อิทธิพลจีนต่อการเมืองภายใน ทำไม | อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โลกทรรศน์ | อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

อิทธิพลจีนต่อการเมืองภายใน ทำไม

 

ช่วงนี้ อิทธิพลจีนในไทยมีความน่าสนใจหลายด้าน

คำที่นิยมที่ใช้ในเวลานี้ ผับศูนย์เหรียญ อันเป็นคำล้อเลียน ทัวร์ศูนย์เหรียญ คือ ผับที่มีบริการสินค้าจีนทุกชนิด เหล้า บุหรี่ น้ำดื่ม โฮสชาวจีนทั้งชายและหญิงจีนเอาไว้บริการแขกชาวจีน ยาเสพติด ลูกค้าจีนบริโภคสินค้าเหล่านี้ได้เต็มที่

เจ้าของผับ ยังเป็นของเจ้าของคนจีน หรือม้าของคนจีน นั่นหมายความว่า เงินทุกเม็ดเข้ากระเป๋าคนจีนทุกเม็ด ไม่เหลือให้ประเทศไทยเลย

ผับยังนำไปสู่การฟอกเงินเป็นรถยนต์หรู คอนโดมิเนียมราคาแพง มีบัญชีม้าทำธุรกรรมทางการเงิน รวมไปถึงการโยกย้ายเงินออกไปสู่บัญชีในธนาคารต่างประเทศ

ดังนั้น อย่าเพิ่งดีใจกับนักท่องเที่ยวจีนให้มากนัก ต้องตรวจดูความจริงหลายๆ ด้านควบคู่กันไปด้วย

ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่เพราะโลกาภิวัตน์ ไม่ใช่เพราะดิจิทัลไลเซชั่น ที่ทำให้โลกไร้พรมแดน ออนไลน์ไร้รอยต่ออย่างรวดเร็วข้ามโลกเท่านั้น และไม่ใช่เกิดขึ้นที่ไทยเช่น กรุงเทพฯ พัทยา เชียงใหม่เท่านั้น ลาว กัมพูชา คองโก ซิมบับเว ลอนดอน นิวยอร์ก ปารีส ซิดนีย์ แคนเบอร์รา แวลลิงตัน

เบื้องต้น เศรษฐกิจมืด เหล่านี้สร้างความมั่งคั่งแก่องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ เราคงต้องทำการศึกษาและทำความเข้าใจอีกมาก

แต่ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน อิทธิพลจีนต่อการเมืองภายใน ประเด็นคือ ทำไมจึงต้องมีอิทธิพลต่อการเมืองภายใน

 

อิทธิพลจีนต่อการเมืองภายใน ทำไม

เบื้องต้น ยิ่งจีนมีปัญหาด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับประเทศใดๆ มากเท่าใด การสร้างอิทธิพลจีนต่อการเมืองภายใน (domestic politics) ของประเทศนั้นๆ ย่อมมีมากเท่านั้น แล้วยังซับซ้อนและมีกลวิธีมากมายอีกด้วย

หากมองจากจีน อิทธิพลนี้อาจหมายถึงการแทรกแซงต่อการเมืองภายในก็ได้

เพราะหากจีนเข้าถึงในกิจการการเมือง เช่น การเลือกตั้งระดับต่างๆ ของประเทศใดประเทศหนึ่ง จีนอาจปรับเปลี่ยนความขัดแย้งในผลประโยชน์ทางการเมือง เศรษฐกิจ อคติ ความหวาดระแวง ของประเทศนั้นๆ ให้เปลี่ยนแปลงไปเป็นความคิดทางบวก ความชื่นชอบ

หรือจะเรียกว่า นโยบายโปร-จีน เลยก็ว่าได้

ลองติดตามต่อไป

 

การรณรงค์สร้างอิทธิพลในระดับโลก

ความจริงแล้ว จีนได้ใช้เวลานานหลายปี พัฒนายุทธศาสตร์ต่างๆ สร้างอิทธิพลต่อการเมืองภายในและการเลือกตั้งในหลายๆ ประเทศ ทั่วบริเวณตอนริมแปซิฟิก (Pacific Rim land)

เช่น ออสเตรเลีย ค้นพบว่ามีการบริจาคเงินที่โยงใยกับปักกิ่ง ที่จ่ายตรงให้นักการเมืองที่มีชื่อเสียงของออสเตรเลีย เพื่อพยายามปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศออสเตรเลีย ให้ชื่นชอบจีนมากขึ้น

นอกจากออสเตรเลีย ยังมีนิวซีแลนด์ ไต้หวัน และส่วนอื่นๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย ที่ประเทศเหล่านี้ จีนสนับสนุนนักธุรกิจที่นิยมจีน เข้าทำการควบคุมเข้มข้นในสื่อภาษาจีนในท้องถิ่น

