กิติมา อมรทัต ไรน่าน อรุณรังษี สองปัญญาชนมุสลิมร่วมสมัย (16) | จรัญ มะลูลีม

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม | จรัญ มะลูลีม

 

กิติมา อมรทัต ไรน่าน อรุณรังษี

สองปัญญาชนมุสลิมร่วมสมัย (16)

 

กิติมา อมรทัต กับงานเขียนและงานแปล

ว่าด้วยโลกมุสลิม (ต่อ)

อิมามโคมัยนี ผู้พลิกประวัติศาสตร์โลก

กิติมา อมรทัต แปลจาก Imam Knomeini who overturned the world history เป็นการรวบรวมบทความจากการสัมมนาในหัวข้อ อิมามกับการฟื้นฟูจิตวิญญาณทางศาสนาในโลกปัจจุบัน (Seminar on Imam Khomeini and the revival of religious spirituality in the contemporary world) ตีพิมพ์ในปี 2543 โดยสถาบันส่งเสริมการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับอิสลาม หนังสือเล่มนี้มีความยาว 205 หน้า

นับเวลาได้รวมสี่ทศวรรษกว่าแล้วที่ประเทศอิหร่านได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งปกครองแผ่นดินแห่งเปอร์เซียมาเป็นเวลาอันยาวนานนับสองพันห้าร้อยปี โดยมีกษัตริย์ไซรัสมหาราช (500 ปีก่อนคริสต์ศักราช) เป็นผู้สถาปนาอาณาจักรเปอร์เซีย และมาสิ้นสุดลงที่กษัตริย์มุฮัมมัด ชาฮ์ ปาห์เลวี (ค.ศ.1979) แห่งราชวงศ์ปาห์เลวี มาสู่การปกครองในระบอบอิสลามอันสมบูรณ์แบบของท่านศาสดามุฮัมมัด (ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน)

การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่การปกครองในระบอบอิสลามนั้น กระทำโดยผ่านทางการปฏิวัติ ซึ่งเป็นหนึ่งเดียวที่ไม่เหมือนกับการปฏิวัติที่เกิดขึ้นในประเทศอเมริกา ฝรั่งเศส รัสเซีย หรือในประเทศจีน ซึ่งเป็นการปฏิวัติไปสู่ระบอบทุนนิยมเสรีและระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ตามลำดับ

ทั้งนี้ เพราะการปฏิวัติอิสลามในอิหร่านเกิดขึ้นจากความต้องการของประชาชนชาวอิหร่านผู้ซึ่งเป็นมุสลิมและประสงค์ที่จะนำเอาหลักคำสอนของอิสลาม ซึ่งมีคัมภีร์อัลกุรอานเป็นธรรมนูญสูงสุดมาใช้ปกครองประเทศของตนแทนระบอบการปกครองอื่นๆ ที่ไม่ใช่อิสลาม โดยมีผู้นำในการปฏิวัติอิสลามเป็นผู้ทรงความรู้ในทางศาสนา

ผู้นำที่ยิ่งใหญ่แห่งยุคสมัยที่ได้นำประชาชนชาวอิหร่านไปสู่การปฏิวัติเพื่อโค่นล้มระบอบการปกครองที่เป็นทรราชย์ของกษัตริย์ชาฮ์ ปาห์เลวีจนได้รับความสำเร็จ อันเป็นที่งงงวยและตะลึงงันของชาวโลกทั้งสองที่เป็นมุสลิมและที่ไม่ใช่มุสลิม ก่อนที่คริสต์ศตวรรษที่ 20 จะปิดฉากลง ก็คือท่าน อยาตุลลอฮ์ รูฮุลลอฮ์ อัล มูซาวี อัล โคมัยนี หรือเป็นที่รู้จักกันในนามอิมามโคมัยนีนั่นเอง

ด้วยเหตุประการฉะนี้ ผู้จัดพิมพ์จึงได้ตั้งชื่อหนังสือเล่มนี้ซึ่งเป็นชีวประวัติของอิมามโคมัยนี พร้อมด้วยภาพประกอบชีวิตของท่าน รวมทั้งบทความและคำบรรยายที่ได้นำเสนอในการประชุมสัมมนาเรื่อง การฟื้นฟูจิตวิญญาณในทางศาสนาของอิมามโคมัยนีในสมัยปัจจุบัน ณ ห้องประชุมสารนิเทศ หอประชุมใหญ่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2543 ด้วยชื่อที่ว่า “อิมามโคมัยนีผู้พลิกประวัติศาสตร์โลก”

