คุยกับทูต | วิลเฮ็ล์ม ด็องโค บทบาทของนักเขียน-นักการทูตออสเตรีย (1)

“ตอนเป็นนักเรียน ผมไม่เคยมีความคิดว่าจะเป็นนักการทูต หลังสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยซาลซ์บูร์ก (Salzburg) ในออสเตรียปี1987 จึงไปศึกษาต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยโตเกียว ทำให้ได้พบกับภริยา “หยาน” (Yan) ซึ่งมาจากเซี่ยงไฮ้และเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยโตเกียวเช่นกัน ตอนนั้นผมมีอายุ 29 ปีแล้ว จึงต้องการสร้างครอบครัว ขณะเดียวกันก็เริ่มมองหางานประจำ”

เอกอัครราชทูตออสเตรียและมาดามหยาน ด็องโค

นายวิลเฮ็ล์ม มัคซีมีลีอาน ด็องโค (Wilhelm Maximilian Donko) เอกอัครราชทูตออสเตรียประจำประเทศไทย เริ่มต้นการสนทนาด้วยท่วงท่าสบายๆ ในห้องอันกว้างใหญ่ ผนังประดับด้วยภาพเขียนงดงามตามแต่จินตนาการที่เกิดจากความสนใจในสิ่งรอบตัว ผลงานของมาดามหยาน ด็องโค ณ ทำเนียบทูตสีขาวอันสงบเงียบ แวดล้อมไปด้วยต้นไม้สูงใหญ่ บริเวณเดียวกับสถานเอกอัครราชทูตออสเตรีย ซอยนันทา-โมซาร์ท, สาทร

“การเมือง ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ฯลฯ เป็นเรื่องที่ผมให้ความสนใจตลอดมา นำให้เข้ามาสู่งานการทูต โดยเริ่มต้นจากหนังสือพิมพ์ออสเตรียซึ่งผมได้รับมาจากสถานเอกอัครราชทูตออสเตรียในกรุงโตเกียว จึงทราบจากหน้าโฆษณาว่า กระทรวงการต่างประเทศ ในกรุงเวียนนา กำลังมองหาผู้สมัครที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเพื่อสอบเข้าทำงานบริการทางการทูต ซึ่งผมคิดว่าน่าสนใจมาก แล้วทำไมจะไม่ลองสมัคร”

นายวิลเฮ็ล์ม-มัคซีมีลีอาน-ด็องโค-เอกอัครราชทูตออสเตรีย

“หลังผ่านการสอบในปี 1990 ผมก็ได้เข้ารับราชการในแผนกการลดอาวุธและการควบคุมอาวุธกระทรวงการต่างประเทศออสเตรียในปีเดียวกัน เป็นนักการทูตในต่างประเทศครั้งแรกเมื่อปี 1992 โดยประจำสถานเอกอัครราชทูตออสเตรียในกรุงแอลเจียร์ ประเทศแอลจีเรีย”

“หลังจากนั้น ได้กลับไปทำงานที่กระทรวงการต่างประเทศออสเตรีย คราวนี้เป็นแผนกเพื่อการบูรณาการสหภาพยุโรปและการเจรจาเพื่อเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของออสเตรีย ต่อมา หลังจากนั้นเป็นการประจำสถานทูตของเราในกรุงมอสโก สหพันธรัฐรัสเซีย และกรุงอังการา สาธารณรัฐตุรกี หรือสาธารณรัฐทูร์เคีย ตามลำดับ”

“ผมไปประจำในฐานะเอกอัครราชทูตเป็นครั้งแรกที่กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ต่อมาคือ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ก่อนจะกลับไปประจำกระทรวงการต่างประเทศ กรุงเวียนนาอีกครั้ง แผนกเอเชียตะวันออก เป็นเวลาสี่ปี”

“ออสเตรียมีระบบพื้นฐานในการไปทำงานในต่างประเทศ คือ ประจำสองประเทศ สองวาระติดต่อกันรวมแปดปี (ประมาณสี่ปีต่อหนึ่งวาระ) แล้วกลับไปประจำกระทรวงการต่างประเทศ กรุงเวียนนาอีกสี่ปี”

“ผมได้รับแต่งตั้งเป็นเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐออสเตรียประจำกรุงออสโล ราชอาณาจักรนอร์เวย์เมื่อปี 2017 และปัจจุบัน เป็นเอกอัครราชทูตประจำกรุงเทพฯ มีภารกิจครอบคลุมประเทศ สปป. ลาว พม่า กัมพูชาและไทย ตั้งแต่เดือนเมษายน ที่ผ่านมา”

“ตอนที่เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ ยังคงมีสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 19 ซึ่งผมคิดว่าเวลาที่มานั้นสมบูรณ์แบบ คือเรากักตัวในโรงแรมเพียงหนึ่งคืน หลังการทดสอบ PCR เป็นลบ ก็สามารถย้ายไปเข้าพักที่ทำเนียบได้ในวันถัดไป”

“อยู่เพียงสัปดาห์แรก ประเทศไทยก็สามารถกลับมาเปิดประเทศใหม่ได้อีกครั้งหลังโควิด -19 เพราะผมได้เห็นผู้คนมากมายพากันออกไปร่วมงานตามสถานที่ต่างๆเป็นครั้งแรก หลังจากที่ห่างหายกันไปนานมาก”

