ตลาดเสรี | นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

อํานาจของตลาดเสรีนั้นไพศาลยิ่งนัก กฎเกณฑ์ต่างๆ นานาที่เราเรียกโดยรวมว่าระเบียบสังคม แม้ผู้มีอำนาจระดับใดสถาปนาขึ้นไว้ พระเจ้า, มหาราชา, มหาปราชญ์ หรือมหาโจร ย่อมต้องหลีกทางให้แก่ระเบียบสังคมที่ตลาดเสรีสถาปนาขึ้นใหม่ทั้งนั้น

ตลาดสร้างพื้นที่เท่าเทียมแม้ในสังคมที่แบ่งแยกช่วงชั้นอย่างเคร่งครัด การซื้อขายแลกเปลี่ยนเกิดจากการประเมินกำไร-ขาดทุนของแต่ละฝ่าย ไม่สัมพันธ์กับสถานภาพทางสังคมและการเมือง แน่นอนว่ากำไรอาจเกิดหรือเพิ่มขึ้นได้จากความเอ็นดูของผู้มีอำนาจทางการเมือง ดังนั้น การประเมินกำไร-ขาดทุนจึงซับซ้อนกว่าผลตอบแทนที่จะได้ในการแลกเปลี่ยนครั้งหนึ่งๆ แต่ก็ยังเป็นกำไร-ขาดทุนอยู่นั่นเองที่เป็นตัวชี้ขาด

แม้ในสังคมที่ “ผู้ใหญ่” จำกัดเสรีภาพไว้อย่างแน่นหนา ตลาดก็ให้เสรีภาพเพิ่มขึ้นโดย “ผู้ใหญ่” ยังไม่ทันอนุญาต ยิ่ง “ผู้ใหญ่” วางกฎระเบียบควบคุมการแลกเปลี่ยนมากเท่าไร ก็ยิ่งเพิ่มความพยายามในการเล็ดลอดด้วยสินบน, การแข็งข้อ และ/หรือเส้นสาย ฯลฯ มากขึ้นเท่านั้น อำนาจของ “ผู้ใหญ่” ถูกบ่อนทำลายลงเพราะไปแข็งขืนกับตลาด

 

ธรรมชาติของตลาดคือการแข่งขัน แม้ในสังคมที่ผู้ปกครองคอยย้ำแต่เรื่องความสามัคคี (แปลว่าพร้อมใจกันสยบ) แต่การแข่งขันก็ยังมีในตลาดอยู่นั่นเอง การแข่งขันอาจนำไปสู่ความรุนแรงได้หลายรูปแบบ เช่น การผูกขาด ซึ่งเกิดได้นับตั้งแต่เป็นผู้รับซื้อเพียงเจ้าเดียว หรือผู้ขายเพียงเจ้าเดียว เพื่อบรรลุเป้าหมายเช่นนี้ จำเป็นอยู่เองที่ต้องใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมืออย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก นับตั้งแต่ลอบสังหารคู่แข่ง, ควบรวมคู่แข่ง, ลดราคาลงสู่ระดับที่คู่แข่งต้องเจ๊ง หรือถ้ารัฐเป็นผู้ผูกขาดเสียเองก็ออกกฎหมายที่ทำให้ไม่มีใครรับซื้อหรือรับขายได้นอกจากพระคลังหลวงบ้าง, กฟผ.บ้าง, โรงเหล้า-เบียร์ขนาดใหญ่บ้าง, โรงงานยาสูบบ้าง ฯลฯ

ถ้าตลาดยังมีการแข่งขันเสรี ตลาดก็จะเป็นดินแดนของความคิดริเริ่มและนวัตกรรมนานาชนิด ไม่ใช่เฉพาะคุณสมบัติของสินค้าและบริการเพียงด้านเดียว ยังรวมถึงกลวิธีการขาย, การเก็บสต๊อกสินค้า, การปฏิบัติต่อลูกจ้าง, การโฆษณา ฯลฯ ในตลาดที่เสรีน้อยหน่อย (เพราะรัฐกินสินบนมากเสียจนไม่ปล่อยให้เกิดการแข่งขันเสรี) ความคิดริเริ่มและนวัตกรรมในตลาดเช่นนั้น จะออกมาในรูป (เอาเปรียบ, โกง, เส้นสาย, สินบน) มากกว่าจะออกมาในรูปผลิตภาพ, ราคา, การกระจายรายได้ที่เป็นธรรม ฯลฯ

