ปฏิรูปศาสนา | นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์
(Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

นักภารตวิทยาหลายคนกล่าวตรงกันว่า เมื่อตอนที่เกิดพุทธศาสนาขึ้นในอินเดียเหนือนั้น เศรษฐกิจ, สังคมและการเมืองในภูมิภาคนั้นของอินเดียกำลังเปลี่ยนอย่างมโหฬาร

จากชุมชนขนาดเล็กที่ปกครองในรูปแบบสาธารณรัฐ ภายใต้ราชตระกูลใหญ่ที่มีเกียรติยศสูงสุด กลายเป็นราชอาณาจักรที่ขยายตัวขึ้นอย่างใหญ่โตครอบคลุมหลายๆ แคว้น จากการค้าหรือการแลกเปลี่ยนในวงไม่กว้างนัก ไปสู่การค้ากองเกวียนทางไกล นำเอาสินค้าจากแคว้นหนึ่งไปสู่อีกแคว้นหนึ่ง รวมทั้งสู่และจากเมืองท่าทางทะเล ที่ทำให้นักโบราณคดีขุดพบวัสดุจากยุโรปและเอเชียกลางอยู่เป็นประจำ เพราะการค้าในลักษณะเช่นนี้ ทำให้เมืองขยายตัว กลายเป็นที่อยู่อาศัยของผู้คนจำนวนมาก พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ มีคนจำนวนมากหลุดจากภาคเกษตร เข้ามาอยู่ในการผลิตและการค้าที่มีเครือข่ายกว้างไกล หรือเข้ามาอยู่ในวงข้าราชสำนักหรือข้าราชการที่ขยายตัวขึ้นตามพระราชอำนาจ

และผู้คนเหล่านี้พากันเข้ามาอยู่ในชุมชนชนิดใหม่ที่เรียกว่า “เมือง” ซึ่งไม่ได้ผลิตอาหารและเครื่องอุปโภคเอง แต่สามารถเรียกเกณฑ์จากชุมชนเกษตรซึ่งล้อมรอบเมืองได้

(Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

ผู้คนจำนวนมากในเมือง จึงกำลังต้องการศาสนาและระบบศีลธรรมใหม่ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของตน และอย่างที่รู้กันอยู่แล้วว่าพุทธศาสนาไม่ใช่ศาสนาใหม่เพียงอันเดียวที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ก่อนหน้าพระพุทธศาสนายังมีศาสนาเชนซึ่งพุทธศาสนากลายเป็นคู่แข่งสำคัญ ยังไม่นับการตีความพิธีกรรมและบทสวดของพราหมณ์ไปสู่ปรัชญาอันลึกซึ้งในอุปนิษัท ก็เกิดในระยะเวลาใกล้เคียงกัน

อีกศาสนาหนึ่งที่เกิดขึ้นท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ, สังคมและการเมืองอย่างใหญ่ในพื้นที่แหล่งกำเนิดเหมือนกันคือศาสนาอิสลาม สรุปตามความรู้ที่มีอยู่น้อยของผมก็คือ ในคาบสมุทรอาหรับ การค้าขายแลกเปลี่ยนขยายตัวกว้างขวางขึ้น เชื่อมโยงพ่อค้าไปสู่ศูนย์กลางการค้าและอารยธรรมโบราณหลายแห่งในเอเชียกลาง พระมะหะหมัดเองก็ทำการค้าทางไกลอยู่ก่อนที่จะได้รับคำสั่งจากพระเจ้า

มุสลิมคนหนึ่งเคยตั้งข้อสังเกตกับผมว่า ไม่มีศาสนาอะไรที่สร้างกฎเกณฑ์อย่างละเอียดเกี่ยวกับการกู้ยืม, หนี้, การลงทุน, การแบ่งผลกำไร ฯลฯ ดังศาสนาอิสลาม

