ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในเมืองเก่าอยุธยา : ราชวงศ์จักรี คณะราษฎร และการปฏิสังขรณ์อดีต (7) | ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในเมืองเก่าอยุธยา

: ราชวงศ์จักรี คณะราษฎร และการปฏิสังขรณ์อดีต (7)

 

นับตั้งแต่การจัดงานฉลองรัชมงคล ร.ศ.126 เป็นต้นมา หากไม่นับพระราชวังเดิมและวัดพระศรีสรรเพชญ์ วิหารพระมงคลบพิตรคือโบราณสถานสำคัญอันดับต้นๆ ของกรุงเก่า ที่ทุกคนต้องไปเยี่ยมเยือน

อาจเป็นเพราะด้วยความยิ่งใหญ่ของวิหาร ที่แม้จะเหลือเพียงซากปรักหักพัง แต่ด้วยขนาดมหึมาของเสาและแนวผนังกำแพงสูงใหญ่ที่หลงเหลืออยู่ซึ่งเข้ามาช่วยสร้างความรู้สึกน่าทึ่งให้แก่ผู้มาเยือน

ที่สำคัญคือ องค์พระประธานขนาดใหญ่ที่มีการออกแบบความสัมพันธ์ระหว่างองค์พระกับพื้นที่ภายในในลักษณะที่คับแน่นเกือบเต็มพื้นที่ ทำให้คนที่เดินเข้าไปภายในวิหารจะปะทะเข้าทันทีกับความใหญ่โตขององค์พระในระยะประชิดที่บังคับให้เราต้องมองแหงนคอตั้งบ่า

การออกแบบเช่นนี้ทำให้เรารู้สึกถึงความยิ่งใหญ่มากขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ ซึ่งจะช่วยเสริมต่อจินตนาการความยิ่งใหญ่เมื่อครั้งวิหารยังมีสภาพสมบูรณ์มากขึ้นไปอีก (กรณีวิหารวัดพนัญเชิงก็มีบรรยากาศในลักษณะแบบเดียวกัน)

ด้วยความพิเศษดังกล่าว จึงไม่แปลกที่ชนชั้นนำสยามสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ชนชั้นนำไทยหลังการปฏิวัติ 2475 ตลอดจนแขกบ้านแขกเมืองจากต่างประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ประชาชนทั่วไป หากมีโอกาสเดินทางไปเมืองเก่าอยุธยา แทบทุกคนต้องมาเยี่ยมชม

ภาพถ่ายเก่าอยุธยาที่เหลือมาถึงปัจจุบัน คือหลักฐานที่ยืนยันข้อเท็จจริงนี้ เพราะเรามักพบมุมยอดนิยมที่สุดมุมหนึ่ง คือ ภาพถ่ายด้านหน้าร่วมกับวิหารพระมงคลบพิตร

ที่มาภาพ : https://www.matichon.co.th/columnists/news_496196

คงไม่เกินไปนักหากจะสรุปว่า วิหารพระมงคลบพิตร คือหนึ่งใน “ภาพตัวแทน” ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งที่ช่วยให้ชนชั้นนำสยาม (และคนไทยทุกคนในเวลาต่อมา) สามารถสัมผัสกับ “อดีต” อันยิ่งใหญ่ของอยุธยา (ของสยามและของประเทศไทย) อย่างเป็นรูปธรรมในรูปแบบสามมิติ

สิ่งนี้คือพลังและบทบาทหน้าที่ของโบราณสถานในการก่อร่างสร้างความรู้สึกอันยิ่งใหญ่ของอดีตที่สัมผัสจับต้องได้ ประสบการณ์เช่นนี้เป็นสิ่งที่การอ่านเอกสารลายลักษณ์ เช่น พงศาวดาร ให้ไม่ได้ (หรือให้ได้แต่มีพลังไม่มากเท่า) เราต้องมายืนต่อหน้าและภายในโบราณสถานเท่านั้นถึงจะเกิดความรู้สึกเช่นนี้ได้

ด้วยลักษณะดังกล่าว ทำให้เกิดแนวคิดในการปฏิสังขรณ์องค์พระและวิหารพระมงคลบพิตรให้คืนกลับสู่สภาพเดิมจากหลายฝ่าย ครั้งสำคัญเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2463 ที่มีการซ่อมส่วนยอดเมาฬีขององค์พระประธานและมือข้างขวาด้วยปูนปั้น โดยพระยาโบราณราชธานินทร์ สมุหเทศาภิบาล

และอีกครั้งในปี พ.ศ.2474 ที่มีการปฏิสังขรณ์ฐานพระประธานและพื้นที่โดยรอบวิหาร นำโดยคุณหญิงอมเรศร์สมบัติ

