NAD C 3050LE Stereophonic Amplifier | เครื่องเสียง

NAD C 3050LE Stereophonic Amplifier

 

นานมากแล้วนะครับที่ไม่ได้เห็นคำซึ่งนำมาจ่าหัวไว้อย่าง Stereophonic รวมทั้งเมื่อแลเห็นหน้าตาเครื่องที่นำมาเป็นรูปประกอบด้วยแล้ว เชื่อว่าคงมีหลายคนที่อาจจะไม่แน่ใจว่ามันเป็นเครื่องอะไรกัน แม้มีคำว่าแอมปลิไฟเออร์มาขยายความแบบพอให้คลำทางได้เป็นเงาๆ ก็เถอะ แต่เมื่อเห็นช่องหน้าต่างกระจกสองบานประกอบเข็ม เหมือนเกจ์วัดอะไรสักอย่างที่มักจะคุ้นกันตามเครื่องมือ ก็อาจจะพาให้หลงทางได้

โดยเฉพาะกับบรรดานักสตรีมมิงทั้งหลายนี่ น่าจะมีไม่น้อยคนที่มองดูหน้าตาเครื่องนี้ด้วยความไม่มั่นใจ ว่ามันคือเครื่องอะไรกันแน่

แต่กับบรรดาขาเก่าเก๋ากึ๊กรุ่นโก๋หลังวังนี่ ผมเชื่อว่าเหล่านักเล่นรุ่นนั้นเห็นหน้าตาแผงหน้าปัดเครื่องนี้แล้ว ล้วนระลึกชาตินึกถึงบรรยากาศเก่าๆ ได้เป็นทิวแถวกันแน่นอน

เพราะนี้คือหน้าตาของเครื่องเสียง ‘ชั้นดี’ ในยุคที่ระบบเสียงไฮ-ไฟ สเตอริโอ เริ่มเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายทั่วโลกตั้งแต่ต้นๆ ทศวรรษที่ 70s เรื่อยมานั่นเอง

เพราะแม้ว่าระบบเสียงไฮ-ไฟจะเป็นที่รู้จักกันก่อนหน้านั้นกว่าสิบร่วมยี่สิบปีแล้วก็ตาม แต่ความนิยมก็ยังไม่มากนัก เนื่องเพราะเมื่อพูดกันถึงเครื่องเสียง หรือคนเล่นเครื่องเสียง ในยุคต้นๆ ของระบบเสียงสเตอริโอ (ที่หากพูดกันให้เต็มยศก็ต้องเติมคำ ‘โฟนิก’ ที่จ่าหัวนั่นเข้าไปด้วย) แล้ว ว่ากันเฉพาะในบ้านเราเพื่อให้เห็นภาพชัดๆ จะจำกัดอยู่แต่ในกลุ่มคนมีกะตังค์ที่เรียกกันว่าพวก ‘มือโปร’ เท่านั้น บรรดาพวกเบี้ยน้อยหอยน้อยที่มีนิยามติดตัวว่า ‘รายได้ต่ำแต่รสนิยมสูง’ อย่างมากก็แค่หากมีโอกาสได้อาศัยใครเขาฟัง ก็ว่ากันว่านั่นเป็น ‘บุญหู’ แล้วล่ะครับ

หน้าตาเครื่องเสียงของพวกมือโปรที่เล่นกันแบบเครื่องแยกชิ้นนั้น ที่เห็นชัดและสะดุดตากว่าเครื่องอื่นๆ ในชุดก็คือ พวกเครื่องขยายเสียงที่มีช่องหน้าต่างสองช่องพร้อมก้านเข็มวัดในแต่ละช่อง แบบที่เห็นตรงมุมซ้ายบนของเครื่องในรูปนั่นแหละครับ หน้าต่างพร้อมเข็มวัดที่ว่านั้นคือ VU Meter หรือมีเตอร์ของ Volume Unit ที่บอกความแรงสัญญาณขณะที่เครื่องกำลังทำงาน และเป็นสิ่งที่ไม่เห็นในชุดเครื่องเสียงส่วนใหญ่นานมากแล้ว โดยเฉพาะกับเครื่องรุ่นใหม่ๆ

