ทวิตเตอร์ดราม่า กับมาตรการกำราบ “หมาป่า” ด้วยเพนต์บอล | ป๋วย อุ่นใจ

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

ทวิตเตอร์สร้างกระแสอีกแล้ว!?

คลิปสั้นๆ ที่แปะในทวิตเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2565 โชว์ภาพหมาป่าตัวหนึ่งกำลังเดินเฉียดผ่านครอบครัวพ่อแม่ลูกสองในอุทยานแห่งชาติฮอร์จแวร์ลู (National Park De Hoge Veluwe) ในเนเธอร์แลนด์ กลายเป็นกระแสวิพากษ์เผ็ดร้อน ผู้เป็นพ่อรีบคว้าตัวเด็กน้อยมาอุ้มไว้ ส่วนแม่ก็รีบดึงตัวลูกอีกคนเข้ามาไว้ข้างตัว หมาป่าหันมองด้วยความลังเล ก่อนที่จะเดินผละจากไปเงียบๆ

ท่าทีของหมาป่าข้างถนนตัวเขื่องที่เดินเฉียดใกล้ผ่านครอบครัวของนักท่องเที่ยวไปแบบไม่สะทกสะท้าน อีกทั้งยังมีหันกลับมามองจ้อง เหมือนต้องการอะไรซักอย่างอยู่ครู่ใหญ่ ท่าทีดูไม่น่าไว้วางใจ ทำให้ผู้คนในโลกโซเชียลมากมายเริ่มหวาดวิตก

ขนาดหมาบ้านที่คิดว่าไม่น่ามีพิษภัย บางพันธุ์หน้าตาดูดียิ้มแย้มแจ่มใส วันดีคืนดี ยังมีข่าวกัดคน แล้วนี่หมาป่าที่เดินย่างสามขุมแสดงท่าทีเป็นเจ้าถิ่นแบบเต็มตัวไม่กลัวใคร ยิ่งไม่น่าไว้วางใจเข้าไปใหญ่

ยิ่งถ้ามีเด็ก หรือสัตว์เลี้ยงตัวเล็กๆ เผลอแป๊บเดียว ถ้ามันจู่โจมแบบไม่ตั้งตัว ความสูญเสียอาจจะใหญ่หลวงก็เป็นได้ นี่คือความเสี่ยงที่ยังไงก็ยอมรับไม่ได้ กันไว้น่าจะดีกว่าแก้

แน่นอนว่า โพสต์ดราม่าแบบนี้จะถูกรีทวีตออกไปมากมายกระจัดกระจายไปอย่างรวดเร็วในโลกอินเตอร์เน็ต และกลายเป็นแรงกระเพื่อมที่กระตุ้นให้ผู้มีส่วนต้องรับผิดชอบเริ่มคิดหาหนทางที่จะวางมาตรการจัดการกับประชากรหมาป่าที่อาศัยอยู่ในอุทยาน

ทว่า หมาป่านั้นอยู่ในทำเนียบสัตว์ป่าคุ้มครอง หากไปสุ่มสี่สุ่มห้ายิง ก็อาจจะเป็นประเด็น หรืออาจจะเป็นคดีได้ จึงไม่ง่ายเลยที่จะหาวิธีจัดการหรือควบคุม

“เราอยู่ในประเทศที่มีประชากร 17 ล้านคนนะ ไม่ใช่เซเรงเกติ” เซกเกอร์ เอมมานูเอล บารอน แวน วัร์สต์ โทต์ วัร์สต์ (Seger Emmanuel baron van Voorst tot Voorst) ผู้อำนวยการอุทยานฮอร์จเเวร์ลู กล่าว เขาคือคนหนึ่งที่ผลักดันให้มีการถอดเอาหมาป่าออกจากรายการสัตว์ป่าคุ้มครอง สำหรับเขาแล้ว หมาป่าสร้างปัญหาให้ผู้ถือครองที่ดินอย่างมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเกษตรกรที่ทำด้านปศุสัตว์

“พวกที่ค้านส่วนใหญ่ไม่มีที่ดิน ก็เลยมองข้ามปัญหาพวกนี้ไป” แวน วัร์สต์ โทต์ วัร์สต์ ร้อง