ที่น่าสนใจคือ ในครั้งนี้มีการระดมทุนจากทั้งเจ้านายและประชาชนได้ถึง 78 คน ได้เงินทั้งสิ้น 5,452.66 บาท ซึ่งสะท้อนให้เราเห็นถึงความสำคัญของวิหารแห่งนี้ในทัศนะของชนชั้นนำสยาม

แนวคิดของคุณหญิงอมเรศร์สมบัติยังไปไกลถึงการปฏิสังขรณ์วิหารให้กลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง จนเป็นที่มาให้ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทำการเขียนแบบร่างสำหรับการปฏิสังขรณ์ขึ้นเมื่อราวปี พ.ศ.2480 อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจริง

ที่มาภาพ : https://www.matichon.co.th/columnists/news_496196

ล่วงมาถึงปี พ.ศ.2498 สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญที่นำมาสู่การบูรณะวิหารครั้งใหญ่ คือการเดินทางมาเยือนไทยของนายกรัฐมนตรีพม่า อู นุ

จากบทความของ ลลิตา หาญวงษ์ เรื่อง “ไทยรบพม่า…รำลึกถึงอู นุ นึกถึงจอมพล ป. : ย้อนดูยุคทองความสัมพันธ์ไทย-พม่า” ได้อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างจอมพล ป. และอู นุ เอาไว้น่าสนใจว่า

“…ในสมัยนายกรัฐมนตรีอู นุ ซึ่งปกครองพม่าระหว่าง ค.ศ.1948-1958 (พ.ศ.2491-2501) และ 1960-1962 (พ.ศ.2503-2505) รัฐบาลพม่าแสดงออกถึงมิตรจิตมิตรใจกับไทยเป็นพิเศษ อาจเป็นเพราะว่าทั้งพม่าและไทยเป็นประเทศพุทธ และจอมพล ป.พิบูลสงคราม ผู้นำไทยในเวลานั้นก็มีนโยบายทางการเมืองและเศรษฐกิจแบบชาตินิยมใกล้เคียงกับพม่า เรียกได้ว่าผู้นำทั้งสอง ‘คลิก’ และ ‘มีเคมีต้องกัน’ เมื่อทั้งอู นุ และจอมพล ป. ต่างประสบเหตุทางการเมืองจนเป็นเหตุให้ต้องวางมือทางการเมืองแล้ว ทั้งสองครอบครัวก็ยังติดต่อสัมพันธ์ ต่างมีมิตรจิตมิตรใจให้กันต่อมาอีกหลายทศวรรษ…”

ด้วยความสัมพันธ์อันดีเช่นนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2498 นายกรัฐมนตรีอู นุ จึงได้เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ โดยในการมาครั้งนั้น อู นุ ได้ร้องขอให้รัฐบาลไทยพาคณะรัฐบาลจากพม่าเดินทางไปเยี่ยมชมโบราณสถานที่อยุธยา เพื่อสักการะวัดสำคัญต่างๆ

ที่สำคัญที่สุดคือ อู นุ ได้มอบเงิน 2 แสนบาท เพื่อปฏิสังขรณ์วิหารพระมงคลบพิตร และได้ทำพิธีเพื่อขอขมาต่อการที่กองทัพพม่าได้เคยยกทัพเข้าตีและเผาอยุธยา

นอกจากนี้ อู นุ ยังได้นำต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่นำมาจากพม่ามาปลูกที่วิหารพระมงคลบพิตร และวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขนด้วย

รัฐบาลจอมพล ป. ในเวลาต่อมาได้ทำการสมทบเงินเพิ่มอีก 2.5 แสนบาท และมอบหมายให้กรมศิลปากรออกแบบวิหารให้กลับคืนสภาพสมบูรณ์ดังเดิมอีกครั้ง

 

ในการปฏิสังขรณ์ กรมศิลปากรได้นำแบบร่างเดิมที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ ได้เคยร่างไว้เมื่อ พ.ศ.2480 มาเขียนพัฒนาต่อจนเป็นแบบก่อสร้าง โดยมีกรมโยธาเทศบาลดำเนินการก่อสร้าง แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.2500

ในเชิงความหมาย การปฏิสังขรณ์วิหารพระมงคลบพิตรดังกล่าว ในด้านหนึ่งจึงอาจพูดได้ว่า เป็นโครงการที่เกิดขึ้นเพื่อเป้าหมายในการเป็นสัญลักษณ์ของการสมานบาดแผลประวัติศาสตร์ระหว่างไทยกับพม่า

หลักฐานโดยอ้อมที่ช่วยยืนยันแนวคิดนี้คือ บทความ “’70 ปี’ ความสัมพันธ์ไทย-พม่า และบทสนทนากับ ‘ทายาทอูนุ'” โดย สุเจน กรรพฤทธิ์ ที่ได้เขียนถึงบทสัมภาษณ์ ทัน ทัน นุ หนึ่งในทายาทของอู นุ ไว้เมื่อ พ.ศ.2561 มีใจความตอนหนึ่งว่า

