คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : บางแง่มุมของการ “ไว้ทุกข์”

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผี พราหมณ์ พุทธ

ประเพณีไว้ทุกข์และธรรมเนียมต่างๆ ของสยาม มีผู้เขียนและสันนิษฐานมากเป็นพิเศษในช่วงนี้ เพราะเป็นช่วงงานพระบรมศพ ที่ผมสนใจเรื่องนี้ด้วยเพราะตัวเองเพิ่งผ่านการไว้ทุกข์จากที่คุณแม่เสียชีวิตไม่นานที่ผ่านมา

ที่หลายท่านค้นคว้ากันนั้น ท่านแบ่งออกเป็นสองเรื่องที่คนทั่วๆ ไปควรรู้ คือ เรื่องการแต่งกาย และเรื่องการโกนผม นอกนั้นคือเรื่องประเพณีพิธีกรรม

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ท่านว่า การแต่งกายสีขาวไว้ทุกข์มีในทุกวัฒนธรรมรอบๆ เอเชียไม่ว่าจะจีนหรืออินเดีย และท่านสันนิษฐานว่าประเพณีนี้เราน่าจะรับมาจากอินเดีย พร้อมกับการโกนผมไว้ทุกข์ด้วย

ในเวลาต่อมา การไว้ทุกข์โดยใส่ขาวล้วนก็ค่อยๆ เปลี่ยนไป มีการใส่สีต่างๆ ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ของผู้ไว้ทุกข์กับผู้ตาย เช่น หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ท่านเล่าว่า ดำมีไว้สำหรับผู้แก่กว่าผู้ตาย ขาวมีไว้สำหรับผู้อ่อนกว่าผู้ตาย และ น้ำเงินหรือม่วงแก่สำหรับผู้มิได้เกี่ยวข้องกับผู้ตาย ธรรมเนียมปฏิบัติกันในราชสำนักเป็นหลัก

แต่บางกรณีก็มีข้อยกเว้น เช่น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เคยทรงขาวล้วนในการพระศพพระเจ้าลูกเธอพระองค์หนึ่งเพราะทรงสนิทสิเน่หาเป็นพิเศษ

การแต่งขาว สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ท่านทรงสันนิษฐานว่า เพราะผ้าข้าวนั้นเป็นผ้าที่เกิดในลำดับแรกตามธรรมชาติ เช่น ผ้าฝ้ายขาว ต่อมามนุษย์เราจึงรู้จักการย้อมและตกแต่งทำให้เกิดเป็นเครื่องประดับร่างกายขึ้น

ดังนั้น ท่านจึงทรงมีมติว่า ที่แต่งขาวด้วยเพราะต้องการจะงดเครื่องประดับประดาเป็นสำคัญ จึงกลับไปใส่ขาวตามธรรมชาติ

 

ข้อนี้ทางอินเดียและจีนต่างไว้ทุกข์ด้วยสีขาวทั้งนั้น แต่ผมเห็นต่างกับสมเด็จฯ ท่านหน่อย ที่ว่าผ้าขาวสะท้อนสภาพก่อนการย้อมนั้น ผมไม่แน่ใจนัก เพราะมนุษย์แต่เดิมสวมใบไม้และคากรองอะไรต่างๆ หรือตามประเพณีจีนที่มักสวมผ้าป่านกระสอบคลุมชุดขาวอีกชั้น แสดงว่าก่อนหน้าผ้าฝ้ายหรือผ้าสีขาว เราก็อาจใส่ผ้าหยาบแบบอื่นๆ ที่มีสีอื่นมาก่อนเช่นป่าน สีขาวจึงอาจไม่ได้มีความหมายแค่นั้น

ผมคิดว่า สีขาวในวัฒนธรรมจีนและอินเดียสะท้อน “ความตาย” มิใช่ความบริสุทธิ์อย่างที่เชื่อๆ กัน

ถ้าผมจำไม่ผิด ในหลักธาตุห้าของจีน สีขาวสะท้อน ฤดูใบไม้ร่วงหรือฤดูหนาว ซึ่งมีแต่ความตาย ส่วนในวัฒนธรรมอินเดีย สีขาวแสดงถึงกองกระดูกขาวโพลนหรือขี้เถ้าซึ่งจะไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นได้อีก

ดังนั้น สีขาวจึงสะท้อนความตาย พระศิวะจึงมีวรกายสีขาว (คือทาร่างกายด้วยขี้เถ้าดังที่โยคีทั้งหลายปฏิบัติ) เป็นความตายทั้งทางโลก และความตายของกามารมณ์ด้วย นักบวชในอินเดียจึงนิยมสีขาว รวมทั้งสีฝาดอันหมายถึงไฟเผากิเลสด้วย