ทั้งนี้ ก็เพื่อให้สอดคล้องกับคำกล่าวของท่านดังว่า… “ประชาชาติของเราเปลี่ยนแปลงเส้นทางของประวัติศาสตร์โดยสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ขึ้นมา”

การปฏิวัติอิสลามในอิหร่านที่อิมามโคมัยนีนำมาสู่โลกปัจจุบัน มิใช่จะเป็นคุณานุประโยชน์เฉพาะประชาชาติมุสลิมเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์อันอเนกอนันต์กับมวลมนุษยชาติอีกโสดหนึ่งด้วย ซึ่งมนุษยชาติทั้งมวลจะได้ใช้คำเทศนาสั่งสอนของท่านเป็นประดุจดังดวงประทีปส่องนำทางไปสู่มรรคาอันเป็นที่ถวิลหาของจิตวิญญาณที่บริสุทธิ์สะอาดทุกๆ ดวงที่ปรารถนาในคำสั่งสอนของคัมภีร์อัลกุรอาน และครอบครัวผู้สะอาดบริสุทธิ์ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน)

 

อเมริกันกับยิว

กิติมา อมรทัต แปลจากปลายปากกาของเฮนรี่ ฟอร์ด นักอุตสาหกรรมผู้มีชื่อเสียงของอเมริกา นับเป็นงานชิ้นสำคัญที่มาจากปลายปากกาของชาวอเมริกันเองที่ได้แสดงความรู้สึกต่อชาวยิวอย่างตรงไปตรงมา

ในยุคสมัยที่มหฎิร มุฮัมมัด อดีตผู้นำของมาเลเซียตั้งใจพูดถึงอิทธิพลของชาวยิวที่มีสหรัฐอเมริกาทำงานเป็นตัวแทนให้ก่อนที่ตัวเขาจะลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น ทำให้เรื่องราวของชาวยิวและลัทธิไซออนิสต์กลับมาได้รับความสนใจจากผู้คนจำนวนมาก อย่างไม่เคยเป็นมาก่อนอีกครั้งหนึ่ง

หนังสือ อเมริกันกับยิว ซึ่งเฮนรี่ ฟอร์ด ตั้งใจเขียนขึ้นนี้ถูกกระตุ้นจากความรู้สึกในความเป็นอเมริกันและความรักชาติของเขา จุดมุ่งหมายสำคัญของเขาก็คงไม่ต่างไปจากจุดมุ่งหมายของเดวิด ดุ๊ก อดีตนักการเมืองแห่งรัฐลุยเซียนา ที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับชาวยิวเพื่อบอกกล่าวถึงอันตรายที่จะเข้ามาทำลายสวัสดิการของชาวอเมริกัน

เฮนรี่ ฟอร์ด เริ่มงานเขียนของเขาจากประวัติของชาวยิวในสหรัฐอเมริกา ตามด้วยแนวคิดเกี่ยวกับอิทธิพลของชาวยิว การตั้งคำถามว่าโดยข้อเท็จจริงแล้ว ชาวยิวเป็นผู้สังหารหรือเป็นเหยื่อของการสังหารกันแน่ จากนั้นเขาก็เริ่มวิเคราะห์ถึงความเป็นมาของขบวนการไซออนิสต์ ที่มุ่งสถาปนาความมั่นคงทางการเมืองให้แก่ชาวยิว การใช้อำนาจของชาวยิว และที่สำคัญเกี่ยวเนื่องมาถึงปัจจุบันก็คือ อิทธิพลของชาวยิวในการเมืองของสหรัฐอเมริกา ซึ่งกลายมาเป็นหัวข้อสำคัญที่คนส่วนใหญ่ในตะวันออกกลางถือว่าเป็นสาเหตุแห่งความไม่สงบในภูมิภาค

นอกจากนี้ เฮนรี่ ฟอร์ด ยังได้กล่าวถึงอิทธิพลของชาวยิวในด้านอื่นๆ ที่มีความสำคัญในการสร้างภาพของชาวยิวอย่างมากอีกด้วย นั่นคืออิทธิพลของชาวยิวที่มีต่อระบบการเงิน การละคร ภาพยนตร์ การควบคุมหนังสือพิมพ์ได้อย่างเห็นภาพที่สุด

หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะอย่างยิ่งต่อผู้อ่านที่ต้องการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ช่วงสำคัญของโลกที่มีตัวละครเป็นชาวยิวจากปลายปากกาของชาวอเมริกันเอง ที่ประเทศของพวกเขาได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าช่วยเหลือชาวยิวแบบหลับหูหลับตาและไร้เหตุผล

 

เลือดไม่ใช่น้ำตา

เป็นลำนำจากปาเลสไตน์ที่กิติมา อมรทัต แปลและเรียบเรียง โดยกิติมา อมรทัต ได้กล่าวถึงชาวปาเลสไตน์ในคำอุทิศของผู้แปลว่า ขออุทิศความพยายามเพื่อพี่น้องปาเลสไตน์ทั้งมวลผู้เป็นเหยื่อความอยุติธรรมของผู้ชังแผ่นดิน

เป็นผลงานของสำนักพิมพ์อัล-อีหม่าน ของอับดุรเราะห์มาน (สมาน) อู่งามสิน ที่ผลิตงานว่าด้วยการต่อสู้ของชาวปาเลสไตน์อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของบทกวีและวรรณกรรม

หนังสือรวมบทกวีของชาวปาเลสไตน์เลือดไม่ใช่น้ำตานำเอาผลงานของนักกวีชาวอาหรับมานำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นงานของมะหฺมูด ดาร์วิช ฟัดวา ตูคอน รอชิด ฮุสเซน เฟาซี อัสมัร ซามิฮ์ อัล-กัซซิม สุลาฟะฮ์ อัล-เฮกาวี โมยีน เบซิสโซ อังโตย ญบารอ ฮุสเซ็น มัรวาน ซาเล็ม ญูบรอน เตาฟีก ซายาด แม้ว่าบทกวีที่โดดเด่นที่สุดจะเป็นของมะหฺมูด ดาร์วิช ก็ตาม

โดยกิติมา อมรทัต ได้กล่าวถึงชาวปาเลสไตน์เอาไว้ในคำนำของหนังสือเล่มนี้ว่า การต่อสู้เพื่อปลดปล่อยชาติของประชาชนปาเลสไตน์ได้ดำเนินมาเป็นเวลาหลายสิบปี และได้กลายเป็นแหล่งกลางในการต่อสู้กับพลังแห่งจักรวรรดินิยม ลัทธิล่าเมืองขึ้น และลัทธิฟาสซิสม์ใหม่

ในขณะที่การต่อสู้ด้านการเมืองและการต่อสู้โดยอาวุธของกลุ่มต่างๆ ของชนชาตินี้ดำเนินไปจนได้รับความเข้าใจและการยกย่องสรรเสริญในความกล้าหาญและเสียสละจากผู้มีใจเป็นธรรมนั้น สิ่งที่สามารถชี้ให้เห็นเอกลักษณ์ประจำชาติของพวกเขาได้อย่างแท้จริงก็คือข้อเขียนในทางสร้างสรรค์ของพวกเขาโดยเฉพาะบทกวี บทกวีเหล่านี้เผยให้เห็นความรู้สึก บุคลิกภาพ ความล้ำลึกแห่งห้วงอารมณ์และความกว้างไกลแห่งสายตา รวมทั้งขอบเขตด้านวัฒนธรรม และวุฒิปัญญาของพวกเขาด้วย

ในที่นี้ขอยกเอาบทกวีชิ้นสำคัญของมะหฺมูด ดาร์วิช ซึ่งสะท้อนชีวิตชาวปาเลสไตน์ผู้ไร้บ้านมานำเสนอได้อย่างเห็นภาพดังนี้

ขอมอบจุมพิตคำทักทายนี้แก่แม่สุดที่รัก ฉันจะกล่าวอะไรอีกได้เล่า จะเริ่มต้นที่ตรงไหน และจบลงที่ตรงไหน กาลเวลาผ่านไปไม่หยุดยั้ง ฉันหนาว ฉันอ้างว้าง ฉันมีแต่ขนมปังแห้งอยู่ก้อนหนึ่ง ซึ่งคอยแบ่งเบาภาระหัวใจให้ฉัน และยุติกระแสแห่งความทุกข์ของฉันไว้

ฉันจะเริ่มตรงไหนดี ทุกสิ่งที่ได้กล่าวไปแล้ว หรือกำลังจะถูกกล่าวออกมา มิอาจจบลงด้วยการโอบกอด และมิอาจนำผู้ลี้ภัยคืนสู่เหย้า หรือทำให้นกที่เหนื่อยอ่อนปีกงอกขึ้นมาได้ จะเริ่มต้นอย่างไรดี ทักทายด้วยจุมพิตและแล้วจะมีอะไรอีกหนอ…?

