เมื่อรัฐนาวาไทย จมหายไปในกระแสโลก! ภาพสะท้อนบางมุม จากญัตติสงครามยูเครน | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“สงครามเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ด้วยการมีผู้นำที่ฉลาด”

Richard Sakwa, Frontline Ukraine (2022)

เห็นได้ชัดว่านับจากรัฐประหาร 2014 (พ.ศ.2557) เป็นต้นมา หนึ่งในปัญหาเชิงนโยบายของรัฐบาลที่นำโดยผู้นำทหารไทยคือ “เกียรติภูมิด้านการต่างประเทศ” ที่ตกต่ำลง เพราะรัฐประหารเป็นดังสัญญาณของการพารัฐไทยเดิน “ทวนกระแสโลก” ซึ่งเป็นกระแสไม่เห็นด้วยกับการปกครองของระบอบทหาร

เราคงต้องยอมรับความจริงโดยพื้นฐานว่า ระเบียบโลกเป็น “ระเบียบแบบเสรีนิยม” อีกทั้งยังมีความหมายของการเป็น “ระเบียบระหว่างประเทศที่วางอยู่บนกฎกติกา” (หรือที่เรียกในทางทฤษฎีว่า “Rule-based International Order”) ซึ่งระเบียบเช่นนี้ให้ความสำคัญกับการเป็นรัฐประชาธิปไตย และไม่ยอมรับต่อ “รัฐทหาร” ที่มีระบอบการปกครองแบบอำนาจนิยม

การกำเนิดของ “ระบอบทหาร” ในการเมืองไทยจึงไม่ใช่การสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศในศตวรรษที่ 21 แต่อย่างใด อีกทั้งเมื่อใดที่เกิดปัญหาในทางสากล รัฐบาลไทยมักจะไม่เคยแสดงออกในเชิงนโยบายด้วยการสนับสนุนทิศทางของกระแสโลกที่เป็นเสรีนิยม

เช่น ไทยไม่เคยแสดงท่าทีคัดค้านรัฐบาลทหารเมียนมา

หรือไทยไม่เคยแสดงจุดยืนคัดค้านนโยบายขยายสงครามของรัสเซียในยูเครน เป็นต้น

จนการแสดงออกในเวทีระหว่างประเทศเช่นนี้ถูกตีความว่า รัฐไทยภายใต้การควบคุมของผู้นำทหารที่สืบทอดอำนาจมาจากการรัฐประหาร 2014 (พ.ศ.2557) นั้น มีทิศทางสนับสนุนระบอบอำนาจนิยม และต้องการผลักดันทิศทางการต่างประเทศไทยไปทางเดียวกับกระแสอำนาจนิยมในเวทีโลก

 

รัฐนาวาไทยจมหายไปแล้ว!

หากพิจารณานโยบายการต่างประเทศรัฐไทยจากรัฐประหารจนถึงปัจจุบันแล้ว เราอาจตีความได้ว่าเป็นเสมือนกับการพาตัวเองให้ “หายไปจากเวทีโลก”

และเชื่อว่าการไม่มี “บทบาทอย่างสร้างสรรค์” ในเวทีโลก จะทำให้ผู้นำไทย “อยู่รอดปลอดภัย” และไม่มีความจำเป็นต้องคิดในเรื่องการต่างประเทศมากนัก เนื่องจากรัฐไทยได้แสดงจุดยืนของตนจากการรัฐประหารมาแล้วว่า รัฐไทยจะไม่นำพากับระเบียบโลก เพราะความเป็นระเบียบแบบเสรีนิยมนั้นขัดกับ “คุณค่าอำนาจนิยม” ของคณะรัฐประหารโดยตรง

การรัฐประหารจึงเป็นเสมือนกับการพารัฐไทยเข้าไปเป็นสมาชิกร่วมอยู่ใน “ค่ายอำนาจนิยม” ซึ่งมีท่าทีแบบปฏิเสธต่อระเบียบโลกที่เป็นเสรีนิยม

ซึ่งการปฏิเสธเช่นนี้สอดรับกับการให้คุณค่าของชนชั้นนำและผู้นำคณะรัฐประหารไทยเป็นอย่างดี

การพารัฐไทยให้หายไปจากเวทีโลกจึงกลายเป็นทิศทางหลัก จนเสมือนหนึ่ง “รัฐนาวาไทยจมลงกลางทะเลแห่งความปั่นป่วนของกระแสโลก” ไปแล้ว…

