‘ซูเปอร์โพล’ เซอร์ไพรส์ โอกาส พท.แลนด์สไลด์ ประชัน ผลสำรวจ ‘นิด้า’ ‘พิธา-ก้าวไกล’ ยึดกรุงเทพฯ

บทความในประเทศ

 

‘ซูเปอร์โพล’ เซอร์ไพรส์

โอกาส พท.แลนด์สไลด์

ประชัน ผลสำรวจ ‘นิด้า’

‘พิธา-ก้าวไกล’ ยึดกรุงเทพฯ

 

สถานการณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับพรรคพลังประชารัฐ อยู่บนพื้นฐานความไม่แน่นอน ซึ่งอาจกระทบถึงเส้นทางกลับสู่อำนาจผ่านการเลือกตั้งที่ใกล้จะเกิดขึ้น

พรรคเพื่อไทยทุกก้าวย่างยังคงมุ่งมั่นกับเป้าหมายแลนด์สไลด์ ขณะที่พรรคก้าวไกลของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เหนียวแน่นอยู่กับฐานคะแนนกลุ่มคนรุ่นใหม่หัวก้าวหน้า

การจัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ต่อพรรคการเมือง และบุคคลที่เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคนั้นๆ เป็นเครื่องมือสะท้อนให้เห็นภาพดังกล่าวในช่วงเวลาหนึ่งได้ชัดเจนมากขึ้น

“ซูเปอร์โพล” สำรวจความคิดเห็นประชาชนมาแล้วหลายครั้งในหลายแง่มุมการเมือง แต่ก็มักถูกวิจารณ์ว่าผลสำรวจที่ออกมาไม่ค่อยตรงใจประชาชนฝ่ายต่อต้านรัฐบาลและ พล.อ.ประยุทธ์เท่าใดนัก

อย่างเช่นผลสำรวจเมื่อวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา ถามความคิดเห็นประชาชนกลุ่มตัวอย่างถึงบุคคลที่เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี ฝ่ายรัฐบาลอันดับ 1 คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้อยละ 22.5

ถัดมาวันที่ 16 ตุลาคม ซูเปอร์โพลสำรวจประเด็นนักการเมืองที่ประชาชนวางใจมากสุดในการทำให้กองทัพเป็นทหารอาชีพ

อันดับ 1 ยังคงเป็น พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับความวางใจมากถึงร้อยละ 29.3

เรียกได้ว่าผลสำรวจซูเปอร์โพล ส่วนใหญ่ออกมาเป็นมุมบวกกับ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งสวนทางกับของโพลสำนักอื่นๆ เป็นส่วนใหญ่

แต่แล้วผลสำรวจซูเปอร์โพลครั้งล่าสุดวันที่ 6 พฤศจิกายน ก็กลับเป็นเรื่องเซอร์ไพรส์ ทั้งในส่วนของพรรคพลังประชารัฐ “นั่งร้าน” ตัวหลักของ พล.อ.ประยุทธ์ และในส่วนของแกนนำฝ่ายค้านพรรคเพื่อไทย

ต่อข้อถามที่ว่า ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้งจะเลือกพรรคการเมืองใด คำตอบปรากฏว่า พรรคเพื่อไทยมาเป็นอันดับ 1 โดยคาดว่าจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อมากสุดจำนวน 30 ที่นั่ง

รองลงมาคือพรรคภูมิใจไทย คาดว่าจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 26 ที่นั่ง ตามด้วยพรรคพลังประชารัฐ 21 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ 11 ที่นั่ง และพรรคก้าวไกล 9 ที่นั่ง

 

ผลสำรวจซูเปอร์โพลรอบนี้ยังลงลึกในรายละเอียดจำแนกเป็นรายภูมิภาค ดังนี้

พรรคเพื่อไทยแลนด์สไลด์ในภาคอีสาน ร้อยละ 45.6 ภาคเหนือ ร้อยละ 32.9 ในกรุงเทพฯ ร้อยละ 29.6 ภาคกลาง ร้อยละ 8.0 และภาคใต้ ร้อยละ 6.3

