วิทยุกรมโฆษณาการ กับเคารพธงชาติสมัยน้ำท่วม 2485 | ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

“ไนระหว่างเวลาน้ำท่วมนี้…ทั้งๆ ที่เราต้องสู้กับน้ำท่วม…เรายังไม่ลืมเรื่องเคารพทงชาติ”
(รายการวิทยุ “นายมั่น-นายคง”, 2 พฤศจิกายน 2485)

ด้วยเหตุที่น้ำท่วมในปลายปี 2485 เกิดขึ้นภายหลังที่สงครามมหาเอเชียบูรพาปะทุขึ้น

ติดตามด้วยฝูงบินฝ่ายสัมพันธมิตรเข้ามาทิ้งระเบิดโจมตีพระนครตลอดช่วงปี 2485

แต่โชคดีที่เมื่อยามน้ำท่วมนั้น ฝ่ายสัมพันธมิตรมิได้ส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดเพิ่มความทุกข์ยากให้คนไทย

การเคารพธงชาติตามรัฐนิยมในสมัยน้ำท่วมพระนคร 2485

สงครามโลกกับรัฐนิยม

พลันที่ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกเมื่อเช้าตรู่ของ 8 ธันวาคม 2484 ทหารญี่ปุ่นปะทะกับทหารไทยและยุวชนก่อนรัฐบาลจะมีคำสั่งหยุดยิง ญี่ปุ่นกดดันให้รัฐบาลไทยเปิดทางให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไปยังพม่า อินเดียและบริติชมลายา ซึ่งรัฐบาลไทยนำโดยจอมพล ป. ยินยอม และมีการทำสนธิสัญญาทหารระหว่างกัน

ควรบันทึกด้วยว่า ตั้งแต่ 2482 นั้น รัฐบาลจอมพล ป. พยายามสร้างสำนึกชาตินิยม ให้ความสำคัญสูงสุดกับชาติและธงชาติอันเป็นสัญลักษณ์ใหม่แทนการยึดบุคคลตามแบบเดิม เช่น การเปลี่ยนชื่อประเทศ การเรียกชื่อประเทศ ประชาชน การเคารพธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญ การแต่งกาย กิจวัตรประจำวัน การคุ้มครองเด็ก คนชราและคนพิการ (แถมสุข นุ่มนนท์, 2544, 60-61)

และยิ่งเมื่อสงครามโลกระเบิดขึ้นแล้ว จอมพล ป. ยิ่งมีนโยบายเร่งกระแสชาตินิยมและรัฐนิยมให้มากยิ่งขึ้นเพื่อปลุกเร้าสังคมไทยให้มีเอกภาพท่ามกลางภัยสงครามที่เกิดขึ้นรอบตัว

นายกรัฐมนตรียินดีที่คนไทยร่วมกันเคารพธงชาติ (ศรีกรุง, 15 กันยายน 2485) และพระราชธรรมนิเทศ

รายการวิทยุ “นายมั่น-นายคง” สมัยรัฐนิยม

ในช่วงหลังการปฏิวัติ 2475 การสื่อสารมวลชนที่ทันสมัยและกระจายกว้างไกลเข้าถึงประชาชนไทยได้มากที่สุด คือ วิทยุของกรมโฆษณาการ วิทยุจึงเป็นสื่อใหม่ที่มีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์มากจนคนร่วมสมัยรู้สึกว่า ผู้ที่ได้ฟังวิทยุเหมือนมีตาทิพย์หูทิพย์รับรู้ข่าวสารกว้างไกลเลยทีเดียว

จอมพล ป. เห็นถึงประสิทธิภาพของวิทยุในการสนับสนุนงานให้รัฐบาล ท่ามกลางบประมาณจำกัด เขาประกาศรับบริจาควิทยุที่ชำรุดแล้วจากประชาชน แล้วมอบให้กองทะเบียนและช่างวิทยุซ่อมแซมให้ใช้การได้ จากนั้นส่งไปเป็นวิทยุสาธารณะในท้องถิ่นต่างๆ (สุวิมล พลจันทร์, 2531, 142)

