เรื่องหนี้ๆ ในทีวี | วัชระ แวววุฒินันท์

วัชระ แวววุฒินันท์

“การไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ” เช่นเดียวกับ “การไม่มีหนี้ ก็เป็นโลกอันประเสริฐ”

เรื่องหนี้ เป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากเป็น แต่ในความเป็นจริงเราทุกคนไม่มีทางหนีหนี้ได้ อย่างน้อยพอลืมตาดูโลกขึ้นมาก็มี “หนี้ครัวเรือน” แปะหน้าผากมาพร้อมกับเสียงร้องอุแว้แรกแล้ว

จากข้อมูลพบว่าครอบครัวไทยตอนนี้มีหนี้ครัวเรือนที่ 5 แสนบาทต่อครอบครัว สูงที่สุดในรอบ 16 ปี ส่วนใหญ่เป็นหนี้ในระบบกว่าร้อยละ 78.9 และหนี้นอกระบบร้อยละ 21.1

ซึ่งบางครอบครัวหาเงินทั้งปียังไม่ถึง 5 แสนเลย

 (Photo by CHRISTOPHE ARCHAMBAULT / AFP)

ในมุมของเศรษฐกิจ ไม่ได้ว่าหนี้ไม่ดี เพราะการทำกิจการใดๆ แม้แต่เรื่องการใช้ชีวิตธรรมดาๆ ก็ต้องการ “เงินทุน” ซึ่งถ้าเกิดมารวยก็มีทุนอยู่แล้วก็ดูจะไม่เป็นไร แต่คนจนต้องกู้เงินแน่นอน ไม่กับสถาบันการเงินก็กับหนี้นอกระบบ กู้มาจ่ายค่าเช่าบ้าน ค่าข้าวสาร ค่าเล่าเรียน ค่ารักษายามเจ็บป่วย จนไปถึงกู้มาทำธุรกิจ เป็นต้น

ในหน้าจอโทรทัศน์มีหลายรายการที่นำ “จุดอ่อน” ของคนไทยคือการเป็นหนี้ มาเป็น “จุดแข็ง” ในการนำเสนอ เพราะรู้ว่าต้องถูกใจผู้ชมคนไทยกลุ่มใหญ่แน่นอน

หากจำกันได้กับรายการหนึ่งที่อยู่คู่ช่อง 7 มานานถึง 20 ปีแล้ว ก็คือรายการ “ปลดหนี้” ที่โลโก้รายการได้ออกแบบตัวอักษรให้ล้อไปกับพรรคไทยรักไทยช่วงนั้น ทำให้จดจำง่าย สะดุดตาในทันทีที่เห็น

คอนเซ็ปต์รายการไม่มีอะไรมาก และเล่นกับผู้ชมกลุ่มใหญ่ของช่อง 7 ที่เป็นระดับรากหญ้า คือ คนต่างจังหวัดที่เป็นหนี้ ทั้งเกษตรกร รับจ้าง หรือค้าขาย ทีมงานและพิธีกรจะออกไปลุยในพื้นที่ คัดคนที่เป็นหนี้มาแข่งขันเกมเพื่อนำเงินรางวัลไปปลดหนี้ตามชื่อรายการ โดยเกมก็จะเกี่ยวข้องกับทักษะในการทำมาหากินของผู้แข่งขัน

ง่ายๆ อย่างนี้ จึงได้รับความนิยมเรื่อยมา

“ปลดหนี้ ร้องแลกหนี้”

จนตอนนี้ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบไปแล้วตามยุคสมัย และเปลี่ยนชื่อเป็น “ปลดหนี้ ร้องแลกหนี้” ซึ่งก็ตรงตามชื่อเลย คือ ใครเป็นหนี้ก็มาแข่งร้องเพลงเพื่อปลดหนี้ไป

ซึ่งจะมีอีกรายการหนึ่งในทำนองเดียวกันที่มีมานานแล้วเหมือนกันคือ “ไมค์หมดหนี้” ทางช่องเวิร์คพอยท์ ก็คอนเซ็ปต์แบบเดียวกัน เห็นว่าเรตติ้งสูงทีเดียว เพราะมีการเล่นกับดราม่าของชีวิตที่ลำบากด้วย