ขณะที่พรรคภูมิใจไทย ได้ภาคกลางมากสุด ร้อยละ 26.2 ภาคใต้ ร้อยละ 24.0 ภาคอีสาน ร้อยละ 21.2 กรุงเทพฯ ร้อยละ 19.3 และภาคเหนือ ร้อยละ 7.8

ส่วนพรรคพลังประชารัฐ ในเงื่อนไขยังไม่มีการย้ายพรรคของ ส.ส. และไม่เกิดความขัดแย้งจนแพแตก แยกทางกันเดินระหว่างพี่น้อง 2 ป. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

พบว่า ภาคใต้ ได้ร้อยละ 26.0 ภาคกลาง ร้อยละ 25.8 กรุงเทพฯ ร้อยละ 13.3 ภาคเหนือ ร้อยละ 7.8 และภาคอีสาน ร้อยละ 5.8

พรรคประชาธิปัตย์ ที่กำลังประสบภาวะเลือดไหลออกไม่หยุด โพลชี้ว่า ได้ภาคใต้ ร้อยละ 24.3 ภาคกลาง ร้อยละ 11.5 ภาคเหนือ ร้อยละ 11.2 กรุงเทพฯ ร้อยละ 7.4 และภาคอีสาน ร้อยละ 3.7

สุดท้าย พรรคก้าวไกล กระจายไปได้ภาคเหนือมากสุด ร้อยละ 14.0 กรุงเทพฯ ร้อยละ 9.6 ภาคอีสาน ร้อยละ 8.7 ภาคกลาง ร้อยละ 8.2 และภาคใต้ ร้อยละ 4.9 ตามลำดับ

ผลโพลครั้งนี้ชี้ให้เห็นความชัดเจนว่า พรรคการเมืองเด่นๆ ในอันดับหัวตารางอยู่ที่ พรรคเพื่อไทย ภูมิใจไทย และพลังประชารัฐ

ส่วนประชาธิปัตย์ ก้าวไกล และพรรคอื่นๆ เป็นพรรคการเมืองที่ต้องควบรวมสร้างอำนาจต่อรองจัดตั้งรัฐบาลในอนาคตหลังการเลือกตั้ง

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล กล่าวว่า “เพื่อไทยแลนด์สไลด์” จะเป็นภาพที่ไม่เกินความเป็นจริงโดยเฉพาะในภาคอีสาน

ส่วนภาคอื่นๆ ที่น่าจับตามองคือ ภาคใต้ เพราะกลายเป็นสนามรบ 3 พรรค ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย และพรรคพลังประชารัฐ

ขณะที่กรุงเทพฯ ขึ้นอยู่กับกระแสเป็นหลัก แต่ที่น่าจับตามากสุดคือ พรรคก้าวไกล

แต่มีสัญญาณจากข้อมูลชี้ให้เห็นว่า มีความน่าจะเป็นจาก “ชัชชาติ เอฟเฟกต์” ที่ทำให้คู่แข่งขันทางการเมืองแตกกระจายเป็นส่วนย่อยๆ เกิดขึ้นในการสู้รบทางการเมืองระดับชาติคือ พรรคเพื่อไทย-พรรคก้าวไกลจะเข้มแข็ง

ขณะที่พรรคคู่แข่งอย่างพรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ จะถูกปั่นกระแสทำลายให้อ่อนแอ ทั้งจากภายในฝ่ายรัฐบาลเอง ฝ่ายค้าน และฝ่ายอื่นๆ

ทำให้อาจเห็นภาพเพื่อไทยแลนด์สไลด์เกิดขึ้นจริงก็เป็นไปได้ เหมือนชัยชนะที่ชัชชาติทำได้มาแล้ว

 