“ยิ่งไปกว่านั้น หลังจากมาอยู่ที่นี่ได้ไม่ถึงสามเดือน ผมโชคดีมากที่ได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายอักษรสาส์นตราตั้ง เป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐออสเตรียประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ที่ผ่านมา เป็นพระราชพิธีที่งดงามและประทับใจมาก”

นายวิลเฮ็ล์ม มัคซีมีลีอาน ด็องโค เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายอักษรสาส์นตราตั้ง เป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐออสเตรียประจำประเทศไทย

ไทยและออสเตรียมีสัมพันธไมตรีที่ดีต่อกันมาอย่างช้านาน

“ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างออสเตรีย-ฮังการีและราชอาณาจักรสยาม สรุปได้เลยว่าดีมาก ทั้งสองประเทศได้จัดทำสนธิสัญญาทางไมตรี พาณิชย์และการเดินเรือ (Treaty of Friendship, Commerce and Navigation) เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2412 หรือปี 1869 โดยมีเรือรบออสเตรียสองลำมาเยือนกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก”

“นั่นคือเมื่อ 153 ปีที่แล้ว ที่เอกอัครราชทูตออสเตรียคนแรกได้ถวายพระราชสาส์นตราตั้งต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ซึ่งต่อมาในปี 1897 ได้เสด็จฯเยือนสมเด็จพระจักรพรรดิฟรันซ์ โยเซฟ ที่ 1 (Emperor Franz Joseph I) ณ กรุงเวียนนา หลังจากนั้น ปี 1912  ออสเตรีย-ฮังการีจึงเปิดสถานทูตประจำกรุงเทพฯ”

ภาพประกอบ: หนังสือสัญญาไมตรี การค้า และการเดินเรือฯ พ.ศ.2412 ฉบับที่เก็บรักษาที่หอจดหมายเหตุแห่งออสเตรีย กรุงเวียนนา พร้อมสัตยาบันสารของสยามแนบท้ายหนังสือสัญญาฯ ซึ่งปรากฏพระปรมาภิไธยและพระราชลัญจกรของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระนามาภิไธยและพระตราของสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ และสัตยาบันสารของออสเตรีย-ฮังการี ซึ่งปรากฏพระปรมาภิไธยและพระราชลัญจกรของสมเด็จพระจักรพรรดิฟรันซ์ โยเซฟ ที่ 1
ภาพประกอบ: หนังสือสัญญาไมตรี การค้า และการเดินเรือฯ พ.ศ.2412 ฉบับที่เก็บรักษาที่หอจดหมายเหตุแห่งออสเตรีย กรุงเวียนนา พร้อมสัตยาบันสารของสยามแนบท้ายหนังสือสัญญาฯ ซึ่งปรากฏพระปรมาภิไธยและพระราชลัญจกรของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระนามาภิไธยและพระตราของสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ และสัตยาบันสารของออสเตรีย-ฮังการี ซึ่งปรากฏพระปรมาภิไธยและพระราชลัญจกรของสมเด็จพระจักรพรรดิฟรันซ์ โยเซฟ ที่ 1
ภาพประกอบ: หนังสือสัญญาไมตรี การค้า และการเดินเรือฯ พ.ศ.2412 ฉบับที่เก็บรักษาที่หอจดหมายเหตุแห่งออสเตรีย กรุงเวียนนา พร้อมสัตยาบันสารของสยามแนบท้ายหนังสือสัญญาฯ ซึ่งปรากฏพระปรมาภิไธยและพระราชลัญจกรของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระนามาภิไธยและพระตราของสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ และสัตยาบันสารของออสเตรีย-ฮังการี ซึ่งปรากฏพระปรมาภิไธยและพระราชลัญจกรของสมเด็จพระจักรพรรดิฟรันซ์ โยเซฟ ที่ 1

“เรายังได้รับเกียรติจากการเสด็จเยือนออสเตรียของพระราชวงศ์ไทยหลายครั้ง รวมทั้งการแต่งตั้งผู้แทนทางการทูตของไทยไปประจำกรุงเวียนนาตลอดมา ส่วนความสัมพันธ์ของเราทางด้านเศรษฐกิจกำลังพัฒนาไปด้วยกันเป็นอย่างดี และผมหวังว่า ต่อไป หลังโควิด-19 จะมีการแลกเปลี่ยนการเยี่ยมเยือนของบุคคลสำคัญทางการเมืองมากขึ้น”

สถานเอกอัครราชทูตออสเตรียสมัยก่อน

“แม้ออสเตรียและไทย จะอยู่ห่างไกลจากกันในเชิงภูมิศาสตร์และมีความแตกต่างกันมาก อย่างน้อยก็ในแวบแรก แต่ท้ายที่สุด เราก็มีความคล้ายคลึงที่สำคัญหลายประการ โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมบริการของเราที่มีพัฒนาการอย่างก้าวหน้า เพราะการท่องเที่ยวเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของเราทั้งสองประเทศ คิดเป็นประมาณ 12% ของ GDP”

“ซึ่งหมายความว่า การต้อนรับเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเราทั้งสองประเทศ ในสิ่งแวดล้อมที่ให้ความรู้สึกสะดวกสบาย พร้อมกับการให้บริการที่มีความเป็นกันเอง และความรู้สึกที่ดีให้กับทุกคน ซึ่งผมมองว่าเป็นความคล้ายคลึงกันอย่างชัดเจนของประเทศไทยและออสเตรีย ซึ่งต่างก็เป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวซึ่งกันและกันด้วย” •

 

รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน (CHANADDA JINAYODHIN)

[email protected]