มีการประมาณการว่า สังคมไทยในช่วง 2485 มีวิทยุที่จดทะเบียนแล้วราว 50,000 เครื่อง ขณะที่มีประชากรราว 14 ล้านคน จึงยังไม่เพียงพอ ในบางจังหวัด เช่น ศรีสะเกษนั้นมีเครื่องรับวิทยุของเอกชนเพียง 6 เครื่องเท่านั้น (สุวิมล, 143)

ดังนั้น ประชาชนหรือถิ่นใดที่คลื่นวิทยุไปไม่ถึงทำให้ขาดการรับรู้ข่าวสารจากรัฐ รัฐบาลจึงพยายามขยายการรับฟังข่าวสารผ่านวิทยุให้กว้างขวาง เช่น การให้กระทรวงมหาดไทยอำนวยให้ทุกอำเภอมีวิทยุเพื่อรับฟังรายงานข่าวและนโยบายจากรัฐบาล

รายการสนทนาของนายมั่น-นายคงเป็นรายการที่ย่อยข่าวสารและนโยบายของรัฐให้ง่ายต่อการเข้าใจ เริ่มต้นจากรายการวิมยุในงานเฉลิมฉลองวันชาติ 2482 สมัยพระราชธรรมนิเทศ (เพียร ราชธรรมนิเทศ) ทำงานอยู่ที่กรมโฆษณาการ เขาเป็นหัวหน้ากองโฆษณาวันชาติ ได้ริเริ่มรายการสนทนาทางวิทยุ โดยสมมุตินามให้สังข์ พัธโนทัย (2558-2529) เป็น “นายมั่น รักชาติ” และนายคงศักดิ์ คำศิริ (2442-2510) เป็น “นายคง รักไทย” จัดรายการสนทนาข่าวสารบ้านเมือง

ต่อมา รายการสนทนาของนายมั่น-นายคงส่งเสริมนโยบายของรัฐบาลที่พยายามรณรงค์ประชาสัมพันธ์ชักชวนให้ประชาชนทำการเคารพธงชาติ

โดยเฉพาะในช่วงเดือนกันยายน 2485 มีการสนทนาในเรื่องเกี่ยวกับการชักจูงประชาชนให้เคารพธงชาติโดยพร้อมเพรียงกันเกือบทุกวันตลอดทั้งเดือน (ชนิดา พรหมพยัคฆ์, 2543, 94)

จอมพล ป.จัดงบประมาณ 10,000 บาท ให้อำเภอจัดซื้อวิทยุ (ศรีกรุง, 21 พฤศจิกายน 2485)

นายมั่นนายคง
ชวนเคารพธงชาติ

ในการประชาสัมพันธ์ชวนคนไทยเคารพธงชาตินั้น เริ่มจากการที่คู่สนทนามีความเห็นว่า เรื่องการเคารพธงชาติ ตั้งแต่การประกาศเป็นรัฐนิยม และต่อมาปรากฏในกฎหมาย รายการสนทนาของนายมั่น-นายคงเน้นย้ำถึงการเคารพธงชาติประจำวันเช้า-เย็น อีกครั้ง ดังความว่า

“เวลา 8.00 น. เปนเวลาชักทงชาติขึ้นสู่เสาทั่วราชอานาจักร เวลานี้แหละเปนเวลาสำคันที่สุดประจำวันของเรา กรมโคสนาการได้ประกาสเชินชวนข้าราชการและประชาชนไนที่ทุกแห่งไปยืนนิ่งระวังตรง เพื่อสแดงความเคารพต่อทงชาติไทยเปนเวลา 5 วินาที หรือจนกว่าการบันเลงเพลงชาติโดยทางวิทยุกะจายเสียงจะได้จบลง หรือจนกว่าสัญญานอื่นๆ ไนการชักทงชาติได้จบลง”

ดังนั้น ตั้งแต่ 14 กันยายน 2485 เราเริ่มต้นยืนเคารพธงชาติกันเป็นครั้งแรก ประชาชนทุกคนไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ผู้หญิงหรือผู้ชาย จะต้องพร้อมใจกันยืนนิ่งเคารพธงชาติในเวลา 8 นาฬิกาของทุกวันโดยพร้อมเพรียงกัน ซึ่งรายการสนทนาของนายมั่น-นายคง ยังได้ทำการนัดกับผู้ฟังว่า