มีกรณีเด่นชัดมากคือ นักการเมืองนิวซีแลนด์ Yang Jian ที่ทำงานในองค์กรข่าวกรองทหาร (military intelligence) จีนมาถึง 15 ปี เขาได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกรัฐสภานิวซีแลนด์ในปี 2011 เขามีคอนเน็กชั่นใกล้ชิดกับองค์กรต่างๆ ที่เชื่อมต่อกับฝ่ายทำงานด้านแนวร่วม (United Front Work Department) อันเป็นองค์กรด้านข่าวกรองจีนในต่างประเทศชั้นนำหลายประเทศ

Yang Jian ได้ดำรงตำแหน่งสูงในรัฐสภานิวซีแลนด์ที่ดำเนินการเกี่ยวกับนโยบายจีน และถูกกล่าวหาว่าช่วยให้นโยบายนิวซีแลนด์ต่อปักกิ่งนุ่มนวลขึ้น มีเจ้าหน้าที่ออสเตรเลียแสดงความกังวลต่อความพยายามต่างๆ ที่คล้ายคลึงกับที่เกิดขึ้นในนิวซีแลนด์

โดยพบว่ามีบางคนใช้บัญชีธนาคารนอกประเทศโอนเงินไปให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งออสเตรเลียที่สนับสนุนรัฐบาลต่างประเทศ

วุฒิสมาชิกพรรค Labour ของออสเตรเลีย Kimberley Kitching กล่าวหา อภิมหาเศรษฐีลูกครึ่งออสเตรเลีย-จีน Chau Chak Wing ที่มีรายงานว่า มีความผูกพันใกล้ชิดกับจีน1 แต่เขาได้ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้

ปักกิ่งยังได้พยายามอีกคือ แทรกแซงการเลือกตั้งหลายครั้ง โดยผ่านข้อมูลที่ได้รับการประสานและรณรงค์ข่าวปลอม (Disinformation) ที่ออกแบบสนับสนุนผู้สมัครเลือกตั้งที่เห็นอกเห็นใจรัฐบาลจีน มีการกระทำเช่นนี้ในออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และประเทศอื่นๆ ในเอเชีย

ที่เด่นชัดที่สุดคือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวัน ปี 2020 เจ้าหน้าที่จีนให้แนวทางบรรดาสื่อไต้หวันที่ใกล้ชิดจีน เพื่อสนับสนุนผู้สมัครตำแหน่งประธานาธิบดี Han Kuo-yu

แต่ Han ไม่ได้รับชัยชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี แต่ทางปักกิ่งยังได้เพิ่มข่าวปลอม และความพยายามอื่นๆ ต่อไต้หวัน ก่อนจะถึงการเลือกตั้งท้องถิ่นในเดือนพฤศจิกายน 2022

ยังมีการแทรกแซงต่อการเมืองภายในในประเทศมหาอำนาจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้แก่ สหรัฐอเมริกา

 

การผลักดันของสื่อจีนในสหรัฐอเมริกา

จากรายงานของกระทรวงยุติธรรม สหรัฐอเมริกา ภายใต้กฎหมาย Foreign Agents Registration Act (FARA) จีนใช้เงินมากกว่า 280 ล้านดอลลาร์สหรัฐสร้างอิทธิพลทางการเมืองในสหรัฐอเมริกา มานานกว่า 6 ปี และใช้เงินมากกว่าที่ใช้กับประเทศอื่นๆ ซึ่งไม่เหมือนกับรัสเซียที่มักมีเป้าหมายต่อนักการเมืองอเมริกันเป็นรายๆ ไป หรือเพียงพยายามสร้างความวุ่นวาย

ตามกฎหมาย FARA องค์กรสื่อรัฐบาลจีนที่ดำเนินการในสหรัฐอเมริกา มีหน้าที่รับผิดชอบการรายงานจำนวนเงินที่ใช้จ่ายไป China Global Television Network-CGTN บรรษัทกระจายเสียงของรัฐบาลจีน รายงานถึงการใช้เงินจำนวนครึ่งหนึ่งของ 280 ล้านดอลลาร์สหรัฐกับผู้นิยมจีน รวมทั้งช่องทางสื่อเอกชนที่ควบคุมโดยผู้เห็นอกเห็นใจปักกิ่ง ตอนนี้ผู้เห็นอกเห็นใจจีน ครอบงำสถานีโทรทัศน์ภาษาจีนในสหรัฐอเมริกา สื่อสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์ ซึ่งจีนได้ทำอย่างสมบูรณ์แบบเป็นครั้งแรกที่ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์2

ในรายงานของ Hoover Institution สถาบันด้านนโยบายของสหรัฐอเมริกา พบว่า ปักกิ่งหรือตัวแทน (Proxy) ของพวกเขา ได้แก่ นักธุรกิจที่นิยมจีน ตอนนี้ได้เข้าควบคุมเกือบทั้งหมดในสื่อภาษาจีนในสหรัฐอเมริกา