รัฐมีบทบาทตรงนี้แหละครับ คือจะทำให้ตลาดเสรีมากหรือเสรีน้อย เสรีมากไม่ได้หมายความว่าทำอะไรตามใจได้ทุกอย่าง แต่หมายความว่ามีกฎระเบียบที่ใช้กับทุกฝ่ายอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน เป็นกฎระเบียบที่มีเหตุผลเพื่อความเป็นธรรมแก่ผู้ผลิต, คนกลาง และผู้บริโภค ตลาดเสรีทำให้เกิดผลดีแก่ทุกฝ่าย รวมทั้งประชาชนทั่วไปด้วย แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้อำนาจรัฐลดลง เพราะต้องถูกกำกับด้วยกฎของตลาดบ้าง หรือกฎที่เกิดจากสัญญาระหว่างรัฐและพ่อค้าบ้าง (แต่ก็ได้ผลตอบแทนด้วยนะครับ โดยเฉพาะในระยะยาวแล้ว รัฐย่อมเก็บภาษีได้มากขึ้น ซ้ำยังเป็นภาษีที่เป็นตัวเงิน ซึ่งให้อิสระแก่รัฐจะเอาไปใช้ได้หลายทางกว่าภาษีในรูปสินค้า)

 

เพราะตลาดลดอำนาจรัฐ ดังนั้น รัฐโบราณจำนวนมากจึงไม่ค่อยเป็นมิตรกับตลาดนัก ถึงการค้าทำให้โภคทรัพย์ตกมาอยู่ในมือของรัฐมากขึ้น แต่ตลาดเสรีก็เป็นอันตรายต่ออำนาจรัฐ จึงเป็นธรรมดาที่รัฐโบราณมักจะระวังมิให้ตลาดกลายเป็นตลาดเสรี

ตลาดมักถูกรัฐเองนั่นแหละผูกขาด หรืออาจแยกตลาดออกไปจากรัฐเสียเลย โดยให้พ่อค้าเช่าพื้นที่ซึ่งมักมีเส้นทางคมนาคมมาเชื่อมต่อหลายสาย แล้วปล่อยให้ปกครองกันเอง โดยจ่ายค่าเช่าหรือภาษีแก่รัฐเป็นรายปี นั่นคือ “เมือง” ที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในปลายสมัยกลางของยุโรป เมืองหรือตลาดของตะวันตกจึงอยู่นอกรัฐในแง่นี้

รัฐไทยตั้งอยู่ในตลาดหรือเมืองเลย ผมออกจะสงสัยว่ารัฐไท-ไตเกิดจากตลาดด้วยซ้ำ คือตั้งอยู่บนที่ราบหุบเขา จึงเหมาะที่คนบนที่สูงจะนัดหมายเอาสินค้ามาแลกเปลี่ยนกันในบางวัน ผู้ปกครองเมืองได้ประโยชน์ทางการเมือง คือมีคนในบังคับเพิ่มขึ้น และอาจได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เช่น “ชักสิบ” จากการแลกเปลี่ยนสินค้า จึงขยายตัวขึ้นจากเมืองเป็นรัฐ แผ่อำนาจออกไปในที่ราบหุบเขาอื่น และขึ้นไปบนภูเขา เพื่อเรียกเก็บส่วยจากผลผลิตและแรงงาน

สมรรถภาพในการเก็บส่วยของรัฐไทยนั้นมีน้อย (แต่ไม่ได้แปลว่าคนไทยเสียส่วยน้อย) เพราะไม่มีระบบราชการส่วนกลางที่ใหญ่พอจะรองรับได้ ต้องอาศัยชนชั้นนำท้องถิ่นเป็นผู้เก็บให้ กว่าจะถึงพระคลังหลวงก็หายไปจนแทบไม่เหลือ รายได้ที่เป็นกอบเป็นกำของรัฐจึงมาจากการค้า โดยเฉพาะการค้าต่างประเทศ ทำให้กษัตริย์สร้างอำนาจทางวัฒนธรรมให้ยิ่งใหญ่โอฬารได้ เมืองของรัฐไทยที่เข้าถึงการค้าทางทะเลได้โดยตรงจึงอลังการกว่าเมืองของรัฐไทยตามที่ราบหุบเขาอย่างเทียบกันไม่ได้

 

กําไรจากการค้า ไม่ได้เกิดขึ้นในตลาดเสรี แต่เกิดขึ้นได้เพราะรัฐผูกขาดการค้าทั้งภายในและภายนอกเกือบหมด สินค้าท้องถิ่นซึ่งมีตลาดต้องขายให้พระคลังหลวงเพียงเจ้าเดียว เช่นเดียวกับสินค้าต่างประเทศที่มีตลาดภายใน (เช่นผ้านานาชนิดจากอินเดีย) พระคลังหลวงมีสิทธิเลือกรับซื้อก่อนเจ้าเดียว หลังจากนั้นจึงขายแก่คนอื่นได้

