ประชาธิปไตยอีกแล้วเหรอ ทำไมต้องเดินตามตูดฝรั่ง | พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย

พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย

ประเด็นที่อยากจะชวนพูดคุยขบคิดกันในครั้งนี้เป็นข้อสงสัยของผู้ฟังท่านหนึ่งที่หยิบยกขึ้นมาระหว่างการบรรยายกฎหมายรัฐธรรมนูญของผมในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งคิดว่าหากนำมาบอกกล่าวเล่าความกันเสียหน่อยก็น่าจะมีประโยชน์กับผู้อ่านอยู่บ้างไม่มากก็น้อย

สรุปอย่างสั้นๆ ก็คือ เมื่อเสียงของ “พรสันต์” ที่ได้อธิบายขยายความถึงหลักการสากลว่า “รัฐธรรมนูญพึงต้องอยู่บนพื้นฐานของแนวคิดประชาธิปไตยไม่ว่าจะเป็นกระบวนการร่างและเนื้อหาสาระ” จบลง หนึ่งในผู้ฟังก็ได้ยกมือสอบถามขึ้นมาทันทีอย่างเสียงดังฟังชัดว่า

“อาจารย์ครับ ทำไมไทยเราต้องเป็นประชาธิปไตยด้วยล่ะ ทำไมต้องเดินตามตูดฝรั่ง ถ้าไม่เป็นประชาธิปไตยแล้ว เรามีรัฐธรรมนูญไม่ได้เหรอครับ ผมเห็นทุกประเทศก็มีรัฐธรรมนูญกันทั้งนั้นแหละไม่ว่าเขาจะปกครองแบบไหน?”

เมื่อประโยคคำถามจบลง จากห้องที่เงียบสงัดตลอดการบรรยายประหนึ่งทุกคนกำลังฝึกจิตนั่งกรรมฐานอยู่ จู่ๆ ก็เริ่มมีเสียงพึมพำๆ ดังขึ้นเรื่อยๆ ผมกวาดสายตาไปทั่วห้องบรรยาย ภาพที่เห็นตรงหน้าคือ ผู้ฟังแต่ละท่านต่างสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างออกรสออกชาติ

ผมปล่อยให้มีการพูดคุยระหว่างผู้ฟังกันสักพักพอหอมปากหอมคอ เมื่อสบโอกาสจึงได้กดไมค์และพูดออกไปว่า คำถามที่ท่านถามมานั้นอาจต้องแยกออกเป็น 2 ประเด็น ซึ่งแต่ละประเด็นก็มีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันอย่างยากที่จะแยกขาดออกจากกันได้

ในเบื้องต้นนี้ผมขอตอบในประเด็นแรกเสียก่อนนะครับ เกี่ยวกับเรื่อง

“ประชาธิปไตยกับการเดินตามตูดฝรั่ง”

คำถามคือ จริงหรือที่การเลือกจะเป็นประชาธิปไตยคือการเดินตามตูดฝรั่ง? ผมคิดว่าคงไม่ใช่ มนุษย์มีระบบความคิดที่สลับซับซ้อนกว่านั้น

ขออธิบายง่ายๆ ในเชิงอุปมาแบบนี้นะครับว่า สมมุติเวลาท่านป่วยไม่สบายสักทีหนึ่ง ท่านเลือกกินยาไม่ว่าจะเป็นยาสมุนไพรไทย ยาตำรับจีน หรือยาเม็ดหมอฝรั่งตามโรงพยาบาล เพียงเพราะนี่คือยาของประเทศไทย นี่คือยาของประเทศจีน นี่คือยาของฝรั่งแบบนี้เหรอครับ?

ถ้าคำตอบของท่านคือใช่ ผมคิดว่าฟังดูแล้วออกจะแปลกๆ ไปเสียหน่อย

เพราะเอาเข้าจริงแล้ว เวลาจะเลือกกินยา สิ่งที่เราจะให้ความสำคัญคือ “สรรพคุณของยา” นั่นหมายถึงว่า ยาที่เลือกนั้นจะต้องมีฤทธิ์ช่วยรักษาโรคที่กำลังเป็นอยู่ให้หายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมันสะท้อนให้เห็นว่า เราให้ความสำคัญกับ “คุณค่าของยา” ต่างหาก คงไม่ใช่กรณี “หลับหูหลับตา” ตัดสินใจเลือกใช้เลือกกินเพียงเพราะว่านี่คือยาไทย จีน หรือฝรั่ง กระมัง

