ตามรอยศิลปะ ณ ดินแดนสเปน : พิพิธภัณฑ์ Picasso (จบ)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

มาถึงผลงานชิ้นสำคัญที่เป็นเสมือนหนึ่งเพชรยอดมงกุฎของพิพิธภัณฑ์ Picasso นั่นก็คือ ภาพวาด Las Meninas (1957) โดยในช่วงปี 1957 ปิกัสโซวิเคราะห์และตีความภาพวาด Las Meninas (นางสนองพระโอษฐ์) (1656) ผลงานชิ้นเอกของ ดิเอโก เบลาสเกซ ศิลปินคนสำคัญที่สุดแห่งยุคทองของสเปน ออกมาในสไตล์คิวบิสซึ่ม อันเป็นแบบฉบับเฉพาะตัวอันเลื่องชื่อของเขา

ปิกัสโซกล่าวถึงการตีความผลงานชิ้นเอกของศิลปินชั้นครูขึ้นมาใหม่ชิ้นนี้ว่า

“ถ้าหากจะมีใครสักคนคัดลอกภาพวาด Las Meninas ขึ้นมาใหม่ด้วยความสุจริตใจ ถ้าคนคนนั้นคือตัวผม ผมคงพูดกับตัวเองว่า ‘ฉันอาจจะขยับตัวละครนี้ในภาพไปทางขวาหรือทางซ้ายเล็กน้อย’ ผมอาจจะวาดภาพนี้ในแบบของตัวเองขึ้นมาโดยลืมเบลาสเกซไปเสีย ผมคงจะปรับเปลี่ยนบรรยากาศของภาพด้วยการจัดแสงหรือองค์ประกอบในภาพให้แตกต่างออกไป หรืออาจจะเปลี่ยนตำแหน่งของตัวละครในภาพเสียใหม่ ผมอาจจะค่อยๆ สร้างภาพวาด Las Meninas เพื่อข่มขวัญผู้เชี่ยวชาญในการคัดลอกภาพโบราณให้แตกตื่น ไม่เชื่อสายตาว่าจะเป็นสิ่งที่เขาเห็นในภาพของเบลาสเกซ มันจะกลายเป็น Las Meninas ในแบบฉบับของผมเอง”

Las Meninas (1957)

ถึงกระนั้น การตีความผลงานชิ้นเอกของศิลปินชั้นครูชิ้นนี้ของปิกัสโซ ก็เป็นการศึกษาจังหวะ แสงสี และความเคลื่อนไหวในภาพต้นฉบับอย่างละเอียดถี่ถ้วน รวมถึงการใช้จินตนาการอย่างต่อเนื่องในการปรับแปลงบุคลิกลักษณะของตัวละครในภาพ

ผลงานภาพวาดเชิงศึกษาวิเคราะห์ Las Meninas

หากปิกัสโซเองก็แสดงความซื่อตรงและเคารพต่อบรรยากาศในผลงานของเบลาสเกซชิ้นนี้ ผ่านองค์ประกอบ การใช้แสง ปริมาตรของวัตถุ รวมถึงพื้นที่ว่างและทัศนมิติในภาพวาดของจิตรกรชั้นครูผู้นี้ ยังคงปรากฏอยู่ในผลงานตีความใหม่ชิ้นนี้อย่างครบถ้วน ถึงแม้เขาจะใช้วิธีการวาดที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงก็ตามที

ผลงานภาพวาดเชิงศึกษาวิเคราะห์ Las Meninas

โดยในปี 1950 ภาพวาดที่ตีความใหม่ชิ้นนี้รวมถึงผลงานภาพวาดเชิงศึกษาวิเคราะห์จำนวน 58 ชิ้น ถูกบริจาคให้พิพิธภัณฑ์ Picasso เป็นจำนวน 45 ชิ้น (รวมถึงภาพวาดชิ้นหลัก) ให้เราได้ชมกันเป็นบุญตาในครานี้นี่เอง

ผลงานภาพวาดเชิงศึกษาวิเคราะห์ Las Meninas

นอกจากผลงานสะสมของพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงแบบถาวรแล้ว ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังมีอีกนิทรรศการหมุนเวียนที่น่าสนใจอย่าง Barthélémy TOGUO นิทรรศการแสดงเดี่ยวโดย บาเธเลมี โตโก (Barthélémy Toguo) ศิลปินชาวแคเมอรูน ผู้อาศัยและทำงานอยู่ในประเทศแคเมอรูน บ้านเกิดของเขา และประเทศฝรั่งเศส

