‘4 ปัญญาชน’ พิเคราะห์ อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต การเมืองไทย

ราวสองเดือนที่ผ่านมา มติชนทีวีจัดทำซีรีส์บทสัมภาษณ์พิเศษ “10 ปี มติชนทีวี 10 ปี การเมืองไทย” เพื่อเผยแพร่ผ่านทางแพลตฟอร์มยูทูบ

ในโปรเจ็กต์นี้ เราได้สนทนากับนักวิชาการ 4 ราย เริ่มต้นด้วยนักประวัติศาสตร์ชาวไทยซึ่งสอนหนังสือที่สหรัฐอเมริกา อย่าง “ธงชัย วินิจจะกูล” ร่วมด้วยนักรัฐศาสตร์สามรุ่น ประกอบด้วย “สุรชาติ บำรุงสุข” “พวงทอง ภวัครพันธุ์” และ “ประจักษ์ ก้องกีรติ”

เพื่อให้ทุกฝ่ายร่วมกันทบทวนว่า ตลอดสิบปีนี้ เราผ่านอะไรมาบ้าง? และจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร?

3นักรัฐศาสตร์มองย้อนกลับไปยังจุดตั้งต้นคล้ายๆ กัน คือ เหตุรัฐประหารปี 2549

อาจารย์สุรชาติ ตีโจทย์ในเชิงการเมืองเปรียบเทียบว่า การที่ไทยเป็นเพียง 1 ใน 3 ประเทศร่วมกับฟิจิและบูร์กินาฟาโซ ที่มีรัฐประหารเกิดขึ้น 2 ครั้งในช่วงเวลา 10 ปี ทำให้เรากลายไปเป็นโมเดลของประเทศอื่นๆ ที่พอแก้ไขปัญหาทางการเมืองไม่ได้ ก็ยึดอำนาจ

ทั้งที่กระแสโลกเคลื่อนตัวไปแล้วด้วยพลังของคนรุ่นใหม่ จาก “อาหรับสปริง” จนถึง “ฮ่องกงสปริง” ทว่า ปีกอนุรักษนิยมไทยไม่รับรู้ถึงกระแสดังกล่าว และยังเลือกซื้อ “นาฬิกาที่เข็มไม่เดิน” เพราะต้องการหยุดโลกเอาไว้

นักวิชาการผู้นี้มองว่า “รัฐธรรมนูญ 2560” คือตราบาป ที่ไม่ใช่ “รัฐธรรมนูญในความหมายสากล” แต่ถูกร่างขึ้นเพื่อการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร เช่นเดียวกับสภาพการเมืองหลังการเลือกตั้งปี 2562 ที่ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็น “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” แต่เป็น “เผด็จการครึ่งใบ”

ส่วนอาจารย์ประจักษ์ประเมินว่า 10 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาที่ประชาธิปไตยไทยถดถอยมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ ทั้งที่คนในชนบทและคนรุ่นใหม่ตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น พวกเขาอยากมี “ประชาธิปไตยที่กินได้” และ “ประชาธิปไตยที่คนเท่ากัน”

แต่ชนชั้นนำไทยไม่ยอมปรับตัวเข้ากับกระแสโลก และการเปลี่ยนแปลงที่คนเรียกร้องอยากเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง ผู้มีอำนาจเหล่านี้กลับทำทุกอย่างเพื่อหยุดยั้งกระแสการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่การทำรัฐประหาร 2 ครั้ง เรื่อยมาถึงการร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ตอบโจทย์สังคม

“คนตาสว่างหมดแล้วเรื่องรัฐประหาร 2 ครั้งมันมากไปแล้ว การจะทำอีกครั้งไม่ใช่เรื่องง่าย”

ด้านอาจารย์พวงทองเห็นว่า หลังปี 2549 ทหารพยายามขยายอำนาจของตัวเองออกไปควบคุมสังคม ด้วยการออกกฎหมายสารพัดชนิด และสร้างเครือข่ายอำนาจองค์กรตุลาการ-องค์กรอิสระ เพื่อค้ำจุนอำนาจกองทัพ รวมทั้งสกัดกั้นการทำงานของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

รูปธรรมของกระบวนการดังกล่าว คือ 8 ปีที่ผ่านมา ผลลัพธ์ของการตัดสินคดีความทางการเมืองต่างๆ ล้วนเป็นไปเพื่อหนุนส่งให้ระบอบอำนาจทหารดำรงอยู่ต่อไปได้ ส่วนรัฐบาลเลือกตั้งกลับอ่อนแอลง

“กองทัพ ชนชั้นนำจารีต ฝ่ายอนุรักษ์ ไม่ต้องการให้สังคมเปลี่ยนแปลง ต้องการรักษาระบอบเก่า ปฏิเสธที่จะเดินไปข้างหน้า ปฏิเสธที่จะแชร์อำนาจกับประชาชน ต้องการเป็นคนตัดสินว่าระบอบที่ดี การเมืองที่ดีคืออะไร แต่ 8 ปีที่ผ่านมา เราเห็นแล้วว่า ทั้งเศรษฐกิจและการเมืองถดถอยอย่างไร”