แต่ยังคงพบเห็นอยู่เนืองๆ กับบรรดาเพาเวอร์-แอมป์ที่เป็นเครื่องระดับ Hi-End และ Super Hi-End ทุกยุคทุกสมัย ซึ่งส่วนมากจะเป็นแผงขนาดใหญ่เกือบเต็มหน้าปัดเครื่อง ไม่ใช่แลดูกระจุ๋มกระจิ๋มอย่างในรูปนี้

Source: NAD Electronics

งั้นก็กลับมาที่เรื่องราวของรูปนี้กับที่จ่าหัวเอาไว้ต่อเลยละกัน ซึ่งหากจะพูดให้เข้าใจตรงกันนี่ก็คือเครื่องที่ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ Integrated Amplifier นั่นหละครับ ซึ่งเพียงเอาแหล่งโปรแกรม อาทิ เครื่องเล่นแผ่นซีดีมาต่อเข้า แล้วต่อสายออกไปยังลำโพงอีกคู่ ก็ฟังเพลงในระบบสเตอริโอแบบแยกเสียงไปออกลำโพงซ้าย/ขวาได้เลย

เครื่องนี้เกิดขึ้นด้วยแรงบันดาลใจอันเนื่องมาจากอดีต ด้วยตั้งใจทำออกมาในวาระเฉลิมฉลองของแบรนด์ NAD : New Acoustic Dimension ที่ถือกำเนิดขึ้นมาครบ 50 ปีในปีนี้ เพราะก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1972 และกำหนดผลิตออกมาแบบจำกัดจำนวน (เท่ากับตัวเลขปีศักราชที่ก่อตั้ง) เป็น Limited Edition จึงมีสร้อย LE ต่อท้ายชื่อรุ่นเอาไว้ด้วย

โดยแต่ละเครื่องจะมีป้าย NAD 50 Years พร้อมหมายเลขกำกับในลักษณะ 0001 of 1972 เรื่อยไปจนครบจำนวน

แม้ว่าเครื่องจะมีหน้าตาแบบย้อนยุค แต่ภายในกลับบรรจุเอาไว้ด้วยนานาเทคโนโลยีร่วมสมัย ทั้งยังได้ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับเทคโนโลยีของอนาคตที่ยังมาไม่ถึงด้วย ดังนั้น ต่อให้ไม่ว่าจะผ่านกาลเวลาไปนานอีกเท่าใดก็ตาม เครื่องนี้ก็ไม่มีวันที่จะถูกเรียกว่า ‘เครื่องตกยุค’ อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ก็เนื่องเพราะโครงสร้างของเครื่องนั้นได้ถูกออกแบบมาในลักษณะ MDC: Modular Design Construction กล่าวคือ ที่แผงหลังของเครื่องได้ถูกออกแบบให้มีที่ว่างเจาะช่อง (Slot) เอาไว้ สำหรับให้นำกลัก Module มาเสียบเข้า โดยกลักโมดูลที่ว่านี้ก็คือแผงวงจรของเทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นต้นว่าในอนาคตมีเทคโนโลยี X ที่ใช้ในการสร้างฟอร์แม็ตเสียงใหม่ขึ้นมา เพื่อให้เครื่องเดิมที่ใช้อยู่สามารถรองรับการทำงานกับเสียงฟอร์แม็ตใหม่นี้ได้ ก็ออกแบบวงจรการทำงานใส่ไว้ในโมดูล แล้วเอากลัก X-Module นั้นมาเสียบเข้าที่สล็อตหลังเครื่อง เครื่องเดิมนั้นก็กลายเป็นเครื่องร่วมสมัยขึ้นมาทันที

พอมีเทคโนโลยีใหม่กว่าออกมาก็ทำซ้ำแบบที่ว่านั้นอีก จากนั้นก็ถอดโมดูลเก่าออกแล้วใส่โมดูลใหม่เข้าไปแทน เครื่องที่ใช้อยู่ก็สามารถรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้อีก

ถึงได้บอกว่าเครื่องลักษณะนี้จะไม่มีวันตกยุคอย่างเด็ดขาดไงครับ

Source: NAD Electronics

อันที่จริงเรื่อง MDC นี่ บรรดาแฟนานุแฟนเครื่องเสียงค่ายนี้จะรู้จักกันดีอยู่แล้ว เนื่องเพราะโครงสร้างเครื่องแบบนี้ เขาทำออกมาน่าจะเกินสี่ซ้าห้าปีแล้วเห็นจะได้ และมี Module ออกมาให้อัพเกรดเครื่องกันเป็นระยะๆ ตามพัฒนาการของเทคโนโลยีดังที่เห็นกันอยู่

