ลมหนาวมา ต้มยาบำรุงกำลัง | สมุนไพรเพื่อสุขภาพ

ลมหนาวมา ต้มยาบำรุงกำลัง

 

เมื่อ 2 ปีก่อน ท่ามกลางโควิด-19 แพร่กระจายไปทั่วทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไป วันนี้กิจกรรมและการดำเนินชีวิตกลับมาใกล้เคียงก่อนโรคระบาดใหญ่แต่ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ช่วง 2 ปีที่ผ่านมานั้น เราชาวคณะมูลนิธิสุขภาพไทยและสมาคมเครือข่ายการแพทย์พื้นบ้านและสุขภาพวิถีไทไม่ได้หยุด ยังคงเดินหน้าพยายามลงพื้นที่เป้าหมาย 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย แพร่ อุดรธานี บุรีรัมย์ และพัทลุง

ในการทำงานนั้นได้พบสิ่งดีๆ คือ มีคนจำนวนมากที่เป็นทรัพยากรบุคคลหรือปราชญ์ที่แข็งขันมีจิตใจเอื้อเฟื้อ พร้อมกับทรัพยากรทางชีวภาพหรือสมุนไพรที่มีอยู่ในชุมชนมากมาย เปรียบดั่งขุมทรัพย์ที่จะเกื้อกูลสุขภาพให้คนในชุมชนเพื่อประโยชน์ทั้งการส่งเสริมป้องกันโรค และในรูปของการแก้ไขปัญหาความเจ็บป่วยต่างๆ

ตัวอย่างที่ จ.เชียงราย มีการประชุมหลายครั้งกับเครือข่ายหมอพื้นบ้านและลงเยี่ยมบ้านสำรวจพันธุ์พืชด้วย

ผลการทำงานได้ข้อมูลว่า หมอพื้นบ้านยังคงมีบทบาทดูแลสุขภาพโดยการพึ่งตนเองของคนในชุมชน สามารถรักษาโรคที่พบบ่อยในชุมชนของจังหวัดเชียงรายจำนวน 14 โรคหรืออาการ และแบ่งปันความรู้ได้ตำรับยา 43 ตำรับ ซึ่งเกี่ยวข้องกับสมุนไพรถึง 164 ชนิด ที่ต้องอนุรักษ์พันธุ์และช่วยกันปลูกเพิ่มเพื่อให้ยังคงมีฐานทรัพยากรเป็นความมั่นคงทางยาให้กับชุมชน

 

ยาต้มกับสมุนไพรเป็นของคู่กัน และในยามลมหนาวเริ่มมาเยือน การรักษาร่างกายให้อบอุ่นเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดูแลสุขภาพช่วงเปลี่ยนฤดู ยาต้มบำรุงกำลังซึ่งเป็นยาพื้นฐานที่สังคมตามวิถีสุขภาพภูมิปัญญาท้องถิ่นก็นิยมกัน มักจะส่งเสริมให้ต้มกินในฤดูหนาว ให้ร่างกายอบอุ่นแล้วเป็นยาบำรุง กำลังต้านลมหนาวด้วย ขอยกตัวอย่าง 2 สูตรของหมอ 2 ท่าน ดังนี้

ตำรับของหมอพื้นบ้าน นายสมมาตร จันทร์ดี เป็นตำรับที่ใช้ตัวยาเสมอกันหรือเท่าๆ กัน ประกอบด้วย

1. บอระเพ็ดพุงช้าง (Stephania suberosa Forman)

2. เปลือกทิ้งถ่อน (Albizia procera (Roxb.) Benth)

3. เปลือกหรือแก่นตะโกนา (Diospyros rhodocalyx Kurz)

4. เมล็ดข่อย (Streblus asper Lour)

5. พริกไทย (Piper nigrum L.)

6. ดีปลี (Piper retrofractum Vahl)

7. หัวแห้วหมูหรือแห้วหนู (Cyperus rotundus L.)

8. ไพลดำ (Zingiber ottensii Valeton)

และ 9.น้ำผึ้ง (ใช้เป็นน้ำกระสายยา)

นำตัวยาทุกอย่างมาหั่นแล้วตากแห้ง นำมาเท่ากันหรือเสมอภาค แล้วหาถุงผ้ามาใส่ตัวยาทั้งหมด หาหม้อใบใหญ่ใส่ถุงยาแล้วเติมน้ำให้ท่วม ต้มให้เดือด รินยาใส่แก้วแล้วแต่งน้ำผึ้งลงไปสัก 1 ช้อนชา คนให้ละลายดีแล้วกินครั้งละ 1 แก้ว เช้าและเย็น จะกินก่อนหรือหลังอาหารก็ได้