แต่น่าประหลาดไหมครับ ทั้งสองศาสนาของเมืองและการค้านี้กลับขยายเข้ามายึดครองชาวนาของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดถึงเพียงนี้ เพราะฉะนั้น จึงไม่แปลกที่ทั้งสองศาสนาในภูมิภาคย่อมมีหน้าตาผิดแปลกไปจาก (ที่เชื่อกันว่าเป็น) หลักคำสอนแท้จริงของศาสดาทั้งสอง ครูศาสนาดังๆ ทั้งที่เป็นชาวพื้นเมือง, อินเดีย, ลังกา หรือตะวันออกกลาง ได้มาเห็นการปฏิบัติศาสนาของประชาชนในภูมิภาคนี้แล้ว ก็กล่าวตำหนิติเตียนว่าผิดหลักคำสอน นับตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ในการปฏิบัติตนตามชีวิตประจำวันของประชาชน เช่น การแต่งกายไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ เช่น การปกครอง, การบวช หรือจริยวัตรของภิกษุไม่ตรงกับวินัยบัญญัติ

ก็จะให้ชาวนามาถือศาสนาของคนเมืองได้อย่างไร

(Photo by MIKE CLARKE / AFP)

ในที่นี้ผมจะขอพูดแต่พุทธเถรวาทและเมืองไทย ซึ่งผมพอรู้อยู่บ้างเท่านั้น พอสรุปได้ว่า ต่างฝ่ายในสังคมไทยต่างก็ปรับเปลี่ยนให้พอจะกล้อมแกล้มอยู่ร่วมกันไปได้ โดยมีแกนกลางสำคัญคือความศักดิ์สิทธิ์และพิธีกรรมของศาสนาผี ซึ่งปรับเปลี่ยนรูปแบบได้ง่าย แต่ยังคงรักษาเนื้อหาสาระของความหมายเดิมเอาไว้

ต้นไม้, ก้อนหิน, พญานาค ฯลฯ เคยศักดิ์สิทธิ์มาก่อน และได้รับการบูชามาอย่างไร ก็เพียงแต่เพิ่มพระพุทธรูปเข้าไป และปฏิบัติบูชาเกือบไม่ต่างกัน เพียงแต่เว้นการสังเวยบูชายัญสัตว์และเหล้าเท่านั้น ไม่ใช่ข้อยกเว้นที่สำคัญอะไร เพราะในสมัยก่อน ผีแต่ละตนก็มีความชอบไม่ชอบต่างกันอยู่แล้ว และทำให้เครื่องบูชาแตกต่างจากกัน

พุทธศาสนาให้อำนาจแก่กษัตริย์ โดยเฉพาะเถรวาท เพราะพุทธเป็นศาสนาสากลที่ทุกหมู่บ้านถือเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ของตนเหมือนกันหมด ในขณะที่ผีมักเป็นของท้องถิ่น ความศักดิ์สิทธิ์ไม่ข้ามไปยังท้องถิ่นอื่นซึ่งมีผีต่างหากของตนเอง ซ้ำร้ายศาสนาสากลมักเปิดโอกาสให้ฝ่ายที่มีอำนาจ (ทางการเมืองหรือเศรษฐกิจ) สร้างมาตรฐานที่ “ถูกต้อง” ภายใต้การกำกับดูแลของตนเองได้ เช่น รับอุปถัมภ์พระเถระที่มีชื่อเสียงจากต่างประเทศที่ธุดงค์เข้ามายังเมืองหลวง ไปอาราธนามาประจำวัดก็ได้ ส่งพระของตนไปบวชในลังกา แล้วกลับมาเป็นอาจารย์ใหญ่ก็ได้ เพราะได้ด๊อกเตอร์แล้ว จนถึงที่สุด อุปถัมภ์ให้เกิดการสังคายนาพระไตรปิฎกก็ยังได้ แล้วใครเล่าครับจะมีกำลังพออุปถัมภ์การสังคายนาได้ ถ้าไม่ใช่ “มหา” กษัตริย์