คราวนี้ลองกลับมาคิดในเรื่องประชาธิปไตยกันบ้าง

 

ประชาธิปไตยคือ การปกครองที่เคารพและให้ความสำคัญกับประชาชน เพราะประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ประชาชนทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการดำรงชีวิตของตนเอง ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ สูงต่ำดำขาว ยากดีมีจน เกิดจังหวัดไหนอย่างไร ทุกคนล้วนแต่เสมอภาคเท่าเทียมกัน ไม่มีใครที่จะได้สิทธิพิเศษเหนือใคร

ที่ผมพูดว่า ในระบอบประชาธิปไตยทุกคนเท่าเทียมกันนั้นไม่ต้องไปคิดหลักการทฤษฎี หรือท่องจำอะไรกันให้ปวดหัวยุ่งยากหรอกครับ แค่เราคิดกันด้วยเหตุด้วยผลและความเป็นจริงจะพบว่า “คนทุกคนคือมนุษย์”

ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ ทุกคนก็คือคนเหมือนกันนั่นแหละ

ดังนั้น ก็เมื่อคนแบบคุณสามารถที่จะเชื่อได้ พูดได้ แสดงออกได้ ทำมาหากินได้ฉันใด คนแบบฉันและคนอื่นๆ ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันฉันนั้น ทั้งหมดนี้ก็เพื่อนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดสังคมในด้านต่างๆ

“คุณค่าความเป็นมนุษย์” (Human value) คือหัวใจของประชาธิปไตยที่ทำให้ระหว่างประชาชนในสังคมต้องรู้จักให้ความเคารพซึ่งกันและกันในฐานะที่ “เราทุกคนเป็นคนเหมือนกัน” ซึ่งตรงนี้เองมีผลบังคับให้รัฐมีหน้าที่ต้องให้ความเคารพต่อคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่แต่ละคนเขามีสิทธิเสรีภาพ เพียงแต่กรณีของรัฐนั้นอาจต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเสียหน่อย เพราะคุณเป็นผู้ถืออำนาจต่างๆ อยู่ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจออกกฎหมาย อำนาจบริหารประเทศ และอำนาจตัดสินคดี

กฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย และการตัดสินคดีต่างๆ ในระบอบประชาธิปไตย จึงต้องอยู่บนหลักของการไม่เข้าไปจำกัด หรือสร้างภาระให้ประชาชนมากจนเกินสมควร และที่สำคัญต้องเป็นไปอย่างเท่าเทียมกัน

พูดง่ายๆ ต้องไม่สองมาตรฐาน นี่คือสิ่งที่รัฐในฐานะผู้รับอาสาเข้ามาปกครองประเทศแทนประชาชนพึงต้องตระหนักอยู่เสมอ

(Photo by MIKE CLARKE / AFP)

มาถึงตรงนี้ทุกท่านคงจะพอเห็นภาพแล้วว่า การที่ใครสักคนเขาเลือกที่จะสนับสนุนหรือศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย มันไม่ใช่เรื่องของการเลือกเพียงเพราะตามตูดฝรั่งมังค่าอะไรหรอกครับ แต่มันคือเรื่องของการเลือกที่จะอยู่ในการปกครองที่ให้ความสำคัญและเคารพใน “คุณค่าความเป็นมนุษย์” ของพวกเขามากกว่า

สิ่งที่พูดมานี้จะเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้นเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับการปกครองอีกรูปแบบหนึ่งนั่นก็คือ เผด็จการอำนาจนิยม ที่มีแต่การออกกฎหมาย บังคับใช้กฎหมาย และการตัดสินคดีที่จำกัดสิทธิเสรีภาพ หรือสร้างภาระให้ประชาชนอย่างมากมาย หรือระบบสองมาตรฐานเป็นเรื่องปกติ ซึ่งครั้นคนที่ได้รับความเดือดร้อนจะออกมาร้องแรกแหกกระเชอกับรัฐก็คงไม่ถนัดนัก เพราะไม่รู้ว่าเมื่อออกมาแล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวเองและญาติสนิทมิตรสหายบ้าง

ส่วนอีกประเด็นหนึ่งที่ถามมาว่า หากประเทศไม่เป็นประชาธิปไตยแล้ว จะทำให้ประเทศไม่มีรัฐธรรมนูญเหรอ?