ผลงานในนิทรรศการ Barthélémy TOGUO ภาพโดย มนต์ทิพย์ ลิปิสุนทร

เขาจบการศึกษาจากสถาบันวิจิตรศิลป์แห่งเมืองอาบีจาน สาธารณรัฐโกตดิวัวร์ แอฟริกาตะวันตก และเมืองเกรโนเบิล ประเทศฝรั่งเศส และสถาบันศิลปะแห่งเมืองดึสเซิลดอร์ฟ ประเทศเยอรมนี

โตโกเป็นศิลปินร่วมสมัยที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เขาได้รับการเชื้อเชิญให้เข้าแสดงผลงานในเทศกาลศิลปะหลายแห่ง ทั้งเวนิส เบียนนาเล่ และเทศกาลศิลปะเบียนนาเล่หลายแห่งทั่วโลกอย่าง ซิดนีย์, เมร์โกซูร์, ลียง, โคชิ, ดากา, เบนิน, ฮาวานา, ติรานา ฯลฯ รวมถึงแสดงนิทรรศการในสถาบันศิลปะสำคัญๆ ทั่วโลก

เขายังได้รับการเสนอชื่อให้เข้าชิงรางวัล Marcel Duchamp Prize ในปี 2016 และจัดแสดงผลงานศิลปะจัดวางในศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมปงปีดู (Centre Georges Pompidou) ที่กรุงปารีส

เขายังได้รับการเสนอชื่อให้เป็นศิลปินแห่งเสรีภาพ โดยองค์การยูเนสโก ในปี 2021 อีกด้วย

ผลงานในนิทรรศการ Barthélémy TOGUO ภาพโดย มนต์ทิพย์ ลิปิสุนทร

โตโกทำงานศิลปะในหลากสื่อหลายแนวทาง ทั้งงานจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ วาดเส้น เซรามิก ศิลปะจัดวาง ศิลปะแสดงสด และงานเขียน เขาใช้สื่อเหล่านี้แสดงออกถึงความสามารถอันแสนพิเศษในการปรับเปลี่ยนตัวเองผ่านกระบวนการทำงานอันหลากหลาย

ถึงแม้จะได้รับการยอมรับให้มีสถานภาพเป็นพลเมืองของโลก แต่โตโกยังคงเลือกที่จะเป็นตัวแทนของศิลปินในแอฟริกา ในปี 2008 เขาเปิดพื้นที่ทางศิลปะอย่าง Bandoun Station ในแคเมอรูน และโครงการศิลปินพำนักขนาดใหญ่ที่มุ่งเน้นในการทำงานศิลปะและเกษตรกรรมเชิงนิเวศในปี 2013

ผลงานของโตโกได้รับแรงบันดาลใจจากบาดแผลที่หลอกหลอนประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ และผลกระทบจากสภาวการณ์ปัจจุบัน ทั้งการอพยพลี้ภัย การถูกบังคับย้ายถิ่น ความไม่ปลอดภัยในชีวิต การเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างไม่บันยะบันยัง โรคภัยไข้เจ็บ และโรคระบาดร้ายแรงที่ไม่อาจควบคุม

สิ่งเหล่านี้คือประเด็นร้อนแรงที่แฝงในงานของเขาตลอดมา

ดังเช่นในผลงานชุด Homo planta ของเขา ที่สะท้อนถึงความปรารถนาให้มนุษย์อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างกลมกลืน ผลงานของเขาเป็นส่วนผสมของการต่อต้านความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกันของมนุษย์ และการเฉลิมฉลองของร่างกาย ชีวิต และธรรมชาติ

สำหรับโตโก ศิลปะคือการต่อสู้ หากแต่เป็นการต่อสู้ที่ใช้ศิลปะเป็นอาวุธหรือแม้แต่เครื่องมือแสดงออกทางการเมืองอันทรงพลัง

ผลงานในนิทรรศการ Barthélémy TOGUO ที่ตีความผลงาน Las Meninas (1957) ของปิกัสโซ ภาพโดย มนต์ทิพย์ ลิปิสุนทร