พูดง่ายๆ ศาสนาสากลเช่นพุทธเถรวาทจึงขยายพระราชอำนาจของกษัตริย์ส่วนกลาง

ฉะนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่พุทธศาสนาเถรวาทแพร่หลายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ ล้วนเพราะได้รับการอุปถัมภ์อย่างแข็งขันจากกษัตริย์ จนถึงที่สุด กษัตริย์ก็สร้างระบบปกครองคณะสงฆ์ขึ้น โดยมีศูนย์กลางทั้ง “ยศช้างขุนนางพระ” ที่มาพร้อมอำนาจและทรัพยากรในวัดและหลักสูตรการศึกษาของพระภิกษุไว้ในราชธานี พระภิกษุแม้แต่จำวัดห่างไกลในหมู่บ้าน ต่างก็เป็นเอเย่นต์หรือตัวแทนจำหน่ายของกษัตริย์ทั้งนั้น มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่กรณี (เช่น ภิกษุในหมู่บ้านพม่าต้องคานอำนาจระหว่างราชสำนักและเจ้าที่ดินในท้องถิ่น เหมือนเมื่อสมัยที่อยุธยายังไม่สามารถผูกอำนาจในหัวเมืองให้เข้ามาอยู่ในระบบราชการส่วนกลางได้ ภิกษุไทยก็ต้องถ่วงอำนาจระหว่างราชสำนักกับสำนักท้องถิ่นเหมือนกัน)

ทั้งหมดนี้เอามาเปรียบกับการขยายตัวของศาสนาอิสลามเข้ามายังภูมิภาคเดียวกัน ผู้ที่นำศาสนาใหม่เข้ามาคือ “ผู้รู้” ท้องถิ่น อาจได้รับยกย่องว่าเป็น “วาลี” ในชวา “โต๊ะ” ครูในรัฐมลายู บางครั้งก็อาจเป็นชาวต่างชาติหรือต่างรัฐ ที่สมัครใจเข้ามาเผยแผ่ศาสนาเอง โดยไม่เกี่ยวกับ “รายา” ดังกรณีตำนานเมืองปานานี ในเมืองท่าเช่นมะละกา ว่ากันว่า “รายา” ยอมเปลี่ยนศาสนา เพื่อรองรับอำนาจทางการค้าและการเมืองของมุสลิม (ทั้งจากตะวันออกกลางและอินเดีย) ซึ่งเพิ่มมากขึ้นและเป็นพ่อค้าที่เข้าเทียบท่ามะละกาส่วนใหญ่

รัฐอิสลามอีกหลายแห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นสมุทร ก็มีลักษณะไม่ต่างจากที่กล่าวข้างต้น กล่าวคือ อิสลามเป็นอำนาจจากภายนอก (รัฐ) ประชาชนอาจเปลี่ยนเป็นมุสลิมก่อนผู้ปกครอง เกิดชนชั้นนำใหม่คือ “ผู้รู้” ทางศาสนา ที่เป็นอิสระจากผู้ปกครอง (แม้แต่ที่ยอมเปลี่ยนเป็นมุสลิมแล้ว) หรือไม่ใช่ตัวแทนจำหน่ายของผู้ปกครองดังกรณีของรัฐเถรวาทภาคพื้นทวีป

พูดมาเสียยืดยาวทั้งหมดนี้ เพื่อจะบอกว่า การปฏิรูปศาสนา ไม่ว่าจะเกิดในสังคมใดก็ตาม ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะมีบุคคลบางคนมองเห็นข้อบกพร่องของศาสนาที่ผู้คนนับถืออยู่เท่านั้น แท้จริงแล้วเงื่อนไขทางสังคม, เศรษฐกิจ และการเมืองซึ่งเปลี่ยนแปลงไป เป็นพลังที่ทั้งผลักดันการปฏิรูปและกำหนดทิศทางการปฏิรูปอย่างสำคัญ… อาจจะยิ่งกว่าตัวบุคคลด้วยซ้ำ

เรามักพูดถึงการตั้งธรรมยุติกนิกายว่าเป็นการปฏิรูปพระพุทธศาสนาในไทย ผมจึงอยากเตือนว่า สังคม, เศรษฐกิจ และการเมืองของประเทศไทยในปัจจุบัน แตกต่างห่างไกลจากประเทศไทยในรัชกาลที่ 3 ซึ่งก่อให้เกิดธรรมยุติกนิกายไปอย่างสุดกู่

