร้าง 1,000 เหรียญ และเนื้อทองแดงรมดำ จัดสร้าง 3,000 เหรียญ

เหรียญหลวงปู่สุภา รุ่นแรก (หน้า)

ลักษณะเป็นเหรียญกลม มีหูห่วง ด้านหน้าเหรียญเป็นรูปเหมือนของหลวงปู่สุภาครึ่งองค์ หันหน้าตรง ใต้รูปเหมือน เขียนคำว่า “หลวงพ่อสุภา”

เหรียญหลวงปู่สุภา รุ่นแรก (หลัง)

ด้านหลังเหรียญ ไม่มีขอบเหรียญ ตรงกลางเป็นยันต์ธงรูปสามเหลี่ยม มีคำว่า “อุ” ล้อมรอบ

ทุกวันนี้ กลายเป็นอีกเหรียญวัตถุมงคลที่หายาก

 

มีนามเดิมว่า สุภา วงศ์ภาคำ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 พุทธศักราช 2438 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ปีวอก ที่บ้านคำบ่อ อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร

บิดา-มารดาชื่อ นายพล และนางสอ วงศ์ภาคำ

เมื่ออายุ 9 ขวบ เข้าพิธีบรรพชา ด้วยการที่บิดาได้นำตัวไปฝากพระอาจารย์สวน อบรมสั่งสอนอยู่หนึ่งปีเต็ม กระทั่งพระอาจารย์สวนบอกกับสามเณรสุภาว่า “อย่างเณรมันต้องก้าวหน้ากว่านี้ ฉันจะพาไปเมืองอุบล ไปเล่าเรียนต่อให้แตกฉาน อยู่กับฉันมันก็แค่นี้”

พ.ศ.2449 ได้รับการนำตัวจากบ้านคำบ่อมาฝากไว้ในสำนักเรียนของพระมหาหล้า แห่งวัดไพรใหญ่ จ.อุบลราชธานี

เล่าเรียนมูลกัจจายน์และวิปัสสนากัมมัฏฐาน ก่อนออกเดินทางไปที่วัดท่าอุเทน เนื่องจากได้ยินกิตติศัพท์ถึงพระอาจารย์สีทัตต์ ผู้เป็นพระสายวิปัสสนา ที่กำลังสร้างพระธาตุท่าอุเทน จ.นครพนม

กระทั่งอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ เข้าพิธีอุปสมบท มีพระอาจารย์สีทัตต์ เป็นพระอุปัชฌาย์

ได้รับฉายาว่า กันตสีโล

หลวงปู่สุภา กันตสีโล

พ.ศ.2463 ตัดสินใจออกธุดงด์ จึงเข้าไปกราบลาพระอาจารย์สีทัตต์

พระอาจารย์สีทัตต์ได้บอกกับศิษย์ ให้ไปพบกับพระครูวิมลคุณากร หรือหลวงปู่ศุข เกสโร แห่งวัดปากคลองมะขามเฒ่า อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท ที่มีความเชี่ยวชาญด้านกสิณและวิชาแปดประการ มีอภิญญาจิตสูง

ทั้งนี้ หลวงปู่ศุขเมตตาถ่ายทอดวิชาให้ท่าน รวมทั้งคอยทำหน้าที่อุปัฏฐากหลวงปู่ศุข

ต่อมาในปี พ.ศ.2466 หลวงปู่ศุขมรณภาพระหว่างที่ท่านกำลังออกธุดงควัตรใหม่ เพื่อแสวงหาวิเวก โดยเดินทางขึ้นไปทางภาคเหนือข้ามชายแดนไปยังประเทศต่างๆ อาทิ พม่า อินเดีย จีน เป็นต้น

ครั้งหนึ่ง ได้มีโอกาสพบกับหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต บูรพาจารย์สายพระป่า ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านกสิณและฌานสมาบัติต่างๆ ซึ่งได้สั่งสอนหลวงปู่สุภาถึงสามปีเต็ม

เป็นผู้ชอบเล่าเรียนศึกษา ได้ยินว่าที่แห่งใดมีพระอาจารย์ผู้มีวิชาอาคมและวัตรปฏิบัติดี ท่านมักจะไปขอเล่าเรียนวิชา อาทิ หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ, หลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา, หลวงพ่อกบ วัดชนแดน, หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก เป็นต้น

ด้านวัตถุมงคล ศึกษาวิทยาคมจากหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ได้จัดสร้างวัตถุมงคลขึ้นมาหลายรุ่น เป็นที่เชื่อถือในพุทธคุณด้านเมตตามหานิยม และแคล้วคลาด มีผู้ศรัทธาเลื่อมใสไปขอบูชามามากมาย

วัตถุมงคลที่ได้รับความนิยมสูง คือ วัตถุมงคลรุ่นอายุยืน 118 ปี, พระบูชานาคปรก พระบูชา เหรียญชุดรวมเนื้อทองคำ เหรียญชุดรวมเนื้อเงินเหรียญเจ้าสัว 5 แผ่นดิน เหรียญเจริญพรอายุยืน 118 ปี เป็นต้น

 

เส้นทางธุดงค์จากภาคอีสาน เหนือ ใต้ กลาง ตะวันออก ตะวันตก ไม่มีดินแดนแห่งใดที่หลวงปู่สุภาไม่เคยธุงดงค์ไปเหยียบ ท่านท่องธุดงค์ไปแล้วแทบทุกตารางนิ้ว รวมไปถึงมาเลเซีย สิงคโปร์

อาจกล่าวได้ว่า ครึ่งชีวิตคือการธุดงค์ ตลอดเวลาที่ธุดงค์ไปในที่ต่างๆ สร้างแต่ความเจริญไว้เสมอ เช่น สร้างวัด สร้างศาลาการเปรียญ สร้างสำนักสงฆ์ ตามถิ่นทุรกันดาร

หลายครั้งที่มีผู้เหนี่ยวรั้งให้หยุดธุดงค์เพื่อเป็นเจ้าอาวาส จนเล่ากันว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาพัฒนาสร้างวัดมาหลายสิบวัด แต่ไม่ยอมเป็นเจ้าอาวาสวัดใดวัดหนึ่งเลย

กระทั่งมาสร้างวัดแห่งหนึ่งใน จ.ภูเก็ต และได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ว่า “วัดสีลสุภาราม” จึงยอมรับเป็นเจ้าอาวาสเป็นวัดแรกในชีวิต

ในปี พ.ศ.2555 หลังจากใช้ชีวิตพำนักอยู่ที่ จ.ภูเก็ต เป็นเวลานาน จึงย้ายมาอยู่จำพรรษาที่วัดคอนสวรรค์ อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร ซึ่งเป็นบ้านเกิด ตราบจนวาระสุดท้ายแห่งชีวิต

เมื่อช่วงเช้ามืดวันที่ 2 กันยายน 2556 ละสังขารอย่างสงบ สิริอายุ 119 ปี •

 

โฟกัสพระเครื่อง | โคมคำ

[email protected]