แต่แม้ว่าผู้อำนวยการอุทยานอย่างแวน วัร์สต์ โทต์ วัร์สต์จะออกมาแสดงท่าทีต่อต้านการคุ้มครองหมาป่าอย่างเห็นได้ชัด แต่ก็ยังน่าสงสัยว่าทำไมหมาป่าภายในอุทยานถึงได้เชื่องขนาดที่เดินผ่านเฉียดใกล้ผู้คนในระยะประชิดแบบชิลล์ๆ ไม่มีแม้แต่ท่าทีจะกริ่งเกรง หรือระวังภัย

แปลกมาก! พฤติกรรมไม่ระแวงแคลงใจใครเลยแบบนี้ ไม่ใช่พฤติกรรมที่จะพบได้ทั่วไปในหมาป่า เป็นไปได้ว่าเจ้าตัวนี้อาจจะเคยชินกับผู้คน อาจจะทั้งกับเจ้าหน้าที่อุทยาน ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในละแวกนั้น และนักท่องเที่ยวที่แวะเวียนกันมาตลอด ก็เลยไม่ตื่นคน

นิโค คอฟฟ์แมน (Niko Koffeman) นายกสมาคมคุ้มครองสัตว์ป่า (De Faunabescherming) เชื่อว่าผู้ดูแลอุทยาน หรือไม่ก็พวกนักท่องเที่ยวน่าจะแอบให้อาหารสัตว์ป่า พวกสัตว์ป่าก็เลยชินกับคน

“ถ้าอุทยานฮอร์จแวร์ลูมีหมาป่าที่มีพฤติกรรมที่แตกต่างไปจากหมาป่าจากที่อื่นๆ ในเนเธอร์เเลนด์และประเทศในแถบใกล้ๆ สถานการณ์ก็ดูน่าสงสัยแล้ว” เขากล่าว

“ที่จริงแล้ว บางตัว ก็คนนี่แหละที่เอามาปล่อย” แวน วัร์สต์ โทต์ วัร์สต์ เผย “ปกติแล้ว หมาป่าพวกนี้จะไม่โจมตีคน แต่พฤติกรรมที่แสดงออกมามันผิดธรรมชาติไปหมด มาเดินอยู่ข้างถนน ตามทางรถจักรยาน และไม่กลัวคน”

และที่น่าตกใจมากที่สุดก็คือจำนวนประชากรหมาป่าในฮอร์จแวร์ลูนั้นทวีจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จนเริ่มคุมได้ยาก เพิ่งมีคนเห็นหมาป่าสองตัวกำลังพรอดรักกันอยู่ในอุทยาน ดูท่าเหมือนว่าจวนเจียนเวลาที่จะสร้างครอบครัว

ในขณะที่หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น เดอะสเตนทอร์ (The Stentor) ก็เพิ่งลงข่าวเจอลูกหมาป่าครอกใหม่ของปีนี้แล้วอย่างน้อย 13 ตัว

แน่นอนว่า แวน วัร์สต์ โทต์ วัร์สต์ ไม่ได้สบอารมณ์กับเรื่องนี้เลยแม้แต่น้อย พอมีประเด็นในทวีต เขาก็เลยเสนอยุทธศาสตร์ขึ้นไปในทันที และด้วยการผลักดัน บวกล็อบบี้ และอีกหลายๆ อย่างของแวน วัร์สต์ โทต์ วัร์สต์ ในเวลานี้ เจ้าพนักงานในเมืองเกลเดอร์ลันด์ (Gelderland) ได้รับอนุมัติให้สามารถเล็งเป้ายิงหมาป่าได้แล้ว แต่ยังไม่ใช่ด้วยกระสุนจริง เป็นกระสุนเพนต์บอล แม้กำจัดไม่ได้ แต่ต้องให้รู้ว่าใครในแถบนี้ที่ห้ามแหยม

