เปิดใจเลขาฯ กกต. ‘แสวง บุญมี’ เรามี 3 เจ้านาย แนะนักการเมือง ‘ตั้งโจทย์ให้ถูก’

“แสวง บุญมี” นั่งเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ไม่ถึงปี

แต่ด้วยความเป็นลูกหม้อของที่นี่ จึงถือเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถคนหนึ่งของสำนักงาน

อยู่ กกต.มานานกว่า 20 ปี ทำงานตั้งแต่เป็นผู้บริหารระดับกลางจนถึงตำแหน่ง “รองเลขาฯ กกต.” ก่อนก้าวขึ้นสู่เก้าอี้เลขาฯ กกต.อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

“มติชนสุดสัปดาห์” มีโอกาสสนทนาในหลากหลายประเด็นกับเลขาฯ กกต.ผู้นี้ ซึ่งจะอยู่ในตำแหน่งดังกล่าวนานถึง 5 ปี ตั้งแต่ปีนี้จนถึงปี 2570

เลขาฯ กกต.เกริ่นให้ฟังว่า เลขาฯ เหมือนคนเป็นแม่บ้าน ทำทุกอย่างตั้งแต่บริหารจนมาถึงการเป็นภารโรง สิ่งที่อยากจะเห็น มีอยู่ 3 ระดับ ระดับแรก คือตัวพนักงาน ให้มีความมั่นคง มีเกียรติ มีศักยภาพในการทำงานให้กับองค์กร หรืองานของประเทศชาติ

ระดับต่อมา คือ องค์กร อยากทำให้เป็นองค์กรแห่งความสุขและความสำเร็จ การมีวัฒนธรรมองค์ที่แข็งแกร่ง ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ได้ รวมทั้งนำการบริการจัดการสมัยใหม่และเทคโนโลยีมาใช้บริหารและการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน

ส่วนระดับที่สูงขึ้น คือ เป้าหมายสูงสุดของงาน กกต. การทำการเมืองให้ดี โดยเฉพาะการเลือกตั้ง ควรเป็นทางออกของประเทศได้ หมายความว่า การเลือกตั้งเป็นที่ยอมรับ ประชาชนมีส่วนร่วมและตรวจสอบ มีความโปร่งใส

เมื่อพูดมาถึงเรื่องคน ในฐานะที่เป็นแม่บ้าน อยากให้คนทั้ง 3 คนได้มีความสุข เหมือนกับเรามีเจ้านายอยู่ 3 คน นายคนแรก คือ ประชาชน นายคนที่สอง คือ คณะกรรมการ กกต. งานที่เราทำคืองานของ กกต. นายคนที่ 3 คือ พนักงาน กกต.ทุกท่าน คนที่ทำงานให้ กกต.

การทำงานของเลขาฯ จึงต้องทำให้ทั้ง 3 คนนั้นมีความสุข และงานประสบความสำเร็จ

กรณี ส.ส.ฝ่ายค้านวิพากษ์วิจารณ์การที่ ส.ส.ไม่สามารถเข้าไปช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมให้กับชาวบ้านได้ เนื่องจากติดกฎหมายเลือกตั้งนั้น

เลขาฯ แสวงให้คำตอบว่า “ผมจะพูดสั้นๆ เหมือนผมเป็นชาวบ้าน เรื่องมาตรา 68 ระเบียบของ กกต. ที่เรียกว่ากฎเหล็ก แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่กฎเหล็ก ผมจะเล่าในสองสามประเด็น คือ ข้อแรกระเบียบของ กกต.ไม่มีสภาพบังคับทางกฎหมาย เป็นคำแนะนำในการทำงานของ ส.ส.ในช่วงที่มีการหาเสึยงเลือกตั้ง ซึ่งการหาเสียงจะต่างจากยุคก่อนๆ คือ เมื่อก่อนจะมีแค่ช่วงยุบสภา ช่วงครบวาระไม่เกิน 45-60 วัน มันสั้นมาก แต่พอกฎหมายใหม่ขยายมาเป็น 60 วัน นี่คือความต่าง”