ในฐานะศิลปินรับเชิญในส่วนนิทรรศการหมุนเวียนของพิพิธภัณฑ์ Picasso บาเธเลมี โตโก สำรวจตรวจสอบผลงานของปิกัสโซในแง่มุมเฉพาะตัว เขาสร้างบทสนทนากับผลงานชุด Las Meninas อันเลื่องชื่ิอของปิกัสโซ ด้วยท่วงทีจัดจ้านร้อนแรง แต่แฝงด้วยความอ่อนโยน

ด้วยความที่เขาเป็นตัวแทนของศิลปินแอฟริกัน โตโกนึกถึงบทสนทนาระหว่างผลงานของปิกัสโซกับศิลปะแอฟริกัน นอกเหนือจากการหยิบฉวยแรงบันดาลใจจากศิลปะพื้นเมืองของแอฟริกันแล้ว โตโกยังตั้งคำถามเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมแอฟริกันกับโลกตะวันตกในหลายแง่มุม

ผลงานในนิทรรศการ Barthélémy TOGUO ภาพโดย มนต์ทิพย์ ลิปิสุนทร

เขายังหยิบยกเอาแรงบันดาลใจจากผลงานต่อต้านสงครามและตีแผ่เหตุการณ์สังหารหมู่ในสเปนของปิกัสโซอย่าง Guernica (1937) มาสร้างสรรค์ผลงานที่ระลึกถึงเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา

เขายังแบ่งปันอุดมการณ์ในการสร้างผลงานศิลปะของปิกัสโซที่มองว่างานศิลปะไม่ใช่แค่ภาพประดับที่พักอาศัย หากแต่เป็นเครื่องมือสร้างความตระหนักรู้ทางการเมืองอันเข้มข้น

ผลงานในนิทรรศการ Barthélémy TOGUO ภาพโดย มนต์ทิพย์ ลิปิสุนทร

ในนิทรรศการรับเชิญที่พิพิธภัณฑ์ Picasso ครั้งนี้ โตโกโอบอุ้มพื้นที่แสดงงานด้วยผลงานหลายรูปแบบ หลากหัวข้อ ทั้งเรื่องราวของร่างกายมนุษย์ สิ่งมีชีวิตลูกผสม สัตว์ หรือแม้แต่พืชผักผลไม้ เรื่องราวของความสุขในชีวิต ความเจ็บปวดของความตายที่ทุกคนต้องเผชิญ ในผลงานภาพวาดบนผนังห้องแสดงงาน ภาพพิมพ์จากตราประทับไม้ยักษ์ ไปจนถึงแจกันเซรามิกเขียนสีขนาดมหึมา และจานเขียนสีใบใหญ่ ที่สร้างบทสนทนา ตั้งคำถาม ตีความ ต่อยอด และเชื่อมร้อยความสัมพันธ์ระหว่างตัวเขาและปิกัสโซได้อย่างโดดเด่น เปี่ยมเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างยิ่งยวด

นิทรรศการ Barthélémy TOGUO จัดแสดงที่ส่วนแสดงงานหมุนเวียน ชั้นล่างของพิพิธภัณฑ์ Picasso วันที่ 23 กันยายน 2022 – วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2023 เปิดให้เข้าชมฟรี ไม่เสียสตางค์

ผลงานในนิทรรศการ Barthélémy TOGUO ภาพโดย มนต์ทิพย์ ลิปิสุนทร

พิพิธภัณฑ์ Picasso เปิดทำการวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 10:00-19:00 น. ปิดทำการวันจันทร์ รวมถึงวันที่ 1 มกราคม 1 พฤษภาคม 24 มิถุนายน และ 25 ธันวาคม และจะปิดเวลา 14:00 น. ในวันที่ 24 และ 31 ธันวาคม

สนนราคาค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 12 ยูโร ผู้สูงอายุกว่า 65 ปี 7 ยูโร เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีเข้าชมฟรี พิพิธภัณฑ์ Picasso ยังเปิดให้เข้าชมฟรีในวันอังคาร ตั้งแต่เวลา 16:00 น. และในทุกวันอาทิตย์แรกของเดือนอีกด้วย •

 

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์