แต่โดยทั่วไปนิยมให้กินก่อนอาหาร

ตํารับที่สองนี้เป็นของหมอพื้นบ้านสตรี ชื่อ นางติ๋ว จองคำ ซึ่งมีความน่าสนใจที่แตกต่างกับสูตรแรก แสดงให้เห็นว่าตำรับยาของหมอผู้หญิงก็มีดีเช่นกัน ตัวยาหรือสมุนไพรแต่ละต้นชื่อเรียกสื่อถึงการเสริมพลังวังชาดีแท้ ประกอบด้วยตัวยาดังนี้

1. โด่ไม่รู้ล้ม (Elephantopus scaber L.) ใช้ทุกส่วนหรือทั้งห้า 1 กำมือ

2. ต้นหรือแก่น กำลังเสือโคร่ง (Betula alnoides Buch.-Ham. ex D.Don) 1 กำมือ

3. ต้นหรือเถา ม้ากระทืบโรง (Ficus sarmentosa Buch.-Ham.ex Sm) 1 กำมือ

4. ต้นหรือเถา ฮ่อสะพายควาย (Sphenodesme pentandra Jack) 1 กำมือ

5. ต้นหรือปลือก ชะเอมเทศ (Glycyrrhiza glabra L.)1 กำมือ (น่าสนใจที่นำชะเอมเทศที่มีรสหวานและก็ถือเป็นยาบำรุงกำลังร่างกายเช่นกันมาปรุงด้วย)

วิธีปรุง ให้หั่นทุกอย่างนำมาตากแห้ง นำมาใส่ถุงผ้าเช่นกันซึ่งเป็นวิธีดั้งเดิมที่หมอโบราณมักแนะนำให้ใช้ เมื่อยาเดือดดีแล้ว ให้กินครั้งละ 1 แก้ว เช้าและเย็น

ตำรับยานี้ยังปรุงด้วยการดองเหล้าได้ด้วย ถือว่าเป็นการสกัดตัวยาด้วยแอลกอฮอล์ และหากใช้มุมมองเป็นเพียงยาไม่ใช่การดื่มสุราเพื่อความรื่นเริง ก็ถือว่าเป็นวิธีการปรุงยาแบบฉบับดั้งเดิม ก็ให้ใส่เหล้าขาวท่วมยาสมุนไพรที่ตากแห้งดีแล้ว

ถ้าดองเร่งด่วนก็เริ่มกินได้ตั้งแต่ 3 วันขึ้น แต่ในภูมิปัญญาดั้งเดิมที่กินเป็นยาอายุวัฒนะ ดอง 1 เดือนขึ้นไปถึงเป็นปี

การดองนานขึ้น แอลกอฮอล์ก็ระเหยออกไปด้วย ลดความแรงของสุราและได้สกัดตัวยาของสมุนไพรออกมาที่น้ำยาดองนั่นเอง ให้กินครั้งละ 1 แก้วเล็ก

ยาดองให้กินวันละ 1 ครั้งพอไม่เหมือนยาต้ม ให้กินก่อนอาหารเย็น หรือก่อนนอน เมื่อร่างกายดีขึ้นมีกำลัง กินข้าวได้ ก็ไม่จำเป็นต้องกินยาดองไปนานๆ หากจะกินแนะนำให้กินเป็นยาต้มจะดีกว่า

ข้อแนะนำสำหรับการต้มยากินหลายๆ วัน ก่อนกินยาต้มต้องอุ่นให้ร้อนก่อนกินเสมอ และเมื่อต้มกินทุกวันจนกว่ายาจะจืดก็เปลี่ยนยาห่อใหม่

 

ตํารับยา 2 ตำรับนี้เป็นเพียงตัวอย่างว่า คนในชุมชนและหมอพื้นบ้านยังมีบทบาทที่สำคัญ และได้กระตุ้นให้ชุมชนเห็นถึงประโยชน์และคุณค่าของสมุนไพรที่อยู่ในชุมชนเพิ่มขึ้น ได้เกิดการสำรวจสมุนไพรที่ยังใช้ในชุมชนซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าชุมชนยังมีสมุนไพรใดบ้าง และที่มีอยู่ยังมีปริมาณมากหรือน้อย หรือบางชนิดกำลังสูญหายไป

รวมไปถึงเริ่มตระหนักว่ามีสมุนไพรชนิดใดที่ต้องหาซื้อมาจากภายนอกเพราะไม่ใช่พืชที่ปลูกได้ในสภาพแวดล้อมของชุมชน

ลมหนาวมา ลองหาวัตถุดิบยาต้มที่แนะนำไว้ต้มกินอุ่นๆ บำรุงกำลัง และโอกาสหน้าจะเล่าเรื่องที่คนเชียงรายกำลังจัดระบบสุขภาพชุมชนด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นให้ฟัง เพื่อว่าพี่น้องบ้านอื่นมีดีก็มาแบ่งปันกันหรือนำไปปรับใช้เพื่อการพึ่งตนเองของชุมชน •

 

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ | โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง

มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org