อุษาวิถี (3) นิยามและปัญหาในการศึกษา (ต่อ) | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

อุษาวิถี (3)

นิยามและปัญหาในการศึกษา (ต่อ)

 

ทั้งนี้ โดยกระแสอินเดียนั้น ได้เข้ามามีบทบาทอยู่ในเศรษฐกิจการเมืองไทยตั้งแต่เมื่อครั้งที่สุโขทัยและอยุธยาเรืองอำนาจ เรื่อยมาตลอดสมัยรัตนโกสินทร์

ส่วนกระแสจีนเข้ามีบทบาทนับแต่สมัยรัตนโกสินทร์ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันโดยควบคู่ไปกับกระแสแรก

ภายใต้ความจริงที่ว่านี้ ในที่นี้จึงให้ความสำคัญกับการศึกษาหลักคิดที่มาจากกระแสอินเดียและจีน เพื่อทำความเข้าใจสาระสำคัญ สาเหตุ ภูมิหลัง สภาพแวดล้อม ตลอดจนฐานะทางประวัติศาสตร์ ทั้ง ณ ขณะที่ความคิดเหล่านี้ได้เกิดขึ้นและหลังจากนั้นไปแล้ว

ปัญหาก็คือว่า จากการสำรวจหลักคิดสำคัญๆ ที่มีบทบาทอยู่ในสังคมจีนและอินเดียนั้นนับว่ามีอยู่มิใช่น้อย และแต่ละหลักคิดก็ยังมีรายละเอียดของสาระสำคัญที่แตกต่างกันไป แต่ในขณะเดียวกัน ในบรรดาหลักคิดอันหลากหลายนี้ก็เป็นที่ยอมรับกันว่า มีหลักคิดอยู่ไม่กี่สำนักเท่านั้น ที่มีบทบาทหรืออิทธิพลอย่างมีนัยสำคัญอยู่ในสังคมทั้งสองอย่างต่อเนื่องยาวนาน

เพราะฉะนั้น การที่จะศึกษาหลักคิดให้หมดทุกสำนักจึงเป็นเรื่องที่เกินความจำเป็น ด้วยเหตุดังกล่าว ในที่นี้จึงเลือกศึกษาเฉพาะหลักคิดที่สำคัญของบางสำนักเท่านั้น ในขณะเดียวกันก็จะศึกษาเฉพาะสาระหลักที่สัมพันธ์กับการอธิบายกรอบความคิด “อุษาวิถี” เท่านั้น

โดยจะไม่ลงลึกไปถึงรายละเอียดดุจดังการศึกษาของนักปรัชญา

ในแง่นี้จึงความเข้าใจได้ว่า การศึกษาในที่นี้จะแตกต่างกับการศึกษาของผู้รู้ด้านปรัชญาตะวันออก และเข้าใจได้ว่า งานศึกษาในที่นี้มิใช่งานศึกษาทางด้านปรัชญาโดยตรงเช่นกัน

 

ประการที่สอง ดังที่ได้กล่าวไปแล้วในประการที่หนึ่ง ว่าการศึกษา “อุษาวิถี” ในที่นี้จะได้เชื่อมโยงเข้าหาบริบทของสังคมไทยอย่างเป็นด้านหลัก ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่า สังคมไทยได้รับเอากระแสหลักคิดจากอินเดียและจีนเข้ามา ซึ่งในที่นี้จะอธิบายสังคมไทยแต่เพียงภาพรวมเท่านั้น

ประเด็นปัญหาก็คือว่า การศึกษาในที่นี้จะไม่ระบุว่า หลักคิดจากอินเดียหรือจีนนี้ปรากฏอยู่ในสังคมไทยตรงไหนหรืออย่างไร เพราะสังคมไทยก็ไม่ต่างกับสังคมอื่นๆ ที่ทั้งก่อนและหลังที่จะรับเอาหลักคิดจากที่อื่นมาใช้นั้น สังคมไทยเองก็มีหรือรักษาความคิดความเชื่อเดิมของตนอยู่ด้วยไม่มากก็น้อย เช่น ความคิดความเชื่อในเรื่องผีหรือเทพ เป็นต้น

เป็นอยู่แต่ว่า สังคมไทยได้ปรับความคิดความเชื่อเดิมของตนให้เข้ากับหลักคิดที่ตนรับจากภายนอก การศึกษาในที่นี้จึงเป็นไปโดยละเอาไว้ในฐานที่เข้าใจในประเด็นดังกล่าว

 

ประการที่สาม การศึกษาในที่นี้มิได้ศึกษาหลักคิดของเอเชียตะวันตก หรือกล่าวให้แคบลงไปก็คือ หลักคิดอิสลาม ทั้งนี้ ไม่ใช่เพราะหลักคิดนี้ไม่สำคัญ อย่างน้อยก็เป็นหลักคิดที่สร้างผลสะเทือนต่ออินเดียในช่วงหนึ่ง ซึ่งกินเวลายาวนานไม่น้อย ดังจะได้กล่าวต่อไปข้างหน้า

แต่ด้วยเหตุที่หลักคิดนี้มิได้มีบทบาทเป็นกระแสหลักอยู่ในสังคมไทย ไม่ว่าจะทั้งในอดีตหรือปัจจุบัน กระแสนี้จึงไม่ปรากฏในรากฐานวัฒนธรรมไทย อันเป็นหัวใจของการศึกษาในที่นี้ไปด้วย ในที่นี้จึงข้อละเว้นที่จะศึกษาหลักคิดของกระแสนี้

แม้จะมีปัญหาหรือข้อจำกัดดังที่กล่าวไว้ข้างต้นก็ตาม แต่ข้อดีสำหรับการศึกษาในที่นี้ก็คือ จากการสำรวจเอกสารที่ใช้ในการศึกษาพบว่า หากไม่นับงานศึกษาภาษาอังกฤษแล้ว ไทยเราก็มีผู้ศึกษาเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวเอาไว้ไม่น้อย และตีพิมพ์เป็นภาษาไทยอย่างแพร่หลาย

งานศึกษาเหล่านี้โดยมากจะเป็นไปในด้านมนุษยศาสตร์ ซึ่งเป็นประโยชน์กับการศึกษาในที่นี้ไม่น้อย

ปรากฏการณ์นี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ ว่าเป็นเพราะคนไทยส่วนใหญ่นับถือพุทธ และมีปฏิสัมพันธ์ (โดยเฉพาะในทางวัฒนธรรม) กับอินเดียมายาวนานประการหนึ่ง

และเป็นเพราะประเทศไทยมีชาวจีนเข้ามาอาศัยอยู่อย่างมากมายและยาวนาน จนกลายเป็นชาวไทยเชื้อสายจีนไปแล้วไม่น้อยในปัจจุบันอีกประการหนึ่ง

จากสาเหตุสองประการนี้ข้างต้น ได้ยังผลให้สังคมไทยมีผู้ผลิตงานศึกษาเกี่ยวกับอินเดียและจีนออกมาไม่น้อย โดยเฉพาะผลงานที่ผลิตขึ้นจากคนไทยผู้มีความรู้ในภาษาอินเดียและจีนเป็นอย่างดี ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่งสำหรับงานวิชาการหรืองานเขียนในด้านอื่นๆ ที่มีความจำเป็นต่อการเข้าถึงแหล่งข้อมูลจากผู้เป็นเจ้าของภาษานั้นๆ

 

อนึ่ง คำว่า “เอเชียตะวันตก” ที่ใช้ในประการที่สามนี้ หมายถึงภูมิภาคมีเรารู้จักกันในอีกคำหนึ่งว่า “ตะวันออกกลาง” อันเป็นคำที่บัญญัติขึ้นโดยตะวันตก การบัญญัตินี้จึงเกิดขึ้นโดยตะวันตกยึดเอาตนเองเป็นศูนย์กลางของโลก ทั้งที่จริงแล้วการเรียกที่ถูกต้องตามหลักวิชาการทางด้านอาณาบริเวณศึกษา (Area Study) ควรจะเรียกว่า “เอเชียตะวันตก”

เหตุดังนั้น การใช้คำว่า “ตะวันออกกลาง” ในด้านหนึ่งจึงสะท้อนให้เห็นถึงการตกอยู่ใต้ข้อกำหนดของตะวันตก

อย่างไรก็ตาม จากนิยามและปัญหาในการศึกษาจากที่กล่าวมา การศึกษาในที่นี้จึงมีประเด็นที่เกี่ยวพันกับหลักคิดสำคัญของอินเดียและจีนคือ พราหมณ์ พุทธ ขงจื๊อ และเต๋า อย่างเป็นด้านหลัก

นอกจากนี้ จะได้กล่าวถึงพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ ทั้งก่อนและหลังจากที่หลักคิดเหล่านี้ได้ถือกำเนิดขึ้น เพื่อให้รู้สาเหตุหรือที่มาที่ไป รวมตลอดจนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับหลักคิดเหล่านี้

โดยจะได้วิเคราะห์ถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้หลักคิดเหล่านี้ดำรงอยู่ ว่าหลักคิดใดเป็นกระแสหลัก หลักคิดใดเป็นกระแสรอง และดำรงอยู่เช่นนั้นได้เพราะเหตุใด หรือส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิดของประชาชนในสังคมนั้นอย่างไร

หลังจากนั้น จะได้อธิบายถึงการเข้ามายังสังคมไทยของหลักคิดเหล่านี้ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของรากฐานวัฒนธรรมไทยมาจนทุกวันนี้โดยสังเขป

FILE – Indians wearing face masks as a precaution against the COVID-19, crowd a market, in Mumbai, India, on Jan. 7, 2022. The United Nations estimated Monday, july 11, 2022 that the world’s population will reach 8 billion on Nov. 15 and that India will replace China as the world’s most populous nation next year. (AP Photo/Rajanish Kakade, File)

อุษาวิถีจากกระแสอินเดีย

อินเดียเมื่อครั้งอดีตกาลนับพันปีก่อนที่มิใช่อินเดียที่เป็นรัฐชาติในวันนี้ เป็นอินเดียที่ประกอบด้วยรัฐเล็กรัฐน้อย รัฐเหล่านี้มีทั้งขึ้นต่อกันและอิสระต่อกัน

อินเดียในอดีตจะรู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า “ชมพูทวีป” ในงานเขียนของฝ่ายพุทธ และเรียก “ภารต” หรือ “ภารตวรรษ” ในวรรณกรรมสันสกฤต-พราหมณ์-ฮินดู ซึ่งหากว่ากันตามอาณาบริเวณศึกษาแล้วก็คือ “เอเชียใต้” นั้นเอง

ฉะนั้น การใช้คำว่า “อินเดีย” ในที่นี้จึงหมายความตามนัยดังกล่าว มากกว่าที่จะให้เข้าใจในแง่รัฐชาติในปัจจุบัน อีกเหตุผลหนึ่งคือ เหตุผลทางวัฒนธรรม ที่ผู้ถูกเรียกเป็น “ชาวอินเดีย” หรือ “คนอินเดีย” นั้น เป็นชนชาติหนึ่งที่ได้สร้างอารยธรรมของตนขึ้นมา