ขณะที่สาระสำคัญในการหาเสียงจะไม่แตกต่างกันในทุกฉบับ นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540, 2550, 2560 จนถึงกฎหมายเลือกตั้ง การหาเสียงเหมือนกันทุกอย่าง ต่างกันตรงที่เวลาที่ใช้บังคับ

ข้อที่สอง เมื่อระเบียบ กกต.ไม่มีสภาพบังคับ เมื่อท่านฝ่าฝืนระเบียบไม่มีใครทำอะไรท่านได้เลย แต่ตัวระเบียบได้ไปเอากฎหมายมารวมไว้ให้ผู้ประสงค์ที่จะสมัครลงรับการเลือกตั้งสามารถดูได้ง่าย ว่ากฎหมายเขียนห้ามไว้ว่าอย่างไร

หมายถึง การห้ามให้เงินหรือทรัพย์แก่บุคคล ชุมชน วัด ในกรณีที่ประชาชนเดือดร้อน ซึ่งอยู่ในมาตรา 73 ของกฎหมายเลือกตั้ง ไม่ใช่ระเบียบ กกต. แต่เป็นกฎหมาย ส่วนเรื่องเวลาในการใช้ 180 วัน ก็อยู่ในมาตรา 68 ในกฎหมายเช่นเดียวกัน

ถ้าท่านเห็นว่าประชาชนเดือดร้อนจากเรื่องพวกนี้ จะไม่ใช่การเดือดร้อนจาก กกต. เพราะระเบียบ กกต.ไม่ได้เขียนหรือกำหนดเรื่องพวกนี้ แต่กฎหมายเป็นคนกำหนด นั่นหมายความว่า กฎหมายทำให้ประชาชนเดือดร้อน คนที่แก้กฎหมายได้ คือ รัฐสภา ไม่ใช่ กกต. หากมาบอก กกต.ก็จะเหมือนเดิม เราก็ไม่ให้เหมือนเดิม เพราะต้องเป็นไปตาม 180 วัน เนื่องจากกฎหมายเขียนไว้ ไม่มีใครฝ่าฝืนกฎหมายได้ และไม่มีหน่วยงานไหนแก้กฎหมายเองได้ ถ้าไม่ใช่รัฐสภา ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน

ดังนั้น การบอกให้ กกต.แก้นู่นแก้นี่ จึงไม่ครบประเด็น ถ้าท่านคิดว่าประชาชนเดือดร้อนจริง ท่านต้องตั้งโจทย์ให้ได้ก่อนว่าคืออะไร และท่านค่อยไปแก้ เพราะโจทย์นี้ไม่ใช่เรื่องที่ กกต.ทำให้ประชาชนเดือดร้อน ถ้าเรามีอำนาจทำได้ เราคงทำไปแล้ว

“สิ่งที่สังคมเสนอให้เราทำผิดกฎหมาย มันไม่ใช่ ไม่ถูกต้อง ต้องตั้งโจทย์ให้ถูก เพราะถ้าโจทย์มันถูก คำตอบมันก็จะง่าย แต่ถ้าท่านมีแต่คำตอบว่าประชาชนเดือดร้อน และบอกว่า กกต.ออกกฎเหล็ก ทั้งๆ ที่มันคือคำแนะนำที่ไม่มีสภาพทางกฎหมาย”

นี่คือสิ่งที่อยากจะบอก ถ้าท่านอยากช่วยเหลือประชาชนจริง ต้องไปดูว่าจะแก้กฎหมายอย่างไร หรือถ้าท่านพอใจแบบนี้อยู่แล้ว มันก็เป็นอย่างที่เห็น จังหวะของการบังคับใช้ 180 วันมันมาเจอกับจังหวะของสถานการณ์น้ำท่วมพอดี โควิดก็ยังอยู่ เลยเหมือนสองแรงมันเข้ามา ผมก็ยังยืนยันว่ามาตรา 73 และมาตรา 68 ออกโดยรัฐสภาอยู่ใน พ.ร.บ.เลือกตั้ง ไม่ใช่ กกต.

