ศตวรรษที่ 21 ผ่านมาแล้ว 22 ปี คุณมี DQ หรือยัง? | จักรกฤษณ์ สิริริน

นับถึงเดือนพฤศจิกายน ย่างเข้าเดือนธันวาคม 2022

โลกของเราใบนี้ได้เข้าสู่ “ศตวรรษที่ 21” มาเป็นปีที่ 22 ย่างเข้าปีที่ 23 หรือ “2 ทศวรรษกว่า” แล้ว ที่เราได้อ่าน ได้ดู ได้ฟัง เกี่ยวกับคำว่า “ศตวรรษที่ 21”

อีกคำหนึ่งซึ่งตีคู่มากับ “ศตวรรษที่ 21” ก็คือ “การศึกษาในศตวรรษที่ 21” และ “ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21” หรือ 21st Century Skills

“ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21” คือเป้าหมายของการจัดการศึกษา ที่จะช่วยชี้นำ วิธีสร้างกระบวนการเรียนรู้ ที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้เรียน เพื่อการดำรงชีวิตศตวรรษที่ 21

“ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21” เป็นผลจากการพัฒนา “กรอบการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21” หรือ 21st Century Learning Framework ซึ่งนำเสนอโดย “ภาคีเพื่อทักษะแห่งศตวรรษที่ 21” หรือ The Partnership for 21st Century Skills

ซึ่งมีที่มาจากหนังสือ 21st Century Skills : Learning for Life in Our Times (2009) เขียนโดย Bernie Trilling และ Charles Fadel

Bernie Trilling และ Charles Fadel ได้นำเสนอ “สมการ 3R x 7C x 2L” อันประกอบด้วย

3R หรือ “ทักษะการเรียนรู้ 3 ประการ” อันได้แก่ Reading (ทักษะการอ่าน), Writing (‘Riting-ทักษะการเขียน) และ Arithmetic (‘Rithmetic-ทักษะเลขคณิต)

7C ประกอบด้วย “ทักษะใหม่ 7 ด้าน”

1. การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และการแก้ปัญหา (Critical Thinking and Problem Solving)

2. การสื่อสาร สารสนเทศ และการรู้เท่าทันสื่อ (Communications, Information and Media Literacy)

3. ความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ (Collaboration, Teamwork and Leadership)

4. การสร้างสรรค์ และนวัตกรรม (Creativity and Innovation)

5. คอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร (Computing and ICT Literacy)

6. การทำงาน การเรียนรู้ และการพึ่งตนเอง (Career and Learning Self-Reliance)

7. ความเข้าใจต่างวัฒนธรรม ต่างกระบวนทัศน์ (Cross-Cultural Understanding)

2L คือทักษะการเรียนรู้ (Learning Skills) และภาวะผู้นำ (Leadership Skills)

นำมาสู่การเกิดขึ้นของ “ตัวชี้วัดใหม่” ใน “ศตวรรษที่ 21” นั่นคือ DQ (Digital Quotient)

หากเอ่ยถึง DQ แล้ว คงต้องย้อนหลังกลับไปในปี ค.ศ.1905 ที่ศาสตราจารย์ ดร. William Stern นักจิตวิทยาชาวเยอรมัน

ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น “บิดาแห่ง IQ” ได้เผยแพร่แนวคิดเกี่ยวกับ IQ (Intelligence Quotient)

ก่อนที่จะมีนักวิทยาศาสตร์ และนักวิชาการด้านจิตวิทยา นำไปต่อยอด ปรับปรุง และประยุกต์ใช้แนวคิด IQ แก้ไข เพิ่มเติม ไปอีกมากมาย

ทำให้ IQ เป็นหลักในการวัด “ระดับเชาวน์ปัญญา” ของผู้คนบนโลกใบนี้มานานเกือบ 120 ปี

แต่ทุกวันนี้ โลกของเราไม่ได้มีแค่ IQ อีกต่อไป

เพราะนอกจาก IQ แล้ว ปัจจุบัน มีการค้นคิดประดิษฐ์ตัวชี้วัด หรือ Q ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีก 6Q รวม IQ ด้วยก็จะเป็น 7Q ดังนี้

1. IQ (Intelligence Quotient) ความฉลาดทางสติปัญญา หรือการวัดระดับเชาวน์ปัญญา เป็นการวัดความสามารถในการคิด การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ การจดจำ การคำนวณ การเปรียบเทียบ และการใช้เหตุผล

2. EQ (Emotional Quotient) ความฉลาดทางอารมณ์ คือความสามารถในการรับรู้ เข้าใจอารมณ์ของตนเองและอารมณ์ของผู้อื่น

3. MQ (Moral Quotient) ความฉลาดทางศีลธรรมและจริยธรรม หมายถึงการมีความประพฤติที่ดี รู้จักผิดชอบ มีความซื่อสัตย์ และมีคุณธรรม

4. PQ (Play Quotient) ความฉลาดที่เกิดจากการเล่น เกิดจากความเชื่อที่ว่า การเล่นจะมีส่วนช่วยพัฒนาความสามารถของเด็กได้ในหลายด้าน ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ

5. CQ (Creativity Quotient) ความฉลาดในการริเริ่มสร้างสรรค์ มีความคิด มีจินตนาการ หรือมีแนวคิดใหม่ๆ ในรูปแบบต่างๆ

6. AQ (Adversity Quotient) ความฉลาดในการแก้ปัญหา มีความยืดหยุ่น และความสามารถในการปรับตัวเพื่อเผชิญปัญหาได้ดี

7. SQ (Social Quotient) ความฉลาดทางสังคม ในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุค “ศตวรรษที่ 21” ได้มีการค้นคิดประดิษฐ์ตัวชี้วัดหรือ Q ใหม่ เพิ่มขึ้นอีก 1 ตัว

