ณ ปี 2565 กอ.รมน. ขยายการจัดตั้งมวลชน…เพื่ออะไร? | พวงทอง ภวัครพันธุ์

พวงทอง ภวัครพันธุ์

ท่ามกลางบรรยากาศที่พรรคการเมืองต่างกำลังเตรียมตัวเข้าสู่การเลือกตั้งที่คาดว่าจะมีขึ้นในปี 2566

ก็ปรากฏข่าวในหน้าสื่อต่างๆ ว่ากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เร่งขยายเครือข่ายมวลชนจัดตั้งกลุ่ม “ไทยอาสาป้องกันชาติ” หรือ ทสปช. ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล

โดย กอ.รมน.แถลงว่าเพื่อให้มวลชนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความมั่นคงของชาติ อันที่จริงนี่ไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่แต่ประการใด

เพราะนับตั้งแต่เกิดปรากฏการณ์ “คนเสื้อแดง” หลังรัฐประหารปี 2549 ผู้เขียนพบว่า กอ.รมน.หันมาชุบชีวิตให้กับกลไกยุคสงครามเย็นนี้อย่างต่อเนื่อง

คำถามของบทความนี้คือในสถานการณ์ที่ประเทศกำลังมุ่งสู่การเลือกตั้งนี้ กลไกมวลชนจัดตั้งจะช่วยตอบสนองความมั่นคงให้กับใครกันแน่?

มวลชนจัดตั้งใน “ยุคสงครามเย็น”

การจัดตั้งมวลชนเป็นหนึ่งในวิธีการ “การเมืองนำการทหาร” ที่ก่อตัวขึ้นในยุคที่รัฐไทยกำลังเผชิญกับการขยายตัวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)

โดยรัฐไทยตระหนักว่าวิธีการทางทหารอย่างเดียวไม่สามารถทำให้ตนเอาชนะ พคท.ได้ แต่จะต้องสามารถเอาชนะใจและได้รับความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่สีแดงด้วย

รวมทั้งต้องอัดฉีดโครงการพัฒนาต่างๆ เพื่อสร้างความกินดีอยู่ดีให้กับประชาชน ขยายกลไกจิตวิทยาที่มุ่งปลูกฝังความจงรักภักดีต่อสถาบันหลักของชาติ เพื่อสร้างฐานมวลชนที่จงรักภักดีต่อรัฐไทย

มวลชนเหล่านี้จะทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงทางอุดมการณ์ เป็นหูตาสอดส่องความเคลื่อนไหวของฝ่ายคอมมิวนิสต์ให้กับรัฐ

นอกจากนี้ มวลชนจัดตั้งบางส่วนยังได้รับการฝึกและติดอาวุธเพื่อเป็นกองกำลังกึ่งทหาร (paramilitary) ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้กับชุมชนด้วย

ในช่วงสงครามเย็น มวลชนจัดตั้งของรัฐขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีทั้งกลุ่มทางการ ที่มีกฎหมายรองรับและได้รับงบประมาณสนับสนุนทุกปี

กลุ่มนี้มีไม่ต่ำกว่า 20 องค์กร เช่น ลูกเสือชาวบ้าน อาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) อาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน และ ทสปช. ฯลฯ กลุ่มเหล่านี้ยังดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน มวลชนเหล่านี้อาจสังกัดหน่วยงานรัฐอื่น เช่น อส.สังกัดกระทรวงมหาดไทย

แต่ กอ.รมน. มีอำนาจที่จะเรียกใช้งานมวลชนข้ามกระทรวงได้ตราบเท่าที่อ้างว่าภารกิจนั้นๆ เกี่ยวข้องกับ “ความมั่นคงภายใน” ของชาติ อำนาจเช่นนี้ดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน

ส่วน ทสปช.ที่กำลังเป็นข่าวอยู่นี้ ขึ้นตรงต่อ กอ.รมน.โดยตรง จึงเป็นกลุ่มที่ กอ.รมน.สามารถเรียกระดม-ขยายได้สะดวกมากที่สุด

นอกจากนี้ ในช่วงเวลานั้นยังมีกลุ่มที่ไม่เป็นทางการที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับขบวนการนักศึกษา เช่น กระทิงแดง ชมรมแม่บ้าน อภิรักษ์จักรี ฯลฯ กลุ่มนี้สลายหายตัวไปหลัง พคท.พ่ายแพ้

แม้ว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ได้ทำให้ภาพลักษณ์มวลชนฝ่ายขวาเป็นพวกโหดเหี้ยมผิดมนุษย์มนา และแม้ว่าคอมมิวนิสต์ยุติการเป็นภัยคุกคามที่น่ากลัวต่อรัฐไทยตั้งแต่กลางทศวรรษ 2520 ซึ่งทำให้ข่าวคราวเกี่ยวกับ กอ.รมน. เริ่มรางเลือนไปจากหน้าสื่อมวลชน จนผู้คนต่างเข้าใจว่าพวกเขาคงละเลิกการจัดตั้งมวลชนไปแล้ว