ผลสำรวจที่น่าสนใจอีก 1 สำนัก คือ “นิด้าโพล” ที่สอบถามความเห็นประชาชนเรื่อง “คนที่ใช่ พรรคที่ชอบ ของคนใต้”

เมื่อถามถึงบุคคลที่คนใต้จะสนับสนุนให้เป็นนายกฯ ในวันนี้ อันดับ 1 ร้อยละ 23.94 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เหตุผลเพราะซื่อสัตย์สุจริต มีความเด็ดขาด กล้าตัดสินใจ ทำให้บ้านเมืองเกิดความสงบ

อันดับ 2 ร้อยละ 13.24 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรือ อุ๊งอิ๊ง หัวหน้าครอบครัวพรรคเพื่อไทย เหตุผลเพราะเป็นคนรุ่นใหม่ ชื่นชอบพรรคเพื่อไทย นโยบายสามารถแก้ไขปัญหาทางการเกษตรได้

อันดับ 3 ร้อยละ 12.79 ระบุ ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ อันดับ 4 ร้อยละ 11.24 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล

แต่ที่น่าตกใจคือในส่วนพรรคเก่าแก่ เจ้าถิ่นพื้นที่ภาคใต้อย่างพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อชื่อของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคหลุดไปอยู่อันดับ 6 ได้คะแนนสนับสนุนเพียงร้อยละ 5.95

แม้ผลสำรวจในส่วนของพรรคการเมือง ที่คนใต้มีแนวโน้มจะเลือกให้เป็น ส.ส. อันดับ 1 ยังเป็นพรรคประชาธิปัตย์ อันดับ 2 พรรคเพื่อไทย อันดับ 3 พรรคพลังประชารัฐ อันดับ 4 พรรคก้าวไกล และอันดับ 5 พรรคภูมิใจไทย

ประเด็นนี้นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง 7 สมัย จากพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยมุมมองของตนเองว่า เป็นเพราะคนใต้ชื่นชอบการเมือง ผลสำรวจนิด้าโพลที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ น่าจะมาจากความจริงใจ และการพูดจาอย่างตรงไปตรงมา

ที่สำคัญตลอดเวลา 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ มีความชัดเจนเรื่องการเดินหน้าตรวจสอบ “ระบอบทักษิณ” จึงทำให้ได้ใจคนใต้

ผิดกับพรรคประชาธิปัตย์ที่ตลอดระยะเวลา 3 ปีกว่าในการร่วมรัฐบาลกับ พล.อ.ประยุทธ์ ไร้ซึ่งความชัดเจนในการทำงาน

นายสาทิตย์วิเคราะห์ด้วยว่า การเลือกตั้งครั้งใหม่ในภาคใต้จะเป็นการชิงชัยกันระหว่าง 3 พรรค คือ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ และพรรคภูมิใจไทย

แต่คู่แข่งตัวจริงสำหรับพรรคประชาธิปัตย์ ยังคงยกให้พรรคพลังประชารัฐ โดยประเมินจากจำนวนเก้าอี้ ส.ส.ที่ได้ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562

 

จบจากภาคใต้ นิด้าโพลยังได้สำรวจความคิดเห็นของคนเหนือ ถึงตัวบุคคลที่จะสนับสนุนให้เป็นนายกฯ ในวันนี้

อันดับ 1 ร้อยละ 31.70 คือ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร เหตุผลที่สนับสนุนเพราะเป็นคนรุ่นใหม่ ชื่นชอบพรรคเพื่อไทย นโยบายพรรคทำได้จริง และชื่นชอบผลงานของตระกูลชินวัตร

อันดับ 2 ร้อยละ 15.00 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อันดับ 3 ร้อยละ 12.65 ระบุ ยังหาคนเหมาะสมไม่ได้ อันดับ 4 ร้อยละ 12.50 ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ส่วนพรรคการเมืองที่คนเหนือจะเลือกให้เป็น ส.ส. อันดับ 1 ยังคงเป็นพรรคเพื่อไทย อันดับ 2 พรรคก้าวไกล อันดับ 3 ยังไม่ตัดสินใจ อันดับ 4 พรรคพลังประชารัฐ อันดับ 5 พรรคประชาธิปัตย์