นี่จึงเท่ากับอนุญาตรัฐบาลจีน ป้อนการโฆษณาชวนเชื่อของตนกับคนอเมริกันเป็นล้านๆ คน ส่งผลต่อการออกเสียงเลือกตั้งต่อผู้อ่านข่าวสารจำนวนมาก และผู้อ่านที่อาศัยอยู่ในเขตเลือกตั้งที่มีการแข่งขันกันสูงในแคลิฟอร์เนีย นิวยอร์ก และรัฐอื่นๆ

รายงานนี้ยังรายงานว่า ปักกิ่งกำลังได้ประโยชน์จากการควบคุมสมาคมและชมรมของนักศึกษาที่เรียนจบจากจีน และกำลังใช้สิ่งเหล่านี้เพื่อพยายามปรับเปลี่ยนมหาวิทยาลัยและความคิดทางการเมือง3

การเข้าถึงการแทรกแซงในสถาบันการศึกษาโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยในต่างประเทศนี้ มีการดำเนินการอย่างเป็นระบบโดยสถาบันขงจื๊อ (Confucius Institutes) ที่เกิดขึ้นกว้างขวางทั่วโลก

มีตัวอย่างหนึ่งที่สหราชอาณาจักร สถาบันขงจื๊อคุกคามสิทธิพลเมืองในหลายๆ มหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักร

เรื่องสถาบันขงจื๊อสร้างความกังวลให้กับรัฐบาลสหราชอาณาจักรและกำลังหาทางปิดสถาบันขงจื๊อเพราะเกี่ยวข้องกับความมั่นคง4

แม้ว่าสถาบันขงจื๊อประกาศว่า สถาบันตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนความเข้าใจเกี่ยวกับจีนร่วมสมัย แต่ก่อนหน้านั้น สถาบันขงจื๊อถูกกล่าวหาว่า ถูกใช้เพื่อควบคุมพฤติกรรมของนักศึกษาจีนในนามของรัฐบาลจีน มีสถาบันขงจื๊อในหลายมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัย Glasgow, Heriot Watt University, University of Aberdeen, University of Strathclyde และ University of Edin Burgh เป็นต้น

การกระทำของสถาบันขงจื๊อสร้างความกังวลเพราะมีการปฏิบัติ อภิความยุติธรรมของรัฐบาลจีน (extra-judicial Chinese Government) เกิดขึ้นทั่วสหราชอาณาจักร

นอกจากนั้น มีรายงานหนึ่งที่จัดทำโดยองค์กรเฝ้าระวังด้านสิทธิ์ Freedom House เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ชี้ว่า เนื้อหาของสื่อของรัฐบาลจีนเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มใหม่ในสหรัฐอเมริกาโดยตรง การอินเสิร์ชออนไลน์แบบต้องจ่ายเงินจากสื่อสำคัญๆ เช่น China Daily หรือ Xinhua ในช่องทางข่าวระดับชาติและระดับภูมิภาคใน Times Magazine, Los Angeles Times, USA Today, CNN และ Foreign Policy

นอกจากนี้ ยังมีอย่างน้อยสถานีวิทยุ 2 สถานี ที่ตอนนี้ถ่ายทอดการโฆษณาชวนเชื่อเรื่องนานาชาติของจีน

 

สรุป

ขอให้สังเกตว่า ยิ่งจีนมีปัญหาด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับประเทศใดมากเท่าใด อิทธิพลต่อการเมืองภายในของประเทศนั้นๆ จะยิ่งมากขึ้น มีความจำเป็น และหลากหลายวิธีการ อาจจะเข้าถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกระดับ ครอบงำสื่อมวลชนทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ชมรมและองค์กรนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ

นั่นหมายความว่า ทั้งชนชั้นนำทางนโยบาย ชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ คนทั่วไปที่รับข่าวสาร คนรุ่นใหม่คือ นักศึกษามหาวิทยาลัย ล้วนเป็นเป้าหมายของอิทธิพลทางการเมืองภายในของจีน ทั้งหมดเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อจีน ปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศต่อจีน นับจากอ่อนนุ่มมากขึ้น เห็นอกเห็นใจ ไปจนถึงนิยมจีนเลยก็ว่าได้

ลองย้อนไปดูประเทศที่กำลังมีปัญหากับจีนหนักๆ ซิครับ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยิ่งไต้หวันด้วยแล้ว จีนยิ่งรุกหนักอิทธิพลต่อการเมืองภายในของประเทศเหล่านั้น

ผมจึงไม่ได้มองแค่ทัวร์ศูนย์เหรียญ ผับศูนย์เหรียญ เท่านั้น อิทธิพลต่อการเมืองภายในยิ่งน่าติดตามครับ

1Tyrone Clarke, “Senators names billion aire as Chinese government operative in foreign interference ploy”, Skynews, 15 February 2022, : 2.

2Lachan Makey, “China increases spending 500 % to influence America”, AXIO, 11 May 2021.

3“China’s Influence & American Interests : Promoting Constructive Vigilance” Hoover Institute 2022.

4Ninian Wilson, “Rishi Sunak ‘looking to close’ Confucius Institutes across UK Universities”, The Nation (Glasgow) 2 November 2022, : 1-2.