ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในเมืองเก่าอยุธยา : ราชวงศ์จักรี คณะราษฎร และการปฏิสังขรณ์อดีต (6)

ชาตรี ประกิตนนทการ

หลังการรัฐประหาร 2490 ซึ่งถือกันว่าเป็นจุดสิ้นสุดของยุคคณะราษฎร จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง และในครั้งนี้ ดำรงตำแหน่งยาวนานถึง 10 ปี 5 เดือน (8 เมษายน 2491-16 กันยายน 2500)

เป็นที่รู้กันทั่วไปว่า การกลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้งในช่วงดังกล่าว มีความแตกต่างอย่างมากทั้งในเชิงแนวคิด อุดมการณ์ และนโยบาย หลายอย่างมีลักษณะขัดแย้งกับสิ่งที่จอมพล ป. ได้ทำไว้เมื่อครั้งเป็นนายกฯ ช่วงแรกในยุคคณะราษฎร โดยเฉพาะนโยบายทางด้านศิลปะและวัฒนธรรม

กล่าวอย่างรวบรัด นโยบายทางศิลปะและวัฒนธรรมของจอมพล ป.ยุคที่สอง มีลักษณะย้อนกลับไปเน้นแนวทางแบบอนุรักษนิยมมากขึ้น ให้ความสำคัญกับศิลปะแบบจารีต สถาปัตยกรรมแบบไทยประยุกต์ จัดตั้งกระทรวงวัฒนธรรม จัดงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ตลอดจนการบูรณะวัดวาอาราม

และที่สำคัญคือ การปฏิสังขรณ์โบราณสถานในพื้นที่เมืองเก่าหลายแห่ง

แผนผังแสดงตำแหน่งอนุสาวรีย์พระเจ้าตากหนีออกจากอยุธยา บริเวณวงเวียนวัดสามปลื้ม พ.ศ.2499
ที่มา : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

ปลายทศวรรษ 2490 จอมพล ป.เริ่มโครงการ “การปฏิสังขรณ์อดีต” ผ่านการขุดแต่งและบูรณะโบราณสถานในเมืองเก่า สุโขทัย เชียงแสน และอยุธยา ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นเมืองเก่าที่มีความสำคัญกับประวัติศาสตร์ชาตินิยมไทย

เชียงแสน คืออาณาจักรของคนไทยที่มีศิลปวัฒนธรรมเก่าแก่แห่งแรกหลังจากที่อพยพมาจากจีนตอนใต้ สุโขทัย คือยุคทองของประวัติศาสตร์ชาตินิยมไทย เป็นอาณาจักรบ่อเกิด “ความเป็นไทย” แทบทุกอย่าง ส่วนอยุธยาก็คือราชธานีอันเก่าแก่ยาวนาน เต็มไปด้วยกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ และศิลปะอันงดงามที่สะท้อนความเจริญของคนไทยที่ไม่แพ้อารยธรรมใดๆ ในโลก

กล่าวเฉพาะแค่ในพื้นที่เมืองเก่าอยุธยา ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2497-2500 มีโครงการขุดแต่ง บูรณะ และปฏิสังขรณ์เกิดขึ้นมากมาย เช่น วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ พระราชวังเก่า วัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดพระราม เจดีย์วัดสามปลื้ม วัดไชยวัฒนาราม ฯลฯ

นอกจากนี้ จอมพล ป.ยังได้วางแผนพัฒนาเมืองเก่าอยุธยาอีกหลายโครงการ ทั้งการขุดลอกและปรับสภาพบึงพระรามให้กลายเป็นสวนสาธารณะสำหรับประชาชน และการปฏิสังขรณ์วิหารพระมงคลบพิตรให้กลับสู่สภาพเดิม

ภาพสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ และขบวนช้างของดุ๊กโยฮัน อัลเบรกต์ แห่งเยอรมัน หน้าวิหารพระมงคลบพิตร พ.ศ.2452
ที่มา : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

แต่โครงการ “การปฏิสังขรณ์อดีต” ในยุคสมัยนี้ที่น่าสนใจที่สุดในความเห็นผมก็คือ โครงการก่อสร้างอนุสาวรีย์พระเจ้าตากหนีออกจากอยุธยา บริเวณวงเวียนวัดสามปลื้ม

โครงการนี้เกิดขึ้นจากแนวคิดของ จอมพล ป.โดยตรง และมีหลวงบุรกรรมโกวิท ผู้อำนวยการก่อสร้างทั่วไปในคณะกรรมการบูรณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นผู้รับผิดชอบ

