‘มูเตลูกับสังคมไทย’ ทำไมคนมีอำนาจ ยันราษฎร ถึงชอบดูดวง-เชื่อไสยศาสตร์

มูเตลูกับสังคมไทย ทำไมคนมีอำนาจ ยันราษฎร ถึงชอบดูดวง-เชื่อไสยศาสตร์ มองผ่านสายตาเอโด้ นักวิชาการอิตาเลียน

 

เอโด้ (Edoardo Siani) นักวิชาการชาวอิตาเลียน ที่เรียนปริญญาเอกด้านมานุษยวิทยาและสังคมศาสตร์ที่ SOAS, University of London

ไปทำงานวิจัยหลังปริญญาเอกที่ CSEAS (Center for Southeast Asian Studies) มหาวิทยาลัยเกียวโต

เคยอยู่เมืองไทยมานาน เล่าว่า จุดเริ่มต้นผมมีโอกาสได้รู้จักครอบครัวคนไทยคนหนึ่งจะให้เช่าห้องที่บ้านในกรุงเทพฯ ผมเข้าใจว่าครอบครัวของเขาฐานะอาจจะไม่ดีเท่าไร แต่สิ่งที่ผมเห็นคือคนที่เป็นแม่ของครอบครัวนี้เขาเข้าทรง ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ผมเห็นการเข้าทรงแบบนี้ รู้สึกตกใจ รู้สึกไม่ชอบ และไม่อยากอยู่แล้ว

เพราะผมเป็นคนที่มาจากประเทศที่เป็นคาทอลิก การเข้าทรงแบบนี้ไม่มี และถูกห้ามจากวาติกันว่าสิ่งที่จะเข้าร่างมนุษย์ได้คือปีศาจเท่านั้น เป็นไปไม่ได้ที่เทพจะลงประทับ จึงเป็นอะไรที่สำหรับผมไม่เคยเห็น ตกใจและคิดว่าเป็นไปไม่ได้ รู้สึกกลัว

(Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

ผมรู้สึกแอนตี้มากๆ ไม่อยากอยู่ แต่หลังจากนั้นเริ่มคิดว่าถ้าคุณอยากจะเข้าใจครอบครัวนี้ อยากจะเข้าใจสังคมไทย อาจจะต้องพยายามอยู่และพยายามเข้าใจ คือไม่ต้องเชื่อก็ได้ แต่ต้องพยายามเข้าใจว่าทำไมเขาต้องมาพึ่งพาอะไรแบบนี้

จากนั้นผมก็อยู่กับครอบครัวนี้ประมาณ 3 ปี ผมพยายามที่จะเข้าถึง เข้าใจ และคิดว่าทำไมถึงจะต้องทำอะไรแบบนี้

หลังจากนั้นผมก็ย้ายออกมาอยู่คนเดียว ช่วงนั้นก็เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองขึ้น เกิดวิกฤตการณ์เสื้อเหลืองเสื้อแดงขึ้นในประเทศไทย เป็นวิกฤตที่ผมรู้สึกกระทบ มีเอฟเฟ็กต์ต่อผมมาก

ผมมีเพื่อนและรู้สึกว่าความขัดแย้งเป็นอะไรที่รับไม่ค่อยได้ และไม่เข้าใจ ก็เลยอยากเข้าใจว่าการเมืองแบบนี้เกิดขึ้นเพราะอะไร หลังจากนั้นอีกหลายปีผมมีโอกาสไปเรียนต่อปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอกที่ลอนดอน ผมศึกษาด้านมานุษยวิทยา พอถึงระดับปริญญาเอกก็รู้สึกว่าอยากจะศึกษาเรื่องการเมืองในประเทศไทยคู่ขนานกับสิ่งที่คนเรียกว่า

“มูเตลู”

เอโด้บอกว่า คนที่เป็นนักมานุษยวิทยาต้องการหาคนกลุ่มหนึ่งที่จะลงสนามเก็บข้อมูลด้วย และจะต้องอยู่ด้วยเป็นปี ผมก็คิดว่าจะหากลุ่มไหนดี เลยคิดถึงหมอดู เพราะหมอดูมักมาคู่กับการเมืองและนักการเมืองตลอด

ผมเลยมีความรู้สึกว่าถ้ามีโอกาสได้ใช้ชีวิตประจำวันร่วมกับกลุ่มหมอดูนี้ผมน่าจะได้มุมมองของเขาที่เกี่ยวกับสังคมและการเมืองด้วย

ผมมองว่าเป็นอะไรที่มีเสน่ห์ แต่ตัวผมเองไม่ได้เชื่ออะไรเท่าไร แต่ผมรู้สึกว่ามีเสน่ห์