คนเรานี่ก็แปลกนะ ชอบดูความรันทนเดือดร้อนทุกข์ยากและปัญหาของผู้อื่น ว่ากันว่าเพื่อเป็นกำลังใจให้กับตัวเองในการสู้ชีวิตเช่นกัน หรือไม่ก็ดูเพราะความสงสารเพื่อนมนุษย์ และเอาใจเชียร์

อดคิดเล่นๆ ไม่ได้ว่า แล้วคนจนจนที่ร้องเพลงห่วยแตกนี่คงหมดสิทธิ์ร่วมรายการเหล่านี้แน่ๆ

“ทีเด็ดลูกหนี้”

มาฝั่งช่อง 3 บ้าง ก็มีรายการที่เล่นกับเรื่องหนี้เหมือนกัน รายการนี้มีมาร่วม 7 ปีแล้ว ชื่อรายการ “ทีเด็ดลูกหนี้” ซึ่งตอนนี้ได้ปรับปรุงรายการใหม่แล้ว

ในรายการจะมีพิธีกร คือ เป๊ะ-กนิษฐ์ สารสิน, เจิน-ณิชชาพัณณ์ ชุณหะวงศ์วสุ และเพิ่มรสชาติความสนุกด้วยพล่ากุ้ง ดีเจอารมณ์ดี แต่ละเทปจะมีคนที่เป็นหนี้มานำเสนอเรื่องราวของการเป็นหนี้ของตนเอง เพื่อให้กรรมการที่เรียกว่า Judge 5 คนได้ฟัง เพื่อตัดสินว่าจะให้เงินช่วยจากทางรายการเพื่อไปล้างหนี้หรือไม่

ความสนุกคือเรื่องราวของผู้ร่วมรายการที่เสนอเป็นวีทีอาร์ มีหลากหลายอารมณ์ ทั้งดราม่า สนุก ตลก เห็นถึงสาเหตุของของการเป็นหนี้

บางคนเป็นหนี้เพราะขี่มอเตอร์ไซค์แว้น จนเกิดอุบัติเหตุ รถพัง จนเป็นหนี้จากการซ่อมรถ สิ่งที่ได้ตามมาคือ สำนึกแล้วว่าขอไม่แว้นอีกเลยในชีวิตนี้

บางคนเป็นหนี้เพราะอยากมีผลงานเพลงเป็นของตนเอง เลยไปเช่าเพลงมาทำมิวสิกวิดีโอเรียกยอดไลก์และเรียกงาน หากมีคนสนใจ ทั้งนี้ เพื่อหารายได้ช่วยครอบครัวที่เป็นหนี้จากการทำเกษตรกรรม

นั่นเป็นรายการที่เกี่ยวกับ “ลูกหนี้” มานำเสนอ

“เจาะใจ”

ส่วนรายการ “เจาะใจ” ที่ออกอากาศไปเมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ก็ได้เสนอเรื่องของ “เรื่องที่คนเป็นหนี้ควรรู้” ให้ได้ข้อคิด และแนวทางปฏิบัติตัว เพื่อจะได้จัดการกับภาระหนี้ได้ถูก

ในรายการ สัญญา คุณากร ได้คุยกับ “คุณสุรพล โอภาสเสถียร” ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลบัตรเครดิตแห่งชาติ จำกัด ซึ่งมีข้อมูลของคนที่ถือครองบัตรเครดิตอยู่ถึง 32 ล้านคน

และมี 1 ล้านใบที่มีปัญหาการชำระหนี้ โดย 5 แสนใบเป็นของคน Gen X คือมีอายุระหว่าง 39-54 ปี และอีก 5 แสนใบเป็นของคน Gen Y ที่มีอายุระหว่าง 19-38 ปี