จริงๆ กกต.เป็นคนปฏิบัติตามกฎหมาย ถ้าไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เรานั่นแหละที่จะโดนเองว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

“ผมจึงสื่อไปทางสังคมเสมอว่าผมไม่ได้หนักใจอะไร เพราะว่าถ้าทำตามกฎหมายมันคุ้มครองอยู่แล้ว แต่ถ้าทำอย่างอื่นที่ขัดกับกฎหมาย จะเป็นปัญหากับเรา และเป็นปัญหาว่าขนาดกรรมการยังไม่เคารพกฎหมาย แล้วใครจะเคารพ ถ้ากฎหมายไม่ดีท่านก็แก้สิครับ เห็นว่าไม่ดี เห็นว่าประชาชนเดือดร้อนยังไง ท่านก็แก้ แต่อย่ามาบอกว่าให้ กกต.แก้ไข กกต.จะใหญ่เกินกว่ากฎหมายไม่ได้”

ตอนนี้มาหา กกต. บอกว่า กกต.แก้อย่างนู้นอย่างนี้ มันไม่ได้แก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเลย ความเดือดร้อนของประชาชนก็เหมือนเดิม ถ้าลองคิดหาช่องทางที่ถูก ผมว่าการแก้ปัญหาของประชาชนอาจจะทุเลาได้เร็วขึ้น ถ้าทำได้เราทำแล้ว

การเลือกตั้งครั้งหน้า กกต.เตรียมการอย่างไรบ้างนั้น แสวง บุญมี บอกว่า โดยทางธุรการและทางการบริหารเตรียมพร้อมไว้ตลอด แต่ว่าครั้งนี้มีเงื่อนไข เพราะว่ามีกฎหมายอยู่ 2 ฉบับ ค้างอยู่ที่การพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มันให้งานที่เราควรจะเตรียมไว้ไม่ได้ครบ แต่เรื่องการบริหาร เรื่อง Timeline หรือแผนมีอยู่แล้ว

พอพูดถึงเรื่องการเลือกตั้ง ผมอยากพูดไปถึงเรื่องพรรคการเมืองด้วย อย่างตอนนี้มีปัญหาการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ผู้ประสงค์สมัครเลือกตั้งไม่รู้เขตตัวเอง รู้ว่าประมาณ 40 กว่าจังหวัดที่เขตเลือกตั้งไม่เปลี่ยน อันนี้เขาจะรู้ แทบจะเป็นเขตเดิม แต่ไม่ได้บอกว่าจะเป็นเขตเดิม ถ้าประชากรเปลี่ยน ถ้าการเลือกตั้งปีหน้าก็ต้องนำประชากร ณ วันที่ 31 ธันวาคมของปีนี้ ต้องแบ่งเขตใหม่

ตอนนี้รอแบ่งเขต เพราะ กกต.จะไปแบ่งเขตโดยไม่มีกฎหมายไม่ได้ พอกฎหมายแก้เป็น 400 กับ 100 ต้องรอกฎหมายออกมาก่อน ถึงจะแบ่งเขตได้ คนก็ถามว่าทำไมเราไม่แบ่งเขต แต่ว่าเรื่องทางการบริหาร ธุรการ กกต.เตรียมพื้นที่ เตรียมแนว เตรียมแบบการแบ่งเขต และจะให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เตรียมไว้หมดแล้ว รอกฎหมายออกมา เป็นการเตรียมข้อมูล ซึ่งจังหวัดต้องเตรียมอยู่แล้ว เพราะไม่รู้ว่าการเลือกตั้งจะมาวันไหน แต่อย่างน้อยๆ ครบวาระแน่ในวันที่ 23 มีนาคม ไม่เตรียมไม่ได้ เพราะงานเลือกตั้งมีช่วง มีแต่ละเรื่อง แต่ละกิจกรรม มีเวลาของมันอยู่