หลวงบุรกรรมโกวิททำหนังสือถึงหลวงวิเชียรแพทยาคม รักษาการอธิบดีกรมศิลปากร เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2499 พูดถึงโครงการ ความตอนหนึ่งว่า

“…ด้วยท่านนายกรัฐมนตรีมีบัญชาให้บูรณะพระเจดีย์วัดสามปลื้มตามรูปเดิม ณ ที่เดิม (กลางวงเวียน) และเจดีย์นี้ไม่ได้ตั้งอยู่สูนย์กลางของวงเวียน จึงได้คิดว่าจะสร้างรูปเจ้าตากครั้งยังไม่ได้ครองกรุงธนบุรี ตัวโตเท่าจริง แต่คงถือดาบยืนบนเนินสูงหันหลังเข้าเจดีย์ เห็นจะไม่ต้องสวมหมวกกระมังเพราะเวลานั้นกำลังหนีพลางสู้พลาง ขอได้กรุณาสั่งเจ้าหน้าที่สร้างหุ่นจำลองรูปปั้นด้วย รวมทั้งวงเวียน เจดีย์ และทางเท้ารอบนอกของรั้วเหล็ก…และให้ขยายรูปเจ้าตากอีกต่างหากเพื่อให้เห็นชัดดูพระพักตร์องค์เดียวอีกรูปหนึ่ง…แต่พระพักตร์เห็นจะต้องเหมือนพระพักตร์ที่ขี่ม้าที่วงเวียนใหญ่ ธนบุรี…”

ต่อมาไม่นาน กรมศิลปากรได้ส่งแบบร่างแผนผังตำแหน่งอนุสาวรีย์ (ดูภาพประกอบ) พร้อมทั้งแบบร่างตัวอนุสาวรีย์ที่ออกแบบขึ้นทั้งหมด 9 แบบเพื่อพิจารณา ซึ่งน่าเสียดายมากที่แบบร่างทั้ง 9 แบบไม่หลงเหลือให้เห็นในปัจจุบัน

ภายหลังจากที่จอมพล ป.ดูแบบทั้งหมดแล้ว ได้สรุปรูปแบบสุดท้ายที่จะสร้าง ตามหนังสือที่หลวงบุรกรรมโกวิท ทำถึงธนิต อยู่โพธิ์ อธิบดีกรมศิลปากร ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2499 ความตอนหนึ่ง ดังนี้

“…ผมได้นำรูปพระเจ้าตากซึ่งจะสร้างที่วงเวียนวัดสามปลื้มเสนอท่านนายกรัฐมนตรีแล้ว ท่านได้เลือกเอาชนิดใส่หมวกและให้เปลี่ยนหันพระพักตร์ไปทางวังน้อย โดยจะแก้วงเวียนให้สูนย์กลางอยู่ตรงสูนย์กลางพระเจดีย์ แล้วจะแก้ทางหลวงแผ่นดินจากวังน้อยและจากสะพานปรีดีธำรงเข้าหาสูนย์นี้…”

นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้กรมศิลปากรปั้นหุ่นจำลองเป็นดิน พร้อมวงเวียน มาตราส่วน 1:10 มาให้พิจารณาในรายละเอียดครั้งต่อไป ซึ่งคงเป็นหน้าที่รับผิดชอบของศิลป์ พีระศรี (ศิลปินที่ออกแบบและปั้นอนุสาวรีย์มากมายในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง) เหมือนเช่นทุกครั้ง ดังที่ปรากฏลายเซ็นของศิลป์ พีระศรี รับทราบการดำเนินการดังกล่าวในท้ายจดหมาย

น่าสังเกตว่า การเลือกตำแหน่งที่ตั้งอนุสาวรีย์ (ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม) มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องมากับแนวถนนโรจนะที่พุ่งตรงมาจากสะพานปรีดี-ธำรง ซึ่งบริเวณที่ตั้งสะพาน คือบริเวณแถววัดพิชัยสงคราม อันเป็นตำแหน่งที่พระเจ้าตากรวมไพร่พลตีฝ่าวงล้อมพม่าหนีออกจากอยุธยาพอดี

อีกทั้งการตัดสินใจเปลี่ยนพระพักตร์อนุสาวรีย์ให้หันหน้าไปทางวังน้อย (ทิศตะวันออกของเกาะเมืองอยุธยา) ในขณะที่แนวเดิมจะหันหน้าไปทางวัดอโยธยา ยังส่งเสริมให้ภาพเหตุการณ์ตอนพระเจ้าตากหนีออกจากอยุธยามีความสมจริงมากขึ้นด้วย

 