ตอนที่ผมมาไทยครั้งแรกลงสนามกับกลุ่มหมอดู มีหมอดูคนหนึ่งที่สอนให้ผมดูดวงด้วย เขาบอกว่าถ้าคุณจะศึกษาเรื่องนี้คุณต้องเข้าใจมุมมองของหมอดูด้วย ก็เลยเข้าไปเรียนคอร์สหนึ่ง พอเรียนจบแล้วก็กลับไปทำวิทยานิพนธ์ต่อให้เสร็จ

(Photo by CHRISTOPHE ARCHAMBAULT / AFP)

ซึ่งตอนอยู่ที่ลอนดอนผมเล่าให้เพื่อนที่มหาวิทยาลัยฟัง บรรดาเพื่อนผมไม่ค่อยเชื่อศาสนา ไม่เชื่อเรื่องสายมู แต่เพื่อนก็บอกให้ดูดวงให้เขาหน่อย เขาก็เหงื่อแตก อาจเพราะความที่ดูมีพิธีทางศาสนาจะรู้สึกขนลุกและรู้สึกกลัว ซึ่งอยู่ในประสบการณ์ของมนุษย์ที่คุณไม่จำเป็นจะต้องเชื่อ

ส่วนตัวคิดว่าไม่มีเหตุการณ์อะไรที่ทำให้เราเชื่อ แต่ผมมาเก็บข้อมูลเพื่อที่จะทำวิจัย และต้องการหากลุ่มหมอดูที่มีหลายคน ผมเลยไปยังเทวสถานแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่มีกลุ่มหมอดูมากกว่า 40 คน ไปอยู่กับเขา

จุดนั้นเป็นตลาดดูดวงตอนกลางคืน ผมไปนั่งอยู่กับเขาทุกคืนจนเป็นเพื่อนกัน ได้คุยกัน รู้จักกัน และรู้จักกลุ่มลูกค้าด้วย

ผมไปอยู่ที่นั่นอยู่ประมาณ 2 ปี มีช่วงหนึ่งมีหมอดูคนหนึ่งบอกผมว่าคุณน่าจะเข้าใจกลุ่มพวกเราพอแล้ว คุณควรจะรู้จักหมอดูที่เป็นนักโหราศาสตร์ชื่อดัง เขาเลยพาผมไปสมาคมโหราศาสตร์ในกรุงเทพฯ และแนะนำกับอาจารย์ของเขาอีกทีหนึ่ง

ซึ่งอาจารย์คนนี้เป็นโหราจารย์ชื่อดังที่นักการเมืองไปหาบ่อยๆ ผมมีโอกาสขอสัมภาษณ์ว่าคุณดูอะไรให้การเมืองบ้าง แล้วเขาก็ดูมือผม พร้อมบอกว่าคุณไม่มีวันที่จะเข้าใจ และไม่มีวันที่จะรอดในการทำวิจัยนี้ เพราะคุณขาดมุมมองของหมอดู

เขาบอกว่าถ้าคุณอยากจะสำเร็จคุณจะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับการดูดวงด้วย เขาเลยบอกว่าจะไม่ให้สัมภาษณ์ แต่จะสอนให้ดูดวง ผมก็เลยไปเป็นลูกศิษย์ของเขา เรียนไป 1 คอร์สที่เป็นโหราศาสตร์ไทยชนิดหนึ่ง

เมื่อเรียนจบแล้วได้ใบประกาศ ก็เลยมีโอกาสมาดูดวงต่อ เพราะอาจารย์บอกว่าต้องมีประสบการณ์ในการดูดวง

(Photo by SAEED KHAN / AFP)

ที่ผมเล่าเรื่องนี้ให้ฟัง เพราะช่วงที่ผมเก็บข้อมูลเมื่อผมต้องดูดวงให้คนครึ่งชั่วโมง 10 นาที 20 นาที ในตอนนั้นผมต้องเชื่อในตำรา การที่คนบอกว่าเป็นหมอดูง่าย นั่งแล้วพูดไปมั่วๆ ผมขอบอกในฐานะที่คนไม่เชื่อว่ามันจะมั่วได้ยากมาก คุณต้องมีหลักฐานหรืออะไรสักอย่างที่ทำให้คุณพูดออกมาได้ในระยะเวลาครึ่งชั่วโมง ซึ่งอาจจะเชื่อหรือไม่เชื่อผมมองว่าเป็นคำถามที่ยาก แต่คุณต้องพูดไปตามตำรา

สำหรับประเด็นที่นักการเมืองไทยชอบดูดวงมากผมมองว่าเพราะ “อำนาจ” ที่เขามีความเชื่อว่าได้มาบวกกับสิ่งอื่น เช่น พลังความศักดิ์สิทธิ์ ความมีบารมี ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน เป็นสิ่งที่คุณสามารถสั่งสมได้ หรือคุณเสียไปได้ เสื่อมได้ ผมเลยเข้าใจว่านักการเมืองไปหาหมอดูเพื่อดูว่าการสะสมหรือการเสียของพลังนี้มีทิศทางเป็นอย่างไรในอนาคต และจะแก้ไขได้หรือไม่

