เชื่อหรือไม่ (1) | ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร
“พลายแก้วมาหานางพิมที่ไร่ฝ้าย” จิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ที่ระเบียงคดรอบวิหารหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ จังหวัดสุพรรณบุรี จิตรกรผู้วาดภาพ เมืองสิงห์ จันทร์ฉาย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๖

ความเชื่อเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ เกิดจากความกลัวและความไม่รู้ อาจารย์สถิตย์ เสมานิล ให้ความเห็นเกี่ยวกับที่มาของความเชื่อทั้งหลายไว้ในหนังสือเรื่อง “วิสาสะ” ว่า

“สืบมาแต่ความสังเกตและจำเหตุที่เกิดขึ้นแล้วเทียบกับเหตุที่เกิดขึ้นในภายหลัง”

เหตุดังกล่าวเป็นสถิติที่คนโบราณสังเกตและจดจำจากสิ่งที่เห็นซ้ำๆ มาช้านาน จึงกำหนดเป็นความเชื่อในสังคม เชื่อถือกันมาจนทุกวันนี้ โดยเฉพาะความเชื่อเรื่อง ‘ลาง’ และ ‘ลางสังหรณ์’

‘ลาง’ คืออะไร เกี่ยวกับ ‘ลางสังหรณ์’ อย่างไร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความเห็นว่า ‘ลาง’ คือ “สิ่งหรือปรากฏการณ์ที่เชื่อกันว่าจะบอกเหตุดีหรือเหตุร้าย” ส่วนลางที่ดลใจทำให้เชื่อว่าอาจจะมีเหตุดังกล่าวคือ ‘ลางสังหรณ์’ หมายความว่าลางเป็นสิ่งดลใจทำให้สังหรณ์ใจ รู้ว่าจะมีเหตุอะไรเกิดขึ้น

 

เสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ตอนที่ขุนช้างลวงพลายงามลูกเลี้ยงไปฆ่าในป่า นางวันทองมีอาการผิดปกติ ดังนี้

“ครานั้นวันทองผ่องโสภา เมื่อลูกแก้วแววตาจะอาสัญ

คิ้วกระเหม่นเป็นลางแต่กลางวัน ให้หวั่นหวั่นหวิวหวิวหิวหาวนอน”

คิ้วกระเหม่น คือ อาการกล้ามเนื้อตรงคิ้วกระตุกเต้นเบาๆ ขึ้นเอง โบราณถือว่าเป็นลางบอกเหตุอย่างหนึ่ง

เขม่นตา ตาเขม่น กระเหม่นตา พบบ่อยมากในวรรณคดียามเกิดเหตุร้ายแก่คนในครอบครัว เช่น ลูก เมีย น้อง ฯลฯ ตัวละครที่เป็นพ่อแม่ ผัว และพี่จะเกิดอาการดังกล่าว

อาการที่กล้ามเนื้อบริเวณตาอยู่ๆ ก็กระตุกเต้นเบาๆ ขึ้นเองจนเจ้าของดวงตารู้สึกได้ โบราณเชื่อว่าเป็นลางบอกเหตุร้ายมากกว่าดี เขม่นตาเกิดได้ไม่จำกัดเพศ เขม่นตาขวาก็ได้ตาซ้ายก็ดี หรือจะร่วมด้วยช่วยกันเขม่นสองตาพร้อมๆ กันก็มี ดังกรณีท้าวสิงหลในบทละครนอกเรื่อง “ไชยเชษฐ์” เมื่อนางสุวิญชา พระธิดาถูกใส่ร้ายว่าเป็นกาลกิณีทั้งแม่ทั้งลูก นางหอบลูกชายเซซังในป่าหมายกลับไปขอพึ่งพระบิดา พระองค์เกิดอาการตาเขม่นขณะที่

“สถิตเหนือแท่นรัตน์เรืองจำรูญ พร้อมมูลข้าเฝ้าท้าวพระยา

ว่าขานกิจการนัคเรศ ให้เขม่นนัยน์เนตรซ้ายขวา

พระยายักษ์นิ่งนึกตรึกตรา จะได้ลาภหรือว่าจะได้ทุกข์”