ด้วยเหตุดังนั้น อะไรที่เป็นผลมาจากการปฏิรูปในครั้งนั้น จึงไม่ตอบสนองสังคมไทยในปัจจุบันได้เสียแล้ว การปฏิบัติวินัยที่อ้างว่าต้องตรงตามลายลักษณ์อักษรของพระวินัย ยังเหลือความหมายหรือความสำคัญอะไรแก่ชาวพุทธไทยในปัจจุบัน ไม่ใช่ข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับพระภิกษุละเมิดพระวินัยระดับปาราชิกที่มีให้เห็นบ่อยๆ เท่านั้น เอาเข้าจริง ที่เรียกว่า “คณะสงฆ์” หรือชุมชนเสมอภาคซึ่งบริหารภายในด้วยความเห็นชอบของสมาชิกทุกคนก็หายไปแล้ว “คณะสงฆ์” ที่เหลืออยู่เป็นแต่เปลือกคือโครงสร้างการปกครองเท่านั้น สะท้อนให้เห็นในพิธีสงฆ์หลายอย่างที่เหลือแต่ทำกันเป็นพิธีกรรม เช่น ปวารณาก็ไม่ได้สารภาพผิดจริงเพื่อรับคำตักเตือนและทัณฑ์จาก “คณะสงฆ์” อย่างจริงใจ แม้แต่ออกความเห็นว่าผ้ากฐินปีนี้ควรยกให้ภิกษุรูปใดจึงเหมาะที่สุด ก็มักทำเป็นพิธีกรรมโดยลงมติพร้อมเพรียงมอบให้แก่เจ้าอาวาสหรือหลวงพ่อที่มีอำนาจที่สุดในวัด

จะมีใครเชื่อได้จริงหรือว่า คณะสงฆ์ในศตวรรษนี้เหมือนกับคณะสงฆ์สมัยพุทธกาลทุกอย่าง

 

ความไม่ลงรอยระหว่างผลจากการปฏิรูป กับสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจ, สังคม และการเมืองเช่นนี้แหละ ที่ทำให้เราเห็นวัตรปฏิบัติที่เสื่อมโทรมลงอย่างมากของพระภิกษุ ท่านอาจารย์ไพศาล วิสาโล เสนอไว้ในพุทธศาสนาไทยในอนาคตว่า เราน่าจะมีกระบวนการเตรียมบุคคลที่จะบวชเป็นภิกษุก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้บวชจริง แต่การปฏิรูปธรรมยุติกนิกายไม่ได้ทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้

แท้จริงแล้ว คนไทยสมัย ร.3 สำนึกตนว่าเป็น “ปัจเจกบุคคล” ไม่มากนัก เพราะมีเครือญาติ, ชุมชน, สังกัด, ชนชั้น ฯลฯ เป็นทั้งอัตลักษณ์และพันธนาการไปพร้อมกัน ฉะนั้น บวชแล้วจะเม้มเงินวัด หรือมีเมีย จึงทำได้ยากเพราะอยู่ในสายตาของความสัมพันธ์ที่สำคัญหลายอย่างรอบตัว (ถึงกระนั้น ก็ใช่ว่าไม่มีเสียเลย) แต่คนไทยปัจจุบันไม่ได้เป็นอย่างนั้นแล้ว กระบวนการเตรียมตัวก่อนเป็นพระภิกษุจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในสังคมปัจจุบัน

ยิ่งถ้าหันไปดูคำสอนของพุทธศาสนา ก็ยิ่งน่าตระหนกขึ้นไปอีก เพราะมีปัญหาสองด้านในสังคมไทยปัจจุบัน ด้านหนึ่งคำสอนที่ประชาชนทั่วไปได้รับผ่านสื่อหรือวัด กลายเป็นคำสอนทางศีลธรรมพื้นๆ ซึ่งคุณค่าทางสังคมของคำสอนเหล่านี้ ถูกแทนที่อย่างมีประสิทธิภาพกว่าด้วยกฎหมาย, ตำรวจ และกระบวนการยุติธรรม และหลายครั้งกลายเป็นการสอนให้สยบยอมทางการเมือง ท่ามกลางการเมืองที่ไม่เป็นที่น่าพอใจแก่คนจำนวนมาก และอีกหลายครั้งเป็นคำสอนที่ผิด เช่น แทนที่จะสอนให้ละความโลภ กลับยั่วยุให้เกิดความโลภ แทนที่จะละความโกรธ กลับปลุกเร้าความขึ้งเคียด

