‘คุณเหลือหัวใจกี่ดวง’ รัฐสวัสดิการกับการรักษาความสัมพันธ์ของคนในสังคม | ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

เมื่อเราพูดถึงรัฐสวัสดิการน่าเศร้าที่เรามักให้การสื่อสารเรื่องนี้อยู่ในมือนักเศรษฐศาสตร์ที่กำหนดความเป็นไปได้ของการจัดสรรทรัพยากร นักกฎหมายที่พูดเรื่องระเบียบแบบแผนของนโยบาย และนักรัฐศาสตร์ที่พูดถึงว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ต้องฟังผู้มีอำนาจกี่คน

แต่ในความจริงแล้วในเมื่อรัฐสวัสดิการไม่ได้มีผลต่อแค่เรื่อง เศรษฐกิจ กฎหมาย หรือแค่การเมือง รัฐสวัสดิการยังคงเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์พื้นฐานหลายส่วนของมนุษย์ รัฐสวัสดิการ-สังคมที่เสมอภาคมากขึ้นยังสัมพันธ์กับความรัก อารมณ์ ครอบครัว ชีวิต ความฝัน อันเป็นเรื่องสำคัญและสามัญสำหรับทุกคน

จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ทุกคน คนธรรมดามีสิทธิ์ในการพูดเรื่องนี้ ส่งเสียงเรื่องนี้

และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการไม่ให้เทคโนแครต ผู้เชี่ยวชาญ หรืออภิสิทธิ์ชนผูกขาดการคำอธิบายเรื่องความเท่าเทียม

ในบทความนี้ผมจะชวนทุกท่านพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสวัสดิการกับการรักษาชีวิต ความฝัน ความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคม

(Photo by STEPHEN SHAVER / AFP)

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาผมมีโอกาสไปบรรยายให้หลักสูตรปริญญาโทของวิทยาลัยพัฒนศาสตร์-ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมนำกิจกรรมบอร์ดเกมเพื่อการสื่อสารเรื่องรัฐสวัสดิการใช้ประกอบการบรรยาย

แม้นักศึกษาจะพอมีความรู้ความเข้าใจพื้นฐานเรื่องรัฐสวัสดิการ แต่การเล่นเกมที่มีเงื่อนไขที่ซับซ้อนมากขึ้นนับเป็นเรื่องใหม่สำหรับพวกเขาเช่นกัน

เกมมีกติกาง่ายๆ แต่ละคนจะได้รับเบี้ยทรัพยากรที่แตกต่างกัน ประกอบด้วย เงิน เวลา เสรีภาพ สุขภาพ การศึกษา และความรัก ในสถานการณ์ต่างๆ เราต้องตัดสินใจเพื่อแลกเปลี่ยนทรัพยากรนั้น เพื่อทำให้เป้าประสงค์ของตัวตนที่เราปรารถนาบรรลุได้ อย่างมีความสุข

โดยโจทย์ที่ผมเพิ่มเติมให้สำหรับนักศึกษาปริญญาโทกลุ่มนี้คือ คุณสามารถรักษา “หัวใจ” ของคนได้หรือไม่ เมื่อจบเกมนี้คนจะเหลือหัวใจกี่ดวง

สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นคือสถานการณ์พื้นฐานในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจเรียนต่อมหาวิทยาลัย ตัดสินใจเลือกงาน มีความรัก การเจ็บป่วย มีลูก หรือการให้ความสำคัญกับครอบครัว การเปลี่ยนงาน การถูกเลิกจ้าง อันเป็นสิ่งปกติที่เกิดขึ้นในชีวิตของผู้คนธรรมดาสามัญช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต

(Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

ผู้คนที่มาจากประเทศที่ “เงินเยอะ” แต่ระบบสวัสดิการไม่ดีนัก พวกเขาเริ่มต้นที่คิดว่าทุกอย่างสามารถจัดการได้ดี หากเขาเลือกที่จะบริหารการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าการซื้อประกัน การเรียนต่อ หรือเลือกที่จะทิ้งความสัมพันธ์บางอย่าง เพื่อรักษาเงินไว้

แต่เมื่อสถานการณ์ต่างๆ ดำเนินไป พวกเขาก็พบว่าเงินที่พวกเขามีอยู่นั้นไม่สามารถที่จะรักษาความฝัน และหัวใจของพวกเขาได้อย่างที่พวกเขาต้องการ

ผู้คนที่มาจากกลุ่มชนชั้นกลาง ในประเทศที่ระบบสวัสดิการไม่ดี พวกเขาอาจวางแผนการเงินได้ดีผ่านการซื้อประกันสุขภาพ

พวกเขาเอาตัวรอดออกจากสถานการณ์ต่างๆ ได้โดยไม่เป็นหนี้

แต่สิ่งที่พวกเขาค้นพบเช่นกันคือพวกเขา ไม่สามารถเลือกความฝันของตัวเองได้ อาชีพในฝันถูกทิ้งไปเป็นอันดับแรก เพื่อนที่มีความสำคัญถูกละทิ้ง เช่นเดียวกับสุขภาพที่สุดท้ายแล้วไม่ดีมากนักในสถานการ์จำลองพวกเขาอยู่ในสถานะที่เต็มไปด้วยความวิตกกังวลตลอดเวลา

ผมแชร์ให้นักศึกษาฟังว่า ผมมีโอกาสนำเกมนี้ไปเล่นกับผู้คนในพื้นที่ต่างๆ แตกต่างกันทางอุดมการณ์ แตกต่างกันในทางประสบการณ์ มีผู้เล่นคนหนึ่งในชีวิตจริงเขามาจากครอบครัวรายได้น้อย กู้ กยศ. และเมื่อเรียนจนเงินเดือนเริ่มแรกของเขาคือ 7,000 บาท ตลอดสิบปีแรก เขาพยายามที่จะดิ้นรนทุกอย่างให้ชีวิตรอด แต่สุดท้าย บ้านของเขาก็โดนยึดเพื่อใช้หนี้ กยศ.