ก่อนหน้านี้พระเอกของเรื่องก็เกิดอาการไม่ต่างกับท้าวสิงหลพ่อตา หลงกลอุบายนางสนมทั้งเจ็ด ที่ลวงว่ามีช้างเผือกเข้ามาในเมืองเหมันต์ ยกพลออกไปตามหา วางใจให้นางเหล่านั้นดูแลนางสุวิญชาแทน

“เมื่อพระมเหสีจะมีเหตุ ให้เขม่นนัยน์เนตรทั้งซ้ายขวา

พระทอดถอนฤทัยไปมา หวนรำลึกตรึกตราถึงเวียงวัง

สงสารสุวิญชาโฉมศรี เทวีมีครรภ์อยู่ข้างหลัง

จะประสูติลูกแก้วแล้วฤๅยัง ไม่มีที่หวังที่ไว้ใจ”

นอกจากนี้บทละครนอกเรื่อง “สังข์ทอง” เล่าถึงนางจันท์เทวี วันที่ลูกน้อยหอยสังข์ถูกทหารจับตัวไปสำเร็จโทษตามคำสั่งพระสวามี

“เมื่อนั้น นางจันท์มารดาอยู่ป่าใหญ่

เขม่นเนตรเหตุมีไม่แจ้งใจ เก็บได้ผักฟืนก็คืนมา”

 

อาการตาเขม่นใช่จะเกิดแก่พ่อแม่ผู้ให้กำเนิดเท่านั้น ยังเกิดขึ้นแก่พี่ที่รักและห่วงใยน้อง ไม่ว่าพี่นั้นจะเป็นสัตว์หรือคนก็ตาม ดังจะเห็นได้จากสิงหรา (ที่เกิดมาเป็นราชสีห์) เมื่อจะเกิดเหตุร้ายกับสังข์ศิลป์ชัย (น้องชายที่เป็นมนุษย์) บทละครนอกเรื่อง “สังข์ศิลป์ชัย” บรรยายท่าทีของพี่ว่า

“เมื่อนั้น ฝ่ายเจ้าสิงหรากล้าหาญ

เที่ยวไล่สัตว์สิงวิ่งทะยาน เป็นลางบันดาลบอกเหตุภัย

ให้มึนตึงกายาตาเขม่น จิตใจเยือกเย็นดังเป็นไข้

คิดถึงพระสังข์ศิลป์ชัย ก็แผลงอิทธิ์ฤทธิไกรกลับมา”

ทั้งนางจันท์เทวี และสิงหราออกอาการตาเขม่นไม่ระบุข้าง ไม่รู้ว่าเขม่นตาซ้ายหรือขวา ตรงข้ามกับพระรามในบทละครเรื่อง “รามเกียรติ์” ตอนพระลักษมณ์ต้องศรพรหมาสตร์ กวีเจาะจงตำแหน่งดวงตาไว้โดยเฉพาะ

“เมื่อนั้น พระตรีภพลบโลกนาถา

เนาในที่ประทับพลับพลา คอยพระอนุชาลาวัณย์

จนโพล้เพล้เวลาอัสดง สุริยงลับไม้ไพรสัณฑ์

พระเนตรขวาเขม่นเป็นอัศจรรย์ ผิดประหลาดหวาดหวั่นพรั่นพระทัย”

จะเห็นได้ว่าอาการตาเขม่นบอกเหตุร้ายของคนใกล้ชิดเกิดได้ทั่วถึงทั้งพ่อ แม่ และพี่ บางกรณีมีอาการอื่นประกอบด้วย เช่น ใจสั่น ห่วงเหงาหาวนอน เป็นไข้ ไม่สบายใจ ฯลฯ

 

ผู้เขียนเคยมีอาการตาเขม่นเมื่อสองสามเดือนก่อน ตาซ้ายกระตุกเป็นระยะๆ ตั้งแต่เช้ายันบ่าย รำคาญจนทนไม่ไหวไปหาจักษุแพทย์ประจำตัว คุณหมอภัณฑิลา ดิษยบุตร ให้กินยา B-COZE วันละเม็ดราว 2 อาทิตย์ ตาหยุดกระตุกนับแต่นั้น

ผู้เขียนถามว่า “ตาพี่เป็นอะไรคะหมอ”

คำตอบคือ “พี่จ๋าขาดธาตุสังกะสีค่ะ”

ตาเขม่น เป็นได้ทั้ง ‘ลาง’ และ ‘โรค’ •

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร