น้ำท่วมไม่ใช่เรื่องเวรกรรม : รัฐบาลมีหน้าที่ช่วยเหลือประชาชน | ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

“ไห้วางโครงการช่วยชาวนาอยุธยา”
(สรีกรุง, 7 พฤศจิกายน 2485)

 

“ไห้รัฐมนตรีและอธิบดีทุกท่าน
คิดช่วยราษฎรผู้ต้องอุทกภัยตามหน้าที่”

รัฐสมัยใหม่ของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐประชาชาติ (Nation State) ที่ถูกสถาปนาขึ้นใหม่ภายหลังการปฏิวัติ 2475 เกิดสำนึกใหม่ของรัฐที่มีหน้าที่ต้องอำนวยสุขให้กับชาติ (Nation) ที่มีความหมายถึงประชาชนทั้งมวล

ดังนั้น รัฐบาลที่มาจากประชาชนย่อมต้องมีความรับผิดชอบในการสร้างความสุข การบรรเทาทุกข์และอำนวยเสรีภาพและโอกาสที่เท่าเทียมกันให้กับเจ้าของประเทศสามารถลืมตาอ้าปากได้

พลันที่กระแสน้ำเหนือไหลบ่าลงมาถึงที่ราบภาคกลางและพระนคร จอมพล ป. นายกรัฐมนตรี ขับรถและโดยสารเรือออกสำรวจความเดือดร้อนของชาวนา ชาวสวน ตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน ในพื้นที่แถบทุ่งรังสิต ดอนเมือง และที่สวนแถบบางเขนเมื่อครั้งน้ำท่วม 2485

จอมพล ป.และละเอียด พิบูลสงคราม ถ่ายภาพร่วมกับชาวนาย่านบางเขน ต้นปี 2485

สาธารณสุขเตือนโรคภัย
เทศบาลกรุงเทพฯ เปิดรักษาโรคถึงค่ำ

ในช่วงต้นของน้ำเริ่มไหลบ่าเข้าพระนคร รัฐบาลขอร้องให้ผู้ขับรถลดความเร็วลง ป้องกันน้ำไปโดนผู้อื่น (สรีกรุง, 6 ตุลาคม 2485)

กระทรวงศึกษาธิการสั่งให้โรงเรียนปิดการเรียนการสอน 1 เดือน เนื่องจากน้ำไหลบ่าท่วมมากเดินทางไม่สะดวก (สรีกรุง, 4 ตุลาคม 2485)

ต่อมากระทรวงสาธารณสุขที่ถูกตั้งขึ้นใหม่เมื่อต้นปี 2485 ประกาศแจ้งเตือนประชาชนอย่าเล่นน้ำ เพราะจะติดโรคร้ายที่มากับน้ำท่วม เช่น พุพอง บิด ลำไส้ รากสาดน้อย อหิวาต์ รัฐบาลขอร้องให้ประชาชนอย่าเล่นน้ำด้วยความสนุก หรืออาบน้ำริมถนน โปรดไปฉีดวัคซีนป้องกันอหิวาต์ ไช้รากสาดน้อย เพราะน้ำสกปรกอาจเข้าปากยามอาบน้ำเล่นน้ำได้

พร้อมขอให้ผู้ปกครองดูเด็กมิให้ออกมาเล่นน้ำเพราะอาจเกิดอาการผื่นคันตามขาและเท้า บางคนอาจลามเป็นผื่นทั้งตัว ดังนั้น ข้อพึงปฏิบัติภายหลังการลุยน้ำท่วมแล้ว ให้ล้างขาและอาบน้ำให้สะอาดทุกครั้ง (สรีกรุง, 6 ตุลาคม 2485)

นอกจากประกาศผ่านข่าวบนหน้าหนังสือแล้ว ในหนังสือพิมพ์ช่วงนั้น มีคำขวัญการปฏิบัติตัวช่วงน้ำท่วม ว่า “หย่าเล่นน้ำ จะเปนโรคผิวหนัง โรคบิด ไข้รากสาดน้อย และอหิวาต์”

ในช่วงนั้น แม้นการเทศบาลเพิ่งถูกตั้งขึ้นไม่นานภายหลังการสถาปนาระบอบประชาธิปไตย โดยนายกเทศมนตรีที่มาจากประชาชนอย่างพระยาประชากิจกรจักร (ชุบ โอสถานนท์) ได้ออกเยี่ยมเยือนดูแลทุกข์ประชาชน (สรีกรุง 16 ตุลาคม 2485) นอกจากนี้ เทศบาลยังขยายเวลารับรักษาพยาบาลอาการท้องร่วงหรือปวดท้องให้กับประชาชนที่เจ็บป่วยในยามค่ำคืนที่สุขศาลา 3 แห่ง คือ สุขศาลาบางรัก สุขศาลาเจ้าคุณพระประยูรวงศ์และสุขศาลาจันทร์ฉิมไพบูลย์ (สรีกรุง 15 ตุลาคม 2485)

มีผู้บันทึกบทบาทของรัฐบาลครั้งนั้นในการตักเตือนประชาชนอย่ากักตุนอาหารและให้ระวังสุขภาพยามน้ำท่วมว่า

“พร้อมแถลง แจ้งเหตุ วิทยุ มิให้มุ คุมข้าวปลา ไว้หาผล เพราะรัฐเตรียม ไว้หนอ พอทุกคน ทั้งอย่าซน เล่นน้ำ จะลำเค็ญ” (พระยาอรรถศาสตร์ฯ, 36)

น้ำท่วมที่หน้ากระทรวงสาธารณสุข วังศุโขทัย สามเสน

ความช่วยเหลือจาก
จอมพล ป. นายกรัฐมนตรี

หนังสือพิมพ์สรีกรุง ลงข่าวว่า “ท่านผู้นำส่งอาหารแจกราสดร” โดยนายกรัฐมนตรีส่งอาหารไปแจกจ่ายประชาชนตามจังหวัดต่างๆ โดยมอบหมายให้นายจิตตเสน ปัญจะ รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แจกจ่ายข้าวสาร 240 กระสอบ โดยจัดหน่วยเรือบรรเทาทุกข์ไปยังนครสวรรค์ ตลิ่งชัน หนองจอก แจกยารักษาโรค อาหารและเครื่องนุ่งห่ม (สรีกรุง, 14 ตุลาคม 2485)

นอกจากนี้ นายกฯ และภริยาบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่บางเขน (สรีกรุง, 2 ตุลาคม 2485)

ต่อมา จอมพล ป.บริจาคเงินส่วนตัวซื้อข้าวสารแจกประชาชนที่เต็นท์เชิงสะพานมัฆวานฯ ข่าวลงว่า มีคนมารับแจกข้าววันละหลายร้อยคน แจกไปวันละหลายพันลิตร (สรีกรุง 15 ตุลาคม 2485) การแจกข้าวสารที่สะพานมัฆวานฯ ยังคงมีต่ออีกหลายวัน (สรีกรุง 16 ตุลาคม 2485)

รัฐบาลส่งข้าวสารแจกประชาชน 5,000 กระสอบ (สรีกรุง, 24 ตุลาคม 2485)

ความช่วยเหลือจากรัฐบาล

สําหรับแนวทางความช่วยเหลือประชาชนจากรัฐบาลขณะนั้น คือ

1. ช่วยย้ายผู้อยู่ในน้ำขึ้นบก

2. ตั้งงบประมาณช่วยหาอาหารและเครื่องแต่งกายให้ราษฎรที่ถูกน้ำท่วม และหวังบอกบุญแก่พี่น้องที่ไม่ต้องสู้กับอุทกภัยตามกำลังศรัทธา

3. รัฐบาลซื้อข้าวตุนไว้จำหน่ายจ่ายแจกและทำพันธุ์ตามฐานะของผู้ต้องอุทกภัย และกักข้าวไม่ส่งไปนอกในเวลาอันควร

4. เมื่อน้ำลด เตรียมให้ราษฎรทำไร่เพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ตามแต่จะทำได้ สุดแต่ท้องถิ่น

5. ให้รัฐมนตรีและอธิบดีทุกท่าน คิดช่วยราษฎรผู้ต้องอุทกภัยตามหน้าที่

6. ให้ข้าหลวง นายอำเภอ คณะกรรมการจังหวัด อำเภอได้ช่วยราษฎรที่อยู่ในน้ำขึ้นบกและจัดการเรื่องอาหารการกินตลอดจนที่อยู่ (สามัคคีไทย, 34-35) โดยรัฐบาลจัดงบประมาณให้กระทรวงเกษตราธิการ จัดซื้อเมล็ดพันธุ์พืชมูลค่าสองแสนหน้าหมื่นบาท (66)

ต่อมา เมื่อ 24 ตุลาคม รัฐบาลส่งข้าวสาร 5,000 กระสอบและของกิน ของใช้ เสื้อผ้าไปแจกจ่ายประชาชนในพื้นที่น้ำท่วม ในพื้นที่อยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี (สรีกรุง, 24 ตุลาคม 2485)

รวมทั้งรัฐบาลสั่งการให้กระทรวงมหาดไทยและหน่วยราชการจัดหาอาหารและงานช่วยเหลือประชาชนหลังน้ำลด (สรีกรุง, 29 ตุลาคม 2485)

ภายหลังปฏิวัติ 2475 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาล เมื่อเกิดน้ำท่วม รัฐบาลสั่งการ “ไห้รัฐมนตรีและอธิบดีทุกท่าน คิดช่วยราษฎรผู้ต้องอุทกภัยตามหน้าที่” ดังเช่น อาคารริมถนนราชดำเนินและสำนักงานทรัพย์สินฯ ที่ถูกสร้างขึ้นมีการเปิดบริการให้ประชาชนที่เดือดร้อนจากน้ำท่วมให้มาพักอาศัยโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

นอกจากนี้ รัฐบาลยังสั่งการให้มหาดไทยและกรมชลประทานวางโครงการป้องกันอุทกภัยให้กับชาวนาอยุธยาให้เป็นระบบ มิให้เกิดน้ำท่วมซ้ำซากตามที่เป็นมา (สรีกรุง 7 พฤศจิกายน 2485)

ทั้งนี้ ในปลายเดือนตุลาคม จอมพล ป. นายกฯ กระจายเสียงผ่านวิทยุ ขอให้ข้าราชการทุกคนตั้งใจทำงาน ทำตามหน้าที่ และที่สำคัญคือ “ท่านข้าราชการต้องเหนราสดรที่มาพบท่านคือญาติของท่านที่ท่านต้องช่วยเสมอ หย่ารังเกลียดว่าแต่งกายไม่สะอาด หย่ารังเกลียดว่าพูดไม่ดีไม่ถูกต้อง คิดว่า ที่พูดไม่ถูกใจท่านนั้น ไม่ได้ตั้งใจ เปนเพราะไม่ซาบจะทำถูกหย่างไรเท่านั้น (สามัคคีไทย, 135-136)

กล่าวโดยสรุป รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยมีสำนึกว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาล และกลไกรัฐทั้งหลายต้องรับผิดชอบและบริการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนผู้ประกอบกันขึ้นมาเป็นชาติ ดังเห็นได้จากสำนึกของนายกรัฐมนตรี นโยบายและแนวทางความช่วยเหลือของรัฐบาลที่มีต่อประชาชนเมื่อครั้งน้ำท่วม 2485

รัฐบาลให้กระทรวงมหาดไทยและกรมชลประทาน วางโครงการช่วยชาวนาอยุธยา (สรีกรุง,7 พฤศจิกายน 2485)
สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ในภาพใช้ภาษาสมัยจอมพล ป.) ถนนราชดำเนินกลาง มีป้ายเขียนว่า “ไห้ที่พัก ผู้ต้องอุทกภัย โดยไม่คิดเงิน” (ภาพจากประมวลภาพเหตุการณ์น้ำท่วม)