ในเกมนี้เขาได้เกิดในประเทศรัฐสวัสดิการ เขานิยามว่าสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเขาแตกต่างจากในชีวิตจริงมาก มันเหมือนเป็นเรื่องพื้นฐาน แต่ “เราสามารถตัดสินใจกับอะไรต่างๆ ได้ง่ายขึ้น เก็บสิ่งที่สำคัญกับชีวิตเรา และทิ้งสิ่งที่ไม่สำคัญได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าที่แย่ หรือเงินที่ไม่ได้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด”

นักศึกษาปริญญาโทที่ร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนหลังกิจกรรมว่า สิ่งที่สำคัญต่อการตัดสินใจอะไรต่างๆ ในชีวิตคือความปลอดภัยของเรา

แต่เมื่อสถานการณ์ดำเนินไปมันจะตัดสินใจยากขึ้น จนกระทั่งเราลืมไปว่าเป้าหมายเริ่มต้นของเราคืออะไร เพราะเหตุผลของความเหมาะสมเรื่องการเอาชีวิตรอดจะมาก่อน ถ้าเราอยู่ในสังคมที่มีระบบสวัสดิการพื้นฐานที่ดี

(Photo by LILLIAN SUWANRUMPHA / AFP)

“คุณเหลือหัวใจกี่ดวง” ผมถามตอนท้าย นักศึกษาสำรวจลงไปใน เบี้ยสีชมพูที่เหลือของตัวเอง

“เหลือ 16 ดวง ตอนเริ่มเกมหนูเริ่มต้นที่ 6 ดวง” นักศึกษาหญิงที่โชคดีได้จำลองว่าเกิดในประเทศรัฐสวัสดิการ “มันเริ่มต้นจากการที่เราได้เรียนมหาวิทยาลัย ได้ทำงานที่ชอบ ได้เจอเพื่อนที่สำคัญกับชีวิตเรา และสามารถทิ้งสิ่งที่ไม่สำคัญเพื่อรักษาตัวตนความหมายของเรา แม้แต่การร่วมประท้วงของเราตอนท้ายเช่นกัน”

“เหลือหัวใจดวงเดียวครับ” นักศึกษาอีกท่านตอบ เขาเป็นตัวแทนที่เกิดในกลุ่มคนรายได้น้อยในประเทศที่ไม่มีสวัสดิการ ในเกมนี้ทุกคนเริ่มต้นที่หัวใจที่เท่ากัน “ในเกมเราอยากเป็นหมอ แต่การตัดสินใจมันยากมากขึ้น เราไม่ได้ทำอะไรเลย ไม่ได้เลือกงาน ไม่ได้เลือกครอบครัว” เขากล่าว

“แต่ในสถานการณ์สุดท้ายเพื่อรับเงินค่าชดเชยเลิกจ้างผมเห็นคุณตัดสินใจไม่รับเงินปิดปาก และใช้ทรัพยกรทั้งหมดเพื่อต่อสู้” ผมตั้งข้อสังเกต “คนที่ยากจนและจนตรอก น่าจะต้องรับเงินค่าชดเชยและจบเรื่องนี้?”

“เพราะยังมีหัวใจไงครับอาจารย์….ผมเห็นเบี้ยสีชมพูตัวนี้ก็เป็นเครื่องยืนยันว่าผมยังเป็นมนุษย์ และผมสู้ร่วมกับคนอื่นได้”

Photo by NICOLAS ASFOURI / AFP

แม้จะเป็นเพียงเกมจำลองบทบาทแต่มันชวนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างระบบสวัสดิการที่ดี และความสัมพันธ์ของมนุษย์ เราเห็นได้ว่า เมื่อมนุษย์มีเวลาว่างมากพอ มีการศึกษา และสวัสดิการสุขภาพที่ดีมากพอ ไม่ใช่แค่ทำให้พวกเขาพ้นจากความโหยหิว ความตาย และโรคร้าย แต่ยังส่งผลให้พวกเขามีความสุข ใส่ใจผู้อื่น และเห็นใจคนรอบข้างมากขึ้น

“สุดท้ายแล้วเราควรย้ายประเทศกันมั้ยครับ” นักศึกษาท่านหนึ่งถามแบบติดตลก

ผมยิ้มๆ แบบทุกครั้งที่ได้ยินคำถามนี้ เป็นคำถามที่ผมได้ยินบ่อยครั้งเวลาเราพูดถึงรัฐสวัสดิการที่มันสำคัญต่อชีวิตของเราในทุกมิติ เพียงแค่ผมยืนยันว่า ผมเคยได้รับข้อความจากนักศึกษาคนหนึ่งเธออายุน้อยกว่า 20 ปี ในช่วงยุคสมัยของการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่เมื่อสองปีก่อน เธอกล่าวกับผมว่า “เธอค่อนข้างมั่นใจว่าเธอไม่มีปัญญาย้ายประเทศหรอก มันดูยากมาก เงินก็ไม่มี คอนเน็กชั่นไม่มี ภาษาก็ไม่ดี”…

“แต่เธอมั่นใจว่าเธอมีปัญญาในการสร้างรัฐสวัสดิการแน่นอน”

บทสรุปสุดท้ายว่าเราทำอะไรได้บ้างต่อจากนี้ คงเป็นเรื่องพื้นฐานที่สุดคือ “คุยกันให้เยอะ คุยกันให้มาก บอกว่าเราต้องการอะไร ไม่งั้นอภิสิทธิ์ชนจะคิดแทนเรา”