คุณสุรพลบอกว่า การใช้บัตรเครดิตคือการยืมเงินอนาคตมาใช้ แล้วค่อยผ่อนจ่ายทีหลัง ซึ่งก็คือการสร้างหนี้ขึ้นมานั่นเอง อยู่ที่ว่าคุณมีกำลังใช้คืนไหวและทันรอบเก็บเงินหรือไม่ พอไม่ทันมากๆ เข้าก็เลยเป็นหนี้บัตรเครดิต

คงเคยได้ยินข่าวที่มีคนเป็นหนี้บัตรเครดิตร่วม 20 ใบ โดยใช้เงินจากบัตรนี้ไปโปะบัตรนั้น วนเวียนไปอย่างนี้ไม่สิ้นสุด จนถึงวันหนึ่งที่หมุนไม่ทัน ดอกเบี้ยทวีคูณก็เลยเจ๊ง เป็นหนี้ธนาคารหัวโต แถมบางคนเป็นหนี้นอกระบบจาการยืมมาจ่ายหนี้บัตรเครดิตนั่นเอง

 

การเป็นหนี้และชำระหนี้ ไม่ได้ถือว่าเป็นการขาดวินัยทางการเงิน บางคนไม่เท่านั้น เป็นหนี้แล้วแต่ก็ยังหน้าใหญ่ใช้ชีวิตเหมือนเดิม สุดท้ายก็ไปต่อไม่ไหว

ลูกค้าของคุณสุรพลหลายคนเลยที่โปรไฟล์ดีคือ ทำงานบริษัทแถวสีลมสาทร แต่ขอโทษ การใช้จ่ายเงินกระเบียดกระเสียรเหลือเกิน อย่างเช่น ได้เงินเดือนเดือนละ 30,000 เสียค่าผ่อนคอนโดฯ ไปแล้วครึ่งหนึ่ง เสียค่ารถไฟฟ้า ค่ามอเตอร์ไซค์ ค่าเน็ต จิปาถะไปอีกราวๆ 5,000 เหลือใช้ติดกระเป๋าต่อเดือนแค่ 10,000 บาท เฉลี่ยตกวันละ 333 บาท พอๆ กับค่าแรงขั้นต่ำ

เรียกพวกนี้ว่า “หน้าตามนุษย์ออฟฟิศ แต่ชีวิตดั่งกรรมกร”

นี่คือพวกมนุษย์ออฟฟิศ

ส่วนพวกทำงานโรงงาน ชีวิตการเงินก็ยิ่งลำบากใหญ่ ในโรงงานหลายแห่งมีเขียนไว้ข้างฝาตัวใหญ่ๆ เลยว่า “เงินเดือน เอาไว้ใช้หนี้ โอทีเอาไว้กิน” บ่งบอกถึงสภาพชีวิตที่ปากกัดตีนถีบแล้วก็ยังไม่พอ ต้องถีบซ้ำเพื่อสู้ชีวิต

สำหรับคนที่เป็นหนี้แล้ว ให้จัดระเบียบชีวิตเสียใหม่ อย่างแรกเลยคือ เรื่อง “รายได้” ดูว่าเรามีรายได้ปัจจุบันเท่าไหร่ มีหนทางที่จะหาเพิ่มเติมได้อีกทางไหนไหม จะได้มาเป็นต้นทุนในการใช้ชีวิตและใช้หนี้

ต่อมาคือ “ขายของ” ของอะไรที่เกินความจำเป็นขายออกไปได้ไหม เพื่อเอาเงินมาใช้หนี้ ทุกวันนี้เราลองสำรวจดีๆ เราจะพบของเกินความจำเป็นที่ต้องใช้มากมาย ซึ่งตอนซื้อเราไม่ทันได้คิดหรอก เพราะอารมณ์อยากมันพาไป

ต่อมาคือ “ตั้งกติกาการใช้เงินกับตนเอง” ลองคิดว่าเราไหวที่ตรงไหน เอาแบบสุดๆ เลยนะ เช่น สามารถได้ที่ 9,000 บาทต่อเดือนก็ต้องแค่นั้นจริงๆ ที่เคยกินราคาแพงก็ต้องเปลี่ยนไปกินที่ถูกลง ที่เคยขับรถก็ขายรถทิ้ง ไปขึ้นรถเมล์