“เวลา 8.00 น. นับตั้งแต่เช้าวันพรุ่งนี้เปนต้นไป ผู้ที่มีเครื่องรับวิทยุ ก็ขอได้โปรดเปิดไห้ดังๆ ด้วย เพื่อเพื่อนบ้านไกล้เรือนเคียง และคนสัญจรไปมาจะได้ยินทั่วๆ กัน” เพื่อที่จะได้ทำการเคารพธงชาติพร้อมเพรียงกันทั้งประเทศ (ชนิดา, 100)

นอกจากนี้ นายมั่นเรียกร้องให้ยุวชนเป็นผู้นำในการเชิญชวนตักเตือนคนในครอบครัวให้ทำการเคารพธงชาติ ตามคำวิงวอนของจอมพล ป. ที่กระจายเสียงทางวิทยุเรื่อง “ยุวชนช่วยฉันสร้างชาติด้วย” โดยได้ยกเนื้อหาตอนหนึ่งในคำวิงวอนมาอ่าน ความว่า

“สิ่งแรกฉันหยากขอไห้ยุวชนช่วยฉันไห้พร้อมเพรียง เมื่อเวลาประกาสให้เคารพทงชาติไห้ทำทุกคน เปนการเคารพชาติที่มีคุนแก่เรา และไห้บอกคนไนบ้านทุกคนทำการเคารพด้วยบอกว่าทงชาติยังหยู่ ชักขึ้นแล้ว เอกราชของไทยยังบุญมั่นขวันยืนดี เราต้องพร้อมไจกันทำการเคารพทั่วทั้งชาติ และไนเวลาเดียวกันแหละ ฉันเชื่อมั่นว่าการเคารพทงชาติคราวหน้านี้จะสำเหร็ดได้ด้วยความรักชาติของยุวชนเปนสำคัน ทำตามนี้เรียกว่ายุวชนสร้างชาติ” (ชนิดา, 101)

รายการนายมั่น นายคง วันที่ 2 พฤศจิกายน ได้ชักชวนคนไทยแม้จะอยู่ในช่วงน้ำท่วม ก็อย่าลืมเคารพธงชาติว่า “ไนระหว่างเวลาน้ำท่วมนี้ ไทยเราได้กระทำการหย่างประหลาดเรื่องหนึ่ง คือ ทั้งๆ ที่เราต้องสู้กับน้ำท่วม ต้องห่วงเรื่องการกินการหยู่ ห่วงทรัพย์สมบัติ ห่วงสัตว์พาหนะและอะไรต่อมิอะไรจิปาถะ เรายังไม่ลืมเรื่องเคารพทงชาติ ดูเหมือนว่า เรายิ่งลำบากเท่าใด เรายิ่งเคารพธงชาติมากยิ่งขึ้น” (ศศิ เสตะจันทร์, 2537, 217)

วันที่ 15 กันยายน จอมพล ป. แสดงความคิดเห็นทางวิทยุถึงการเคารพธงชาติว่า เขามีความรู้สึกสบายใจที่เห็นประชาชนไทยยืนตรงเคารพธงชาติตามคำเชิญชวนจากกรมโฆษณาการ (ศรีกรุง, 15 กันยายน 2485)

ภายหลังการปฏิวัติ 2475 วิทยุได้กลายมาเป็นสื่อชนิดใหม่ที่รัฐบาลให้การสนับสนุนเนื่องจากมีประสิทธิภาพและเข้าถึงประชาชนอย่างกว้างขวาง วิทยุถูกใช้ในการสื่อสารการเมืองที่หลากหลายทั้งแจ้งข่าวสารประจำวัน นโยบายใหม่ของรัฐบาล และคำเตือนภัยต่างๆ ในยามสงครามให้ประชาชนพึงปฏิบัติ

ดังเห็นจากการส่งเสริมให้คนไทยเคารพธงชาติในห้วงเวลาดังกล่าวด้วยเช่นกัน

ภายในห้องวิทยุกรมโฆษณาการช่วงทศวรรษ 2480
กรมโฆษณาการ ในระหว่างน้ำท่วม 2485
นายมั่น ชูชาติ กับนายคง รักไทย
พระราชกฤษฎีการเคารพธงชาติประกาศใช้ก่อนน้ำท่วมพระนคร 2485 ไม่นาน