“…พ่อพูดถึง ‘พิบูล’ (คำเรียกจอมพล ป. ของอู นุ) บ่อยมาก บอกเป็นเพื่อนสนิท เป็นคนดี…พ่อเล่าว่าสาเหตุที่ไทยไม่ไว้ใจพม่า ส่วนหนึ่งเพราะเรื่องที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ แม้คนรุ่นเราไม่เกี่ยวข้อง พ่อขอโทษ บอกว่าคนไทยและพม่าควรลืมเรื่องนี้และเดินไปข้างหน้าด้วยกัน…”

นอกจากนี้ ในปลายปี พ.ศ.2498 จอมพล ป. และท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ยังได้เดินทางไปเยือนพม่าเช่นกัน ซึ่งหนึ่งในกิจกรรมที่เดินทางไปทำคือ เป็นประธานในพิธีสังคายนาพระไตรปิฎก

และในวันนั้น จอมพล ป.ได้มอบพระพุทธรูปปางลีลา พร้อมเงินอีก 20,000 จ๊าด เพื่อให้รัฐบาลพม่านำไปซื้อทองปิดพระเจดีย์ชเวดากอง

 

การเดินทางเยือนไทยของอู นุ และการเดินทางเยือนพม่าของจอมพล ป. ในปี พ.ศ.2498 ที่ตามมาด้วยเหตุการณ์มอบเงินแลกกันเพื่อนำไปบูรณะโบราณสถานสำคัญของทั้งสองชาติ ในทัศนะผม เป็นปรากฏการณ์ “การปฏิสังขรณ์อดีต” ในรูปแบบและความหมายที่น่าสนใจ แตกต่างจากลักษณะปกติที่ผ่านมาอย่างสิ้นเชิง

ในอดีต (และแม้แต่ปัจจุบันในหลายครั้ง) แทบทั้งหมดของการปฏิสังขรณ์โบราณสถานในพื้นที่เมืองเก่าอยุธยาล้วนมีเป้าหมายหลักอย่างหนึ่งคือ การปลุกเร้าและปลูกฝังอุดมการณ์ชาตินิยมไทย ซึ่งแน่นอนย่อมพลอยทำให้เกิดความเกลียดชังมากบ้างน้อยบ้างต่อพม่า ในฐานะจำเลยคนที่หนึ่งที่ทำให้อยุธยาต้องถูกทิ้งร้างและเสื่อมโทรมลง

แต่ในกรณีวิหารพระมงคลบพิตรกลับเป็นไปในทางตรงข้าม เพราะเป็นการปฏิสังขรณ์ที่มีเป้าหมาย (ไม่ว่าจะตั้งใจอย่างแท้จริง หรือเพียงหวังผลทางการเมืองก็ตาม) เพื่อลดทอนความเกลียดชังทางประวัติศาสตร์ระหว่างไทยกับพม่าลง

ยิ่งการเดินทางไปอยุธยาในครั้งนั้นของอู นุ ยังมาพร้อมกับการทำพิธีขอขมาต่อการที่กองทัพพม่าได้เคยยกทัพเข้าตีและเผาอยุธยา ยิ่งทำให้การเดินทาง รวมไปถึงการปฏิสังขรณ์วิหารพระมงคลบพิตร กลายมาเป็นสัญลักษณ์ที่พิเศษมากกว่าการปฏิสังขรณ์โดยทั่วไป

อย่างไรก็ตาม นัยยะและความหมายดังกล่าว เป็นที่น่าเสียดายว่าไม่ได้รับการขยายความและยกระดับให้เป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญเท่าที่ควรในพื้นที่เมืองเก่าอยุธยา

โดยส่วนตัว สิ่งนี้คือตัวอย่างสำคัญที่เราควรโปรโมตให้มากขึ้น เน้นให้สังคมเห็นว่าการปฏิสังขรณ์โบราณสถาน เราสามารถสร้างความหมายเชิงบวกที่เป็นประโยชน์ต่อการอยู่ร่วมกันในสังคมโลกได้

ไม่จำเป็นเสมอไปที่จะต้องพูดถึงแต่สงคราม ความเกลียดชัง และการปลูกฝังอุดมการณ์ชาตินิยม

ใต้ภาพ —

แบบร่างวิหารพระมงคลบพิตร โดย สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ พ.ศ.2480

ที่มาภาพ : วารสารศิลปากร ปีที่ 2 เล่ม 6 พ.ศ.2502

จอมพล ป. พิบูลสงคราม, ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม, อู นุ และภรรยา ถ่ายเมื่อครั้งอู นุ และคณะเยือนไทยอย่างเป็นทางการ

ที่มาภาพ : https://www.matichon.co.th/columnists/news_496196