ไอ้ประเภท “วันศุกร์แห่งชาติ” เลิกคิดไปได้

หรือ “ให้รางวัลกับชีวิต” ไม่ต้องไปให้ ยังลำบากอยู่

ข้อที่สำคัญที่สุดคือการ “อดออม” ซึ่งพฤติกรรมของสังคมไทยยามนี้ไม่ส่งเสริมให้เกิดการออมเงินด้วยประการทั้งปวง ทุกสองนาทีจะมีโปรโมชั่นมายั่วให้เราได้ควักเงินซื้อของเสมอ แถม 0% อีกต่างหาก

สุรพลให้ข้อคิดที่ควรจำขึ้นใจไว้ว่า “ซื้อของไม่จำเป็นวันนี้ ได้ขายของที่จำเป็นวันหลัง”

 

ในยุคปู่ย่า หรือพ่อแม่เรา จะมุ่งทำงานๆๆๆ ไม่ใช้จ่ายเพื่อการพักผ่อนเลย เพื่อเอาเงินไว้ใช้ตอนแก่และเก็บไว้ให้ลูกหลาน

ยุคต่อมา ยังตั้งหน้าทำงานอยู่ เพื่อเก็บเงินไว้ใช้ตอนแก่เช่นกัน แต่ก็มีแว่บๆ ใช้เที่ยวพักผ่อนบ้างนานๆ ที บางโอกาสก็ขอกินหรู ขอซื้อของแพงๆ สักหน่อย

ยุคต่อมาคือ ทำงานไป เก็บเงินไป เที่ยวไป

สำหรับคนรุ่นใหม่ ทำงานไปใช้ไป ใช้ตามสิ่งที่ตนเองต้องการ ไม่ค่อยได้เก็บออมเท่าไหร่ ยิ่งยุคนี้มีช่องทางการหาเงินโดยการลงทุนในรูปแบบต่างๆ ที่ได้ผลตอบแทนรวดเร็ว ยิ่งทำให้รู้สึกเงินหาง่าย เลยใช้ง่ายจ่ายคล่อง

ซึ่งคนเป็นหนี้มาจากหลายสาเหตุ หนี้จากการใช้ชีวิตประจำวัน หนี้จากการประกอบธุรกิจ และหนี้ซึ่งเกิดจากความต้องการที่ไม่จำเป็น

ไอ้อันหลังนี่แหละที่คุณสุรพลบอกว่าเป็นตัวร้ายกาจมาก

และอย่างที่รู้กันว่าโลกออนไลน์สมัยนี้ ได้สร้างภาพลวงของความต้องการในชีวิตขึ้นมา พอดูมากๆ เข้าก็เกิดอยากได้อยากมีอย่างเขาบ้าง

นั่นคือโอกาสของการสร้างหนี้ที่ใกล้ตัวที่สุด

 

เชื่อว่าในจอโทรทัศน์จะยังคงมีรายการที่เกี่ยวกับหนี้ออกมาอีกเรื่อยๆ เพราะโดนใจคนดู

ขอให้กำลังใจคนที่เป็นหนี้ไปแล้ว ให้สามารถจัดการกับหนี้สินของตนเองได้ และเปลี่ยนวิธีคิดและพฤติกรรมในการใช้ชีวิตเสียใหม่ เพื่อจะได้ไม่ต้องไปออกรายการหาเงินปลดหนี้เหมือนที่เป็นอยู่ตอนนี้

ส่วนคนที่เป็นหนี้เพราะความจำเป็นในชีวิตบังคับ ก็ขอให้มีสติปัญญา และหาโอกาสในการปลดเปลื้องหนี้ให้ได้ในเร็ววัน วงเล็บว่าในทางที่ถูกที่ควรด้วยนะ

สุดท้ายนี้ ความสุขความเจริญจงมีแด่คนเป็นหนี้ทั้งหลายด้วยเทอญ