ในอีกมุมหนึ่ง อาจารย์ธงชัยได้ชวนให้เรามองไปไกลกว่า “ระบอบประยุทธ์”

โดยนักประวัติศาสตร์ผู้นี้เสนอให้เรามองไปถึงปัญหารากฐาน อันเป็นการปะทะกันระหว่าง “พลังทางสังคมที่ต้องการสถาปนาประชาธิปไตยแบบประชาชน” กับ “พลังที่ต้องการครองอำนาจไว้ในมือของชนชั้นนำ” ที่ไม่เชื่อใจประชาชนว่าจะปกครองตนเองได้

การปะทะกันของสองพลังนี้มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และเป็นฐานแนวโน้มระยะยาวของการเมืองไทยตลอด 90 ปีที่ผ่านมา

“เราต้องเห็นภาพนี้ด้วย ไม่ใช่การติดอยู่กับตัวบุคคล ติดกับแค่การไล่ประยุทธ์ เพราะเมื่อคุณไล่ไป ก็จะมีคนใหม่ขึ้นมา”

เมื่อถามถึงหนทางที่จะเดินออกจากระบบเช่นนี้ นักวิชาการไทยซึ่งทำงานในสหรัฐตอบว่า

“ผมไม่มีคำตอบ คำถามนี้เป็นคำถามร่วมที่ทุกคนต้องช่วยกันคิด ช่วยกันถาม ช่วยกันเสนอและขบกันไป ถ้าไม่เกิดสิ่งที่เรียกว่าระบอบประยุทธ์ ไม่เกิด (สภาพ) 7-8 ปีหลังรัฐประหาร เราจะไม่ตระหนักเลย เรานึกว่าเราเป็นประชาธิปไตยมานานแล้ว เพียงยังไม่เข้ารูปเข้ารอย

“แต่หลังจากเกิดระบอบประยุทธ์และไล่กลับไปถึงรัฐประหาร 2549 ประเทศไทยถอยหลังไปเหลือเชื่อ ถอยหลังไปจนเราต้องตั้งคำถามว่า หรือว่าเรายังไม่พ้นจากมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์? ซึ่งผมคิดว่าเรายังไม่พ้น”

พอถามว่า “เวลาอยู่ข้างเรา” ดังที่กลุ่มคนรุ่นใหม่นำเสนอเป็นสโลแกนในการต่อสู้ จริงหรือไม่? อาจารย์ธงชัยยิ้มก่อนจะให้คำตอบชวนคิดว่า

“เวลาอยู่ข้างเรา แล้วแต่คุณคิดถึงในสเกลไหน เวลาทางธรณีวิทยายาวเป็นพันปี เวลาทางประวัติศาสตร์ยาวเป็นร้อยปี เวลาในทางการเมืองยาวไม่กี่สิบปี หรืออาจจะแค่ไม่กี่ปีด้วยซ้ำไป

“ผมคิดว่าความเปลี่ยนแปลงหนีไม่พ้น การเปลี่ยนแปลงดีขึ้น-เลวลงเป็นปกติ ไม่มีอะไรดีขึ้นตลอด ไม่มีอะไรเลวลงไปตลอด แล้วสิ่งที่ดีขึ้นหลายอย่างก็จะมากับสิ่งที่เลวลง สังคมไม่ได้เป็นก้อนเดียว”

เมื่อถามนักวิชาการบางรายถึงความหวังในอนาคตข้างหน้า

อาจารย์ประจักษ์ชี้ว่า การเลือกตั้งปีหน้าจะมีความสำคัญมากและเป็นจุดเปลี่ยนประเทศ โดยถ้าเปลี่ยนแปลงไปสู่ทิศทางที่ถูกต้อง เราก็จะเอากลุ่มสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหารออกไปจากวงจรการเมืองได้อย่างสันติ ผ่านกระบวนการเลือกตั้ง

แต่ถ้ายังมีการใช้กลไกรัฐแทรกแซง ใช้องค์กรอิสระ-กองทัพควบคุมผลการเลือกตั้งให้ดำเนินไปในทิศทางเดิม เอา ส.ว.มาร่วมโหวตนายกฯ อีกครั้ง แล้วฝืนกระแสประชาชน ประเทศจะไปต่อลำบาก

“ผมกลัวมันจะเกิดความขัดแย้งรุนแรงจากการเลือกตั้ง ถ้าเสียงประชาชนต้องการเปลี่ยนแปลง แต่ชนชั้นนำทำทุกอย่างเพื่อสืบทอดอำนาจ อันนี้น่ากลัวมาก”

อย่างไรก็ดี ปัญญาชนอาวุโสเช่นอาจารย์สุรชาติได้ฝากกำลังใจทิ้งท้ายเอาไว้ว่า “อย่าสิ้นหวัง จุดคบเพลิงในอุโมงค์ที่มืด วันนี้เชื้อไฟเยอะ รอคนจุดไฟ สังคมไม่เคยมืดได้ทั้งหมด”