แต่ความเป็นจริงคือสิ่งที่ตรงกันข้าม

ชนชั้นนำอนุรักษนิยมไทยไม่เคยละทิ้งแนวคิดจัดตั้งมวลชน

คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 และ 65/2525 ที่ประกาศใช้โดยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ยังคงถูกถือปฏิบัติโดยกองทัพและหน่วยงานความมั่นคงตลอดมา แม้แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เคยอ้างอิงว่าวิธีการทางการเมืองของตนเดินตามแนวทางของ 66/2523

ซึ่งหากเราได้อ่านคำสั่งทั้งสองอย่างละเอียดก็จะพบว่าหัวใจสำคัญของคำสั่งนี้คือการขยายการจัดตั้งมวลชนของรัฐออกไปยังประชาชนทุกสาขาอาชีพทั้งในเมืองและชนบท

เช่น ในปี 2525 พล.อ.เปรมได้ออกคำสั่งจัดตั้ง “กองหนุนเพื่อความมั่นคงแห่งชาติ” โดยรับสมัครจากทหารกองหนุนทั่วประเทศ พบว่าระหว่างปี 2525-2535 กอ.รมน.ได้ฝึกอบรมสมาชิก กนช.ไปแล้วถึง 658,915 คน จัดตั้งหมู่บ้าน กนช. 504 หมู่บ้านใน 72 จังหวัด (ศูนย์ประสานงานทหารกองหนุนเพื่อความมั่นคงแห่งชาติ 2535, 7-8)

ในปีเดียวกัน รัฐบาลเปรมขยายการจัดตั้ง “หมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง” อีกจำนวน 4,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ

โดยหมู่บ้านที่ได้รับสถานะนี้จะต้องมีการจัดตั้ง “อาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง” (อพป.) ซึ่งจะมีทั้งสมาชิกที่เป็นกองกำลังกึ่งทหารและชาวบ้านทั่วไป

โดยโครงการหมู่บ้านอาสาพัฒนาได้รับการบรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 (2525-2529) เพื่อความสะดวกในการจัดสรรงบประมาณ

 

มวลชนจัดตั้ง
หลังรัฐประหาร 2549-ปัจจุบัน

การรักษาฐานมวลชนของรัฐไว้ในยามที่ประเทศไม่ได้มีความขัดแย้งในระดับวิกฤติ อาจดูไม่ใช่เรื่องน่ากังวลแต่ประการใด เพราะกิจกรรมส่วนใหญ่ของพวกเขามักเป็นการรวมตัวกันจัดงานส่งเสริมอุดมการณ์ราชาชาตินิยมในวาระโอกาสและวันสำคัญของชาติ

แต่เมื่อไรที่ชนชั้นนำอนุรักษนิยมเห็นว่าฐานอำนาจของตนกำลังถูกบ่อนเซาะ และมวลชนกำลังถูกช่วงชิง-แบ่งแยกโดยศัตรูทางการเมืองของตน พวกเขาก็สามารถระดมมวลชนและขยายการจัดตั้งได้อีก กลไกนี้จะถูกฟื้นฟูให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งอย่างง่ายดาย

ซึ่งนี่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหารที่ยึดอำนาจจากรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2549

หนึ่งในหลักฐานที่ยืนยันปรากฏการณ์ดังกล่าวคือ จดหมายที่ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้บัญชาการทหารบกและรองผู้อำนวยการ กอ.รมน. ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2555 เพื่อแจ้งให้ทราบถึงความก้าวหน้าในการเรียกระดมและขยายมวลชนของ กอ.รมน. ดังต่อไปนี้ :

ตามที่รัฐบาลได้ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยไทยอาสาป้องกันชาติ พ.ศ.2521 เพื่อจัดระเบียบราษฎรอาสาสมัครที่จัดตั้งขึ้นมาหลายพวกหลายกลุ่มที่กระจัดกระจายกันให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และให้ใช้ชื่อว่า ไทยอาสาป้องกันชาติ ชื่อย่อ “ทสปช.” ตั้งแต่วันที่ 4 กันยายน พ.ศ.2521 เป็นต้นมา โดยมีกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เป็นหน่วยรับผิดชอบในการฝึกจัดตั้ง มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือราชการในการต่อสู้เอาชนะผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในยุคเริ่มต้น และต่อมามีหน้าที่ในการป้องกันการก่อความไม่สงบ พัฒนาตนเอง และการช่วยเหลือด้านการบรรเทาสาธารณภัยเพิ่มเติม