การจมลงในกระแสโลกเช่นนี้ไม่ใช่อุบัติเหตุ หากแต่เป็น “ความตั้งใจ” ของชนชั้นนำปีกขวาและผู้นำทหารขวาจัด ที่ส่วนหนึ่งใช้เพื่อการลดทอนกระแสเสรีนิยมที่ยังไหล่บ่าเข้าสู่สังคมไทยอย่างต่อเนื่อง

และในอีกส่วนหนึ่งใช้เพื่อการแสวงหา “ความสนับสนุนทางการเมืองใหม่” จากรัฐมหาอำนาจอีกฝ่ายที่เป็นระบอบอำนาจนิยม ซึ่งมีนัยถึงการแสวงหาความสนับสนุนด้านความมั่นคงให้แก่ระบอบอำนาจนิยมไทยอีกด้วย

แต่เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาในเวทีระหว่างประเทศ และมีความจำเป็นต้องตัดสินใจด้วยการลงเสียงแล้ว วิธีที่ง่ายที่สุดคือ การ “งดออกเสียง” และเชื่ออย่างมากว่า การงดออกเสียงจะสร้างภาพลักษณ์ทางการทูตให้กับระบอบสืบทอดอำนาจว่า รัฐไทยเป็นกลาง ไม่มีนโยบายเข้าข้างคู่ขัดแย้ง และคำอธิบายเช่นนี้ดูจะกลายเป็น “วาทกรรมทางการทูต” สำหรับกลุ่มอนุรักษนิยมหรือบรรดาปีกขวาไทยไปแล้ว เนื่องจากพวกเขามีจุดยืนต่อต้านระเบียบแบบเสรีนิยมมาเป็นทุนเดิม และต่อต้านกระแสโลก

นอกจากนี้ กลุ่มปีกขวาในปัจจุบันยังสร้าง “วาทกรรมการต่างประเทศไทย” ที่ต้องร่วมมือกับ “โลกตะวันออก” และต่อต้าน “โลกตะวันตก” ทั้งที่ในอดีตของยุคสงครามเย็นนั้น ชนชั้นนำ ผู้นำทหาร และบรรดาปีกขวาไทยมีอาการ “กอดตะวันตก-เกลียดตะวันออก” อย่างชัดเจน แต่โลกทัศน์ของฝ่ายขวาไทยเปลี่ยนไปหมด

อันส่งผลให้ทิศทางการต่างประเทศไทยเป็นดัง “รัฐที่อยู่นอกกระแสโลก” และขณะเดียวกันก็หวังว่ากระแสโลกที่เป็นเสรีนิยมจะไม่เข้ามามีผลกระทบกับระบอบการปกครองภายใน

 

รัฐไทยเปลี่ยนทิศ!

ฉะนั้น หากพิจารณาการลงเสียงในญัตติยูเครนของผู้แทนประเทศไทยในเวทีสหประชาชาติแล้ว จึงกล่าวได้ว่าการลงเสียงดังกล่าวเป็นภาพสะท้อนที่สำคัญของการที่รัฐไทยไม่ต้องการอยู่ในกระแสโลก และพร้อมที่จะเกาะไปกับ “กระแสอำนาจนิยม” ที่ถูกขับเคลื่อนโดยรัฐมหาอำนาจ เช่น จีนและรัสเซีย

แม้การลงเสียงญัตติยูเครนครั้งแรก ไทยจะออกเสียงประณามรัสเซียจากปัญหาสงครามที่เกิดขึ้นก็ตาม แต่หลังจากนั้นแล้ว ทิศทางการทูตไทยเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง… ผู้แทนไทยลงมติแบบงดออกเสียงมาโดยตลอด จนคาดเดาได้เลยว่า ไทยจะงดออกเสียงในญัตติยูเครนทุกเรื่องในอนาคต

แต่หากรัฐบาลไทยยึดกฎหมายระหว่างประเทศเป็นพื้นฐานของการพิจารณาปัญหาแล้ว หลักการ “อธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน” เป็นประเด็นสำคัญที่รัฐทุกรัฐทั่วโลกให้ความเคารพ อันมีนัยว่ารัฐทั้งหลายจะไม่ยอมรับการผนวกดินแดนที่เกิดขึ้นโดยการใช้กำลัง เพราะการใช้กำลังเพื่อยึดครองดินแดนของรัฐอธิปไตยอื่นถือเป็นความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศ

ซึ่งหลักการนี้เป็นสิ่งที่นักเรียนทุกคนในวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศถูกสอนให้ตระหนักเป็นเบื้องต้น เพราะการยอมรับการละเมิดอธิปไตยแห่งรัฐ คือการยอมรับว่ารัฐใหญ่สามารถใช้กำลังยึดดินแดนของรัฐเล็กได้ ดังเช่นที่กำลังเกิดขึ้นจากการใช้กำลังของรัสเซียผนวกดินแดนของยูเครน…

หรือรัฐไทยปัจจุบันหันหลังให้กับหลักการในกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว!