ในทัศนะผม การเลือกสร้างอนุสาวรีย์พระเจ้าตากหนีจากอยุธยาตรงบริเวณนี้จึงเป็นความพยายามที่จะสร้างภาพอดีตให้กลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้ง และเป็น “การปฏิสังขรณ์อดีต” ในช่วงตอนของเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดตอนหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาตินิยมไทย ที่สามารถปลุกเร้าความรู้สึกรักชาติได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ไม่ได้สร้างจริง ซึ่งไม่ทราบสาเหตุว่าเป็นด้วยเหตุใด แต่ถ้าจะวิเคราะห์ในเบื้องต้น ก็อาจสันนิษฐานได้ว่า ในช่วงเวลานั้น จอมพล ป.คงกำลังให้ความสนใจกับเมกะโปรเจ็กต์ใหญ่ คือ “งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ” (ระหว่างวันที่ 12-18 พฤษภาคม พ.ศ.2500) ซึ่งข้าราชการทุกหน่วยงาน ณ ตอนนั้น ต่างต้องระดมงบประมาณและบุคลากรทั้งหลายเพื่อการจัดงานดังกล่าวให้สำเร็จและยิ่งใหญ่

ดังนั้น โครงการสร้างอนุสาวรีย์พระเจ้าตากหนีออกจากอยุธยา จึงมีความเป็นไปได้สูงที่อาจจะถูกชะลอเอาไว้ก่อน อย่างน้อยก็น่าจะรอจนกว่าการจัดงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษจะจบลง

แต่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นคือ ภายหลังเสร็จงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษเพียงไม่กี่เดือน จอมพล ป.ก็ถูกรัฐประหาร โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2500 ซึ่ง ณ จุดนี้เอง คงเป็นเหตุที่ทำให้โครงการก่อสร้างอนุสาวรีย์พระเจ้าตาก ถูกยกเลิกไปในที่สุด

 

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าโครงการ “การปฏิสังขรณ์อดีต” ในพื้นที่เมืองเก่าอยุธยาของ จอมพล ป.ในช่วงนี้จะล้มเหลวไม่ได้สร้างทั้งหมด ยังมีโครงการที่สำคัญอีกหลายโครงการที่ทำสำเร็จและส่งผลต่อสภาพทางกายภาพและความทรงจำทางประวัติศาสตร์ของคนไทยมาจนถึงปัจจุบัน

การปฏิสังขรณ์วิหารพระมงคลบพิตร คือหนึ่งโครงการที่ได้เริ่มทำจริงในยุคนี้

หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ.2310 วิหารพระมงคลบพิตรได้ถูกทิ้งร้างและชำรุดทรุดโทรม จนหลังคาพังทลายลงหมดสิ้น พระเมาฬีและพระกรข้างขวาหักเสียหาย

ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แม้วิหารพระมงคลบพิตรจะเป็นที่รู้จักแพร่หลายในหมู่ชนชั้นนำสยามเป็นอย่างดี ดังจะเห็นได้จากภาพถ่ายหลายภาพของกษัตริย์ เจ้านาย ขุนนาง ไปจนถึงแขกบ้านแขกเมืองชาวต่างขาติ เมื่อไปเที่ยวชมเมืองเก่าอยุธยาจะต้องแวะถ่ายภาพด้านหน้าวิหารพระมงคลบพิตรเสมอ แต่วิหารหลังนี้ก็ไม่เคยได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์แต่อย่างใด จะมีก็เพียงการซ่อมแซมตัวองค์พระเท่านั้น

สภาพทิ้งร้างหลังคาพังทลายดังกล่าว ล่วงมาจนถึงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะราษฎรก็ไม่ได้ให้ความสนใจที่จะเข้ามาบูรณะแต่อย่างใดเช่นกัน ตัววิหารยังคงถูกทิ้งในสภาพเดิม แม้ว่าจะเป็นโบราณสถานสำคัญที่แทบทุกคนต้องมาเยือนและถ่ายภาพด้วยก็ตาม

จนกระทั่งในปี พ.ศ.2498 นายกรัฐมนตรีอูนุ ของพม่า (ดำรงตำแหน่งในช่วง พ.ศ.2491-2501) ได้เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะพระราชอาคันตุกะของรัชกาลที่ 9

ในการมาครั้งนั้น อูนุได้ร้องขอให้รัฐบาลไทยพาคณะรัฐบาลจากพม่าเดินทางไปเยี่ยมชมอยุธยา เพื่อสักการะวัดสำคัญต่างๆ ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้น ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดโครงการปฏิสังขรณ์ใหญ่วิหารพระมงคลบพิตรจนสำเร็จเป็นอาคารสมบูรณ์ดังที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน