Bubble | การ์ตูนที่รัก

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

ไซไฟแฟนตาซีมิใช่นิยายวิทยาศาสตร์ ด้วยเหตุผลที่ว่าอะไรที่ดูคล้ายวิทยาศาสตร์นั้นไม่มีวิทยาศาสตร์รองรับ ต่างจากนิยายวิทยาศาสตร์แท้ๆ ที่จะมากหรือน้อยก็มีคำอธิบายที่ใช้ได้จริงเท่าที่ความก้าวหน้าในปัจจุบันจะอธิบายได้ จากนั้นจึงต่อยอดจินตนาการหรือคำถามถัดไปว่า ถ้าเกิดอะไรขึ้นแบบนี้แล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป

นิยายวิทยาศาสตร์จึงมีข้อจำกัด จำกัดทั้งนักเขียนและนักอ่าน ต่างจากไซไฟแฟนตาซีที่เน้นแฟนตาซีเป็นหลัก ส่วนคำว่าไซไฟนั้นใส่ไว้เพื่อบอกกล่าวบริบทบางอย่าง เช่น เรื่องนี้เกิดขึ้นในอนาคตหรือมิติอื่น เป็นต้น หลังจากนั้นจึงเป็นแฟนตาซีล้วนๆ ทำให้การกำหนดเงื่อนไขทำได้ง่ายขึ้น มากขึ้น น่าตื่นตะลึงมากขึ้น ทั้งนี้ เพราะไม่มีข้อจำกัดอะไรนั่นเอง

ดังเช่นหนังการ์ตูนเรื่อง Bubble นี้ซึ่งกำหนดเงื่อนไขให้วันหนึ่งมีฟองอากาศจำนวนหนึ่งค่อยๆ ลอยลงมาจากฟากฟ้า ตอนแรกก็สวยดี ต่อมาก็เริ่มมากขึ้น มากขึ้น และมากขึ้น จนกระทั่งขัดขวางการใช้ชีวิตปกติ เกิดฟองอากาศขนาดยักษ์ครอบกรุงโตเกียว จากนั้นฟองอากาศนับล้านก็แตกออก เกิดน้ำท่วมกรุงโตเกียวภายในปริมณฑลของฟองอากาศยักษ์นั่นเอง

ที่แกนกลางของหอโตเกียวเกิดการระเบิดขึ้นเป็นหลุมอวกาศขนาดใหญ่ ทำให้แรงดึงดูดโลกในครอบฟองอากาศนั้นแปรปรวน

ความแปรปรวนที่เห็นไม่มีคำอธิบายอะไร เป็นเพียงซากรถยนต์ ตู้รถไฟ ก้อนหินขนาดใหญ่ หรือวัตถุบางชนิดลอยละล่องไปมา ฟองอากาศขนาดเท่าคนหลายฟองก็ยังคงลอยละล่องอยู่ ฉากหลังที่มีเมฆบนท้องฟ้าสีฟ้า วัตถุต่างๆ ลอยไปลอยมาเหนือกรุงโตเกียวที่จมน้ำ กับซากตึกสูงที่ไร้คนอยู่อาศัยมีพืชปกคลุมทั่วไป เหล่านี้ทำให้อะนิเมะเรื่องนี้กลายเป็นการ์ตูนสวยงามน่ามองตลอดทั้งเรื่องได้ง่ายๆ

คล้ายๆ เรื่อง Drifting Home ที่กำหนดฉากหลังเป็นตึกลอยทะเล เรื่องนี้เป็นกรุงโตเกียวจมน้ำในครอบฟองอากาศ กล่าวคือ หนังสร้างสถานที่ปิดล้อมขึ้นมาแล้วใส่ตัวละครลงไป เรื่อง Drifting Home นั้นใส่ตัวละครเด็กประถมลงไป เรื่องนี้ใส่ตัวละครวัยรุ่นลงไป จากนั้นก็เริ่มเรื่องได้

การนั่งดูตัวละครมากมายมีปฏิสัมพันธ์ในที่จำกัดตลอดสองชั่วโมงจะสนุกหรือเปล่าขึ้นกับฉากหลังและดนตรีประกอบ พอๆ กับเนื้อเรื่องและเนื้อหา ซึ่ง Bubble ทำได้ดีในสององค์ประกอบแรก แต่ไม่ดีนักในสององค์ประกอบหลัง

เมื่อโตเกียวจมน้ำ มีฟองอากาศลอยไปมา แรงดึงดูดโลกที่แปรปรวน ชาวเมืองจึงอพยพออกไปทิ้งโตเกียวเป็นเมืองร้าง สถานที่ที่ไม่มีผู้ใหญ่เลยเช่นนี้ย่อมดึงดูดวัยรุ่นเข้าไปหา ได้โอกาสแล้วนี่

กรุงโตเกียวจมน้ำในฟองอากาศกลายเป็นที่ชุมนุมวัยรุ่นเข้ามาจัดการแข่งขันปากัวร์ (Parkour) เรียกว่า โตเกียวแบตเทิลกัวร์ (Tokyo Battlekour) ครั้งนี้มิใช่ปากัวร์ธรรมดาแบบที่เราเห็นในหนังเรื่องอื่น แต่เป็นปากัวร์ที่ใช้แรงดึงดูดโลกที่แปรปรวนเป็นประโยชน์ นักแข่งวัยรุ่นเหล่านี้จึงพุ่ง โหน โจน ทะยาน แล้วตีลังกากลางอากาศได้ไกล สูง น่ามหัศจรรย์ชวนมอง นั่งดูเพลินไปเลย