อีกด้านหนึ่งก็คือ คำสอนนั้นไม่ตอบสนองต่อปัญหาปัจจุบัน ทั้งในเชิงปัจเจกและในเชิงส่วนรวม เช่น เราจะมีชีวิตท่ามกลางการแข่งขันในแทบทุกเรื่องอย่างไร จึงจะมีความสงบในจิตใจได้ แล้วก็ไม่ใช่การออกจากเวทีแข่งขัน เพราะทำไม่ได้ทุกคนและทุกกรณี หรือปัญหาส่วนรวมซึ่งเกิดขึ้นใหม่อยู่ตลอดมา เช่น พุทธศาสนาเถรวาทแทบไม่มีอะไรจะพูดเลยเกี่ยวกับความเสื่อมโทรมทุกด้านของสภาพแวดล้อม, เกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ ระหว่างคนในชาติเดียวกัน, ระหว่างชาติ, ระหว่างทวีป, ระหว่างชนชั้น ฯลฯ เกี่ยวกับการปรับแก้ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งดูเหมือนกำลังเสื่อมลงทั้งโลก, การอยู่ร่วมกันโดยสันติระหว่างคนที่แตกต่างกัน (ทางเศรษฐกิจ, แนวทางการเมือง หรือศาสนา ฯลฯ) และระหว่างประเทศ เป็นต้น

 

เห็นได้ชัดว่า พุทธเถรวาทไทยต้องการปฏิรูปอีก (อันที่จริง ปฏิรูปเป็นสิ่งที่ต้องทำสม่ำเสมอในทุกศาสนา เพราะโลกไม่เคยหยุดนิ่ง) และในความเป็นจริงก็มีการปฏิรูปเกิดขึ้นตลอดร้อยปีที่ผ่านมา ไม่ว่าผู้ทำจะเจตนาปฏิรูปหรือไม่ก็ตาม นับตั้งแต่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต), นายนรินทร์กลึงบวชลูกสาว (และทำอย่างอื่นๆ ตามหลักศาสนาในความเข้าใจของท่าน) มาจนถึงสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาภาสโร) สมัยดำรงตำแหน่งพระพิมลธรรม, ท่านพุทธทาสภิกขุ, พุทธสมาคม, พุทธศาสนิกสัมพันธ์, สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตโต), อาจารย์พระไพศาล วิสาโล เจ้าสำนักสันติอโศก ธรรมกาย ยังไม่นับฆราวาสอีกหลายท่าน

ส่วนใหญ่คือการตีความคำสอนให้ตอบรับ (relevant) กับชีวิตในสังคมสมัยใหม่ เป็นผลให้คำสอนเน้นปัจเจกบุคคลมากกว่าเดิม ความสำเร็จทางศาสนาเป็นเรื่องเฉพาะตน นิเวศน์ทางวัฒนธรรม, การเมือง หรือเศรษฐกิจไม่เกี่ยว

ในขณะที่บางสำนัก นอกจากปรับคำสอนให้มีลักษณะประจักษ์นิยมมากขึ้น หรือเน้นกรรมหรือการกระทำโดยตรง เช่น มักน้อยก็ให้ปฏิบัติมักน้อยในชีวิตจริง

การปฏิรูปเหล่านี้ประสบความสำเร็จในการทำให้พุทธศาสนาตอบสนองต่อชีวิตปัจจุบันมากขึ้นจริงหรือไม่ เป็นเรื่องที่ยังตัดสินไม่ได้ง่ายๆ เพราะต้องอาศัยระยะเวลามากกว่านี้ในการตัดสิน แต่อาจกล่าวได้ว่า ยังไม่มีการปฏิรูปสักกระแสเดียวที่มีอิทธิพลครอบงำความคิดและการปฏิบัติของพุทธเถรวาทไทยปัจจุบันอย่างกว้างขวาง

ยิ่งไปกว่านั้น การเคลื่อนไหวในเชิงปฏิรูปศาสนาในปัจจุบันกลับไม่ค่อยปรากฏอีกด้วย โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อ 20-40 ปีที่แล้วมา จะอธิบายการอ่อนหรือหายไปของความพยายามปฏิรูปศาสนาในหมู่ชาวพุทธไทยปัจจุบันอย่างไร? ข้อนี้ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน