ฟุตบอลโลก 2022 กับการแกล้งลาป่วย | พิศณุ นิลกลัด

คลุกวงใน | พิศณุ นิลกลัด

Facebook : @Pitsanuofficial

 

ฟุตบอลโลก 2022 กับการแกล้งลาป่วย

 

เหลืออีกเพียงสองสัปดาห์เศษๆ การแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์ จะเริ่มขึ้นในวันจันทร์วันที่ 21 พฤศจิกายน

ในรอบแบ่งกลุ่ม การถ่ายทอดสดการแข่งขันจะเริ่มเวลา 5 โมงเย็น, สองทุ่ม, ห้าทุ่ม และตีสอง ตามเวลาประเทศไทยซึ่งเร็วกว่ากาตาร์ 4 ชั่วโมง คู่ที่ลงสนามตอนตีสองกว่าจะแข่งจบก็เกือบจะรุ่งเช้าที่เมืองไทย เชื่อว่าแฟนฟุตบอลจำนวนไม่น้อยอาจไปทำงานไม่ไหวและหาเหตุลาป่วย

สมัยการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2014 ที่บราซิล แฟนฟุตบอลในทวีปยุโรปต้องอดหลับอดนอนเพื่อเชียร์ฟุตบอลโลก

อย่างเยอรมนีที่เวลาเร็วกว่าบราซิล 5 ชั่วโมง และอังกฤษ ที่เวลาเร็วกว่าบราซิล 4 ชั่วโมง

การแข่งขันช่วงเย็นในบราซิลที่เริ่มหกโมงเย็นเป็นต้นไป กว่าจะแข่งเสร็จก็เป็นเวลาตีสอง ตีสาม ของที่ยุโรป

ในการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2006 ที่ประเทศเยอรมนี บริษัทประกันภัย AIC ของสหราชอาณาจักร รายงานว่า การที่พนักงานในสหราชอาณาจักรลาป่วยเพื่อดูฟุตบอลโลกในวันที่ทีมชาติอังกฤษลงแข่งขันสร้างความเสียหายให้แก่ธุรกิจในสหราชอาณาจักรวันละ 100 ล้านปอนด์ หรือ 4,300 ล้านบาท

คนในสหราชอาณาจักรเอาจริงเอาจังกับการลาป่วยในช่วงฟุตบอลโลกเป็นอย่างมากถึงขนาดมีเว็บไซต์หลายเว็บเขียนคำแนะนำการลาป่วยว่าควรมีข้ออ้างอย่างไรที่ฟังแล้วน่าเชื่อถือ

การแกล้งลาป่วยไม่ใช่เรื่องดี แต่สำหรับพนักงานที่อดใจไม่ไหว อยากลาป่วย เพื่อดูฟุตบอลโลกเหลือเกิน

ผู้เชี่ยวชาญด้านการแกล้งลาป่วย แนะนำวิธีการลาป่วยอย่างมีมารยาทและถูกกาลเทศะ ไม่ทำให้หัวหน้าโกรธ หรือโกรธน้อยที่สุด มีดังนี้

1. ควรลาป่วยด้วยการโทรศัพท์แจ้งให้หัวหน้าทราบ อย่าลาป่วยด้วยการส่งไลน์หรือลาป่วยทางอีเมล เพราะจากการสำรวจพบว่า หัวหน้า 75% คิดว่าพนักงานที่ลาป่วยด้วยการส่งข้อความหรือส่งอีเมลนั้น อาจไม่ป่วยจริงอย่างที่บอก หัวหน้าหลายคนยอมรับว่า เวลาพนักงานลาป่วย หากสงสัยว่าโกหก ก็จะเช็ก Facebook ของพนักงานคนนั้นว่าป่วยจริงหรือเปล่า หรืออัพเดตว่าตอนนี้กำลังเที่ยวอยู่