นั่นก็คือ DQ

เพราะ “ศตวรรษที่ 21” นอกจากจะเป็น “ยุคหลังเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร” หรือที่รู้จักกันดีว่าเป็นยุคทองของ “นวัตกรรม”

โดย “นวัตกรรม” หรือ “เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร” ต่างมีรากฐานหลักมาจากระบบ Computer ซึ่งทำงานด้วยระบบ Digital

จึงนำมาสู่แนวคิดที่ว่า “เด็กๆ ในศตวรรษที่ 21” ที่เติบโตมากับอุปกรณ์ Digital ควรมี “เครื่องมือวัดความฉลาด” ในรูปแบบใหม่

แทนที่ IQ และ 6Q แบบเดิมๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากพูดถึง “การศึกษาในศตวรรษที่ 21” หรือ “ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21” แล้ว ก็ยิ่งต้องกล่าวถึง DQ หรือ “ความฉลาดทาง Digital”

เพราะโลกการศึกษายุคนี้ เป็นยุค “การศึกษาในศตวรรษที่ 21” นั่นเอง

ดังกรณีศึกษาจากประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมาก โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกา ที่หลายชาติก้าวข้ามรูปแบบการจัดการศึกษาแบบดั้งเดิม

คือ Face-to-Face หรือ Classical Classroom ที่คุณครูยืนพูดอยู่หน้ากระดานคนเดียวจนจบชั่วโมง มาสู่ระบบการศึกษา Online ที่นักเรียนสามารถเลือกวัน เวลา สถานที่ และรายวิชาเรียนเองได้ตามความสนใจและความสะดวก

ทำให้เครื่องมือวัด 7Q แบบดั้งเดิม ไม่สามารถใช้วัด “ทักษะทาง Digital” ใน “ศตวรรษที่ 21” ได้

การจัดการศึกษาด้วยระบบ Online นี้เอง ที่เป็นเหตุผลใหญ่ในการประดิษฐ์คิดค้นการวัดระดับสมรรถนะขึ้นมาใหม่ นั่นก็คือ DQ

โดย DQ ประกอบด้วย 8 ทักษะหลักที่ใช้วัด “ทักษะทาง Digital” ซึ่งได้แก่

1. Identity Skill หรือทักษะด้านสถานะตัวตนบนโลกดิจิทัล หมายถึง ความสามารถในการสร้างและจัดการตัวตนในโลก Online ซึ่งรวมถึงการรับรู้ Online ของบุคคล และการบริหารจัดการ ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ที่มีต่อผลกระทบของสถานะในการ Online

2. Use Skill หรือทักษะด้านการใช้ หมายถึง ความสามารถในการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลและสื่อ รวมทั้งการเรียนรู้ด้านการควบคุมดิจิทัลและสื่อ เพื่อสร้างสมดุลระหว่างชีวิต Online และชีวิต Off-line

3. Safety Skill หรือทักษะด้านความปลอดภัย หมายถึง ความสามารถในการบริหารความเสี่ยง Online ได้แก่ การกลั่นแกล้งทางอินเตอร์เน็ต เช่นเดียวกับเนื้อหาที่ล่อแหลม อาทิ ความรุนแรง และเรื่องลามกอนาจาร เพื่อหลีกเลี่ยงและลดความเสี่ยงเหล่านี้

4. Security Skill หรือทักษะด้านการรักษาความปลอดภัย หมายถึง ความสามารถในการตรวจจับภัยคุกคามในโลก Cyber เช่น การ Hack การหลอกลวง หรือ Malware เพื่อให้เกิดแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด รวมถึงการใช้เครื่องมือในการรักษาความปลอดภัยที่เหมาะสมสำหรับการปกป้องข้อมูล

5. Emotional Skill หรือทักษะด้านความฉลาดทางอารมณ์ หมายถึง ความสามารถที่จะเห็นอกเห็นใจ และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นๆ

6. Communication Skill หรือทักษะด้านการสื่อสาร หมายถึง ความสามารถในการสื่อสาร และทำงานร่วมกับคนอื่นๆ โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและสื่อ

7. Literacy Skill หรือทักษะด้านการรู้ หมายถึง ความสามารถในการค้นหา ประเมินผล การใช้ประโยชน์ร่วมกัน และสร้างเนื้อหา ซึ่งต้องเกิดขึ้นพร้อมกับสามารถในการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์

8. Rights Skill หรือทักษะด้านสิทธิ หมายถึง ความสามารถในการเข้าใจ รักษาสิทธิส่วนบุคคล และกฎหมาย รวมทั้งสิทธิในความเป็นส่วนตัวของทรัพย์สินทางปัญญา เสรีภาพในการพูด และการป้องกันจากความเกลียดชัง

โดยมีการสร้าง “แบบวัดความฉลาดทาง Digital” เพื่อให้เราทราบถึงระดับสามารถด้านการรับรู้ สติปัญญา อารมณ์ และสังคม

ที่จะทำให้ “ประชาชน Digital” หรือ Digital Citizens สามารถเผชิญหน้ากับความท้าทาย และปรับตัวให้เข้ากับยุค Digital ได้อย่างเหมาะสม

โดยสามารถเข้าไปทำ “แบบวัดความฉลาดทาง Digital” ได้ที่นี่ https://dq.in.th ครับ