ฉันบอกแก่วิทยุว่าช่วยบอกแม่ทีเถิดว่าฉันสบายดี ฉันกล่าวแก่นกกระจอก “โอ้นกที่รักเอ๋ย” หากเจ้าบินไปที่นั่น จงอย่าลืมบอกแม่ว่าข้าสบายดี” สบายดีจริงๆ เพราะฉันยังแลเห็นสิ่งต่างๆ ดวงเดือนยังฉายแสง ฉันสวมเสื้อตัวเก่าของฉันอยู่ แขนของมันขาดเสียแล้ว แต่ฉันก็ปะมันไว้จนกระทั่งใช้การได้

ตอนนี้ฉันโตแล้ว อายุยี่สิบกว่า ฉันแบกภาระแห่งชีวิตไว้เหมือนคนโตๆ ฉันทำงานอยู่ในภัตตาคาร ล้างจาน ชงกาแฟให้ลูกค้า ฝืนยิ้มฉาบไว้บนหน้า เพื่อลูกค้าสบายใจ ครั้งหนึ่งเพื่อนถามฉันว่า “เธอมีขนมปังสักก้อนไหม” เขาบอกว่าเขาหิว โอ้แม่จ๋า “ชีวิตจักมีค่าอันใดแก่มนุษย์ ที่เขานอนหิวโหยคืนแล้วคืนเล่า…?”

แม่จ๋า ฉันสบายดี ฉันมีขนมปังก้อนหนึ่งและผักอีกนิดหน่อย ฉันฟังข่าวจากบรรดาผู้พลัดบ้าน จากเครื่องรับวิทยุ พวกเขาต่างกล่าวว่า “เราสบายดี” ไม่มีใครเลยที่พูดว่า “ฉันไม่มีความสุข” ไม่มีใครที่กล่าวว่า “ฉันแสนเศร้า”

บอกลูกซิว่าพ่อเป็นอย่างไรบ้าง พี่ยังขอการอำนวยพรอยู่อีกหรือเปล่า พ่อยังรักเด็กๆ แผ่นดิน และต้นมะกอกอยู่อีกไหม? และพี่น้องของลูกเล่า แม่จ๋า

พวกเขาได้เป็นครูไปอย่างที่พ่อเคยบอกไว้หรือเปล่านะ แม่จ๋า? และน้องสาวคนเล็กของฉันเล่า เธอคงโตเป็นสาวแล้ว และคอยรับจดหมายฉัน? ย่ายังคงหมอบอยู่ข้างประตูบ้าน อวยพรให้คนทั้งซ้ายขวาอยู่หรือเปล่า? แล้วบ้านเก่าของเราเล่า เตาไฟและประตูกว้างๆ นั้นเป็นอย่างไร?

แม่รู้ไหมว่าอะไรทำให้ลูกน้ำตาตก ถ้าคืนไหนลูกล้มป่วยไป ค่ำคืนจะเมตตาแก่ลูกหรือ ลูกเป็นผู้ลี้ภัยมาอยู่ที่นี่ มิเคยได้กลับไปบ้านเลย ต้นไม้ที่ลูกล้มลงไปทับ จะจำได้ไหมจ๊ะแม่ – ว่าสิ่งที่ตายไปนี้คือมนุษย์ มันจะปกป้องศพลูกไว้จากแร้งกาหรือไม่หนอ…?

แม่จ๋า แม่ที่รัก ลูกไม่รู้ว่าทำไมลูกจึงเขียนจดหมายนี้ขึ้นมา บุรุษไปรษณีย์คนไหนกันจะนำมันไปให้แม่ ผืนแผ่นดิน ท้องทะเลและอากาศถูกปิดกั้นหมดแล้ว และแม่พ่ออาจสิ้นชีพไปแล้วก็ได้ มิฉะนั้นก็อาจอยู่โดยไม่มีแหล่งที่อยู่เหมือนกับลูก คุ้มค่าไหมนะที่จะมาพเนจรต่อไป ไร้ประเทศ…ไร้บ้าน…ไร้ตำบลที่อยู่โดยสิ้นเชิง…

บทกวีเหล่านี้แสดงถึงความคิด ความฝันและความหวังของชาวปาเลสไตน์ทั้งมวล เลือดไม่ใช่น้ำตา มีความยาว 201 หน้า ราคา 120 บาท ตีพิมพ์ในปี 2545