2. โทร.แจ้งให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ อย่ารอจนถึงเก้าโมงเช้าแล้วค่อยโทร. เพราะหัวหน้าจะคิดว่าเราตื่นสาย ไม่ใช่มาทำงานไม่ได้เพราะป่วย

3. โทร.ลาป่วยด้วยตัวเอง อย่าให้พ่อ แม่ พี่ น้อง ลาป่วยแทน เว้นแต่ว่ามีอาการเสียงหาย พูดไม่ได้ เพราะหากให้คนอื่นลาป่วยให้ เจ้านายจะสงสัยทันทีว่าไม่ได้ป่วยจริง

4. เวลาโทร.ลาป่วยกับเจ้านาย อย่าทำเป็นไอค่อกแค่ก หรือแกล้งทำจมูกฟุดฟิด ไม่ต้องทำถึงขนาดนั้น

5. หาที่สงบเวลาโท.รหาเจ้านายเมื่อลาป่วย ไม่ใช่เปิดเพลงดังลั่น

6. เวลาลาป่วยควรบอกหัวหน้าว่างานที่คั่งค้างไว้จะรีบทำให้เสร็จทันทีเมื่ออาการดีขึ้น เพื่อเป็นการแสดงให้เจ้านายเห็นว่าเราเป็นพนักงานที่ทุ่มเท ใส่ใจงาน

7. เวลาให้เหตุผลการลาป่วย พูดให้กระชับ เรียบง่าย ไม่ต้องอธิบายเหตุผลยืดยาว เพราะยิ่งลงรายละเอียดมาก จะยิ่งทำให้เราดูเหมือนแต่งเรื่อง

8. เมื่อหายป่วย กลับมาทำงานได้ตามปกติ ควรขอโทษที่ลาป่วยเพราะสร้างความไม่สะดวกให้แก่เจ้านายและเพื่อนร่วมงาน และขอบคุณที่เจ้านายเข้าใจ

ผู้เชี่ยวชาญด้านการแกล้งลาป่วยแนะนำว่า ควรหาชนิดของโรคหรืออาการป่วยที่ป่วยแบบกะทันหันและรุนแรง เช่น บอกว่าเป็นไมเกรน ดูแล้วหนักกว่าอาการปวดหัวเฉยๆ แต่หากตั้งแต่ทำงานมาไม่เคยเป็นไมเกรนมาก่อน และจู่ๆ เกิดมาเป็นไมเกรนตอนช่วงแข่งขันฟุตบอลโลก ข้ออ้างลาป่วยนี้ฟังดูไม่มีน้ำหนัก

ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านการแกล้งลาป่วยแนะนำว่า การแกล้งลาป่วยเพราะท้องเสียหรืออาหารเป็นพิษ จับผิดยากที่สุดเพราะเป็นอาการที่สามารถหายได้ภายในวันเดียวและสามารถไปทำงานได้ในวันรุ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม การแกล้งลาป่วยนั้นไม่ใช่เรื่องที่ดี ทั้งบริษัท หัวหน้าและพนักงานควรหันหน้าเข้าหากันและใช้วิธีประนีประนอมในช่วงฟุตบอลโลก 2022

ซึ่งที่ปรึกษาด้านการบริหารงานบุคคลส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าในช่วงฟุตบอลโลก หากบริษัทหรือหัวหน้ายืดหยุ่นในเรื่องเวลาการทำงาน เพื่อให้พนักงานมีโอกาสได้ดูฟุตบอลโลกนัดสำคัญ จะสร้างความซึ้งใจให้แก่พนักงาน ลดปัญหาการแกล้งป่วยเพื่อลาหยุดดูฟุตบอลโลก พนักงานก็จะทุ่มเทให้บริษัทเต็มที่

เพราะเคยมีงานวิจัยว่า พนักงานที่ทำงานมากชั่วโมงกว่า ไม่ได้หมายความว่าจะทำงานได้ประสิทธิภาพมากกว่าคนที่ทำงานน้อยชั่วโมงกว่า