ฮิบิกิเป็นเด็กหนุ่มเงียบขรึม พูดน้อย และใส่หูฟังตลอดเวลา เขาสังกัดทีมบลูเบลซแต่ไม่ค่อยจะทำงานเป็นทีมเท่าไรนัก เหตุหนึ่งเพราะเขามีความสามารถเหนือชั้นนอกจากจะเหยียบบนฟองอากาศได้โดยฟองอากาศไม่แตกแล้วพุ่งต่อไปได้ เขายังสามารถใช้แรงหนีศูนย์กลางจากหลุมอวกาศที่ดูดสรรพสิ่งหายเข้าไปตลอดกาลนั้นได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม เราอาจจะยกโทษให้จำเลยได้บ้าง เหตุเพราะเขาสวมหูฟังเกือบตลอดเวลานั่นเอง เรื่องนี้มีที่มาที่ไป เพราะเขาได้ยิน “เสียง” ที่คนอื่นไม่ได้ยิน เป็นเสียงที่รบกวนเขามาก มิใช่เสียงหลอน การสวมหูฟังช่วยได้จริงๆ

หนังที่เอาวัยรุ่นจำนวนหนึ่งมาไว้ในที่จำกัดมักแสดงให้เห็นการเปลี่ยนผ่าน (coming of age) แต่เรื่องนี้หักปากกาเราได้อีก เพราะหนังมิได้เล่าเรื่องการเปลี่ยนผ่าน ดูเหมือนหนังจะเล่านิทานเรื่องหนึ่งของฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์สัน ในบริบทใหม่ที่คาดไม่ถึง นั่นคือเงือกน้อยผจญภัย Little Mermaid ที่ใครๆ คุ้นเคยนั่นเอง

วันหนึ่งฮิบิกิได้ยินเสียงมาจากหอโตเกียวจึงปากัวร์เข้าไปหา แต่พลาดท่าตกน้ำจมดิ่งลงไป ในสำนึกที่ใกล้จะเลือนหายเขาเห็นสาวน้อยใต้น้ำที่มีฟองอากาศติดตามตัวว่ายเข้ามาช่วยชีวิตเขาไว้ทัน

หลังจากนั้นสาวน้อยก็ขึ้นมาอยู่บนบก เข้าร่วมทีมปากัวร์ เรียนรู้ความเป็นอยู่ของคนอื่นๆ หัดพูด แล้วก็ร้องเพลง ฮิบิกิเรียกเธอว่า อูตะ ซึ่งแปลว่าเพลง เสียงของเธอสัมพันธ์กับฟองอากาศที่เกิดขึ้น สัมพันธ์อย่างไรชวนดู พอเนื้อเรื่องมาถึงตรงนี้แล้วสำหรับคนที่คุ้นเคยกับเงือกน้อยแอเรียลย่อมทายจุดจบของอูตะในตอนท้ายได้เป็นแน่ เริ่มแบบฮันส์ คริสเตียน แล้วก็จบแบบแอนเดอร์สันตามคาดหมาย

ตรงกันข้ามกับความคาดหมายว่านี่เป็นหนังเปลี่ยนผ่าน จุดอ่อนของหนังน่าจะเป็นว่าเราไม่พบว่าใครเปลี่ยนผ่านอะไรสักเท่าไร ฮิบิกิยังคงเหมือนเดิม พอๆ กับตัวละครอื่นๆ ที่ไม่ได้ลงลึกมากพอที่คนดูจะสัมผัสการเปลี่ยนผ่านได้โดยไม่ต้องตั้งใจดู สำหรับเงือกน้อยนั้นแทบไม่มีอะไรเปลี่ยนผ่านอยู่แล้วหากไม่นับความรักแบบโรแมนติกที่เกิดขึ้นบ้าง

จะว่าไปเมื่อดูเครดิตของผู้กำกับฯ Tetsurō Araki ซึ่งผ่านงานกำกับฯ อย่างผ่าพิภพไททันมาแล้วถึงสามฤดูกาลก็อดแปลกใจมิได้ เหตุการณ์เกิดขึ้นในสถานที่ปิดล้อมเช่นกัน อายุของกลุ่มตัวละครหลักก็คล้ายคลึงกัน นั่นคือทหารหนุ่มสาวที่เพิ่งเข้าประจำการหน่วยพิชิตไททันหมาดๆ เราเคยได้เห็นการเปลี่ยนผ่านของตัวละครทุกคนอย่างน่าสนใจบนฉากหลังที่เป็นไซไฟแฟนตาซีมากที่สุดเรื่องหนึ่งในโลกมังงะและอะนิเมะ ย้ำว่าเปลี่ยนผ่านกันทุกคนจริงๆ ไม่มีตัวละครสักคนเดียวที่หลุดรอดไปได้ แม้ว่าเป็นการสร้างหนังจากมังงะที่เขียนไว้ก่อนแล้ว แต่การเก็บรายละเอียดตัวละครได้ครบต้องยกเครดิตให้ผู้เขียนบทและผู้กำกับฯ ด้วยอย่างแน่นอน

มีเรื่องตลกเล็กๆ อีกเรื่องที่สังเกตเห็น อูตะปรากฏตัวครั้งแรกย่อมมิใช่สาวยุโรปผมสีทองแบบแอเรียล (ซึ่งวันนี้ก็เปลี่ยนไปแล้ว) แต่เป็นสาวคิกขุที่ดูเหมือนแมวและน่ารักแบบแมว คิดมากก็จะว่าช่างไม่เข้ากันกับภูมิทัศน์ที่จมน้ำอยู่ตลอดทั้งเรื่องเลย ไม่นับว่าแมวกลัวน้ำจะขึ้นมาจากน้ำได้อย่างไร

แต่จะว่าไป สัตว์อะไรที่ปราดเปรียวที่สุดบนที่สูงถ้ามิใช่แมว •

 

การ์ตูนที่รัก | นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์