ราชธานีอย่างเช่นอยุธยาเป็นตลาดแลกเปลี่ยนสินค้าขนาดใหญ่ระหว่างพ่อค้าด้านตะวันตกกับด้านตะวันออก (entrepot trade) แต่อยุธยาไม่ใช่ตลาดเสรี มีกฎระเบียบที่จะทำให้พ่อค้าต้องยินยอมให้ถูกเอาเปรียบ ทั้งจากรัฐในนามพระคลังหลวง และจากขุนนางที่มีอำนาจหน้าที่ทางด้านการค้าและสินค้า

มีหลักฐานว่า พ่อค้าลาวจากเวียงจันในศตวรรษที่ 17 ของศักราชสากล เคยนำกองเกวียนฝ่าป่าดงลงมาค้าขายที่อยุธยา แต่กว่าจะลงมือแลกเปลี่ยนได้จริง ก็ต้องรอเวลาให้ทั้งรัฐและขุนนางรีดไถเสียนาน จนกระทั่งในบางครั้งติดฤดูฝนกลับบ้านไม่ทัน สินค้าที่รับซื้อจะเอากลับไปขายในเมืองลาวก็เสียหายหมด ในที่สุดจึงไม่มีกองเกวียนจากเวียงจันทน์ลงมาค้าขายที่อยุธยาอีก เพราะพ่อค้าลาวเปลี่ยนเส้นทางใช้แม่น้ำโขงลงไปขายที่จตุรพักตร์หรือละแวกแทน เพราะในช่วงหนึ่งที่นั่นก็มีกำปั่นต่างชาติเข้ามาจอดแวะค้าขายมากเหมือนกัน จนกระทั่งจตุรพักตร์หรือละแวกเคยเป็นคู่แข่งทางการค้าของอยุธยาไปเลย

แต่ในความเป็นจริงตลาดผูกขาดของอยุธยาไม่สามารถบีบบังคับให้การค้าเหลือช่องทางอยู่ช่องเดียวได้ ก็อย่างที่กล่าวแล้วนะครับ รัฐไทยไม่มีสมรรถภาพจะทำเช่นนั้นได้จริง ดังนั้น จึงมีการต่อสู้ขัดขืนของพ่อค้ากับการผูกขาดตลอดมา ที่ขุนนางเรียกเก็บค่าต๋งในการค้า ก็เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ (โดยความตั้งใจของขุนนางหรือไม่ก็ตาม แต่ผลคือทำให้อำนาจผูกขาดอ่อนลงและช่องทางการค้าเพิ่มขึ้น) เมื่อผ้าจากอินเดียขายดีนัก ก็มีพ่อค้าอินเดียระดับล่างๆ ที่ไม่มีทุนทรัพย์มากนัก นำผ้าจากอินเดียจำนวนไม่มากติดตัวมาอยุธยา แล้วเร่ขายผ้าแก่ชาวบ้านเป็นหลาๆ เท่าที่ลูกค้าต้องการและมีทรัพย์พอจะซื้อได้

พ่อค้าผ้าอินเดียลอดช่องเล็กๆ ที่เป็นรูรั่วของระบบผูกขาดอันไร้ประสิทธิภาพของอยุธยา และรูอย่างนั้นยังมีอีกมาก หนึ่งในรูเหล่านั้นที่ผมจะพูดถึง น่าสนใจดีเพราะผ่านผู้หญิง

 

อาจารย์ธีรวัฒน์ ณ ป้อมเพชร นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญความสัมพันธ์ไทย-บริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา เล่าถึงหลักฐานในภาษาดัทช์ที่พูดถึงผู้หญิงเชื้อมอญคนหนึ่งชื่อ “ออสุด” หรือ “สุด” เธอตกเป็นเมียของนายเมร์เว้ค ซึ่งแม้เป็นพ่อค้าอิสระชาวดัตช์ แต่ก็มีหน้าที่ดูแลโรงสินค้าของบริษัทในอยุธยาด้วย ในภายหลังเมื่อบริษัทเริ่มส่งพนักงานของตนมาดูแลโรงสินค้าที่อยุธยาเองแล้ว ถึงสมัยที่นายฟานฟลีตรับตำแหน่งนี้ เขาก็ได้ออสุดเป็นเมีย มีบุตรธิดาร่วมกัน 3 คน