คำถามนี้ผมขออธิบายแบบนี้นะครับว่า สมัยก่อนนั้น รัฐธรรมนูญเกิดขึ้นจากระบอบประชาธิปไตยที่ปฏิเสธรัฐอำนาจเบ็ดเสร็จ รัฐธรรมนูญจึงเป็น “เครื่องหมายการค้าของความเป็นประชาธิปไตย” ไปโดยปริยาย ประเทศไหนที่มีรัฐธรรมนูญก็มักจะถูกมองว่าประเทศนั้นเป็นประชาธิปไตย

แต่เมื่อวันเวลาเปลี่ยนแปลงไป ประเทศที่ปกครองแบบเผด็จการก็เริ่มเหลียวซ้ายแลขวาพยายามทำตัวกลมกลืน เมื่อเห็นว่าสากลโลกเขานิยมประชาธิปไตยและมีรัฐธรรมนูญใช้กัน จึงเริ่มปรับเปลี่ยนลุคตัวเองให้เข้ายุคเข้าสมัยเสียหน่อย ทำนอง “เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม” จึงทำการร่างและมีรัฐธรรมนูญใช้เหมือนกับเขาบ้างจะได้ไม่ตกเทรนด์

นี่จึงเป็นคำตอบว่า เหตุใดในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย หรือเผด็จการ ต่างก็มีรัฐธรรมนูญใช้กันหมดแล้ว

(Photo by INDRANIL MUKHERJEE / AFP)

อ้าว…ถ้าเป็นเช่นนี้ ที่ “พรสันต์” อธิบายมาก่อนหน้านี้ว่า รัฐธรรมนูญควรต้องอยู่บนพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยก็ไม่สำคัญน่ะสิ?

ไม่ครับ เดี๋ยวก่อน อย่าเพิ่งใจร้อนไป!

ที่ผมพูดแบบนั้นก็เพราะว่า ถ้ารัฐธรรมนูญมาจากระบอบประชาธิปไตยซึ่งประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมไม่ว่าทางตรง หรือทางอ้อมในกระบวนการร่างตั้งแต่ต้น แน่นอนว่าก็ย่อมนำไปสู่การกำหนดเนื้อหาที่ให้ความสำคัญกับ “คุณค่าความเป็นมนุษย์” คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน มีผลให้เมื่อรัฐต้องปฏิบัติหน้าที่ในแต่ละครั้งก็จะต้องระมัดระวัง ให้ความเคารพและคำนึงถึงประชาชนอยู่เสมอ

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญเองก็ยัง “กันเหนียว” เอาไว้อีกชั้น ด้วยการเข้าไปควบคุมกำกับป้องกันไม่ให้รัฐใช้อำนาจแบบ “ตามใจฉัน” ทำอะไรลงไปแล้วก็ต้องถูกตรวจสอบและพร้อมรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองตัดสินใจทำไปด้วย มิฉะนั้น ประเดี๋ยวชาวบ้านเขาจะเดือดร้อนกันไปหมด

ทั้งหมดนี้ตรงกันข้ามกับประเทศที่ปกครองในรูปแบบเผด็จการอำนาจนิยม ที่รัฐธรรมนูญเขาก็เป็นแบบ “เผด็จการๆ” นั่นแหละครับ นั่นก็คือ ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมกับกระบวนการร่างที่แท้จริง แต่เป็นใครมาจากไหนก็ไม่ทราบที่ถูกสั่งมาให้ขีดๆ เขียนๆ จึงไม่ต้องสงสัยว่าเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญจึงไม่ได้แคร์ประชาชนเสียเท่าไหร่

แทนที่รัฐธรรมนูญจะคอยควบคุมกำกับการใช้อำนาจของรัฐเพื่อพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างเท่าเทียม แต่กลับไม่ได้ทำหน้าที่ตรงนี้

ต่อให้เผด็จการบางประเทศทำตัวเป็นผู้มีจิตใจกว้างขวาง ร่างเนื้อหาของรัฐธรรมนูญให้คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ในทางปฏิบัติ เจ้าหน้าที่รัฐกลับสามารถใช้อำนาจได้ตามสะดวก สิทธิเสรีภาพของประชาชนถูกลิดรอนไปอย่างมากจนทำให้การใช้ชีวิตประจำวันของพวกเขาไม่เป็นไปตามปกติอย่างที่ควรจะเป็น รัฐธรรมนูญจึงไม่ใช่กฎหมายสูงสุดของประเทศแบบที่พูดๆ กันหรอก