ต่อมาคบค้าฝรั่งแล้ว ถึงนิยมสีดำไว้ทุกข์ และกลับกันกับที่ท่านหญิงพูนฯ ทรงเล่า คือชาวบ้านอย่างคนบ้านผมที่ระนอง ถ้าใส่ดำล้วนผู้ตายต้องเป็นผู้ใหญ่กว่า ส่วนใส่ขาวครึ่งดำ หรือขาว มักสูงอายุกว่าผู้ตายหรือเกี่ยวข้องไม่ใช่ทางตรง

 

ที่จริงวัฒนธรรมบ่าบ๋าน่าสนใจนะครับ ทางบ้านผมซึ่งเป็นบ่าบ๋า การนุ่งผ้าปาเต๊ะและการแต่งตัวไว้ทุกข์ไปงานศพมีความซับซ้อนมาก

หากไม่ได้แต่งชุดผ้าขาวดิบอย่างจีนในเมืองจีน สตรีผู้ไปงานศพมีการแต่งกายหลายแบบ ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์กับผู้ตาย

เช่น หากผู้ไปงานมีอายุสูงกว่าผู้ตายมากๆ เช่น ผู้ตายเป็นหลานเหลนจะนุ่งผ้าปาเต๊ะเขียว สวมเสื้อขาว

หากผู้ตายอายุน้อยกว่าระดับหนึ่งเช่นระดับบลูกหลาน จะนุ่งผ้าปาเต๊ะสีน้ำเงิน (คุณป้าผมบอกว่า ผ้าและสีชนิดนี้ต้องทำมาจากเมือง เมืองหนึ่งในจีนและส่งมามลายูอีกทอด)

หากผู้ตายอายุสูงกว่า มีทั้งนุ่งเสื้อขาวผ้าถุงดำ และเสื้อดำผ้าถุงดำ

ไม่ทราบจริงๆ ว่าวัฒนธรรมส่วนนี้ของบ่าบ๋าเป็นส่วนประกอบจากจีนหรือวัฒนธรรมอุษาคเนย์เอง

แต่ให้ผมเดา ผมว่าน่าจะเป็นของเราเอง ดังที่ คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ เสนอมาว่า แต่ก่อนงานออกศพหรือเผาศพของชาวบ้าน ไม่ได้นุ่งขาวหรือดำ แต่นุ่งสีและเป็นงานรื่นเริง

การโกนศีรษะก็เช่นกัน อันนี้ผมคิดสอดคล้องกับพระมติ การโกนศีรษะในวัฒนธรรมอินเดียมีนัยยะของการ สละหรือออกบวช แต่การโกนศีรษะในอินเดียมีสองลักษณะ คือฮินดูบางพวก มักโกนแค่ครึ่งศีรษะ และเว้นปอยผมไว้ ดร.เทวทัตต์ ท่านว่า แสดงถึง “บวชครึ่งเดียว” คือ เป็นคฤหัสถ์ครองเรือน ทว่า มีกิจและข้อห้ามทางศาสนา

แต่โกนทั้งศีรษะมักเป็นนักบวชเต็มตัว เช่น พวกสันยาสี หรือนักบวชในศาสนาสาย พรตนิยมของอินเดีย แสดงถึงการสละทุกสิ่ง

 

ในจีนเองผมก็เข้าใจว่า เมื่อบูรพการี เสียชีวิต ก็ต้องโกนศีรษะ แต่อย่างคนจีนบ้านผม (คือฮกเกี้ยนบ่าบ๋า) ไม่ต้องโกน เพียงแต่ตลอดเวลาที่ไว้ทุกข์ จะโกนผม ตัดผมและหนวดเคราไม่ได้ จนถึงเวลาออกทุกข์เท่านั้น

การปล่อยผมกระแซะกระเซิงเช่นนี้ สะท้อนการไม่เอาใจใส่ต่อโลกและชีวิต ไม่สนใจความสวยงามและระเบียบเรียบร้อย เช่นเดียวกับการปล่อยผมของพราหมณ์ (นาลิวัน) ซึ่งเข้ากระบวนพิธีพระบรมศพ

ในอินเดียถือว่า การมัดผมแสดงถึงความเป็นระเบียบ การอยู่ในวัฒนธรรมและความ “สะอาดบริสุทธิ์” (ภาษาแขกเรียก ปฺรวิตฺร) พราหมณ์และชาวฮินดูที่ไว้มวยผมหรือปอยผม จะมัดเสมอ ถึงกับมีกำหนดว่า เมื่อทำพิธีกรรมจะต้องมัดผมก่อน จะปล่อยผมทำพิธีไม่ได้