ออสุดมีบทบาทสำคัญในการค้าของบริษัทฮอลันดาในอยุธยาอยู่ไม่น้อยทีเดียว เธอคือตัวเชื่อมต่อระหว่างโรงสินค้าของบริษัทกับออกญาสมบัติธิบาล เจ้ากรมพระคลังในขวา (หันหน้าลงใต้ ขวาคือมหาสมุทรอินเดีย ซ้ายคือทะเลจีนตอนใต้ แม้พ่อค้าดัตช์มาจากปัตตะเวีย แต่ก็ผ่านมหาสมุทรอินเดียมาถึงภูมิภาคนี้ ทั้งยังมีเกาะลังกาเป็นอาณานิคมอีกด้วย) ที่เชื่อมต่อกันได้ก็เพราะ “หลังบ้าน” ของเจ้าคุณสมบัติฯ คุณหญิงร่วมทำการค้ากับออสุด คือรับส่งเสบียงอาหารแก่บริษัท (ในช่วงนั้น ปัตตะเวียต้องซื้อข้าวจากที่อื่นมาบริโภค รวมทั้งจากอยุธยาด้วย) และเพราะเธอเข้าไปพัวพันกับชนชั้นสูง เธอจึงไปมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสนมคนหนึ่งของพระเจ้าปราสาททองด้วย ออสุดจึงมีผนังทองแดงกำแพงเหล็กปกป้องตนเอง

ใครเป็น “พ่อค้าใหญ่” ประจำโรงสินค้าของบริษัทดัตช์ ย่อมอยากได้ออสุดเป็นเมียทั้งนั้น

 

อย่างที่กล่าวข้างต้นนะครับ รัฐโบราณทั้งหลาย ไม่เฉพาะอยุธยาเพียงแห่งเดียว ล้วนหาทางที่จะขูดรีดทำกำไรฟรีๆ จากการค้าทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นตะวันออกหรือตะวันตก แต่สิ่งที่น่าคิดเมื่อเอาเมืองท่าดังๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปเปรียบเทียบกับเมืองท่าดังๆ ของชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน แม้ตั้งแต่ในสมัยกลางก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม ก็จะพบว่าอำนาจของกลุ่ม “พ่อค้า” นั้นเพิ่มขึ้นตลอดมา ตราบเท่าที่ผู้ปกครองเมืองท่ายังต้องการได้ประโยชน์จากการค้าอยู่ พ่อค้าอาจถูกรังแกในบางระยะ แต่อำนาจก็เพิ่มขึ้นตลอดมา

ผมไม่ได้หมายถึงอำนาจทางการเงินเพียงอย่างเดียว อำนาจทางการเมืองก็เพิ่มขึ้นด้วย มันแยกไม่ออกจากกันหรอกครับ

เช่น กลุ่มพ่อค้ายิวซึ่งตั้งศูนย์กลางอยู่ที่อเล็กซานเดรียในปลายสมัยกลาง มีเครือข่ายเป็นชุมชนชาวยิวในเมืองท่าของเมดิเตอร์เรเนียนทั่วไป-ทั้งในยุโรป, แอฟริกา, เอเชีย- ไม่ใช่แค่เครือข่ายทางการค้า แต่รวมถึงการร่วมทุน, ร่วมศาสนาเผ่าพันธุ์, ร่วมตระกูล เพราะแต่งงานลูกหลานเข้าด้วยกันเสมอ, ร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคม ฯลฯ ก็เหมือนบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดาหรืออังกฤษในเอเชีย (การศึกษาสองบริษัทชี้ให้เห็นว่า คนทำงานในสองบริษัทนี้มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันในเชิงการศึกษา, ชนชั้น และเครือญาติด้วย ไม่เท่าเทียมกับชุมชนยิวก็จริง แต่มีและสำคัญแก่การเข้าทำงานและความก้าวหน้าในหน้าที่การงานของบริษัท)

ในที่สุด เมืองท่าเมดิเตอร์เรเนียนจะมีอำนาจการเมืองสองกลุ่ม คือเจ้าและเครือข่าย กับพ่อค้าและเครือข่าย บางครั้งเจ้าก็คือพ่อค้า บางครั้งพ่อค้าก็กลายเป็นเจ้า, บางครั้งเจ้ากับพ่อค้ายังแยกกัน แต่เจ้าจะรบกับใครก็ต้องแน่ใจว่าพ่อค้าจะให้ยืมเงินไปทำสงคราม เป็นต้น กลุ่มพ่อค้าในเมืองท่าเอเชีย ก็มีอำนาจทางการเมืองเหมือนกัน เช่น บริษัทฝรั่งช่วยปราบกบฏหัวเมืองให้อยุธยา เป็นต้น แต่อำนาจนั้นไม่สู้จะเด็ดขาดและมากเท่ากับพ่อค้าในเมืองท่าเมดิเตอร์เรเนียน