สิ่งที่กังวลไม่ใช่เรื่อง กกต. กังวลกับพรรคการเมือง ซึ่งต้องไปทำ Primary ไม่ใช่อยู่ๆ ไปทำ ต้องมีการตั้งสาขา ตั้งตัวแทน สาขาตั้ง 500 ตัวแทนตั้ง 100 แต่ก่อนผมเคยอยู่พรรคการเมือง การตั้งหนึ่งสาขากับหนึ่งตัวแทน ครั้งหนึ่งใช้เวลาประมาณ 4-6 เดือน ไปทำ Primary ใช้เวลา 25 วันตามกฎหมายเก่า ถ้าทำตามกฎหมายใหม่ง่ายขึ้น เวลาไม่ได้ลดลง แต่ง่ายขึ้น ต้องมีการประชุมสาขาและตัวแทน

การตั้งสาขาตั้งตัวแทนทำถูกไหม สำนักงาน นายทะเบียนเป็นคนตรวจอีกทีหนึ่ง ถ้าไม่ถูก จังหวัดนั้นทั้งจังหวัดคุณจะส่งผู้สมัครไม่ได้เลย จริงๆ ชาวบ้านเป็นคนตั้งพรรค แต่เวลากฎหมายออกมาเหมือนเป็นระเบียบ เป็นราชการเลย รายละเอียดเยอะ ชาวบ้านมีโอกาสที่จะทำผิดพลาด ตกหล่นในบางเรื่องบางราวก็เกิดขึ้น แต่สำนักงานเป็นพี่เลี้ยงให้อยู่แล้ว

นี่แหละคือความซับซ้อนของกฎหมาย ไม่ได้อยู่ที่ กกต.เตรียมพร้อม แต่อยู่ที่นักการเมือง ปัจจุบันยังไม่มีพรรคไหนส่งผู้สมัครได้ครบตามข้อมูลของสาขาหรือตัวแทน

สําหรับการเตรียมการของ กกต. ถ้ามีการเลือกตั้งในปี 2566 นั้น แสวง บุญมี ยืนยันว่า พร้อม 100% ทุกเรื่อง

แต่ติดที่กฎหมาย 2 ฉบับ ถ้ากฎหมายไม่ออกก็ทำอะไรไม่ได้ คนจะมาโทษ กกต.อีกว่าทำไมไม่แบ่งเขต และถ้าถามว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นเร็วกว่าวันที่ 23 มีนาคม 2566 คนที่เดือดร้อนไม่ใช่ กกต. อย่างที่บอกว่า กกต.เตรียมพร้อมตลอดอยู่แล้ว แต่คนที่เดือดร้อน คือ นักการเมือง ซึ่งต้องไปทำ Primary แล้วทำทันที่ไหนเล่าถ้าเวลากระชั้นชิด

เราเข้าใจพรรคการเมือง จึงพยายามช่วยให้คำแนะนำในการทำงานที่ต้องส่งผู้สมัคร

แต่ก่อนการส่งผู้สมัครต้องอยู่ที่กรรมการบริหารพรรค ยุบสภา หมดวาระ กรรมการบริหารพรรคประชุมแล้วส่งได้เลย

แต่อันนี้ต้องมีสาขา มีสาขาแล้วต้องไปทำ Primary มีขั้นตอน เราไม่รู้ว่าประชุมตั้งสาขาถูกหรือไม่ ทำ Primary ถูกหรือไม่ องค์ประชุมครบไหม ทางการบริหารเราดูแลเขาอยู่แล้ว เพียงแต่ระยะเวลามันสั้น เขาจะทำทันแค่ไหน แต่ละพรรคก็ต่างกัน ศักยภาพพรรค ขนาดของพรรคก็ต่างกัน เวลาก็น้อย ขั้นตอนก็ซับซ้อน

นี่แหละคือสิ่งที่กังวลมากกว่าสิ่งที่เราเป็นด้วยซ้ำตอนนี้

 

ถามว่า ใช้งบประมาณการเลือกตั้งไปเท่าไร และคาดว่าปี 2566 จะใช้เท่าไร?