อย่างเช่นเวลานี้ก็มีโมดูล BluOS 2i ที่เป็นโซลูชันการเล่นเพลงดิจิทัลระบบเครือข่ายอันสมบูรณ์แบบ ทั้งช่วยเพิ่มระบบเครือข่ายและการสตรีมเพลงทางอินเตอร์เน็ต พร้อมระบบปฏิบัติการเพลงขั้นสูง เพื่อเอื้อความสะดวกและคล่องตัวให้กับเครื่องบางรุ่นมากยิ่งขึ้น ทั้งล่าสุดยังมีโมดูล USB-DSD ที่เอื้อความสะดวกในการเล่นไฟล์เสียง (Computer Music Playback) ความละเอียดสูง ทั้ง PCM และ DSD ด้วยการสตรีม ทำให้แอมป์ NAD หลายๆ รุ่น ใช้งานได้คล่องตัวเพิ่มมากขึ้น

Source: NAD Electronics

จะว่าไป, การออกแบบเครื่องในลักษณะที่ให้มีช่องเสียบกลักโมดูลที่แผงหลังเครื่องได้นี่ ผมเห็นและอึ้งด้วยความทึ่งในแนวคิดนี้มาตั้งแต่กว่าสามสี่สิบปีโน่นแล้ว หนนั้นเป็น ‘เสี่ยเปา’ (ผู้ล่วงลับ – แห่ง Excel Hi-Fi ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้นำเข้ารายแรกๆ ที่ทำให้นักเล่นบ้านเรารู้จักกับคำว่า Hi-End ด้วยมักนำอุปกรณ์ระบบเสียงที่นักเล่นฝั่งตะวันตกนิยม มาให้นักเล่นบ้านเราได้สัมผัสกันมากกว่ามาก) ได้บอกมาให้ไปดูเครื่องตัวใหม่ที่บ้านหน่อย อยากจะให้ช่วยถ่ายรูปทำแบบเพื่อตีพิมพ์โฆษณาด้วย

เย็นนั้นเสร็จงานแล้วผมกับช่างภาพแวะไปบ้านเสี่ยเขาที่ละแวกสุขุมวิท เข้าไปในห้องรับรองเห็นเครื่องเสียงตัวหนึ่งแวววาวมันปลาบเพราะชุบโครเมียมขัดเงาวางบนโต๊ะ โดดเด่นเป็นสง่าแบบมิพักต้องแข่งความน่าสนใจกับใคร เพราะวางอยู่เครื่องเดียว แรกที่เห็นถามตัวเองในใจว่าเครื่องอะไรของค่ายไหนหว่า หน้าตาไม่คุ้นเลย แต่สวยสะดุดตามาก

เข้าไปดูใกล้ๆ ที่แผงหน้าปัดเครื่องจึงเห็นยี่ห้อ Burmester ก็ไม่คุ้นชื่ออีกนั่นละ แต่พออ้อมไปดูแผงหลังเครื่องคราวนี้เรื่องอะไรไม่คุ้นเก็บไว้ก่อน ด้วยกำลังงงว่าทำไมฟากหนึ่งของแผงมันถึงโล่งแจ้ง แล้วมีช่องว่างให้เห็นอยู่สองสามช่อง แต่เสี่ยเขาไม่ปล่อยให้งงนานดอกนะครับ เพราะเดินมาใกล้แล้วบอกว่าปรี (แอมป์) ไฮ-เอ็นด์ของเยอรมัน ข้างหลังที่เห็นเป็นช่องๆ น่ะ สำหรับเสียบ Source Module คือจะเล่นอะไรก็ซื้อเฉพาะชุดโมดูลนั้นมาใช้ ไม่ต้องซื้อเสียบให้ครบทุกช่องก็ได้

แบบว่าอยากเล่นแผ่นเสียงก็ซื้อโมดูล Phono มาเสียบ หรืออยากฟังแต่วิทยุก็ซื้อเฉพาะโมดูล Tuner มาใส่, อะไรทำนองนั้น

เห็นหน้าตาเครื่องย้อนยุคทำให้เพลินย้อนเรื่องเล่าไปเรื่อย เลยต้องขอยกยอดเรื่องที่จ่าหัวไปเที่ยวหน้านะครับ •

 

เครื่องเสียง | พิพัฒน์ คคะนาท

[email protected]