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ผมไม่มีความรู้พอจะตอบได้

 

แม้จะถูกบังคับให้เปิดประเทศและตลาดในสมัย ร.4 (ฝรั่งบังคับหรือบางกลุ่มของผู้นำไทยอยากได้อำนาจฝรั่งมาบังหน้า นักประวัติศาสตร์ยังมีความเห็นต่างกัน) แต่ผู้ปกครองสยามก็ดูเหมือนจะพยายามรักษาตลาดภายในไว้ไม่ให้เป็นตลาดเสรี ยกเว้นแต่ที่ไปกระทบต่อผลประโยชน์มหาอำนาจโดยตรง เช่นเป็นเวลาสืบมาอีกนานทีเดียว ที่ออกโฉนดส่วนใหญ่เป็นที่ดินในเขตเมือง ในขณะที่แทบไม่ออกเลยในเขตเกษตรกรรมชนบท (ทำให้ชาวนาบุกเบิกไม่มีทางกู้เงินใครได้นอกจากเจ๊กในตลาด) ที่ดินส่วนใหญ่ของประเทศจึงถูกกันออกไปจากตลาดโดยปริยาย

เหล้า, ซ่องโสเภณี, โรงยาฝิ่น และบ่อน ทำรายได้ให้แก่รัฐจำนวนมาก แต่ล้วนเป็นสินค้านอกตลาดทั้งสิ้น เพราะรัฐใช้วิธีประมูลในการอนุญาตบุคคลให้ทำได้ จะว่าสิ่งเหล่านี้เป็นอบายมุขจึงต้องจำกัดการบริโภคก็ไม่สู้จะพูดได้เต็มปากนัก เพราะเอาเข้าจริง การควบคุมของรัฐไม่ได้ทำเพื่อลดปริมาณการบริโภค เท่ากับเพื่อเอื้อให้ “พันธมิตร” ของรัฐได้โอกาสผูกขาดสินค้าอบายมุข

จนถึงทุกวันนี้ ตลาดภายในของไทยก็ยังไม่ใช่ตลาดเสรี และทำให้ตลาดไม่ใช่พลังถ่วงดุลอำนาจรัฐที่มีประสิทธิภาพมากนัก ประชาชนเคยชินกับการเรียกร้องให้รัฐใช้อำนาจแทรกแซงราคาสินค้าและบริการ แทนที่จะเรียกร้องให้เกิดการแข่งขันโดยเสรีและเท่าเทียม เพื่อทำให้สินค้าและบริการลดราคาลงมาในระดับที่สมเหตุสมผลที่สุด (และได้กำไรมากที่สุดแก่ผู้ผลิต-ผู้ขายไปพร้อมกัน)

เป็นผลให้นายทุนไทยไม่แข่งขันกันในการเพิ่มผลิตภาพหรือสร้างนวัตกรรม เพราะง่ายกว่าและอาจได้กำไรแน่นอนกว่าด้วยการเข้าถึงอำนาจรัฐผ่านสินบนเส้นสาย รักษาอำนาจผูกขาดไว้ด้วยกฎกระทรวงซึ่งชิงออกมา ก่อนหน้าที่ร่าง พ.ร.บ.จะผ่านสภาเพียงวันเดียว ทำให้รายเล็กรายน้อยยากจะแข่งขันกับทุนใหญ่ต่อไป

 

ขอโทษเถิดครับ ทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่มีเบียร์ของประเทศไหนที่รสชาติจะเลวร้ายเท่าเบียร์ไทย แม้แต่ซื้อยี่ห้อต่างประเทศมาผลิตเอง ก็ยังเหลือรับประทาน

แต่ตลาดที่ไม่เสรี ก็ทำให้สังคมไม่เสรีตามไปด้วย จะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม นี่อาจเป็นผลดีแก่ชนชั้นนำไทยเสียยิ่งกว่าสินบาทสินบนที่ได้รับจากพ่อค้าเสียอีก เพราะตลาดเสรีบั่นรอน “ความมั่นคงแห่งรัฐ” เสียยิ่งกว่า “เสรี” ในเรื่องอื่นใดทั้งสิ้น

(แม้ว่าตลาดเสรีในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงไม่ต้องการรัฐเสียเลย อำนาจที่จะรักษาความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายในตลาด นับตั้งแต่แรงงานจนถึงผู้บริโภค ย่อมไม่มีอำนาจอะไรมาทดแทนอำนาจรัฐได้)