ต่อมาในปี 2535 รัฐบาลมีนโยบายยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2495 กิจกรรมของ ทสปช.จึงเริ่มลดระดับลง อย่างไรก็ตาม ทสปช.ยังคงเป็นเครือข่ายมวลชนหลักในเรื่องของความจงรักภักดี และเข้าร่วมกิจกรรมและบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบัน กอ.รมน.ได้รับการจัดตั้งใหม่ ตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551… จึงได้กำหนดให้มีการฟื้นฟูกิจกรรมของ ทสปช. โดยให้มีการฝึกทบทวนสมาชิกเก่าและจัดตั้งสมาชิกใหม่เพิ่มเติม เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนทางราชการในการต่อต้านภัยคุกคามต่างๆ ที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้เป็นมวลชนหลักในเรื่อง “การปกป้องและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์” มียอดสมาชิกที่อยู่ในความควบคุมกำกับดูแลของ กอ.รมน.จำนวนทั้งสิ้น 233,161 คน โดยมีรายละเอียดความเป็นมา หลักสูตรการฝึกอบรม ตลอดจนข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย

(กอ.รมน. ไทยอาสาป้องกันชาติ. 2555, 1-2)

 

รายงานข่าวและเว็บไซต์ของ กอ.รมน.นับแต่ปี 2549 ยังทำให้เราเห็นว่า กอ.รมน.ได้จัดตั้งมวลชนกลุ่มใหม่ขึ้นมามากมาย

เช่น สมาคมนักธุรกิจรักษาความมั่นคงแห่งชาติ, ชมรมผู้นำชุมชนมุสลิมรักษาความมั่นคงภายใน, ชมรมไทย-ซิกข์รักษาความมั่นคงภายใน, ชมรมไทย-อินเดียรักษาความมั่นคงภายใน, กลุ่มบิ๊กไบค์ใจรักแผ่นดิน, กลุ่มออฟโรดไทยใจรักแผ่นดิน, กลุ่มสื่อมวลชนเพื่อความมั่นคงแห่งชาติ, โครงการเพชรในตม, เครือข่ายตาสับปะรด, โครงการสายข่าวเพื่อความมั่นคง, โครงการ รด.ไซเบอร์ และโครงการอบรมนักเรียนนิสิตนักศึกษาและประชาชนทั่วประเทศอีกนับไม่ถ้วน

จุดมุ่งหมายหลักของการขยายมวลชนนี้ไม่แตกต่างจากในยุคสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์เท่าไรนัก

คือ คาดหวังให้มวลชนเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นหูเป็นตาให้กับรัฐ สอดส่องรายงานการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองที่ถูกมองว่า “เป็นภัยความมั่นคงของรัฐ” ทั้งในโลกที่เป็นจริงและในโลกไซเบอร์ เช่น คนเสื้อแดง ขบวนการเยาวชน ประชาชนที่ต่อต้านระบอบ คสช. ประชาชนที่ต่อต้านโครงการพัฒนาของรัฐ

ขณะเดียวกันมวลชนจัดตั้งก็ถูกคาดหวังให้เป็นฐานสนับสนุนเพื่อยืนยันความชอบธรรมของรัฐบาลทหาร และทำหน้าที่ส่งเสริมอุดมการณ์หลักของรัฐ

โครงการขยายฐานมวลชนของรัฐยังถูกสอดไส้เข้าไปในโครงการประชานิยมของ คสช. อีกด้วย ในปี 2560-2561 เมื่อ คสช.ผลักดันโครงการประชารัฐ-ไทยนิยม พวกเขาได้สอดแทรกโครงการ “ประชาธิปไตยไทยนิยม-ยั่งยืน” เข้าไปด้วย

โดยมีเป้าหมายให้ กอ.รมน.รับผิดชอบโครงการอบรมประชาชนให้ครอบคลุม 83,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ เพื่อให้จงรักภักดีต่อสถาบันหลักของชาติ ยึดถือปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ชื่นชมในประชาธิปไตยแบบไทยๆ อบรมให้ประชาชนรู้จักเลือกนักการเมือง “ที่ดี” และตระหนักในข้อบกพร่องของประชาธิปไตยแบบตะวันตก

มวลชนจัดตั้งยังถูกระดมมาใช้ในวาระสำคัญด้วย เช่น ก่อนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ในวันที่ 7 สิงหาคม 2559

ผู้บริหาร กอ.รมน.แถลงว่า ตนสามารถระดมมวลชนราว 500,000 คน ให้เข้าร่วมรณรงค์ให้ประชาชนออกมาแสดงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญของ คสช.

ในทางตรงกันข้าม เราคงจำกันได้ดีว่ากลุ่มประชาชนที่ต้องการรณรงค์ให้ “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถูกเจ้าหน้าที่รัฐต่อต้าน จับกุม และฟ้องร้อง

ฉะนั้น เราจึงต้องจับตาดูว่าในการเลือกตั้งที่คาดว่าจะมีขึ้นในปี 2566 นี้ มวลชนจัดตั้งของรัฐจะถูกระดมออกมาเพื่อตอบสนองความมั่นคงของรัฐบาลประยุทธ์ได้มากน้อยเพียงใด