ที่จริงกระสุนเพนต์บอลนี่ถ้าโดนจังๆ ก็เจ็บและจุกไม่เบา จุดมุ่งหมายของการเอาปืนเพนต์บอลมายิงหมาป่าไม่ได้เพื่อสังหาร หรือล่าเพื่อความบันเทิงแต่อย่างใด แต่เพื่อให้ตกใจ และหลาบจำ และจะได้แต้มสีไว้ให้รู้ว่าตัวไหนเคยโดนยิงมาแล้ว และตัวไหนยัง

และจะได้รู้อีกด้วยว่าการใช้ปืนเพนต์บอลไล่หมาป่านั้น ทำได้จริงหรือเปล่า แล้วพวกมันดื้อรั้นขนาดไหน

แวน วัร์สต์ โทต์ วัร์สต์ คาดหวังว่าถ้าหมาป่าโดนยิงบ่อยๆ พวกมันจะเริ่มระแวงผู้คน เเละจะเริ่มถอยออกห่างไปเองจากมนุษย์ อย่างน้อยขอแค่ยอมทิ้งช่องว่างห่างไปสัก 100 ฟุต (30 เมตร) ก็ยังดี เพราะถ้ามีทีท่าจะโจมตี เราจะได้มีเวลาตั้งรับได้ทัน

แต่ที่น่ากังวลจริงๆ สำหรับแวน วัร์สต์ โทต์ วัร์สต์ นั้นไม่ใช่คน แต่เป็นสัตว์ที่น่าจะง่ายต่อการตกเป็นเหยื่อหมาป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “แกะ”

“ถ้ามันได้ลิ้มรสแกะแล้ว ยากนักที่จะกลับไปล่าเหยื่อตามธรรมชาติ” เขากล่าว ยิ่งถ้าเหยื่อเป็นแกะมูฟลอน (Mouflon) ที่มีเขาโค้งเป็นวงสวยงามอลังการ ที่เป็นเหมือนขวัญใจของอุทยานที่แขกไปใครมาก็อยากจะมาถ่ายภาพด้วยเก็บไว้เป็นที่ระลึก อันนี้ยิ่งหนักหนาสาหัส

นอกจากจะเป็นทัวริสต์แม็กเน็ต (tourist magnet) ของอุทยานที่นักท่องเที่ยวนิยมมาส่องแล้ว แม้จะอิมพอร์ตเข้ามา ไม่ใช่สัตว์พื้นถิ่นแต่ดั้งเดิม แต่พวกแกะมูฟลอนก็ยังมีบทบาทสำคัญในการรักษาสมดุลของระบบนิเวศน์ที่แสนเปราะบางของอุทยาน พวกมันทำหน้าที่แทะเล็มหญ้า วัชพืชต่างๆ และต้นไม้อีกสารพัด ที่อาจจะเติบโตโอเวอร์ไซซ์ ไม่ให้ขยายเผ่าพันธุ์จนเกินการควบคุม

และถ้าพวกมันกลายเป็นเหยื่อหมาป่า ปัญหาจะไม่ได้อยู่แค่แกะตาย หรือหายไปไม่กี่ตัว แต่อาจจะกระเทือนไปถึงระบบนิเวศน์ทั้งระบบได้เลย ซึ่งก็ต้องรอดูต่อไปว่าการขับไสไล่ส่งหมาป่าเชื่องๆ ให้หลีกเร้นหลบไปไกลจากสังคมมนุษย์ จะส่งผลสะท้อนอะไรกลับมาบ้าง บางทีอาจจะได้หมาป่าดุร้ายกลับมา หรือไม่พวกมันก็อาจจะไล่ล่าสัตว์ป่าอื่นๆ ในอุทยานแทน…

เหรียญมีสองด้านฉันใด ทุกสิ่งก็มองได้ทั้งดีและชั่วฉันนั้น ยุทธศาสตร์เพนต์บอลแม้ว่าจะไล่หมาป่าให้ห่างไปไกลจากมนุษย์ได้ แต่จะเวิร์กแค่ไหน… หรือจะส่งแรงกระแทกกลับมาเพียงใด ยังคงต้องลุ้นกันอีกที

แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับ… เอาเพนต์บอลมายิงหมาป่า… คิดได้ไง ทะลุกรอบมากกกกกกก