แต่กระทรวงการต่างประเทศไทยให้เหตุผลอย่างน่าสนใจว่า การงดออกเสียงจะช่วยให้เกิด “ข้อมติที่สันติและปฏิบัติได้จริง”

และย้ำว่าการประณามรัฐผู้รุกรานจะ “ลดทอนโอกาสของการมีปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์” ซึ่งดูจะเป็นสิ่งที่ย้อนแย้งในสถานการณ์สงครามอย่างมาก (เป็นแถลงการณ์ที่มีเนื้อหาสับสนในตัวเองอย่างมาก)

อย่างไรก็ตาม การผนวกดินแดนที่กองทัพรัสเซียใช้กำลังบุกเข้ายึดครองตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นที่ยอมรับในเวทีระหว่างประเทศ และถูกต่อต้านอย่างมาก ซึ่งแตกต่างกับกรณีการผนวกไครเมียในปี 2014 อย่างสิ้นเชิง เพราะครั้งนั้น ฝ่ายตะวันตกอาจจะตั้งตัวไม่ติด อันเนื่องมาจากการรุกเข้ายึดพื้นที่ของกองทัพรัสเซียเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

แต่การผนวกดินแดนครั้งนี้ เกิดในสถานการณ์สงครามที่มีการรบติดพัน และมีเสียงคัดค้านในเวทีโลกอย่างมาก อีกทั้งการผนวกดินแดนเกิดขึ้นในภาวะที่กองทัพรัสเซียเป็นฝ่ายถอยร่น

แม้รัฐบาลรัสเซียจะสร้างภาพด้วยการ “ทำประชามติ” เพื่อแสดงให้ชาวโลกเห็นว่า ชาวยูเครนในดินแดนยึดครองต้องการมาอยู่กับรัสเซีย

แต่ภาพที่ปรากฏออกในสื่อต่างๆ ทำให้เกิดคำถามว่า การลงประชามติครั้งนี้ เป็นไปด้วยความสมัครใจ หรือเป็นการถูกบังคับ ซึ่งสำหรับรัฐบาลยูเครนและรัฐบาลของประเทศตะวันตกแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นถูกเรียกว่า “ประชามติปลอม” และนำไปสู่การผลักดันประเด็นนี้เข้าสู่เวทีสหประชาชาติ

ดังนั้น ในฐานะสมาชิกของสหประชาชาติแล้ว การผนวกดินแดนของยูเครนในภาวะสงครามย่อมต้องถือว่าเป็นประเด็นสำหรับรัฐบาลไทยด้วย สิ่งที่ต้องทำเพื่อแสดงถึง “ความรับผิดชอบ” ของความเป็นประเทศที่เคารพในหลักการไม่ละเมิดอธิปไตยแห่งรัฐ คือไทยในฐานะ “รัฐสมาชิกที่มีความรับผิดชอบ” ควรแสดงออกถึงจุดยืนต่อต้านในเรื่องนี้ให้ชัดเจน ซึ่งรัฐบาลไทยเองได้ยึดถือหลักการนี้มาโดยตลอด

ตัวอย่างสำคัญ เช่น ในช่วงสงครามเวียดนาม-กัมพูชา ที่เวียดนามได้เข้ายึดครองกัมพูชาตั้งแต่ปี 1979 นั้น ไทยได้รณรงค์อย่างแข็งขันที่จะให้ชาติสมาชิกอาเซียนและประชาคมระหว่างประเทศสนับสนุน “หลักการไม่ละเมิดอธิปไตย” ซึ่งนำไปสู่การต่อต้านการยึดครองดินแดนของกัมพูชาโดยกองทัพเวียดนามในช่วงเวลาดังกล่าว

ฉะนั้น การผนวกดินแดนของยูเครนบางส่วนโดยรัสเซียในปัจจุบันซึ่งไม่แตกต่างกับการละเมิดหลักอธิปไตยดังที่กล่าวแล้ว แต่ท่าทีของไทยวันนี้กลับเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ซึ่งอาจตีความได้ว่า

1) รัฐบาลไทยรู้สึก “เกรงใจ” รัฐบาลจีนและรัสเซีย อันเป็นผลจากการสนับสนุนทางการเมืองในยุคหลังรัฐประหาร 2014 (2557) อันทำให้ผู้นำไทยไม่อาจลงเสียงสวนทางกับผลประโยชน์ของรัฐทั้งสอง

