เบญจกูล ตำรับยาสมุนไพรรสร้อน คุ้มครองสุขภาพในช่วงหน้าหนาว | สมุนไพรเพื่อสุขภาพ

ช่วงเปลี่ยนกาลจากฤดูฝนสู่ฤดูหนาว เป็นช่วงที่ต้องระมัดระวังรักษาสุขภาพเป็นพิเศษ

หมอไทยโบราณท่านจึงให้ความสำคัญกับการป้องกันรักษาโรคภัยไข้เจ็บในช่วงระยะนี้ซึ่งเรียกว่า “ไข้เปลี่ยนฤดู” หรือ “อุตุปริณามชาอาพาธา” (อุตุ-ฤดู, ปริณามชา-การเปลี่ยนแปลง, อาพาธา-ไข้)

ในที่นี้ขอยกหลักการแพทย์ใน “พระคัมภีร์ธาตุวิวรณ์” ที่เกี่ยวกับไข้เปลี่ยนฤดูจากปลายฝนสู่หนาว กล่าวเป็นกลอนไว้ดังนี้

“เดือนสิบเอ็ดถึงเดือนอ้าย เป็นวสันต์เหมันต์มี แกมกันทั้งสองนี้ จึงอาโปกำเริบแรง เหตุด้วยกินอาหาร อันเย็นหวานผิดสำแลง อาโปวิการแรง บังเกิดโทษสิบสองเพลง กระหาย มักขึ้งโกรธดุจบ้าบังเกิดเอง วิบัติทำโฉงเฉง เป็นไข้จับอยากของมัน ให้ขบข้อกระดูก ตีนมือบวมเป็นสำคัญ ให้ลงโลหิตนั้น แล้วให้ไอให้ผอมเหลือง ขัดทรวง ให้ลงท้องปวดมวนร้องอยู่เนืองๆ อาหารย่อมฝืดเคือง กินมิได้นอนมิหลับ ทั้งนี้ อาโปธาตุอันร้ายกาจวิกลกลับ แปรปรวนที่ในครรภ์ แพทย์พึงรู้ดังกล่าวมา”

ถอดความรู้ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยข้างต้นเป็นภาษาชาวบ้านได้ว่า ในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคมอันเป็นช่วงฤดูฝนระคนฤดูหนาว ธาตุน้ำในร่างกายกำเริบแรงมาก สาเหตุเกิดจากการกินอาหารที่มีรสเย็น รสหวาน (ยกตัวอย่างเช่น ดื่มน้ำแข็ง หรือกินของหวานใส่น้ำแข็ง) ซึ่งเป็นของแสลงไม่ถูกกับสภาวะร่างกายที่เย็นอยู่แล้วในฤดูหนาว ทำให้บังเกิดโทษ “สิบสองเพลง”

ในที่นี้หมายถึงทำให้เกิดโทษแก่ระบบธาตุน้ำ 12 อย่างภายในร่างกาย ได้แก่ น้ำดี เสลด น้ำหนอง เลือด เหงื่อ ไขมัน น้ำตา น้ำมันใส (น้ำเหลือง) น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ และน้ำปัสสาวะ ซึ่งก่อให้เกิดอาการผิดปกติทั้งทางร่างกายและจิตใจ 12 ประการดังกล่าวแล้ว

แต่อาการสำคัญที่มักพบบ่อยคือ กระวนกระวาย ไอ กินไม่ได้ อาหารไม่ย่อย มีอาการแปรปรวนในท้อง และมือเท้าบวม อาการอันเกิดจากธาตุน้ำกำเริบเหล่านี้ตรงกับอาการไฟธาตุ “ปรินามัคคีพิการ”

หากใครได้ดูละครทีวีเรื่อง “ลายกินรี” ที่ออนแอร์ตอนแรกเมื่อเร็วๆ นี้ จะได้ความรู้จากนางเอกซึ่งเล่นบทเป็นหมอสยามเชลยศักดิ์สมัยสมเด็จพระนารายณ์ชื่อว่า แม่หมอพุดซ้อน นางวินิจฉัยโรคผู้ไข้ว่ามีสาเหตุจาก “ปริณามัคคีพิการ” ทั้งนี้เพราะผู้ไข้มาหาหมอด้วยอาการกระวนกระวายใจ ไอมีเสลดแห้งในลำคอ ผะอืดผะอมในท้องและมือบวมเท้าบวม