การปล่อยมวยที่มัดของพราหมณ์ในพิธีพระบรมศพ จึงมิได้หมายถึงการแสดงความโศกเศร้าแต่เพียงอย่างเดียว ทว่าแสดงถึง สภาวะความ “ไม่สะอาดบริสุทธิ์” (หมายถึงภาวะที่ไม่ปกติ) เนื่องด้วยต้องเกี่ยวกับศพ ซึ่งไม่ว่าศพใครก็ตาม ย่อมถือว่าเป็นอวมงคล คือไม่บริสุทธิ์ด้วยกันทั้งสิ้น เพราะไม่งอกงาม สิ้นสุด ตายจาก

 

อีกสิ่งที่ผมยังสงสัย คือ จำนวนวันในการไว้ทุกข์ การเก็บศพไว้นานๆ แล้วค่อยเผาหรือจัดการ ผมก็เห็นด้วยข้อสันนิษฐานของคุณสุจิตต์ ว่า เกี่ยวกับการตายครั้งที่สอง ซึ่งเป็นประเพณีอุษาคเนย์ ในอินเดียไม่มี่

ส่วนจีนมักไม่เก็บศพนาน ทว่าไว้ทุกข์นาน กล่าวคือ มีทั้งถือธรรมเนียมไว้ทุกข์สามปี เช่น มีปรากฏในตำราขงจื่อ และข้อปฏิบัติของข้าราชการในจีน แต่บ้างก็มีที่ถือการไว้ทุกข์ร้อยวันเป็นขั้นต่ำ

เพิ่งเห็นว่าในปัจจุบัน บางทีก็มีการไว้ทุกข์ 50 วันก็มี คงเน้นความสะดวกเป็นหลัก

ในอินเดีย การทำศพจะจัดการเผาอย่างเร็วที่สุด และจะมีการไว้ทุกข์ประมาณ 13-15 วัน ในช่วงเวลานั้น ญาติใกล้ชิดผู้ตายจะสวมชุดไว้ทุกข์ ไม่รับประทานเหลือ และประกอบพิธีกรรมใดๆ

หลังไว้ทุกข์หนึ่งปี จะอุทิศ “ศราทธ” หรือทำข้าวบิณฑ์ให้ผู้ตาย เพราะเชื่อว่าผู้ตายได้ไปสู่ โลกของบิดร คือ ปิตฤ โลกแล้ว เป็นสิ้นสุดช่วงกรทำพิธีเกี่ยวกับผู้ตาย

ทว่า บางกลุ่มบางพวก ไว้ทุกข์ตลอดชีวิตก็มี เช่นกรณีแม่ม่ายสามีตาย แต่นั่นมิใช่การปฏิบัติที่กำหนดไว้ตายตัว ทำเพียงบางกลุ่มบางพวก

ผมจึงไม่แน่ใจว่า ธรรมเนียมการไว้ทุกข์ของไทย มีกำหนดกี่วันกันแน่ หรือไว้ทุกข์จนถึงออกศพ (ประชุมเพลิง) หรือไว้ทุกข์เมื่องานพิธีสวดเสร็จสิ้น หรือกำหนดอย่างไรมาจากไหน

ใครทราบวานบอก จักขอบพระคุณยิ่ง

 

สุดท้ายในช่วงเวลาแห่งการไว้ทุกข์ที่ผมเคยประสบนั้น มิตรสหายท่านหนึ่งได้กล่าวว่า อย่าลืมภูมิปัญญาของคำว่า “ไว้ทุกข์”

ซึ่งหมายความว่า อย่าเพิ่งรีบลืม ปิดบัง กลบเกลื่อน “ความทุกข์” นั้น

ให้ “ไว้” ซะ มันร้อยวันก็ได้ ปีนึงก็ได้ ให้พิจารณามัน อยู่กับมัน จนกว่าจะเข้าใจความทุกข์ของตัว มิฉะนั้น การรีบลืมความทุกข์จะกลายเป็นปัญหาในระยะยาวของเราเอง

การไว้ทุกข์ในแง่นี้จึงเป็นภูมิปัญญาของคนโบราณ ที่จะให้เวลา และพื้นที่ว่าง โดยไม่กลบเกลื่อน หรือแกล้งลืม เพราะความทุกข์ในแง่หนึ่งก็เป็นสิ่งประเสริฐ ใครรู้จักทุกข์จึงจะพ้นทุกข์ได้

และเมื่อเข้าใจความทุกข์ ทางมีจริตไปในทางกรุณาบ้าง ก็จะเข้าใจทุกข์ของสรรพสัตว์ว่าไม่ต่างจากเรา จึงยิ่งเพิ่มพูนเมตตากรุณาขึ้นจากทุกข์ที่เราเผชิญเอง

พระพุทธะท่านถึงว่า ทุกข์เป็นอริยสัจจ์ เป็นความจริงอันประเสริฐนั่นแล