มาถึงผลสำรวจ กลุ่มตัวอย่างคนอีสาน สนับสนุนบุคคลเป็นนายกฯ ดังนี้ อันดับ 1 ร้อยละ 36.45 ยังเป็น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร อันดับ 2 ร้อยละ 12.65 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อันดับ 3 ร้อยละ 10.20 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ มาเป็นอันดับ 4 ร้อยละ 9.85

ผลโพลสำรวจคนภาคเหนือและภาคอีสาน ย่อมเป็นสัญญาณความเป็นได้สูงของพรรคเพื่อไทย ต่อกระแสชัยชนะเลือกตั้งแบบ “แลนด์สไลด์”

สอดรับผลสำรวจ “ซูเปอร์โพล” ตามที่นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล ยอมรับ มีความเป็นไปได้ที่พรรคเพื่อไทยจะแลนด์สไลด์

กับอีกพื้นที่สำคัญทางการเมือง นิด้าโพลยังได้สำรวจความเห็นคนกรุงถึงบุคคลที่จะสนับสนุนเป็นนายกฯ ที่ปรากฏว่าอันดับ 1 ไม่ใช่ “อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร” หรือ พล.อ.ประยุทธ์

แต่ได้แก่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้รับคะแนนสนับสนุนมากสุด ร้อยละ 20.40

อันดับ 2 ร้อยละ 15.20 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อันดับ 3 ร้อยละ 14.10 น.ส.แพทองธาร

ขณะที่พรรคการเมืองที่คนกรุงจะเลือกให้เป็น ส.ส.อันดับ 1 ร้อยละ 28.50 พรรคเพื่อไทย อันดับ 2 ร้อยละ 26.45 พรรคก้าวไกล อันดับ 3 ร้อยละ 9.50 พรรคพลังประชารัฐ อันดับ 4 ร้อยละ 9.45 พรรคประชาธิปัตย์

 

ตรงนี้เองที่นิด้าโพลสำรวจพบ แต่ก็สอดคล้องกับซูเปอร์โพล ที่ว่าพรรคเพื่อไทย-ก้าวไกล จะมีความเข้มแข็งอย่างยิ่งในสนามกรุงเทพฯ อันเป็นผลส่วนหนึ่งจาก “ชัชชาติเอฟเฟ็กต์”

ขณะเดียวกันผลสำรวจไม่ว่าซูเปอร์โพลหรือนิด้าโพล ต่างก็สะท้อนถึงสถานการณ์ไม่ค่อยดีนักในส่วนของ “พรรคหลัก” และ “พรรคร่วม” รัฐบาล

ยิ่งภายในพรรคพลังประชารัฐกำลังระส่ำระสาย จากกระแสข่าวความแตกแยกระหว่าง “2 ป.” พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร ภายในพรรคร่วมรัฐบาลก็ขัดแย้งกันรุนแรงในเรื่องร่างกฎหมายกัญชา พรรคประชาธิปัตย์เริ่มอ่อนแอลงเรื่อยๆ จากอาการเลือดไหลไม่หยุด

แม้ “โพล” ไม่ใช่ตัวชี้ขาด แต่ก็เป็นตัวชี้วัดกระแสได้ดี จากนี้ยังต้องติดตามต่อช่วงใกล้เลือกตั้งสถานการณ์จะพลิกผันไปในทางใด

ความเพลี่ยงพล้ำของพรรคฝ่ายรัฐบาลจะเป็นตัวเสริมให้พรรคฝ่ายประชาธิไตย ก้าวไปสู่เป้าหมายแลนด์สไลด์ได้ง่ายขึ้นหรือไม่ น่าตามไปดูอย่างยิ่ง