จะเป็นก็แต่เพียงกระดาษปกติธรรมดาเท่านั้นที่ไม่ได้มีความศักดิ์สิทธิ์อะไร

(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / FILES AFP / AFP)

มาถึงตรงนี้ คิดว่าทุกท่านน่าจะพอเข้าใจและเห็นภาพชัดเจนขึ้นแล้วว่า เหตุผลที่ชอบพูดต่อๆ กันมาว่า “ประชาธิปไตยเป็นเรื่องของฝรั่ง การสนับสนุนประชาธิปไตยคือการเดินตามตูดฝรั่ง” เป็นคำพูด หรือความคิดที่ตื้นเขินเกินไป

เพราะประเด็นมันอยู่ตรงที่ “เนื้อหา” คนเขาโอเคกับการใช้ชีวิตอยู่ในประเทศที่มีการปกครองซึ่งเคารพในความเป็นคนและเสมอภาคกันต่างหาก

ไม่ใช่เรื่อง “รูปแบบ” ที่ว่าใคร หรือชาติไหนเป็นคนคิด

ไม่เช่นนั้นการใช้ชีวิตของเราในแต่ละวันแต่ละก้าวที่มีมุมมองแบบ “แกก็อยู่ส่วนแก ฉันก็อยู่ส่วนฉัน” ก็คงจะดูวุ่นวายพิลึก

ส่วนเรื่องรัฐธรรมนูญนั้น เมื่อข้อเท็จจริงในปัจจุบันมีทั้งในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยและประเทศที่เป็นเผด็จการ ผมอยากให้ทุกท่านลองเลือกเอาเองละกันครับว่าอยากจะได้รัฐธรรมนูญแบบไหนระหว่าง “รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย” และ “รัฐธรรมนูญเผด็จการ”

โดยลองขบคิดจากที่ได้อธิบายเชื่อมโยงกับระบอบประชาธิปไตยและเผด็จการ ก่อนที่จะตัดสินใจเลือก ไม่อย่างนั้น “มีรัฐธรรมนูญผิดคิดจนตัวตาย” เชียวนะครับ!

 

หลังจากที่ผมใช้เวลาพอสมควรในการตอบคำถามเรื่อง “ประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ และการเดินตามความคิดฝรั่งตาน้ำข้าว” โดยเห็นว่าน่าจะครบถ้วนกระบวนความแล้วในระดับหนึ่ง จึงได้สอบถามว่ามีผู้ใดสงสัยหรือไม่ แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดยกมือขึ้นสอบถามอีก

จึงขออนุญาตทึกทักเอาเองเสียเลยว่า คำอธิบายของผมได้ตอบคำถามผู้ถามไปแล้วโดยปราศจากซึ่งข้อสงสัยทั้งปวง เลยขยับไปบรรยายในหัวข้อถัดไปจนกระทั่งจบและแยกย้ายกันกลับบ้านโดยสวัสดิภาพ

ที่เล่าให้ฟังกันแบบละเอียดลออราวกับว่าอยู่ในห้องที่ผมบรรยายเสียเอง ก็เพื่อจะชี้ให้ผู้อ่านทุกท่านได้เห็นถึง “ความไม่สมเหตุสมผล” ของประเด็นนี้ อย่างไรก็ดี คำพูดที่ว่า “ทำไมต้องเป็นประชาธิปไตย ทำไมต้องเดินตามตูดฝรั่ง” ยังมีให้เราได้ประสบพบเจอในชีวิตประจำวันอยู่เป็นประจำ ทุกท่านว่าจริงไหม

ไม่ต้องไปนึกถึงใครที่ไหนไกลหรอก ก็ขนาดผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (ปี 2560) ก็ยังมีแนวคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยทำนอง “แยกไทย แยกฝรั่ง” เช่นเดียวกัน

ดังที่ปรากฏอยู่ในส่วน “ข้อความเกริ่นนำ” ก่อนเข้าสู่มาตราต่างๆ ที่เราเรียกกันในภาษาทางการว่า “อารัมภบท” ของรัฐธรรมนูญนั่นแหละ

ส่วนข้อความจะเป็นอย่างไรนั้น ก็ลองไปเปิดอ่านกันดู แล้วลองมาเล่าสู่กันฟังบ้างนะครับ