‘ประยุทธ์’ ถอยสุดซอย ถอนกม.ขายที่ดินต่างชาติ ประคองรัฐบาลครบวาระ | ศัลยา ประชาชาติ

ในที่สุด 3 ป. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ก็ตัดสินใจ “พับแผน” เข็นโปรเจ็กต์ให้ต่างชาติศักยภาพสูง ลงทุน 40 ล้าน ซื้อที่ดินเพื่อพักอาศัยได้ 1 ไร่

โดยถอน-ยกเลิกชั่วคราวในการผลักดันร่างกฎกระทรวงการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าวตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การลงทุนโดยการ ดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ…. ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา เอาไว้ก่อน ไม่ต้องนำเข้าพิจารณาในคณะรัฐมนตรี (ครม.)

กระแสที่รัฐบาลกึ่งพลเรือน-กึ่งทหาร ทนรับไม่ไหว คือการถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงว่ากำลัง “ขายชาติ” นั่นเอง

ที่มาของโปรเจ็กต์ร้อน ลากมาถึงจุดที่ถูกโจมตีว่า “ขายชาติ” นั้น เริ่มต้นเป็นไปตามคอนเซ็ปต์ของ “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน กับ “ม.ล.ชโยทิต กฤดากร” อดีตผู้บริหารเจพีมอร์แกน “มือขวา” ในตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และผู้แทนการค้าไทย ซึ่งต้องการดึงนักลงทุน-ชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง 1 ล้านคน มาปักหลักในเมืองไทย ภายใน 5 ปี

หลักการและเหตุผลระบุว่า “คนที่รีไทร์ กับที่กินบำเหน็จบำนาญรัฐบาลอยู่ 200 ล้านกว่าคน ได้เงินอยู่เดือนละประมาณ 2-3 แสนบาท ถ้าเขาสนใจมาประเทศไทย 1 ล้านคน ถ้าเอาเงินมาจากเขา 1 ใน 3 เข้าประเทศ คนละ 1 แสนบาทต่อเดือน หรือคนละ 1.2 ล้านบาทต่อปี เท่ากับนักท่องเที่ยว 40 ล้านคนต่อปี รายได้ 2 ล้านล้าน ใช้จ่ายในประเทศ เก็บภาษี VAT ได้เพิ่ม 2 แสนล้านบาทต่อปี”

“เงินต้น 1.2 ล้านล้านบาทที่นำมาใช้จ่ายในประเทศ ใช้จ่ายต่อต้องคูณ 2.5 เท่า เท่ากับมีเงินสะพัด 2.5 ล้านล้านบาท คูณภาษี VAT อีก 7% รัฐบาลก็จะจัดเก็บรายได้ 2 แสนล้านบาท”

ม.ล.ชโยทิต ปักธงผลที่จะได้ “ผลจะทำให้เราฟื้นจากเศรษฐกิจทันที ไม่ต้องรอรากหญ้าฟื้น ไม่ต้องรอเอกชนใหญ่ๆ มา แต่ขอให้เราเป็น host ที่ดี เป็นผู้รับแขกที่ดี เขาพร้อมที่จะมาอยู่ เพียงแต่ต้องดูแลเขาจริงๆ ต้องมี one stop service”

ม.ล.ชโยทิต กฤดากร
ม.ล.ชโยทิต กฤดากร

จึงนำไปสู่การเห็นชอบของรัฐบาลที่ออกมติ ครม.เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2564 โดยเห็นชอบมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19 และการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย ในลักษณะผู้พำนักระยะยาว (long-term stay)

โดยกำหนดลักษณะชาวต่างชาติที่เข้าเงื่อนไขไว้ 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง 2.กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ 3.กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย 4.กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ ที่ได้รับอนุมัติวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาว (Long-term resident visa : LTR)

กระทั่งคลอดเป็น “ร่างกฎกระทรวง” เปิดช่องให้คน 4 กลุ่ม ซื้อที่ดินเพื่ออยู่อาศัยไม่เกิน 1 ไร่ และการลงทุนต้องไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท และดำรงทุนการลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 3 ปี นับแต่วันยื่นคำขอ ให้นับมูลค่าการลงทุน ณ วันที่ยื่นคำขอ

แต่เนื่องจากหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายคือต่างชาติที่รวย มีเงินใช้ไปตลอดชีวิต แต่ต้องการเกษียณอายุในประเทศไทย จึงไม่ได้จำกัดแค่ “นักลงทุน” ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมตามเงื่อนไขคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพียงอย่างเดียว

ดังนั้น ร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่จึงเปิดช่องให้ลงทุนผ่าน 5 ช่องทาง

1. การซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทย พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ หรือพันธบัตรที่กระทรวงการคลังค้ำประกันต้นเงินหรือดอกเบี้ย

2. การลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์

3. การลงทุนในกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์

4. การลงทุนในทุนเรือนหุ้นของนิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน

5. การลงทุนในกิจการที่บีโอไอได้ประกาศให้เป็นกิจการที่สามารถขอรับการส่งเสริมการลงทุนได้ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน

(Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

ทันทีที่รัฐบาลผ่านมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 25 ตุลาคม 2565 ยืนยันร่างกฎกระทรวง คำครหาถล่มขายชาติ มาจากทั่วทุกสารทิศ ทั้งพันธมิตรการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ และฝ่ายค้าน ทว่า นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แม้ได้ประโยชน์แต่ก็เลือกที่จะงดออกเสียง

พลันที่เรื่องนี้ถูกดับเครื่อง ปลดชนวนร้อน ไม่นำเข้าสู่ที่ประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์บอกสถานะของร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า “ไม่ใช่ถอน แต่เป็นการยกเลิกไว้ก่อน เอาทุกปัญหาความไม่เข้าใจมาคุยกัน ว่ามีตรงไหนต้องอะไรหรือไม่ เพราะจริงๆ แล้ว ยังอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นทั้งนั้น ยังไม่ได้มีการประกาศใช้ เพราะเป็นเรื่องอนุมัติหลักการ”

ด้าน “วิษณุ เครืองาม” รองนายกฯ หมอกฎหมายประจำทำเนียบรัฐบาล สำทับว่า กระทรวงมหาดไทยเสนอ ครม.ขอถอนร่างกฎกระทรวง กลับไปพิจารณาใหม่และไปรับฟังความคิดเห็นประชาชน ภายในเวลา 15 วัน ส่วนหลัง 15 วัน จะนำร่างกลับมาที่ ครม.อีกครั้งหรือไม่ก็ได้ เพราะยังเหลือร่างกฎกระทรวงปี 2545 สมัยรัฐบาลไทยรักไทยอยู่ แต่จะแรงกว่าฉบับล่าสุด

แรงต้านขายชาติที่นำมาสู่การถอยสุดซอย ด้านหนึ่งนายทุนอสังหาฯ ที่เป็นนายทุนทั้งรัฐบาล ทุนฝ่ายค้าน จะออกปากหนุนก็หนุนได้ไม่เต็มปาก ค้านก็ค้านไม่สุด เพราะถ้าร่างกฎกระทรวงฉบับที่เพิ่งถอยออกจาก ครม. ทุกฝ่ายต่างก็ได้ประโยชน์ทั้งทางตรง-ทางอ้อม แต่ทางหนึ่งก็ผวากระแสต้านจากประชาชน

วิษณุ เครืองาม
วิษณุ เครืองาม

ที่เสียเชิง-เสียรังวัด แต่ไม่ถึงกับเสียศูนย์ ก็คือรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์” โดยเฉพาะวางแผนไว้ว่า ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวจะเป็นแรงจูงใจ “เสาหลัก” ในการดึงดูดต่างชาติกลุ่มเป้าหมายที่กระเป๋าหนัก ให้มาถือวีซ่าอยู่ยาว สร้างรายได้กระตุ้นเศรษฐกิจให้ประเทศไทย

“สุพัฒนพงษ์” หัวหอกเศรษฐกิจ เชื่อว่าแม้ไม่มีกฎกระทรวงเรื่องต่างชาติถือครองที่ดิน 1 ไร่ แลกกับการลงทุน 40 ล้านบาท ก็ยังมีทางเลือกอีกหลายทาง

“เพราะ LTR คือการพำนักระยะยาว โดยการเช่าระยะยาว 30 ปี บวก 30 ปี ก็ทำได้ จะซื้อคอนโดมิเนียมในสัดส่วน 49% ก็ย่อมทำได้ ถ้าผลออกมาไม่เป็นที่ถูกใจ มีข้อกังวลอยู่มาก จนเกิดความกังวล ต้องแก้ไข เราก็พร้อมดำเนินการในทางเลือกที่มีอยู่แล้ว เพราะเรื่องที่ดินกับเรื่อง LTR เป็นคนละเรื่องกัน เพราะทางเลือกให้เขาพำนักอาศัยแบบไหนก็ยังมีหลายทางเลือก”

พัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์
พัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์

แต่ในมุมกลับ “พล.อ.ประยุทธ์” อาจพลิกสถานการณ์จากที่ถูกด่า “ขายชาติ” กลับมาถือแต้มต่อ เพราะไม่ฝืนกระแส ไม่ต้านสังคม ไม่ขอหัก แต่ยอมงอ เมื่อเข็นร่างกฎกระทรวงต่อไปไม่ไหว ก็เอามารับฟังความคิดเห็นของสังคมใหม่จนกว่าจะตกผลึก

ในทางการเมือง และอารมณ์ของสังคม มองได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ และ 2 ป. รับฟังประชาชน ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อรัฐบาล จำต้องปลดชนวนร้อน ขอถอยกลับมา “ตั้งหลัก” ที่ท้ายซอย และคงไม่มีหนทางอีกแล้วที่กฎหมายฉบับนี้จะได้กลับคืนเข้ามาในห้องประชุมคณะรัฐมนตรี

เพราะยังมีงานสำคัญๆ อย่างการประชุมเอเปค ที่จะเกิดขึ้นในสัปดาห์หน้า ก่อนจะประคองรัฐนาวาจนถึงการเลือกตั้งปี 2566