เลขาฯ กกต.บอกว่า ตัวเลขปี 2562 ใช้งบประมาณไป 4,300 ล้านบาท เบื้องต้นปี 2566 ของบฯ ไปประมาณ 5,000 กว่าล้านบาท แต่อยู่ในงบฯ กลาง เลยไม่รู้ว่าจะได้เท่าไร

ถามว่าทำไมสูงขึ้น อย่างที่หนึ่ง คือ มีบัตร 2 ใบ กรรมการหน่วยก็มีมากขึ้น เพราะบัตร 2 ใบต้องใช้กรรมการนับคะแนน 2 ชุด ทั้งแบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขต จะทำให้มีกรรมการมากขึ้น พอมีโควิด แต่ก่อนมี 5 คน ตอนนี้จะเป็น 9 คน ก่อนมีโควิดก็ตั้งงบฯ แบบมีโควิด เพราะการมีโควิดต้องเพิ่มหน่วย แต่มีคนน้อยลง แต่ก่อนหน่วยละพันกว่า ต้องเหลือ 600

อย่างที่สอง คือ เรื่องการพิมพ์บัตร คือ บัตร 2 ใบคนละเบอร์ 400 เบอร์ 400 เขตก็ได้ ถ้าไม่ใช่บัตรโหล ทุกเขตจะเป็นแบบเฉพาะเลย ซึ่งค่าใช้จ่ายจะแพง ไม่เหมือนการพิมพ์บัตรเหมือนกันทั้งประเทศ ดังนั้น จึงเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตามกฎหมาย

สำหรับเรื่องคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 นั้น แสวง บุญมี บอกว่า หมดไปตั้งแต่ปีเดียวแล้ว ที่เหลืออยู่คือการเลือกตั้งซ่อม คงใช้เวลาไม่ถึงปี ส่วนการเลือกตั้งท้องถิ่นจะเป็นลักษณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่ามีคดีมากกว่า 5,000 คดีทุกการเลือกตั้ง ตามข้อมูล ภายในปี 2562-2565 ระยะ 4 ปี ทุกการเลือกตั้งที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2562 ตามรัฐธรรมนูญใหม่ การเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไป เลือกตั้งท้องถิ่น อบจ. อบต. เทศบาล พัทยา และ กทม. มีคำร้อง 5,862 เรื่อง ตอนนี้ทำเหลือ 435 เรื่อง

ผมว่าเราทำเร็ว ซึ่งจำนวนคดี 5,000 กว่าคดีถือว่าเยอะ แต่เป็นสำนวนไต่สวน ต้องไปรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อให้ กกต.ได้วินิจฉัย

 

ส่วนความคาดหวังการมาเลือกตั้งนั้น เลขาฯ กกต.บอกว่า ปี 2562 อยู่ที่ 74% แต่ปี 2566 เป้าสูงกว่า 74% อยู่แล้ว ถ้าตั้งไว้ 80% ถือว่ายังไม่ห่างจากฐานเดิม

ถามว่าทำไมหวังมากขึ้น

เพราะด้วยการเมืองตื่นตัว มี New voter เข้ามามากขึ้น การแข่งขันแต่ละครั้ง ข้อมูลเข้าถึงประชาชนเยอะ รวมถึงทางโซเชียล ด้วยภาพรวมแบบนี้ ทั้งตัวผู้สมัครเองเขาต้องพาผู้สนับสนุน หรือเสนอนโยบายอะไรแบบนี้ คงจะทำให้การเลือกตั้งคึกคักและได้เปอร์เซ็นต์ที่น่าจะสูงกว่าเดิม

ครั้งนี้จึงตั้งไว้ไม่ต่ำกว่า 80%