ผู้เป็นแพทย์แผนไทยย่อมรู้ดีว่า “ปริณามัคคี” ก็คือไฟย่อยอาหารนั่นเอง เมื่อธาตุไฟนี้พิการ จะทำให้อาหารไม่ย่อย เกิดอาการผิดปกติต่างๆ ตามมามากมาย อาการป่วยแบบนี้มักเกิดในช่วงหน้าหนาวหรือกินอาหารรสหวานและเย็น

แน่นอนทุกโรคย่อมมียาแก้ แม่หมอพุดซ้อนได้เฉลยยาแก้มีชื่อว่า “ยาเบญจกูล” ซึ่งประกอบด้วยยารสร้อน 5 ชนิดคือ ผลดีปลี รากช้าพลู เถาสะค้าน รากเจตมูลเพลิง และ ขิงแห้ง ยาตำรับนี้ถือว่าเป็นยาไทยสำคัญมากเพราะมีเรื่องเล่าขานถึงความศักดิ์สิทธิ์ไว้ในพระคัมภีร์สรรพคุณว่า เครื่องสมุนไพร 5 ชนิดมีพระฤๅษี 5 ตนเป็นผู้ค้นพบ โดยมีพระฤๅษีตนที่ 6 ชื่อ “มุรทาธร” เป็นผู้ประมวลสรรพยาทั้ง 5 เข้าด้วยกัน ให้ชื่อว่า “เบญจกูลเสมอภาค” ซึ่งระบุพิกัดยาไว้ชัดเจนว่า ให้ชั่งน้ำหนักสมุนไพรทั้ง 5 ชนิดอย่างละเท่าๆ กัน และยังกล่าวถึงสรรพคุณไว้ว่า

“ระงับโรคอันบังเกิดแต่ทวัตติงสาการ…แลบำรุงธาตุ 4 ให้บริบูรณ์”

พูดอย่างภาษาชาวบ้านก็คือ ยาขนานนี้ช่วยรักษาโรคที่บังเกิดแก่ธาตุดิน 20 และธาตุน้ำ 12 อันเป็นโครงสร้างหลักของร่างกาย และที่สำคัญคือช่วยบำรุงธาตุ 4 ให้บริบูรณ์ ซึ่งเป็นสรรพคุณที่คนไทยทั่วไปคุ้นเคยกันดี

ในพระคัมภีร์ปฐมจินดาได้อธิบายทฤษฎีการรักษาความสมดุลของธาตุ 4 เพื่อห่างไกลจากโรคว่า “บุคคลที่เกิดมาในโลกนี้ เหตุที่จะบังเกิดโรคทั้งปวงนั้น ก็เพราะธาตุทั้ง 4 ไม่บริบูรณ์ ธาตุทั้ง 4 นั้นแปรปรวนไปก่อน โรคต่างๆ จึงเกิดขึ้นในภายหลัง ท่านให้แต่งยาบำรุงธาตุไว้ให้เป็นปกติ โรคจึงจะไม่เกิดขึ้น”

ยิ่งกว่านั้นท่านยังกล่าวให้แคบลงไปอีกว่า การบำรุงธาตุหมายถึงการช่วยให้ “ปริณามัคคี” หรือธาตุไฟย่อยอาหารทำงานได้เป็นปกติ ธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำลม ไฟ อันประกอบขึ้นเป็นระบบร่างกายก็จะพลอยเป็นปกติสุขด้วย และยาดีที่ใช้บำรุงธาตุ 4 ให้บริบูรณ์ ก็คือ เบญจกูล นั่นเอง

 

ปัจจุบันยาเบญจกูลถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ

ระบุให้รับประทานครั้งละ 1 กรัม (2 แคปซูล แคปซูลละ 500 มิลลิกรัม) วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร เมื่อมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย

มีข้อห้ามใช้ในหญิงมีครรภ์ และคนมีไข้ และห้ามใช้ติดต่อกันเกิน 7 วัน

ในหน้าหนาว หรือในวันที่มีอากาศเย็นหรืออยู่ในห้องแอร์นานๆ หากมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ มือเท้าบวม ให้เรียกหายาเบญจกูลของแม่หมอพุดซ้อนมารับประทานเพื่อบำรุงธาตุ 4 ของร่างกายให้ห่างไกลจากโรคที่มากับความหนาวเย็น ในตู้ยาประจำบ้านหายาเบญจกูลเก็บไว้ใกล้ตัวคุ้มครองสุขภาพ •

 

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ | โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง

มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org