ซึ่งมาคู่กับความไม่แน่นอนของวิธีการมองโลกในแบบของพุทธ นั่นคือ กรอบคิดเรื่องอนิจจังว่าพรุ่งนี้ชีวิตคุณจะดีหรือจะไม่ดี การไปหาหมอดูเขาก็พอจะหาวิธีที่จะตีความและเสนอวิธีที่จะเสริมบารมีให้คุณได้

ส่วนนักมานุษยวิทยาเขามองว่าทุกอย่างจะมีฟังก์ชันที่เป็นประโยชน์ในตัวเอง ผมเลยมองว่าการที่คนไปดูหมอ จะทำให้บางคนเกิดความสบายใจ ผมคิดว่าอยู่ที่มุมมองคน

อย่างคนที่ไปพบจิตแพทย์เขาก็อยากไปเพื่อความสบายใจ คนไทยบางทีรู้สึกว่าถ้าไปหาจิตแพทย์ต้องเป็นคนป่วยถึงจะต้องไปหา พอรู้สึกว่าตัวเองป่วยก็เลยไม่ไปดีกว่า ไปหาหมอดูแทน เพราะจะไม่รู้สึกว่าตัวเองป่วย แล้วอยากจะได้ความสบายใจมากขึ้นก็เลยยอมไปหาหมอดูเอง

หมอดูบางคนที่ผมรู้จักเขาก็ยังบอกเลยว่าจริงๆ แล้วพวกเราคือจิตแพทย์บ้านๆ หมอดูเองเขาก็รับรู้สถานะว่า บางทีเขาไม่ได้ต้องการให้ทำนายทายทักอะไร แต่เขาแค่เป็นคนรับฟังก็พอ

(Photo by ROBERTO SCHMIDT / AFP)

เอโด้บอกว่า ถ้าย้อนเราดูประวัติศาสตร์ไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราจะเห็นว่าการดูดวง-พิธีไสยศาสตร์-มูเตลูทั้งหลายเป็นเครื่องมือของทุกกลุ่มมาตลอด และคนทุกกลุ่มใช้เพื่อเสริมอำนาจให้ตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้มีอำนาจหรือกลุ่มผู้น้อย หรือกลุ่มต่อต้านก็ใช้ด้วย

ถ้าเราดูเคสโหราศาสตร์ในไทยอย่างเรื่องเสาหลักเมืองที่ทุกคนรู้กันว่ามีการใช้ไสยศาสตร์โดยรัฐในยุคต้นของรัตนโกสินทร์ มีการห้ามให้คนเล่นไสยศาสตร์นอกรัฐ ห้ามใช้เครื่องมือเหล่านี้เพื่ออำนาจ

แต่พอหลังยุค 2475 มีการปิดกรมด้านนี้ จึงทำให้องค์ความรู้ที่อยู่กับชนชั้นนำมาตลอดได้กระจายสู่คนทั่วไป ผมคิดว่าน่าสนใจมากเหมือนกับกระบวนการประชาธิปไตยในการกระจายไปสู่ทุกคน และทุกวันนี้กลุ่มคนรุ่นใหม่ต่างใช้ในการประท้วงด้วย จนเป็นครื่องมือกับคนทุกชนชั้น เพราะอำนาจมาคู่กับความศักดิ์สิทธิ์ จึงมีทฤษฎีที่บอกว่าใช้พิธีต่างๆ ทำให้คนรู้สึกมีศรัทธา

ดังนั้น ผมคิดว่ามองเรื่องนี้ในทางการเมือง เหมือนกับการที่จะเป็นประชาธิปไตย ต้องทำให้ประชาชนให้คนทั่วไปรู้สึกนับถือในสิทธิของทุกคนเท่าเทียมกันด้วยเช่นกัน

สุดท้าย ผมอยากบอกคนไทยว่าผมเป็นคนอิตาลี ซึ่งเป็นประเทศที่วุ่นวายมากเหมือนกัน รัฐบาลเดี๋ยวมาเดี๋ยวล้ม แต่ที่นั่นไม่มีรัฐประหาร เขานับถือประชาธิปไตยมากกว่าในไทย

ซึ่งไม่ว่าจะเป็นศาสนา-ความเชื่อแปลกๆ มีทั่วทั้งโลก จะเชื่ออะไรผมไม่มีปัญหา

แต่ว่าต้องเป็นประชาธิปไตยมากกว่านี้ในทางการเมือง ในการนับถือสิทธิของทุกคนไม่ว่าจะไปมูหรือจะทำอะไร คุณต้องเชื่อและต้องให้สิทธิทางการเมืองกับทุกคนด้วย

ทุกคนควรมีเสียงที่เท่ากัน

 

ชมคลิป