2) รัฐบาลไทยต้องการ “ซื้อใจ” ผู้นำรัสเซียให้มาร่วมประชุมเอเปคที่กรุงเทพฯ ประเด็นนี้มีความสำคัญอย่างมากต่อ “หน้าตา” ทางการทูตของไทย ดังนั้น การลงเสียงของไทยในปัญหายูเครนจึงต้องไม่ขัดแย้งกับรัสเซีย

3) ผู้นำไทยในปัจจุบันเชื่อว่าไทยไม่จำเป็นต้องไปในทิศทางเดียวกับกระแสโลก และไทยไม่จำเป็นต้องยอมรับกระแสโลก เพราะไทยได้ “หันหลัง” ให้กับกระแสโลกไปแล้วด้วยการรัฐประหาร

4) ผู้นำและคนในสังคมไทยบางส่วนมีความเชื่ออย่างง่ายๆ ว่า การงดออกเสียงแปลว่า รัฐบาลไทยมี “ความเป็นกลาง” ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ แต่การไม่ออกเสียงอาจถือเป็นการออกเสียงในอีกรูปแบบหนึ่ง คือเป็นการยอมรับต่อการผนวกดินแดนในแบบไม่คัดค้านโดยตรง

5) รัฐบาลกรุงเทพฯ ไม่ตระหนักว่า การงดออกเสียงในปัญหายูเครนอาจถูกตีความว่าไทยลงเสียงทางเดียวกันกับจีน ซึ่งผู้นำรัฐบาลทหารในยุคหลังรัฐประหาร 2014 มีท่าทีที่ไปใกล้ชิดกับปักกิ่งและมอสโค จึงไม่สนใจกับการถูกมองว่า “ไทยเอียงข้างตะวันออก”

 

โหวตซื้อใจ!

สุดท้ายนี้ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าผลสืบเนื่องการใช้วิธีงดออกเสียงในเวทีสหประชาชาติกำลังกลายเป็นเครื่องบั่นทอน “เกียรติภูมิทางการทูต” ของรัฐบาลไทยอย่างมาก

เพราะเท่ากับเป็นการส่งสัญญาณว่า รัฐไทยยอมรับการละเมิดบูรณภาพแห่งดินแดน แม้รัฐบาลไทยจะออกแถลงการณ์เพื่ออธิบายถึงมูลเหตุของการงดออกเสียง แต่แถลงการณ์กระทรวงการต่างประเทศดูจะเป็นการสร้างความสับสนมากกว่า ทั้งในเชิงภาษาและเนื้อหา เนื่องจากตัวเนื้อหาเองก็มีความย้อนแย้งกันอยู่พอสมควร

อาจมีข้อโต้แย้งว่า ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีลาวและเวียดนามที่งดออกเสียง

แต่นั่นเป็นเพราะประเทศทั้งสองได้รับความช่วยเหลืออย่างมากจากสหภาพโซเวียตเดิมในยุคสงครามปฏิวัติ

หรือการงดออกเสียงของกลุ่มประเทศในแอฟริกา เป็นผลมาจากการต้องพึ่งพาพลังงานและธัญพืชจากรัสเซีย เป็นต้น

แต่รัฐไทยไม่ได้อยู่ในสถานะเช่นนั้น จึงทำให้ไม่อาจตีความได้เป็นอื่นได้ นอกจากไทยกำลังพาตัวเองออกจากกระแสโลก เพราะผู้นำและกลุ่มที่มีอำนาจในสังคมการเมืองไทยมีความเชื่อว่า “กระแสโลกเป็นกระแสตะวันตก” และไทยจะหันไปเกาะ “กระแสตะวันออก” ที่ขับเคลื่อนโดยจีนและรัสเซียแทน

และหวังเป็นที่สุดว่า ประธานาธิบดีปูตินและอาจรวมถึงประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จะมาร่วมสร้าง “ความยิ่งใหญ่” ให้แก่วงการทูตไทยในเวทีเอเปคที่กรุงเทพฯ

ถ้าความยิ่งใหญ่ของการจัดงานเอเปคเช่นนี้ต้องแลกด้วยการ “หลับตา” ของรัฐบาลไทยต่อปัญหาการละเมิดบูรณภาพดินแดนและการสังหารประชาชนยูเครนแล้ว รัฐบาลกรุงเทพฯ จะต้อง “หลับตา” ไปอีกนานเท่าใดในวิกฤตสงครามยูเครน!